เกมรุกของปูตินกับข้อวิพากษ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน

เมื่อสองสามเดือนก่อน สถานการณ์ในยูเครนยังเป็นเรื่องความวุ่นวายทางการเมือง อันเนื่องจากการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ประท้วงรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ที่ไม่ยอมทำข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป เนื่องจากรัฐบาลต้องการทำการค้ากับรัสเซียมากกว่า แต่แล้วเรื่องราวลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก เมื่อกองกำลังติดอาวุธซึ่งเชื่อว่าเป็นกองกำลังของรัสเซียเข้าควบคุมเขตไครเมียแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
            รัฐบาลรัสเซียอ้างว่าจำต้องเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องพลเรือนยูเครนเชื้อสายรัสเซีย แต่เหตุผลลึกๆ คือ ยูเครนตั้งอยู่ในจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ คือ มีพรมแดนติดรัสเซียและเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือรัสเซีย ที่รัสเซียขอเช่าพื้นที่จากยูเครน
            ทันทีที่ไครเมียถูกควบคุม ประธานาธิบดีบารัก โอบามา พร้อมด้วยนายเดวิด คาเมรอน นายกฯ อังกฤษ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมัน และนายบรอนิสลาฟ คอมอรอฟสกี (Bronislaw Komorowski) ประธานาธิบดีโปแลนด์ ประกาศจุดยืนร่วมกันว่ารัสเซียรุกรานยูเครน “ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน”
            ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลโอบามาประกาศว่าจะตอบโต้รัสเซียด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับทางการทูต ยังไม่พิจารณาเรื่องการใช้กำลัง เหตุที่รัฐบาลโอบามาประกาศเช่นนี้ย่อมเข้าใจได้ว่าอยากจะใช้วิธีเจรจาก่อน ไม่ต้องการยั่วยุให้สถานการณ์บานปลายกว่าเดิม ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ควรเลือก แต่ก็มีข้อเสียและข้อวิพากษ์ตามมามากมาย และเอื้อให้รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบในขณะนี้
            ภายในสถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ สามารถอธิบายการเดินเกมแบบทั้งขู่ทั้งปลอบของรัสเซีย ดังนี้
          ประการแรก หมากไครเมียลงประชามติรวมกับรัสเซีย
            หากย้อนเวลาถอยหลังเล็กน้อย เมื่อกองกำลังติดอาวุธเข้าควบคุมไครเมียนั้น ได้ควบคุมรัฐสภาไครเมียด้วย และมีการจัดตั้งรัฐบาลไครเมียชุดใหม่ (ไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูเครน แต่เป็นเขตกึ่งปกครองตนเอง) นายเซอร์เกย์ อัคเซโนฟ (Sergei Aksenov) ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไครเมีย
            การปรากฏตัวของรัฐบาลไครเมียชุดใหม่มีความสำคัญ เพราะประกาศปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจจากรัฐบาลกลางยูเครน เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลรักษาการยูเครนไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้รัฐบาลไครเมียยังจัดตั้งกระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรก (แต่เดิมไม่มีกระทรวงดังกล่าว เพราะถือว่าอยู่ใต้อธิปไตยของยูเครน) เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าไครเมียกำลังคิดแยกตัวออกจากยูเครนโดยสมบูรณ์
            ในระหว่างที่ชาติตะวันตกยังไม่มีข้อมติชัดเจนใดๆ ว่าจะจัดการเรื่องยูเครนอย่างไร วันที่ 6 มีนาคม รัฐสภาไครเมียกับสภาเทศบาลเมืองเซวาสโตโพล (Sevastopol) มีมติเห็นชอบที่จะเข้าร่วมรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ขั้นตอนจากนี้คือการลงประชามติในวันที่ 16 เดือนนี้ นายวลาดิเมียร์ คอนสแตนตินอฟ (Vladimir Konstantinov) โฆษกรัฐสภาไครเมียกล่าวว่า “เราไม่ได้เร่งรีบ แต่ทำสิ่งที่สถานการณ์ปัจจุบันเรียกร้อง” ตอบสนองกระแสความต้องการของประชาชน
            ด้านรัฐสภารัสเซียตอบสนองด้วยการแสดงท่าทีว่า จะพิจารณากฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ถ้ามีการลงประชามติและผู้นำประเทศมีคำสั่ง
            ที่น่าสนใจคือ เมื่อสองสามวันก่อนหน้าลงมติของรัฐสภาไครเมีย มีข่าวว่าพลเมืองไครเมียจะลงประชามติในวันที่ 30 มีนาคม เพื่อเรียกร้องมีอำนาจปกครองตนเองเพิ่มขึ้น และอาจนำสู่การกลับไปรวมกับรัสเซียใหม่อีกครั้ง (เขตไครเมียเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ถูกรวมเข้ากับยูเครนในปี 1954) ดังนั้น การลงมติรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ชี้ว่ามีการตัดสินใจแล้วที่จะเดินหน้ารวมกับรัสเซียใหม่อีกครั้ง

            ไม่ว่ารัฐสภาไครเมียจะอ้างเหตุผลอย่างไร การกำหนดลงประชามติในวันที่ 16 เร็วกว่ากำหนดเดิมถึง 2 สัปดาห์ โดยปราศจากการทำประชาพิจารณ์ที่น่าจะทำล่วงหน้าหลายเดือน ทั้งยังมีคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐบาลไครเมียชุดปัจจุบัน ที่เพิ่งจัดตั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่ามกลางการควบคุมของกองกำลังติดอาวุธไร้สังกัด ซึ่งเชื่อกันว่าคือกองกำลังรัสเซีย
            การรีบเร่งทำประชามติ ชี้ว่ารัสเซียกำลังเดิมเกมเร็ว อาศัยการแยกตัวออกของไครเมียเป็นแรงกดดันชาติตะวันตกอีกทางหนึ่ง เพื่อกดดันชาติตะวันตกให้ยอมรับเงื่อนไขของรัสเซีย ไม่ยอมให้ฝ่ายตะวันตกถ่วงเวลายืดยาวออกไป ทั้งยังชี้ว่าหมากไครเมียแยกตัวอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย เพราะขั้นตอนต่อจากการลงประชามติคือขั้นตอนของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งจะเร่งรัดหรือยืดการตัดสินเป็นเมื่อไหร่ก็ได้

          ประการที่สอง รัสเซียจะบุกยูเครนเพิ่มเติมหรือไม่
            ต้นเดือนมีนาคม นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่ารัสเซียจะยังไม่ส่งทหารเข้ายูเครน (หมายถึงเข้าทางด้านยูเครนตะวันออก) “ณ ขณะนี้ยังไม่จำเป็น แต่ก็อาจเป็นไปได้” ถ้าเกิดสถานการณ์วุ่นวายในยูเครนตะวันออก และชาวบ้านร้องขอความช่วยเหลือ รัสเซีย “จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องประชาชนเหล่านั้น” คำพูดของประธานาธิบดีปูติน อยู่ในช่วงจังหวะเดียวกับการการเจรจายุติปัญหากับประเทศอื่นๆ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการประกาศจุดยืน ว่ารัสเซียพร้อมที่จะส่งทหารข้ามพรมแดนเข้ายูเครนตะวันออก “ถ้าจำเป็น” ซึ่งสามารถตีความต่อได้อีกหลายทาง เช่น หากยูเครนหรือนาโตเตรียมส่งกองทัพเพื่อยึดไครเมียคืน รัสเซียจะชิงส่งทหารเข้าบุกก่อนทันที
            แท้ที่จริงแล้ว การคาดการณ์ว่ารัสเซียจะส่งทหารควบคุมยูเครนหรือไครเมียไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนหลังเมื่อปี 2005 เมื่อนายวิกเตอร์ ยูเชนโก (Viktor Yushchenko) ที่ชาติตะวันตกสนับสนุน ชนะการเลือกตั้ง ก็มีกระแสข่าวว่าหากประธานาธิบดีคนใหม่ไม่ยอมให้กองเรือรัสเซียประจำการต่อในฐานทัพที่ไครเมีย รัสเซียอาจส่งทหารเข้ายูเครน
            เรื่องทำนองนี้ชาติตะวันตกรู้ดีมาโดยตลอด และกังวลใจว่าวันหนึ่งรัสเซียจะบุกยูเครน

            นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเป้าหมายขั้นต่ำที่ประธานาธิบดีปูตินต้องการ คือ การรักษาอิทธิพลของตนในยูเครนตะวันออกกับเขตไครเมีย ซึ่งรัสเซียสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นกับบริบท ขึ้นกับการเจรจาต่อรอง
            ขณะนี้เขตไครเมียอยู่ในการควบคุมร่วมระหว่างรัฐบาลไครเมียกับกองทัพรัสเซียแล้ว จึงเกิดคำถามว่ารัสเซียจะบุกยูเครนส่วนที่เหลือหรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่ยูเครนตะวันออก ซึ่งประชากรจำนวนมากมีเชื้อสายรัสเซีย พูดภาษารัสเซีย เศรษฐกิจท้องถิ่นผูกโยงกับรัสเซียอย่างใกล้ชิด นายวิลเลียม เฮก (William Hague) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ กล่าวยอมรับด้วยความกังวงลว่า นอกจากควบคุมไครเมียแล้ว รัสเซียอาจเคลื่อนกำลังเข้าไปในส่วนอื่นของยูเครน ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์วิกฤตกว่าเดิม
            หมากของรัสเซียคือ หากการเจรจาไม่สมประโยชน์รัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินอาจสั่งเคลื่อนทัพเข้ายูเครนตะวันออก นั่นหมายความว่าสถานการณ์ยูเครนและภูมิภาคจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตร้ายแรง
            แรงกดดันตกอยู่กับฝ่ายชาติตะวันตกว่าจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร

          ประการที่สาม ใช้เศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจโลกเป็นตัวประกัน
            ถ้าจะวิเคราะห์เรื่องพลังอำนาจทางทหาร รัสเซียในปัจจุบันกำลังฟื้นฟูอำนาจการรบให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง อย่างน้อยให้ยิ่งใหญ่สมกับความเป็นชาติมหาอำนาจ ให้เพียงพอต่อการป้องกันประเทศ แต่ ณ วันนี้ สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีอานุภาพทางทหารมากที่สุด ดังนั้น พลังอำนาจทางทหารของรัสเซียไม่อาจเทียบกับฝ่ายชาติตะวันตก ไม่ว่าจะมองในแง่เทียบกับสหรัฐเพียงประเทศเดียว หรือเปรียบเทียบในกรอบองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต
            ประเด็นอยู่ที่ว่าโลกยุคปัจจุบัน ไม่ใช่ยุคสงครามเย็น แต่เป็นยุคโลกาภิวัตน์ ที่เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด รัสเซียเป็นทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าลำดับต้นๆ ของสหภาพยุโรป (อียู) และที่สำคัญคือ หากเกิดวิกฤตร้ายแรง จะส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วต่อตลาดเงินตลาดทุน หากเกิดสงครามขึ้นจริง ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นแน่นอน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของอียูที่ยังอยู่ในภาวะประคองตัว ชาติสมาชิกอียูหลายประเทศพร้อมจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกรอบ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐนั้นแม้จะดีขึ้นตามลำดับ ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลายปี แต่ก็พร้อมที่จะกลายเป็น “ขาลง” ได้เช่นกัน
            เมื่อประธานาธิบดีโอบามาขู่ว่าจะคว่ำบาตรรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินจึงโต้กลับว่า ชาติตะวันตกจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน และเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลโอบามาจึงประกาศว่าจะแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ด้วยการโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจกับทางการทูตต่อรัสเซีย ประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐย่อมเข้าใจเหตุผลเหล่านี้ได้ดีกว่าประเทศใดๆ

          ประการที่สี่ รัสเซียเสนอให้ยูเครนจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยเร็ว
            ภายใต้หมากกลดังกล่าว รัสเซียได้เปิดทางให้กับฝ่ายตะวันตกด้วย (พูดให้ถูกต้องกว่านี้คือ รัสเซียได้กำหนดผลประโยชน์ที่ตนต้องการไว้อย่างชัดเจน) ข้อเสนอของรัสเซียเพื่อเป็นทางออกของทุกฝ่าย คือ ขอให้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งโดยเร็ว โดยที่นายยานูโควิชยังอยู่ในฐานะประธานาธิบดี
            จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของรัสเซียคือ กลับไปมองว่าต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดมาจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในยูเครน (ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ความมั่นคงของรัสเซีย) จึงขอให้แก้ความขัดแย้งด้วยการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่รับปากว่าจะคืนไครเมียให้ยูเครน เป็นไปได้ว่าอาจจะคืนหรือไม่ก็ได้ ขึ้นกับสถานการณ์ การเจรจาต่อรอง

            สถานการณ์ขณะนี้รัสเซียจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบ หากชาติตะวันตกไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลาย ทางออกที่ละมุนละม่อมมากสุด คือทำตามข้อเสนอของรัสเซีย ให้ตัดสินปัญหาด้วยการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
            ถ้าเป็นไปในทิศทางนี้ หากผู้สมัครที่รัสเซียสนับสนุนชนะการเลือกตั้ง รัสเซียอาจยอมคืนไครเมียแก่ยูเครน (สถานการณ์กลับสู่จุดตั้งต้น คืนสู่ภาวะปกติ) แต่หากแพ้และผู้นำยูเครนคนใหม่ดำเนินนโยบายใกล้ชิดตะวันตก ยูเครนอาจเกิดเหตุวุ่นวายอีกรอบ เพื่อให้กองกำลังติดอาวุธเข้าควบคุมสถานการณ์อีกครั้ง (สถานการณ์เข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกรอบ)
            หรือรัสเซียอาจเลือกทางออกอีกอย่างคือ สนับสนุนให้ไครเมียกับยูเครนตะวันออกแยกตัวเป็นเอกราชจากยูเครน ซึ่งวิธีการหลังนี้น่าจะเป็นทางเลือกลำดับท้ายๆ

            ทั้งหมดนี้เป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ “เส้นต้องห้าม”
มีนาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6333 วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2557) 
------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ยูเครนตั้งอยู่ในจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ มีพรมแดนติดรัสเซีย และเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือรัสเซีย หากยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ยูเครนอาจไม่ยอมให้รัสเซียเช่าฐานทัพเรือที่ไครเมียอีกต่อไป อีกทั้งนาโตอาจวางกองกำลังในยูเครนที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย ขณะนี้ รัสเซียอยู่ในฐานะได้เปรียบ เพราะอย่างน้อยได้ควบคุมไครเมียแล้ว ในขณะที่นาโตลังเลใจที่จะตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทหาร
2. ยูเครนวิกฤตรัสเซียสู้ไม่ถอย (Ookbee)
ยูเครนเป็นประเทศที่น้อยคนจะรู้จัก เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต เริ่มเป็นรัฐอธิปไตยหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่ปลายปี 2013 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่บานปลายจนรัสเซียส่งกองกำลังเข้ายึดไครเมีย และเกิดสงครามกลางเมืองขนาดย่อมในฝั่งตะวันออกของประเทศ แต่ความสำคัญของสถานการณ์ยูเครนในขณะนี้คือการเผชิญหน้า ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัสเซีย อีกฝ่ายคือสหรัฐฯ กับพันธมิตรอียู การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจรุนแรงยืดเยื้อกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสู้ไม่ถอย
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1.Bowie, Nile. (2014, March 4). US hypocrisy over ‘Russian aggression’ in Ukraine. Retrieved from http://rt.com/op-edge/ukraine-us-hypocrisy-russia-758/
2. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia University Press.
3. Judah, Ben. (2013). Fragile Empire: How Russia Fell in and Out of Love with Vladimir Putin. UK: Yale University Press.
4. Putin: Deploying Russian troops in Ukraine not necessary now, but possible. (2014, March 4). Pravda.Ru. Retrieved from http://english.pravda.ru/news/russia/04-03-2014/127014-putin_russian_troops_ukraine-0/
5. Putin warns West against sanctions, says Ukraine interim leader 'not legitimate. (2014, March 4). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/04/putin-blames-unconstitutional-overthrow-yanukovych-for-crimea-crisis/
6. Russia tightens grip on Crimea as West scrambles to respond. (2014, March 3). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/03/russia-tightens-grip-on-crimea-as-west-scrambles-to-respond/
7. Sevastopol and Crimean parliament vote to join Russia, referendum to be held in 10 days. (2014, March 7). RT. http://rt.com/news/crimea-referendum-status-ukraine-154/
8. Standoffs persist in Crimea as Kerry prepares to meet Russian counterpart. (2014, March 5). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/europe/standoffs-persist-in-crimea-as-kerry-prepares-to-meet-russian-counterpart/2014/03/05/6677625e-a45f-11e3-8466-d34c451760b9_story.html
9. Ukraine crisis: Western leaders scramble to respond to Russian incursion. (2014, March 2). Fox News. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/02/crimean-leader-claims-control-asks-russia-for-help-in-restoring-peace/
------------------------