การเดินเกมและผลประโยชน์แอบแฝง : รัฐบาลรักษาการยูเครนประกาศว่ากำลังเร่งจัดตั้งกองกำลังป้องกันประเทศ
เนื่องจากปัจจุบันมีทหารราบพร้อมรบเพียง 6 พันนาย อาวุธยุทโธปกรณ์ขาดแคลน พร้อมกับร้องขอความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก
เนื่องจากไม่อาจต่อกรกับกองทัพรัสเซีย ยกตัวอย่างว่ามีกองกำลังทางอากาศน้อยกว่ารัสเซียถึง
1 ต่อ 100 นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค (Arseny Yatsenyuk) รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน
อ้างว่าสหรัฐกับเยอรมนีจะต้องปกป้องอธิปไตยยูเครนตามสนธิสัญญาที่ทำเมื่อปี 1994
นอกจากนี้
รัฐบาลรักษาการยังแสดงท่าทีพร้อมจะลงนามในสัญญาข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป และรัฐสภายูเครนได้บรรจุวาระการพิจารณาขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตแล้ว
สถานการณ์ขณะนี้คือ ชาติตะวันตกประกาศว่ารัสเซียละเมิดอธิปไตยยูเครน
แต่ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการเข้มข้นเพียงพอที่จะกดดันให้กองกำลังที่เชื่อว่าเป็นของรัสเซียถอนตัวออกจากไครเมีย
ในมุมหนึ่งตีความได้ว่า
รัฐบาลรักษาการยูเครนตะหนักว่าไม่มีอำนาจทางทหารมากพอที่จะต่อกรกับรัสเซีย
จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก พร้อมกับแสดงท่าทียืนยันอยู่ฝ่ายตะวันตกอย่างแข็งขัน
ดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่อียู นาโต
ข้อแรก
เป็นการอ้างว่ารัฐบาลของตนเป็นรัฐบาลยูเครนอันชอบธรรม ชาติตะวันตกให้การยอมรับ ทั้งๆ
ที่การขับไล่นายวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) (อดีต)
ประธานาธิบดี และการตั้งรัฐบาลรักษาการมีประเด็นขัดแย้งรัฐธรรมนูญ
ข้อสอง
เป็นการเปิดทางให้กองกำลังชาติตะวันตกแทรกแซง ซึ่งในขณะนี้สหรัฐกับพันธมิตร
เริ่มเสริมเรือรบ เครื่องบินรบ เครื่องบินลาดตระเวนในประเทศแถบนี้ เช่นที่โปแลนด์กับโรมาเนีย
การแสดงออกดังกล่าวย่อมเป็นการเตือนรัสเซีย หากคิดจะใช้กำลังต่อยูเครน
เป็นการปกป้องยูเครนไปในตัว
ข้อสาม
เป็นการกดดันให้ชาติตะวันตกช่วยเหลือยูเครนทางด้านเศรษฐกิจ เพราะหากชาติตะวันตกยื่นมือช่วยเหลือยูเครน
นั่นหมายความว่า จะต้องช่วยเหลือด้านอื่นๆ อันจะเป็นการค้ำจุนรัฐบาลรักษาการชุดนี้ไปในตัว
เรื่องนี้มีนัยยะทางการเมืองที่น่าสนใจ เนื่องจากนายโอเล็กซานเดอร์
ตูชินอฟ (Oleksandr Turchynov) รักษาการประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบัน
คือมือขวาของนางยูลิยา ทีโมเชงโก (Yulia Tymoshenko) อดีตนายกฯ
ผู้มีบารมีตัวจริงของพรรค Fatherland ส่วนนายยัตเซนยุค รักษาการนายกรัฐมนตรี
คือหัวหน้าพรรค Fatherland รวมความแล้วรัฐบาลรักษาการคือฝ่ายนางทีโมเชงโกนั่นเอง
นางทีโมเชงโก คือคู่แข่งการเมืองคนสำคัญของนายยานูโควิช (อดีต) ประธานาธิบดียูเครนที่กำลังลี้ภัยอยู่รัสเซียในขณะนี้
และเชื่อว่าคือผู้นำที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลรักษาการ
อธิบายเพิ่มเติมง่ายๆ
ว่า การเมืองยูเครนแบ่งออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ คือ ขั้วยูเครนตะวันออก กับขั้วยูเครนตะวันตก
ขั้วยูเครนตะวันออก
นำโดยนายวิคเตอร์ ยานูโควิช ฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกกับภาคใต้
รวมทั้งไครเมีย มักเป็นชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย มีเชื้อสายรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียให้การสนับสนุน
อีกขั้วหนึ่งคือ
ขั้วยูเครนตะวันตก นำโดยนางยูลิยา ทีโมเชงโก ฐานเสียงส่วนใหญ่คือชาวยูเครนที่พูดภาษายูเครน
มักอาศัยทางภาคตะวันตก ดำเนินนโยบายใกล้ชิดชาติตะวันตก
นอกจากพรรค Fatherland ของนางทีโมเชงโก
ขั้วนี้ยังประกอบด้วยพรรคหรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ ได้แก่ พรรค Ukrainian Democratic
Alliance for Reform พรรคชาตินิยม Svoboda และกลุ่มขวาจัด
สิ่งที่ขั้วของนางทีโมเชงโกต้องการ
คือ ได้รับการสนับสนุน การปกป้องจากชาติตะวันตก อันหมายถึงจะต้องดำเนินการใน 3
ด้านหลัก ด้านแรกคือปกป้องอธิปไตย โดยเฉพาะปกป้องพื้นที่ยูเครนที่เหลือ ด้านที่สอง
คือ สนับสนุนทางการเมือง หากชาติตะวันตกรับรอง สนับสนุนรัฐบาลรักษาการ
เท่ากับว่าสนับสนุนขั้วของนางทีโมเชงโก
และด้านที่สาม
คือ ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ยูเครนในขณะนี้ไม่เพียงเผชิญวิกฤตด้านความมั่นคงทางทหารกับทางการเมืองดังกล่าว
ยังกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
จำต้องได้รับความช่วยเหลือจากตะวันตกอย่างเร่งด่วนและมากเพียงพอ
ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ การช่วยเหลือจะต้องมาจากชาติตะวันตกเท่านั้น
เพราะเป็นปรปักษ์โดยตรงกับรัสเซีย
โดยรวมแล้ว
นางทีโมเชงโกหรือขั้วยูเครนตะวันออกไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพาชาติตะวันตกในทุกด้าน
ซึ่งหากชาติตะวันตกยื่นมาเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือพลพรรคของนางทีโมเชงโก รวมทั้งตัวนางทีโมเชงโก ที่เมื่อไม่กี่วันก่อนยังเป็นนักโทษ
เนื่องจากความผิดในคดียักยอกทรัพย์ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่วันนี้ได้รับการปล่อยตัว
เพียงเพราะรัฐบาลรักษาการเป็นคนของตน และสามารถกลับมาแสดงบทบทอย่างเต็มที่อีกครั้ง
ชาติตะวันตกควรไตร่ตรองอีกครั้งหรือไม่
:
ประการแรก
ระวังไม่ปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย
สมาชิกอียูหลายประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ควรปล่อยให้รัสเซียมีอิทธิพลยิ่งใหญ่อีกครั้ง
เพราะจะกระทบต่อผลประโยชน์ของพวกเขา แต่หากปล่อยให้สถานการณ์บานปลายย่อมไม่ส่งผลดีต่อทุกประเทศทั่วโลกเช่นกัน
ประการที่สอง
ควรล้ำเส้นต้องห้ามหรือไม่
เป็นที่เข้าใจว่านับจากที่อดีตสหภาพโซเวียตแตกออก
ประเทศยูเครนเป็นเอกราช รัฐบาลสหรัฐก็มีนโยบายต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมองค์การนาโต
ในขณะที่รัสเซียมีจุดยืนไม่ยอมให้ยูเครนเข้ากลุ่มนาโตโดยเด็ดขาด ถือว่าเป็น
“เส้นต้องห้าม”
เหตุที่รัสเซียให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
เพราะหากยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ย่อมกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของฐานทัพเรือรัสเซียที่เซวาสโตโพล
(Sevastopol) ในเขตไครเมีย ไม่ว่ารัสเซียจะสามารถใช้พื้นที่ต่อหรือไม่
พลังอำนาจของกองทัพเรือจะถูกบั่นทอนอย่างรุนแรง ความมั่นคงทางทหารของรัสเซียจะถูกกระทบอย่างประเมินค่าไม่ได้
นอกจากนี้ หากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตเท่ากับว่ากองกำลังนาโตได้ประชิดพรมแดนรัสเซียแล้ว
นี่คือเหตุผลว่ารัสเซียไม่ยอมให้ยูเครนเข้ากลุ่มนาโตเด็ดขาด ถือว่าเป็น
“เส้นต้องห้าม” เป็นผลประโยชน์สำคัญยิ่ง (vital interest)
ที่ต้องรักษาไว้ แม้จำต้องละเมิดอธิปไตยยูเครนก็ตาม
ประการที่สาม
คุ้มหรือไม่ที่จะจ่าย
การช่วยเหลือยูเครน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
การช่วยเหลือเฉพาะหน้า กับการช่วยเหลือในระยะยาว
นายยัตเซนยุค
รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน กล่าวถึงฐานะการเงินการคลังที่ย่ำแย่ว่า ปัจจุบันยูเครนขาดดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ
8.3 ของจีดีพี ขาดดุลงบประมาณเกือบร้อยละ 8 ของจีดีพี เศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่กลางปี 2012 เป็นต้นมา
ทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือใช้จ่ายเพียง 2 เดือน
รัฐบาลยูเครนประสงค์จะได้เงินช่วยเหลือราว
35,000 ล้านดอลลาร์ใน 2 ปีข้างหน้า (หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท)
ที่ผ่านมารัฐบาลรัสเซียให้ความช่วยเหลือก้อนใหญ่แก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ตั้งใจจะให้เงินกู้แก่ยูเครนถึง 15,000 ล้านดอลลาร์
และยังให้สิทธิ์ซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาพิเศษ แลกกับการที่รัสเซียสามารถเช่าพื้นที่สำหรับฐานทัพเรือเซวาสโตโพล
ทางด้านชาติตะวันตก
เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลโอบามาสัญญาว่าจะช่วยค้ำประกันเงินกู้แก่ยูเครนเป็นมูลค่า
1,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหภาพยุโรปเสนอช่วยให้ความช่วยเหลือเป็นเงินกู้และเงินให้เปล่ารวม
15,000 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน (ทั้งนี้ยังไม่ระบุกรอบเวลาที่จะส่งมอบ) และเงินกู้เงินช่วยเหลือที่ชาติตะวันตกจะมอบแก่ยูเครนนั้น
จะดำเนินการผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
หากชาติตะวันตกเลือกที่จะอุ้มขั้วยูเครนตะวันตก
คาดว่าจะสามารถพยุงฐานะการคลังไม่ให้ล้มละลายในระยะสั้น แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ
สังคมยูเครนเต็มด้วยการคอร์รัปชัน ทุกรัฐบาลโกงกิน เป็นที่มาของเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในขณะนี้
การอัดฉีดเงินช่วยเหลือจะช่วยพยุงฐานะการเงินการคลังได้ในระยะสั้น แต่การช่วยเหลืออย่างยั่งยืนจำต้องปฏิรูปการเมือง
ปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งต้องกินเวลาหลายปี ต้องใช้เงินช่วยเหลืออีกมาก
โดยที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ เรื่องเหล่านี้ชาติตะวันตกเข้าใจเป็นอย่างดี
เป็นที่มาของเงื่อนไขว่าจะให้ความช่วยเหลือผ่าน IMF และเน้นช่วยเหลือเพื่อการปฏิรูปประเทศเท่านั้น
เพราะจะเป็นการสูญเปล่าหากยูเครนได้รับความช่วยเหลือโดยที่ประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
หวังให้เศรษฐกิจยูเครนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
คำถามคือ
ชาติตะวันตกพร้อมที่จะลงทุนหรือไม่ นี่คือเรื่องของผลประโยชน์แบบยื่นหมูยื่นแมว
เทคนิคหลักของขั้วยูเครนตะวันตกคือ
การพยายามดึงให้ชาติตะวันตกยอมรับรัฐบาลชั่วคราว และพยายามพูดจาหว่านล้อมเพื่อดึงให้เข้ามาพัวพันกับสถานการณ์
ดังที่อดีตนายกฯ ทีโมเชงโก กล่าวว่า
“ดิฉันคิดว่าวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยูเครนจะสูญเสียไครเมีย
แต่โลกจะสูญเสียความมั่นคงหากไม่ทำอะไรสักอย่างต่อสถานการณ์ในขณะนี้ ...
วันนี้เครมลิน (รัฐบาลรัสเซีย) ได้ประกาศทำสงครามแล้ว ไม่ได้ประกาศต่อไครเมีย
หรือต่อยูเครน แต่ประกาศทำสงครามกับโลก” และเชื่อว่าหากชาติตะวันตกกดดันทางทหารต่อรัสเซียอย่างจริงจัง
ดังเหตุการณ์ “วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา” (Cuban Missle Crisis) ที่ 2 อภิมหาอำนาจเผชิญหน้าจนเกือบเกิดสงครามนิวเคลียร์
ฝ่ายรัสเซียจะถอยกลับไปเองในที่สุด
แน่นอนว่าชาติตะวันตกย่อมทำเพื่อประโยชน์ที่ตนต้องการจะได้ แต่การจะดำเนินการใดๆ
ควรไตร่ตรองโดยรอบคอบ การกระโจนเข้าพัวพันยูเครนอย่างเต็มตัวอาจได้ไม่เท่ากับเสีย
ส่วนฝ่ายที่ “ได้” แน่นอนคือพวกของอดีตนายกฯ ทีโมเชงโก
ที่สามารถยืมมือชาติตะวันตกมาอยู่กับพวกตน
ความพยายามครองอำนาจ
รักษาอำนาจของฝ่ายนางทีโมเชงโก จึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญของการเจรจาต่อรองในขณะนี้
และมีผลต่อทิศทางอนาคตของประเทศยูเครนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
16 มีนาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6340 วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2557)
------------------------------
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว
เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก
ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ
“เส้นต้องห้าม”
บรรณานุกรม:
1. After Initial Triumph, Ukraine’s Leaders Face Battle for
Credibility. (2014, March 1). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/03/02/world/europe/after-initial-triumph-ukraines-leaders-face-battle-for-credibility.html?_r=0
2. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost
alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia
University Press.
3. IMF reforms get new life through Ukraine. (2014, March 14).
Politico. Retrieved from http://www.politico.com/story/2014/03/international-monetary-fund-ukraine-russia-crimea-congress-104656.html
4. Klitschko Interview: 'I'd Also Shake Hands with
Devil To Save Lives'. (2014, March 11). Spiegel Online. Retrieved from
http://www.spiegel.de/international/europe/vitali-klitschko-interview-about-crimea-and-russia-conflict-a-957830.html
5. Longworth, Philip. (2005). Russia: The Once and Future
Empire From Pre-History to Putin. New York: St. Martin’s Press.
6. Moldavanova, Alisa. (2013). Public Perception of the
Sea Breeze Exercises and Ukraine’s Prospects in the Black Sea Region.
Retrieved from http://fmso.leavenworth.army.mil/Collaboration/international/Ukraine/Sea-Breeze-exercise.pdf
7. Slomp, Hans. (2011). Europe, A Political Profile: An
American Companion to European Politics. USA: ABC-CLIO, LLC.
8. Standoffs persist in Crimea as Kerry prepares to meet
Russian counterpart. (2014, March 5). The Washington Post. Retrieved
from
http://www.washingtonpost.com/world/europe/standoffs-persist-in-crimea-as-kerry-prepares-to-meet-russian-counterpart/2014/03/05/6677625e-a45f-11e3-8466-d34c451760b9_story.html
9. Ukraine forms new defense force, seeks Western help.
(2014, March 11). Reuters. Retrieved from http://news.yahoo.com/confrontation-ukraine-diplomacy-stalls-011314222.html
10. Yulia Tymoshenko: 'Kremlin has declared war'. (2014,
March 11). Al Jazeera. Retrieved from
http://www.aljazeera.com/programmes/talktojazeera/2014/03/yulia-tymoshenko-kremlin-declared-war-20143715542330860.html
---------------------------