พักยกวิกฤตยูเครน ไครเมีย ชาติมหาอำนาจขอ “แช่แข็ง” ไว้ก่อน

เมื่อปลายเดือนมีนาคม นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ  รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ร่วมเจรจาอย่างเป็นทางการและจริงจังที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติยูเครน รัสเซียผนวกไครเมีย 2 ฝ่ายแถลงข่าวหลังการเจรจาที่ไม่บรรลุข้อตกลงใดๆ สหรัฐยืนกรานว่ารัสเซียผนวกไครเมียนั้นผิดกฎหมายและไม่ชอบธรรม
            ในการเจรจามีนัยว่ารัสเซียจะคืนไครเมียกลับไปอยู่กับประเทศยูเครน ภายใต้รูปแบบสหพันธรัฐ (federal state) อันหมายถึงประเทศยูเครนจะมีเขตปกครองตนเองเพิ่มอีกหลายเขต ที่สามารถเลือกแนวทางเศรษฐกิจการเงิน สังคม ภาษา ศาสนาของตนเอง โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านรัฐบาลแต่ละชุดล้วนไม่ประสบผลสำเร็จในการบริหารประเทศ เนื่องจากคนในประเทศมีความแตกต่างหลากหลายมาก การปกครองแบบรัฐเดี่ยวจึงไม่ได้ผลดี อ้างว่าประเทศในรูปแบบสหพันธรัฐ “ไม่ใช่การพยายามแบ่งแยกยูเครน” แต่ตอบสนองผลประโยชน์ของคนในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลในอนาคตดำเนินนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย ดำเนินนโยบายเป็นกลาง ด้านสหรัฐไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยูเครนเป็นกลาง เห็นว่าอนาคตของยูเครนต้องให้คนยูเครนตัดสินใจเอง
วิพากษ์แนวทางสหรัฐ :
            รัฐมนตรีแคร์รีอ้างหลักอธิปไตยว่าทุกประเทศมีอธิปไตย ตัดสินอนาคตด้วยตนเอง ปราศจากการแทรกแซงจากต่างชาติ ยูเครนในอนาคตจะดำเนินนโยบายอย่างไรย่อมขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาลยูเครน ขึ้นกับความเห็นชอบของประชาชน ตามระบบการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้
            ประเด็นที่รัฐมนตรีแคร์รีไม่พูดถึงคือ สถานการณ์การเมืองภายในยูเครนในขณะนี้เป็นระบบขั้วการเมือง 2 ขั้วที่แบ่งแยกอย่างรุนแรง
            ขั้วยูเครนตะวันออก ฝ่ายของ (อดีต) ประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) มีนโยบายอิงรัสเซีย ส่วนขั้วยูเครนตะวันตกที่นำโดยฝ่ายของอดีตนายกฯ ยูเลีย ทิโมเชนโก (Yulia Timoshenko) มีนโยบายอิงสหรัฐ
            ความขัดแย้งภายในประเทศยูเครนเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจดังที่เป็นอยู่ก็เนื่องจากความขัดแย้งของขั้วการเมืองยูเครน หากรัฐบาลที่มาจากขั้วใดขั้วหนึ่งในอนาคต ดำเนินตามแนวทางยึดขั้วและอิงฝ่ายตะวันตกหรือรัสเซียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเหนียวแน่น จะทำให้ประชาชนที่อยู่ขั้วตรงข้ามและประเทศเพื่อนบ้านไม่พอใจ เป็นที่มาของความขัดแย้งทั้งภายในภายนอกประเทศอย่างไม่สิ้นสุด
            แนวทางของรัฐมนตรีแคร์รีจึงมีจุดอ่อนและขัดแย้งในตัวเอง หรือไม่ได้พูดทั้งหมด

วิพากษ์แนวทางรัสเซีย :
            ข้อเสนอของรัฐมนตรีลาฟรอฟ เป็นแนวทางที่มุ่งเน้นผลปลายทาง คือ ให้ยูเครนดำเนินนโยบายเป็นกลาง เพื่อจะไม่เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับนาโต
            ข้อถกเถียงประการแรก คือ คำว่า “เป็นกลาง” ในรายละเอียดหมายถึงอะไร เช่น เขตปกครองตนเองไครเมียต้องกลับไปเป็นของประเทศยูเครนหรือไม่ สถานะการเช่าพื้นที่สำหรับฐานทัพเรือรัสเซียที่เซวาสโตโพล (Sevastopol) จะเป็นอย่างไร รัสเซียจะสามารถต่อสัญญาเช่าพื้นที่ได้เรื่อยๆ ใช่หรือไม่
            ข้อถกเถียงประการที่สอง คือ ในทางปฏิบัติยูเครนจะสามารถเป็นกลางได้หรือไม่ นับตั้งแต่ที่ยูเครนได้รับเอกราชเมื่อ 23 ปีก่อน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักฉ้อฉลและคอร์รัปชัน เศรษฐกิจที่อ่อนแอผลักดันให้ยูเครนหวังพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติเรื่อยมา ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลดำเนินนโยบายอิงรัสเซียก็ด้วยหวังความช่วยเหลือจากรัสเซีย ล่าสุดรัฐบาลรักษาการพยายามเข้าหากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน

            นอกจากนี้ คำถามที่สำคัญกว่า คือ หากยูเครนต้องการเป็นกลาง ชาติมหาอำนาจจะยินยอมหรือไม่
            ก่อนหน้านี้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเสนอทางออกโดยให้ยูเครนเป็นกลาง นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เป็นหนึ่งในผู้เสนอแนวทางนี้ เห็นว่าทางออกของปัญหาคือการปล่อยให้ประเทศยูเครนมีอิสระในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับทุกประเทศโดยเสรี มีรัฐบาลที่แสดงเจตนารมณ์ที่แท้ของประชาชน ผู้นำการเมืองยูเครนต้องดำเนินนโยบายสร้างความปรองดอง มีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก แต่ไม่เข้าร่วมนาโต และระวังที่จะไม่สร้างความเป็นปรปักษ์กับรัสเซีย
            แต่รัฐบาลโอบามาไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ อ้างว่าอนาคตของยูเครนต้องให้ยูเครนตัดสินเอง
            ในหลักความสัมพันธ์ประเทศ เป็นที่ทราบกันว่าทุกประเทศต่างแสวงหาผลประโยชน์จากอีกประเทศ ยิ่งเป็นชาติมหาอำนาจยิ่งต้องการผลประโยชน์จำนวนมากจากประเทศอื่นๆ ภายใต้หลักการดังกล่าว หากชาติมหาอำนาจยอมให้ยูเครนเป็นกลาง จึงควรมาจากเหตุผลที่ว่า การที่ยูเครนเป็นกลางคือสถานะที่ชาติมหาอำนาจได้ประโยชน์มากที่สุด
            คำตอบว่ายูเครนจะได้เป็นกลางหรือไม่ หากมองจากปัจจัยภายนอก จึงต้องกลับไปสู่คำถามที่ว่ารัสเซียจะยอมลดทอนอำนาจอิทธิพลที่ได้จากกองเรือทะเลดำหรือไม่ นาโตจะปรับยอมเปลี่ยนยุทธศาสตร์ขยายสู่ตะวันออกหรือไม่

มองโลกแง่บวก :
            ถ้าจะมองในแง่บวก การที่รัฐมนตรีแคร์รีแสดงจุดยืนดังกล่าว อาจเป็นเพียงท่าทีแข็งกร้าวในช่วงภาวะครุกรุ่นในระยะนี้เท่านั้น อาจเป็นเพียงการพูดตามหลักการกว้างๆ ที่ยึดมั่นในหลักอธิปไตย หากการเข้าโครงการปฏิรูปของกองทุนการเงินระหว่างประเทศช่วยให้ยูเครนสามารถยืนหยัดบนลำแข้งของตนเอง ระบบการเมืองมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุล การคอร์รัปชันลดน้อยถอยลง วันหนึ่งในอนาคต ยูเครนอาจตัดสินใจด้วยตนเองให้ดำเนินนโยบายกับทุกประเทศอย่างสมดุล ไม่ต้องการอิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

            การเจรจาที่แถลงว่าไม่มีบรรลุข้อตกลงใดๆ แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ามีผลลัพธ์ที่ดีหลายอย่าง เช่น รัฐมนตรีลาฟรอฟกล่าวว่าสหรัฐตกลงที่อยากจะเห็นรัฐบาลยูเครนดูแลสิทธิของชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย และปลดอาวุธกองกำลังนอกเครื่องแบบที่ปลุกปั่นสร้างสถานการณ์ ที่แล้วมารัสเซียมักอ้างว่าพวกเผด็จการฟาสซิสต์ครองเมือง และคุกคามทำร้ายคนยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย ดังนั้น หากรัฐบาลยูเครนสามารถทำตามแนวทางดังกล่าว รัสเซียก็ไม่อาจใช้ข้ออ้างเรื่องปกป้องคนยูเครนเชื้อสายรัสเซีย เพื่อส่งกองกำลังเข้ายูเครนอีก
            ในอีกแง่มุมหนึ่ง แนวทางนี้อาจเป็นกลยุทธ์ถอยของนาโตก็เป็นได้ คือ สนับสนุนให้รัฐบาลยูเครนในอนาคตดำเนินนโยบายที่ไม่ยั่วยุรัสเซีย ป้องกันไม่ให้รัสเซียใช้กำลังเข้าแทรกแซงยูเครนดังเช่นกรณีไครเมีย เพราะรัฐบาลโอบามากับพันธมิตรยุโรปในขณะนี้ยังไม่พร้อมที่จะตอบโต้อย่างแข็งกร้าว
            ชาติตะวันตกจึงสนับสนุนแนวทางไม่ยั่วยุรัสเซียในขณะนี้ แต่เปิดช่องไว้สำหรับอนาคต เผื่อว่านาโตในอนาคตจะเข้มแข็งขึ้น หรือรัสเซียอ่อนแอ

ข้อวิพากษ์ยุติการคว่ำบาตร :
            เรื่องหนึ่งที่น่าจะชัดเจนคือ นับจากนี้ทั้งชาติตะวันตกกับรัสเซียจะไม่ตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรเศรษฐกิจให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่อีก เพราะต่างรู้ว่าสร้างความเสียหายแก่ทั้งคู่ ยิ่งคว่ำบาตรยิ่งตอบโต้ ต่างฝ่ายต่างยิ่งเสียหาย ทำไมชาติตะวันตกจะต้อง “จ่ายแพง” ขนาดนั้น ในเมื่อเป้าหมายเดิมที่วางไว้คือให้รัสเซียที่เป็นฝ่ายต้อง “จ่ายราคา”
            ดังนั้นในยกที่ 1 นี้ถือว่ารัสเซียกับชาติตะวันตกบรรลุข้อตกลง “แช่แข็ง” การเผชิญหน้าชั่วคราว ถือว่าทั้ง 2 ฝ่ายเสมอตัว นานาประเทศทั่วโลกพลอยได้อานิสงส์
            ส่วนผู้ที่สูญเสียมากที่สุด คือ ประเทศยูเครนที่ต้องสูญเสียไครเมียแก่รัสเซีย การเมืองภายในประเทศยังอยู่ในภาวะตึงเครียด เป็นประเทศที่ต้อง “จ่ายหนัก” มากที่สุด ทั้งยังต้องลุ้นต่อไปอีกว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองภายใต้โครงการของกองทุนระหว่างประเทศจะได้ผลดีหรือผลร้าย

คาดการณ์ สถานการณ์ยูเครนต่อจากนี้ :
            สถานการณ์ยูเครนในขณะนี้อยู่ในภาวะถูก “แช่แข็ง” หมายถึง ยุติการเผชิญหน้าชั่วคราว ชาติตะวันตกไม่ยกระดับคว่ำบาตรรัสเซีย กองทหารรัสเซียไม่บุกเข้าไปในที่อื่นๆ เพิ่มเติม แม้จะมีข่าวว่ารัสเซียยังคงกำลังรบจำนวนมากตามแนวพรมแดนยูเครน รากความขัดแย้งยังคงอยู่และพร้อมที่จะปะทุขึ้นอีกครั้งในอนาคต
            ในระหว่างนี้เป็นเวลาที่รัฐบาลชุดใหม่สามารถบริหารประเทศ ถ้าฝ่ายที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล (ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้) คือขั้วยูเครนตะวันตกที่อิงชาติตะวันตก ก็จะเดินหน้าดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองภายใต้โครงการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระวังที่จะไม่ให้พวกหัวรุนแรงคุกคามทำร้ายพลเมืองที่พูดภาษารัสเซีย และจะต้องไม่ดำเนินนโยบายยั่วยุรัสเซียอย่างรุนแรง เช่น การเข้าเป็นสมาชิกอียู นาโต

            หากไม่มีการยั่วยุจากฝ่ายใด ในระยะยาว 1-2 ปีจะต้องติดตามผลการปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางของ IMF ว่าจะได้ผลดีมากน้อยเพียงใด ประชาชนยอมรับหรือไม่ เมื่อเศรษฐกิจยูเครนเข้าสู่ระบบกลไกตลาดเต็มตัว รัสเซียขายก๊าซแก่ยูเครนในราคาตลาด ทำให้ราคาขายปลีกภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ พลอยขยับขึ้นตามไปด้วย ภาวะเศรษฐกิจและการคอร์รัปชันอาจจะเป็นชนวนความขัดแย้งภายในยูเครนรอบหน้า และเมื่อถึงเวลานั้นต้องติดตามว่าต่างชาติจะแทรกแซงอีกหรือไม่
            ส่วนในระยะสั้น ต้องติดตามผลการเลือกตั้งในวันที่ 25 พฤษภาคม เพื่อวิเคราะห์ว่ายูเครนจะได้พักสงบยาวนานหรือไม่ และตรวจสอบยืนยันท่าทีของประเทศที่เกี่ยวข้อง
6 เมษายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6361 วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ.2557)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง: 
1. การเดินเกมและผลประโยชน์ของขั้วยูเครนตะวันตก
รัฐบาลรักษาการยูเครนดำเนินนโยบายที่อิงฝ่ายชาติตะวันตกอย่างเต็มที่ ใช้ข้ออ้างสารพัดเพื่อดึงให้ชาติตะวันตกเข้ามาปกป้องอธิปไตย ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าชาติตะวันตกได้ประโยชน์จากการนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ฝ่ายที่ได้ประโยชน์แน่นอนคือพวกของอดีตนายกฯ ทีโมเชงโก ที่สามารถยืมมือชาติตะวันตกมาอยู่กับพวกตน
2. เกมรุกของปูตินกับข้อวิพากษ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ “เส้นต้องห้าม”
3. เบี่ยงปัญหายูเครน เบนจากทางออกสู่ทางตัน
วิกฤตยูเครนเป็นมากกว่าเรื่องการเมืองภายในประเทศ การผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อรัสเซีย นโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออกของนาโต อียู และยุทธศาสตร์รัฐกันชนของรัสเซีย การแก้ปัญหายูเครนที่ถูกจุดจึงเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้
4. ความล้มเหลวของการปกครองและรัฐบาลคือภัยร้ายของยูเครน
ยูเครนได้รับเอกราชและเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยในสภาพที่ไม่มีการเตรียมตัวใดๆ นำสู่การบริหารประเทศที่ฝ่ายบริหารกับรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ โดยปราศจากระบบหรือกลไกควบคุม การล้มเหลวของรัฐบาลมือใหม่สร้างปัญหาเศรษฐกิจการเมืองก่อให้เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วที่ไม่อาจร่วมมือกันเพื่อสร้างชาติ กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา การปกครองล้มเหลว
5. ท่าที การดำเนินนโยบายของ G7 ต่อวิกฤตยูเครนและผลลัพธ์ที่ได้
ถ้ามองในแง่ดี คือ กลุ่ม G7 ระมัดระวังไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจวิพากษ์ว่ากลุ่ม G7 เกรงว่ามาตรการคว่ำบาตรอย่างจริงจังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของพวกตน ท้ายที่สุดแล้ว กรณียูเครนที่เป็นตัวอย่างล่าสุดที่เตือนใจองค์การระหว่างประเทศของประเทศเล็กๆ ทั้งหลายว่าจำต้องมีเอกภาพ ไม่สร้างเงื่อนไขให้ชาติมหาอำนาจเข้ามา “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

บรรณานุกรม:
1. Gazprom raises gas price for Ukraine. (2014, April 1). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/europe/2014/04/gazprom-raises-gas-price-ukraine-2014417162367581.html
2. Kissinger, Henry A. (2014, March 6). How the Ukraine crisis ends. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/opinions/henry-kissinger-to-settle-the-ukraine-crisis-start-at-the-end/2014/03/05/46dad868-a496-11e3-8466-d34c451760b9_story.html
3. Lavrov, Kerry discussed Ukraine constitutional reform, fair elections. (2014, March 30). RT. Retrieved from http://rt.com/news/ukraine-lavrov-kerry-talks-241/
4. Putin could invade Ukraine within a week, warns Nato chief. (2014, April 2). The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/europe/putin-could-invade-ukraine-within-a-week-warns-nato-chief-9232269.html
5. Russia 'starts' Ukraine border pullout. (2014, March 31). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/europe/2014/03/russia-gradually-withdrawing-from-ukraine-20143319599463940.html
6. Ukraine crisis: US-Russia deadlock despite 'frank' talks. (2014, March 30). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-europe-26814651
7. US, Russia talks fail to end Ukraine deadlock. (2014, March 30). Businessweek/AP. Retrieved from http://www.businessweek.com/ap/2014-03-30/kerry-set-to-see-russian-fm-on-ukraine
-------------------------------