วิกฤตยูเครนในขณะนี้ หากพูดตามเรื่องราวที่ปรากฏทางสื่อ เมื่อเริ่มต้นเป็นการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยานูโควิช
เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมลงนามข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป (Association
Agreement) ฝ่ายต่อต้านกดดันอย่างรุนแรง ถึงขั้นเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก
การชุมนุมลงเอยด้วยมีการยิงต่อสู้ มีมือที่ 3 ปรากฏกาย
ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
ความวุ่นวายในยูเครนทำท่าเหมือนจะจบ เมื่อรัฐบาลยานูโควิชบรรลุข้อตกลงกับขั้วฝ่ายค้าน
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แต่ปรากฏว่านายยานูโควิชหนีเข้ามาในรัสเซีย พร้อมกับมีกองกำลังไร้สังกัด
ซึ่งขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าคือกองกำลังรัสเซีย เข้าควบคุมเขตกึ่งปกครองตนไครเมีย
และรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย
รากปัญหา :
รากปัญหา :
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีปูตินกล่าวหลังไครเมียประกาศแยกตัวออกจากยูเครนว่า
ในอดีตที่ผ่านมาชาติตะวันตกคดโกงรัสเซียหลายครั้ง
ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาโดยไม่สนใจว่าถูกกฎหมายหรือไม่ มาบัดนี้
ถึงเวลาแล้วที่ชาติตะวันตกจะยอมรับว่ารัสเซียก็มีผลประโยชน์และมีวาระระหว่างประเทศของตนเช่นกัน
ที่ชาติตะวันตกต้องให้ความเคารพ และกล่าวอีกว่าการขยายตัวของนาโตเข้ามาใกล้พรมแดนรัสเซีย
ท่าทีคุกคามทางทหาร เป็นเรื่องที่รัสเซียยอมไม่ได้ รัสเซียยินดีร่วมมือกับนาโต
แต่ต้องดำเนินบนผลประโยชน์ร่วมกัน
อันที่จริงแล้ว
รากปัญหายูเครนไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่ประการใด สิ่งที่รัสเซียต้องการคือ ยูเครนจะต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของตน
ในขณะที่ชาติตะวันตกพยายามดึงยูเครนออกจากรัสเซีย
ผลประโยชน์หลักที่รัสเซียหวังจากยูเครนมี
2-3 อย่าง ข้อแรกคือ ได้ยูเครนเป็นรัฐกันชน เป็นแนวป้องกันไม่ให้ต่างชาติรุกเข้าเขตอธิปไตยรัสเซียโดยตรง
นี่เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศอย่างหนึ่งของรัสเซีย มาจากประสบการณ์อันขมขื่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 ที่ชาวรัสเซียกว่า 30 ล้านคนต้องเสียชีวิต เมืองสำคัญๆ หลายเมืองพังพินาศ การสร้างแนวรัฐกันชนเป็นยุทธศาสตร์เก่าแก่หลายทศวรรษแต่ยังใช้ในปัจจุบัน
ข้อสองคือ
รัสเซียแม้เป็นประเทศใหญ่ มีชายทะเลยาวหลายพันกิโลเมตร แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ติดขั้วโลกเหนือและเป็นน้ำแข็ง
ไม่เหมาะจะเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ ฐานทัพเรือที่เซวาสโตโพล (Sevastopol) ในเขตไครเมีย เป็นท่าเรือน้ำอุ่นของรัสเซียเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในฝั่งยุโรปที่รัสเซียขอเช่า
สัญญาเช่าล่าสุดที่ทำเมื่อปี
2010 รัฐบาลยูเครนได้ลงนามขยายสัญญาให้รัสเซียเช่าฐานทัพเซวาสโตโพลเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมอีก
25 ปี แม้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอ้างว่ารัฐบาลรักษาการยูเครนในขณะนี้จะรักษาสัญญาเช่า
ไม่มีเหตุที่รัสเซียต้องกังวล แต่สัญญายกเลิกได้ในอนาคต หรือไม่ขยายสัญญาอีกต่อไป
เรื่องนี้แม้เป็นเรื่องระยะยาว แต่เป็นประเด็นที่รัสเซียกังวลเนื่องจากไม่สามารถหาสถานที่ใดมาทดแทน
ชาติตะวันตกเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี ทันทีที่สหภาพโซเวียตแตกออก
ประเทศยูเครนเป็นเอกราช รัฐบาลสหรัฐก็มีนโยบายต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมองค์การนาโต
ทั้งๆ ที่รัสเซียมีจุดยืนว่าจะไม่ยอมให้ยูเครนเข้ากลุ่มนาโตเด็ดขาด ถือว่าเป็น
“เส้นต้องห้าม”
การที่ยูเครนจะเป็นสมาชิกนาโต
หรืออิงชาติตะวันตกทางใดทางหนึ่ง
จึงเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นพร้อมกับที่ยูเครนได้รับเอกราชหลังสิ้นสุดสงครามเย็น
หรือราว 23 ปีแล้ว เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของชาติตะวันตก
เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ตามบริบทแวดล้อม ช้าบ้างเร็วบ้าง ดังที่ดำเนินมากว่า
2 ทศวรรษแล้ว
ผลจากการเบี่ยงเบนปัญหา :
ประการแรก
พูดกันคนละเรื่อง มองกันคนละทาง
ชาติตะวันตกมองว่า
รัสเซียเป็นต้นเหตุวิกฤตยูเครน ละเมิดอธิปไตยยูเครน ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านรัสเซียอ้างว่าตนกำลังทำหน้าที่ปกป้องชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียที่ถูกพวกหัวรุนแรงข่มขู่คุกคาม
เห็นว่าวิกฤตยูเครนเกิดจากปัญหาภายในยูเครน รัสเซียไม่ได้เป็นผู้ก่อ
ประธานาธิบดีปูตินเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐอยู่เบื้องหลังการล้มรัฐบาลยานูโควิช
ด้วยการฝึกฝนกองกำลังติดอาวุธ สนับสนุนการชุมนุมประท้วงล้มรัฐบาล เป็นวิธีการเดิมที่เคยทำในสมัย
Orange Revolution เมื่อปี 2004 ทำให้ขั้วการเมืองยูเครนตะวันตกได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ
ดังนั้น รัฐบาลรักษาการในขณะนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประการที่สอง
ข้อเสนอทางออกไม่เป็นที่ยอมรับของอีกฝ่าย
ทางการสหรัฐไม่เชื่อว่าคนเชื้อสายรัสเซียในยูเครนถูกคุกคาม
และชี้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้คืนสู่ภาวะปกติแล้ว จึงเสนอทางออกด้วยการให้ทีมตรวจสอบนานาชาติลงพื้นที่เพื่อหาข้อสรุปว่าคนไครเมียเชื้อสายรัสเซียถูกคุกคามดังที่รัฐบาลปูตินกล่าวอ้างหรือไม่
ด้านรัสเซียไม่ยอม ได้แต่ยืนกระต่ายขาเดียวว่าชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียกำลังถูกคุกคามทำร้าย
และอ้างว่าการที่รัสเซียส่งทหารเข้าไครเมียเพื่อปกป้องคนท้องถิ่นที่พูดรัสเซียนั้นเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย
เพราะได้รับการร้องขออย่างเป็นทางการจาก (อดีต) ประธานาธิบดียานูโควิช
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวต่อประธานาธิบดีปูตินว่า
รัสเซียจะต้องถอนทหารออกจากไครเมีย ไม่เช่นนั้น การเจรจาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ
ส่วนฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าต้องคงกองกำลังไว้ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
ประการที่สาม
มีแนวโน้มขัดแย้งกันมากขึ้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา
ชาติตะวันตกประกาศว่าจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้รุนแรงขึ้นตามลำดับ
หากรัสเซียไม่ตอบสนองในทางที่ดี แต่รัฐบาลปูตินชี้ว่าการคว่ำบาตรจะสร้างความเสียหายแก่ทั้ง
2 ฝ่าย และขู่กลับว่าจะตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรเช่นกัน
สถานการณ์ความมั่นคงทางทหาร
เป็นอีกประเด็นที่กำลังเข้มข้นขึ้น เนื่องจากขั้วยูเครนตะวันตกเรียกร้องให้ต่างชาติแทรกแซง
นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค (Arseny Yatsenyuk) รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน
ร้องขอให้ชาติตะวันตกและประชาคมโลกช่วยปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
เช่นเดียวกับนางยูลิยา ทีโมเชงโก (Yulia Tymoshenko) อดีตนายกฯ และเป็นแกนนำขั้วยูเครนตะวันตกเรียกร้องให้ชาติตะวันตกร่วมกันต่อต้านประธานาธิบดีปูติน
ชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อประเทศยูเครนเท่านั้น
ส่วนอื่นๆ ของยุโรปตะวันออกจะตกอยู่ในอันตรายด้วย” ย้ำว่า
“จะเรียกร้องต่อบรรดาผู้นำโลกประชาธิปไตยใช้มาตรการขั้นรุนแรงที่สุดเพื่อหยุดผู้รุกราน”
ถ้อยคำอันขึงขังของนางทีโมเชงโก
ถ้ามองในแง่ชาตินิยม ย่อมต้องชมเชยว่านางทีโมเชงโกเป็นผู้รักชาติรักบ้านเมือง แสดงบทบาทของผู้นำประเทศ
แต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า ให้เกิดสงครามระหว่างชาติมหาอำนาจ
แต่ดูเหมือนว่าคำเตือนคำขู่ใดๆ
จะไม่ค่อยเป็นผล ประธานาธิบดีปูตินพูดเป็นนัยว่าอาจส่งทหารควบคุมพื้นที่ยูเครนให้มากกว่านี้
โดยเฉพาะหลังไครเมียประกาศแยกตัวเป็นอิสระ รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย
ก็มีกระแสว่ายูเครนตะวันออกจะทำประชามติขอแยกตัวเช่นกัน
ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีกองกำลังไร้สังกัดเข้าควบคุมพื้นที่เหมือนกรณีไครเมียก็เป็นได้
วิเคราะห์เชิงลึก บนโต๊ะเจรจา :
วิกฤตยูเครนมีลักษณะที่โดดเด่นอีกประการคือ
มีการเจรจาทั้งระดับผู้นำประเทศ ระดับรัฐมนตรี ทั้งแบบทางตรงทางลับอย่างต่อเนื่อง
มองในแง่ดีคือสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม
ถ้อยแถลงที่ปรากฏทางสื่อมักเป็นสิ่งทุกฝ่ายได้คิดรอบคอบแล้ว
มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก
การเดิมเกมของของรัสเซียหลายอย่างเป็นเรื่องที่รับรู้ล่วงหน้า ส่วนข้อเสียคือ
พูดคุยกันมากมายแต่ยังไม่ได้ทางออก มีแต่บีบให้สถานการณ์เข้าสู่มุมอับมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าการเผชิญหน้ามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
ระหว่างที่ 2 ฝ่ายกำลังพูดคุยถึงรากปัญหา ซึ่งสาธารณชนอาจจะได้รับรู้หรือไม่ก็เป็นไปได้
หากรัสเซียเตรียมถอนกองกำลังออกจากไครเมีย
และถอนกองทัพออกจากแนวพรมแดนยูเครนตะวันออก จะเป็นสัญญาณว่าเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว
ถ้าจะวิเคราะห์วิกฤตยูเครนอย่างซับซ้อน
โจทย์มีอยู่ว่าชาติตะวันตกรู้ดีว่ารัสเซียต้องการอะไร รู้ดีว่าอะไรคือรากปัญหา คำถามจึงอยู่ที่ทำไมจึงยังไม่ลงมือแก้ปัญหาให้ตรงจุด
ถ้าเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เริ่มจากการชุมนุม การเกิดเหตุวุ่นวายจนรัฐบาลยานูโควิชต้องลาออก
และได้รัฐบาลรักษาการที่อิงฝ่ายตะวันตก ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ชาติตะวันตกเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
จะพออธิบายต่อได้ว่า ณ ขณะนี้ชาติตะวันตกได้บรรลุเป้าหมายมาครึ่งทางแล้ว ดังนั้น
จึงย่อมไม่อาจหยุดหรือถอดใจหันหลังกลับเพียงเท่านี้อย่างง่ายๆ
ข้อผิดพลาดสำคัญของฝ่ายตะวันตก
คือ ไม่คิดว่าประธานาธิบดีปูตินจะตัดสินใจอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว ส่งกองกำลังเข้าควบคุมไครเมียทันที
พร้อมกับสนับสนุนให้ไครเมียแยกตัวออกจากยูเครน มารวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย
นอกจากนี้
รัสเซียยังเตรียมกำลังรบไว้ที่แนวชายแดนยูเครนตะวันออกนับแสนนาย ทำการซ้อมรบไปมา โจทย์ใหญ่ในขณะนี้
จึงไม่ใช่เรื่องการหามาตรการคว่ำบาตร โดดเดี่ยวรัสเซีย
หรือกองทัพรัสเซียเตรียมเคลื่อนกำลังควบคุมพื้นที่มากขึ้น แต่อยู่ที่จะให้เรื่องนี้ยุติอย่างไร
ซึ่งอาจหมายถึงการปรับยุทธศาสตร์สหรัฐต่อรัสเซีย นโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออกของนาโต
อียู และยุทธศาสตร์รัฐกันชนของรัสเซีย
ดังนั้น
แท้ที่จริงแล้วสถานการณ์ยูเครน การประกาศเอกราชของไครเมีย
และการรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย จึงเป็นเพียงฉากหนึ่งของเหตุการณ์ที่อยู่ใต้เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่ามาก
มีผลประโยชน์มหาศาลรองรับอยู่ มีผู้เสนอทางออกหลายแบบ แต่คงต้องเจรจาต่อรองอีกหลายรอบ
ประชาคมโลกได้แต่เฝ้ามองว่าเมื่อไหร่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และหวังว่าประเทศที่เกี่ยวข้องจะไม่เบี่ยงประเด็น
เพราะจะเบนจากทางออกสู่ทางตัน
23 มีนาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6347 วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2557)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6347 วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2557)
-------------------------
รัฐบาลรักษาการยูเครนดำเนินนโยบายที่อิงฝ่ายชาติตะวันตกอย่างเต็มที่
ใช้ข้ออ้างสารพัดเพื่อดึงให้ชาติตะวันตกเข้ามาปกป้องอธิปไตย ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
แน่นอนว่าชาติตะวันตกได้ประโยชน์จากการนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ฝ่ายที่ได้ประโยชน์แน่นอนคือพวกของอดีตนายกฯ
ทีโมเชงโก ที่สามารถยืมมือชาติตะวันตกมาอยู่กับพวกตน
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ “เส้นต้องห้าม”
1. Crisis in Ukraine caused by internal
factors, not by Russia — Putin. (2014, March 13). ITAR-TASS. Retrieved
from http://en.itar-tass.com/russia/723400
2. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost
alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia
University Press.
3. Judah, Ben. (2013). Fragile Empire: How Russia Fell in
and Out of Love with Vladimir Putin. UK: Yale University Press.
4. Lee, Mathew. (2014, March 16). US rejects Crimea vote,
warns Russia on new moves. Retrieved from
http://www.businessweek.com/ap/2014-03-16/white-house-urges-putin-to-back-down-in-crimea
5. Longworth, Philip. (2005). Russia: The Once and Future
Empire From Pre-History to Putin. New York: St. Martin’s Press.
6. Office of the Spokesperson. (2014, March 5). President
Putin's Fiction: 10 False Claims About Ukraine. Retrieved from
http://www.state.gov/r/pa/prs/ps/2014/03/222988.htm
7. Putin: Crimea similar to Kosovo, West is rewriting its
own rule book. (2014, March 18). RT. Retrieved from
http://rt.com/news/putin-address-parliament-crimea-562/
8. Putin: Deploying Russian troops in Ukraine not necessary
now, but possible. (2014, March 4). Pravda.Ru. Retrieved from
http://english.pravda.ru/news/russia/04-03-2014/127014-putin_russian_troops_ukraine-0/
9. Putin warns West against sanctions, says Ukraine interim
leader 'not legitimate. (2014, March 4). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/04/putin-blames-unconstitutional-overthrow-yanukovych-for-crimea-crisis/
10. Russian forces expand control of Crimea. (2014, March
3). The Washington Post. Retrieved from
http://www.washingtonpost.com/world/currencies-of-russia-ukraine-fall-monday/2014/03/03/5f3af2c2-a2c9-11e3-a5fa-55f0c77bf39c_story.html
11. Russia FM tells US sanctions 'unacceptable'. (2014,
March 19). Al Jazeera. Retrieved from
http://www.aljazeera.com/news/europe/2014/03/russia-fm-tells-us-sanctions-unacceptable-201431915733488478.html
12. Russia tightens grip on Crimea as West scrambles to
respond. (2014, March 3). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/03/russia-tightens-grip-on-crimea-as-west-scrambles-to-respond/
13. Russia's Black Sea Fleet. (2014, February 28). ITAR-TASS.
Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/721411
14. Samuels, Richard J. (Ed.). (2006). Cold War. In Encyclopedia
Of United States National Security. (pp.135-138). California: Sage
Publications, Inc.
15. Tymoshenko urges hard Western line against Russia.
(2014, March 16). AFP. Retrieved from http://news.yahoo.com/tymoshenko-urges-hard-western-line-against-russia-111425447.html
16. Ukraine crisis upends West's view of Russian President
Vladimir Putin. (2014, March 6). Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/world/asia/la-fg-ukraine-putin-20140307,0,2724923.story#axzz2vEeVYRkO
---------------------------