ความล้มเหลวของการปกครองและรัฐบาล คือภัยร้ายของยูเครน

ประเทศยูเครนเริ่มต้นเมื่อปี 1991 จากการแยกตัวออกจากอดีตสหภาพยุโรปพร้อมกับการล่มสลายของระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน บรรดารัฐที่แยกตัวออกไป รวมทั้งยูเครน จึงปราศจากการเตรียมตัวใดๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หน่วยงานรัฐไม่พร้อมที่จะบริหารประเทศในฐานะรัฐอธิปไตย ขาดกฎหมายหลายเรื่อง การบริหารจัดการขาดระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ฝ่ายบริหารกับรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ โดยปราศจากระบบหรือกลไกควบคุม กลายเป็นผู้ปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
            การบริหารด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในระยะแรกอาจมองได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ฝ่ายบริหาร ผู้นำการเมืองจำต้องให้ความสำคัญกับการบริหารประเทศในภาวะฉุกเฉิน แต่ในขณะเดียวกันกลายเป็นเหตุให้ละเลยการวางรากฐานประชาธิปไตยแก่สังคม
การเมืองแบบ 2 ขั้ว เพื่อใคร :
            ในช่วงแรกที่ได้รับเอกราชใหม่ๆ การเมืองยังไม่เป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน แต่จากความไม่พร้อมในการบริหารประเทศจึงไม่สามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สามสี่ปีหลังได้รับเอกราช เศรษฐกิจยูเครนก็ล่มสลายอย่างที่ร้ายแรงกว่าที่เกิดในรัสเซีย บั่นทอนเสถียรภาพของประธานาธิบดีเลโอนิด คุชมา (Leonid Kuchma) ผู้มีนโยบายอิงรัสเซีย
            เหตุการณ์ที่เกิดควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ คือ รัฐบาลคุชมามีข่าวการติดสินบน การคอร์รัปชันหนาหู
          ปัญหาเศรษฐกิจ นโยบายพึ่งพิงรัสเซียและการคอร์รัปชัน กลายเป็นต้นเหตุสนับสนุนให้เกิดขั้วการเมืองที่ 2 แกนนำขั้วนี้อาศัยภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ การคอร์รัปชัน และความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ รวบรวมประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมืองยูเครนที่พูดภาษายูเครน ไม่รู้สึกผูกพันกับรัสเซีย มักอาศัยทางภาคตะวันตกกับภาคกลางของประเทศ จัดตั้งเป็นกลุ่มการเมืองอีกขั้วหนึ่ง ขอเรียกกลุ่มการเมืองขั้วที่ 2 นี้ว่า ขั้วยูเครนตะวันตก
            ส่วนกลุ่มการเมืองของประธานาธิบดีคุชมา ขอเรียกว่าเป็นขั้วยูเครนตะวันออก โดยฐานเสียงส่วนใหญ่คือพลเมืองยูเครนที่อาศัยภาคตะวันออกกับทางใต้ รวมทั้งไครเมีย หลายคนมีเชื้อสายรัสเซีย พูดภาษารัสเซีย มีวัฒนธรรมและเศรษฐกิจผูกพันกับรัสเซีย
            การเมืองยูเครนจึงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ ดังกล่าว (ยูเครนมีกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองเล็กๆ อื่นๆ เช่นกัน แต่กลุ่มเหล่านี้มักไปรวมกับพรรคใหญ่ 2 ขั้ว)

            ที่น่าสนใจคือ การเมืองแบบ 2 ขั้วของยูเครน เป็นการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนมาก นโยบายการบริหารประเทศของแต่ละฝ่ายแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว และเมื่อขั้วที่ 2 หรือขั้วยูเครนตะวันตกเข้มแข็งมากขึ้น มีที่นั่งในรัฐสภาเพิ่มขึ้น กลายเป็นฝ่ายค้านที่คัดค้านการทำงานของรัฐบาลแทบทุกเรื่อง (หรือในทางกลับกันเมื่อขั้วยูเครนตะวันตกเป็นรัฐบาล ก็จะถูกอีกขั้วคัดค้านแบบหัวชนฝา) จนการบริหารประเทศเต็มด้วยอุปสรรคจากการเมืองในรัฐสภา รัฐบาลไม่สามารถตัดสินนโยบายสำคัญใดๆ
           ไม่ว่าจะเกิดจากการปลุกปั่นหรือด้วยเหตุใด พลเมืองเชื้อสายยูเครนจำนวนไม่น้อยมีความคิดอยู่เสมอว่า แม้ประเทศได้ชื่อว่ามีเอกราช แต่แท้ที่จริงแล้วยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย โดยเฉพาะขั้วยูเครนตะวันออกที่มักดำเนินนโยบายอิงรัสเซีย ยูเครนคล้ายกับเป็นประเทศชั้น 2 (ทำนองเดียวกับพลเมืองชั้น 2)
            ด้วยแนวคิดเช่นนี้สนับสนุนให้ขั้วยูเครนตะวันตกมีความชอบธรรมในการหันไปหายุโรปตะวันตก

            สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ คือ ขั้วยูเครนตะวันออกเป็นฝ่ายถอยออกจากอำนาจรัฐ เมื่อ (อดีต) ประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) หนีไปอยู่รัสเซีย
            นายโอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชีนอฟ (Oleksandr Turchynov) รักษาการประธานาธิบดียูเครน และนายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค (Arseny Yatsenyuk) รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน คือแกนนำการเมืองของขั้วยูเครนตะวันตก ที่มีนางยูลิยา ทีโมเชงโก (Yulia Tymoshenko) เป็นผู้นำสูงสุดของขั้ว

            เมื่อเทียบกับรัฐเกิดใหม่หรือรัฐที่ได้รับเอกราชจากอดีตสหภาพโซเวียต นักวิชาการหลายคนชี้ว่ายูเครนเป็นประเทศที่ความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยให้เหตุผลว่ามีการเลือกตั้งที่ประชาชนสามารถเลือกพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ พรรคการเมืองมี 2 ขั้ว มีฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน
            ในอีกแง่มุม มีข้อโต้แย้งว่า แม้จะได้ชื่อว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีขั้วการเมือง แต่หลังผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ สถาบันสำคัญๆ ของประเทศยังขาดความเป็นประชาธิปไตย ระบบศาลซึ่งน่าจะเป็นอิสระกลับอยู่ใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร เสรีภาพของประชาชนถูกจำกัด รัฐควบคุมสื่อ ผู้สื่อข่าวที่นำเสนอข่าวอย่างอิสระมักถูกลอบสังหาร ประเทศเต็มด้วยการคอร์รัปชัน ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่ที่นักธุรกิจชนชั้นปกครองไม่กี่กลุ่ม
            จึงเกิดคำถามว่า การกลุ่มการเมืองทั้ง 2 ขั้วของยูเครน ได้ทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด หรือพยายามแบ่งแยกประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ นานาเพื่อให้คนเหล่านี้เป็นฐานเสียงของตนอย่างเหนียวแน่น ขาดการเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร

คะแนนคอร์รัปชัน สะท้อนคะแนนการเมือง:
            ในปี 2013 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ให้คะแนนความโปร่งใสแก่ยูเครน ตามดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index) เพียง 25 จากคะแนนเต็ม 100 อยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาร้ายแรง เป็นประเทศหนึ่งที่ได้คะแนนต่ำสุดในทวีปยุโรป และอยู่ในลำดับที่ 144 จากทั้งหมด 177 ประเทศ (ประเทศไทยได้ 35 คะแนน อยู่ลำดับที่ 102)
            ชาวยูเครนจำนวนมากเห็นว่ารากปัญหาของประเทศ คือการตกอยู่ในวังวนการคอร์รัปชันของชนชั้นปกครอง และแม้ประเทศจะได้ชื่อว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าว

            กรณีคอร์รัปชันโดยขั้วยูเครนตะวันออก ที่พูดถึงกันมากคือ การคอร์รัปชันของประธานาธิบดีคุชมา ที่แม้สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 2 สมัย แต่เต็มด้วยข่าวการติดสินบน การคอร์รัปชันอย่างหนัก โดยเฉพาะการคอร์รัปชันผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นช่วงที่ชนชั้นปกครองเฟื่องฟู อาศัยผลประโยชน์เศรษฐกิจควบคุมนักการเมือง ระบบการเมือง
            ส่วนกรณีของ (อดีต) ประธานาธิบดียานูโควิช นั้นชัดเจนอยู่แล้วในรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เป็นผู้นำประเทศที่ประชาชนให้ความไว้วางใจต่ำมาก
            ทางด้านขั้วยูเครนตะวันตกก็มีข่าวการคอร์รัปชันรุนแรงเช่นกัน อดีตนายกฯ ยูลิยา ทีโมเชงโก (Yulia Tymoshenko) เป็นนักธุรกิจหญิงที่ร่ำรวยจากอุตสาหกรรมก๊าซ โด่งดังทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านการทุจริตเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2004 หรือที่มักนิยมเรียกว่า Orange Revolution นางทีโมเชงโกเกิดประวัติด่างพร้อยจากข้อกล่าวหาเรื่องการทำข้อตกลงธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย ต่อในเมื่อแพ้เลือกตั้งชิงประธานาธิบดีในปี 2010 ชีวิตทางการเมืองก็ตกต่ำอย่างรวดเร็ว และถูกจับเข้าคุกด้วยความผิดฐานยักยอกเงิน แต่ฝ่ายที่สนับสนุนอ้างว่าเธอถูกเล่นงานทางการเมือง
            ที่น่าประหลาดใจคือ ไม่กี่วันหลังจากที่ขั้วยูเครนตะวันตกได้เป็นรัฐบาลรักษาการ นางก็ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงกำหนดพ้นโทษ ล่าสุด มีข่าวว่านางทีโมเชงโกประกาศจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมนี้ ครั้งนี้อดีตนายกฯ ทีโมเชงโกอาจสมหวังก็เป็นได้

วิเคราะห์องค์รวม ความล้มเหลวของประชาธิปไตยยูเครน :
            ประการแรก ประชาธิปไตยที่อำนาจอยู่ในคนไม่กี่กลุ่ม
            ความไม่พร้อมของยูเครนเมื่อประกาศแยกตัวเป็นเอกราช เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาในปัจจุบัน เพราะยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมยาวนาน ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแม้แต่น้อย อำนาจการเมืองการปกครองจึงตกอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่มที่สามารถกุมอำนาจฝ่ายบริหารกับรัฐสภา เหล่านักการเมืองผู้ชนะเลือกตั้งแต่ละครั้งกลายเป็นผู้กุมอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ และกลายเป็นการแก่งแย่งช่วงชิงระหว่างฝ่ายการเมือง 2 ขั้ว
            ผลที่ตามมาคือ ระบบการบริหารขาดประสิทธิภาพ เกิดการฉ้อฉลอำนาจในรูปแบบต่างๆ การคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่ากว่า 23 ปี ตั้งแต่ที่ยูเครนได้รับเอกราช ยังไม่มีรัฐบาลชุดใดที่ตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

            ประการที่สอง การแทรกแซงจากต่างชาติ
            สถานการณ์ยูเครน ไครเมียที่กลายเป็นวิกฤตในขณะนี้ มาจากการแทรกแซงของต่างชาติ เนื่องจากยูเครนตั้งอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ารัสเซียต้องการมีอิทธิพลเหนือยูเครน ในขณะเดียวกันชาติตะวันตกก็ต้องให้ยูเครนเป็นฝ่ายของตน หวังให้เป็นสมาชิกนาโต อียู ดำเนินนโยบายอิงชาติตะวันตก
            ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่อาจละเลยคือ มาจากความอ่อนแอของประเทศ การพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่รากปัญหาที่สำคัญกว่าคือเพราะประเทศยูเครนยากจนจึงหวังซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาถูกกว่าตลาด ซึ่งรัสเซียยอมให้ตลอด เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลยูเครนต้องดำเนินนโยบายอิงรัสเซีย ณ วันนี้ ยูเครนติดค้างค่าพลังงานรัสเซียกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นหนี้สินที่รัฐบาลยูเครนไม่มีปัญญาจ่าย รัฐบาลปูตินสามารถใช้เรื่องดังกล่าวเป็นอาวุธกดดันยูเครน เป็นคำถามว่าชาติตะวันตกพร้อมที่จะจ่ายแทนหรือไม่ และจะต้องจ่ายไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังต้องการอุ้มยูเครน
            ปัญหาการขาดดุลการค้า การขาดดุลงบประมาณ ทำให้รัฐบาลยูเครนประสงค์จะได้เงินช่วยเหลือราว 35,000 ล้านดอลลาร์ใน 2 ปีข้างหน้า (หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท) ก่อนเกิดวิกฤตรัฐบาลปูตินสัญญาว่าปีนี้จะให้ความช่วยเหลือจำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ชาติตะวันตกประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อันหมายถึงต้องปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางของกองทุนฯ
            2 เรื่องดังกล่าวข้างต้น เป็นตัวอย่างหลักฐานชี้ความอ่อนแอของยูเครน ต้องขอรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากต่างชาติ ที่จะแตกต่างมีแต่เพียงว่าจะหันไปหารัสเซียหรือชาติตะวันตกเท่านั้น

            ความอ่อนแอภายในของยูเครน จึงเป็นช่องทางให้ต่างชาติแทรกแซง หรือกล่าวอีกมุมหนึ่งคือ ความอ่อนแอทำให้ประเทศต้องร้องขอให้ต่างชาติแทรกแซง
            ถ้าจะพูดภาพรวม ความล้มเหลวของรัฐบาลทั้ง 2 ขั้วและการปกครอง เป็นภัยร้ายของยูเครนนับจากที่ได้รับเอกราชมาจนถึงบัดนี้
30 มีนาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6354 วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2557)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
รัฐบาลรักษาการยูเครนดำเนินนโยบายที่อิงฝ่ายชาติตะวันตกอย่างเต็มที่ ใช้ข้ออ้างสารพัดเพื่อดึงให้ชาติตะวันตกเข้ามาปกป้องอธิปไตย ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าชาติตะวันตกได้ประโยชน์จากการนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ฝ่ายที่ได้ประโยชน์แน่นอนคือพวกของอดีตนายกฯ ทีโมเชงโก ที่สามารถยืมมือชาติตะวันตกมาอยู่กับพวกตน
2. เกมรุกของปูตินกับข้อวิพากษ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ “เส้นต้องห้าม”
3. เบี่ยงปัญหายูเครน เบนจากทางออกสู่ทางตัน
วิกฤตยูเครนเป็นมากกว่าเรื่องการเมืองภายในประเทศ การผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อรัสเซีย นโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออกของนาโต อียู และยุทธศาสตร์รัฐกันชนของรัสเซีย การแก้ปัญหายูเครนที่ถูกจุดจึงเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ 

บรรณานุกรม:
1. After Initial Triumph, Ukraine’s Leaders Face Battle for Credibility. (2014, March 1). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/03/02/world/europe/after-initial-triumph-ukraines-leaders-face-battle-for-credibility.html?_r=0
2. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia University Press.
3. Dando, William A., & Pavlovic, Zoran. (2007). Russia (2nd ed.). (New York: Chelsea House Publications.
4. Dinucci, Manlio. (2014, March 21). Ukraine, IMF “Shock Treatment” and Economic Warfare. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/ukraine-the-imf-and-economic-warfare/5374564
5. Gallina, Nicole. (2011). Ukraine: Nation-Building Revisited - The Ukrainian Presidents and Their Understanding of Identity Politics. Retrieved from http://nicolegallina.com/docstexts/13_text_ukraine_identity_2011_ng.pdf
6. Slomp, Hans. (2011). Europe, A Political Profile: An American Companion to European Politics. USA: ABC-CLIO, LLC.
7. SPIEGEL Staff. (2014, March 25). Dancing with the Bear: Merkel Seeks a Hardline on Putin. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/germany/merkel-and-europe-search-for-an-adequate-response-to-putin-a-960378.html
8. Standoffs persist in Crimea as Kerry prepares to meet Russian counterpart. (2014, March 5). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/europe/standoffs-persist-in-crimea-as-kerry-prepares-to-meet-russian-counterpart/2014/03/05/6677625e-a45f-11e3-8466-d34c451760b9_story.html
9. Subtelny, Orest. (2006). Ukraine. In Europe Since 1914: Encyclopedia of the Age of War and Reconstruction. (Vol. 5, pp. 2583-2591). USA: Thomson Gale.
10. Transparency International. (2013, December 10). UKRAINE: THE PEOPLE SPEAK OUT. Retrieved form http://www.transparency.org/news/feature/ukraine_the_people_speak_out
11. Whitmore, Sarah. (2004). State Building in Ukraine. New York: Routledge.
12. Yergin, Daniel., & Gustafson, Thane. (1994). Russia 2010: And What It Means for the World. New York: Random House, Inc.
13. Würger, Takis. (2014, March 13). Saving Lenin: Soviet-Era Statue a Symbol of Divided Ukraine. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/residents-in-provincial-southern-ukraine-defend-a-lenin-statue-a-958294.html
14. Yulia Tymoshenko: 'Kremlin has declared war'. (2014, March 11). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/programmes/talktojazeera/2014/03/yulia-tymoshenko-kremlin-declared-war-20143715542330860.html
-----------------------