หนึ่งปีก่อนประธานาธิบดีบารัก
โอบามาประกาศจุดยืนว่าอเมริกาจะไม่ทนอยู่นิ่งเฉยหากพิสูจน์ได้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์
อัลอัสซาดใช้อาวุธเคมี จะจัดการโดยเด็ดขาดเพราะล่วงล้ำเส้นต้องห้าม (red
line) ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีข่าวการใช้อาวุธเคมีหลายครั้ง
ทั้งจากฝีมือของรัฐบาลอัสซาดกับฝ่ายต่อต้าน ตลอดระยะเวลาดังกล่าวรัฐบาลโอบามาแสดงอาการลังเลใจไม่ยอมตัดสินว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธ
จนในที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ชานกรุงดามัสกัส
รัฐบาลโอบามาแสดงอาการกระตือรือร้น ประกาศว่ารัฐบาลอัสซาดต้องได้รับการลงโทษ
รัฐบาลโอบามาได้แสดงหลักฐานที่สหรัฐเป็นผู้เก็บและสรุปเองว่ากองทัพอัสซาดคือผู้ใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่
21 สิงหาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 1,429 คน ทหารซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีอยู่ในพื้นที่เป็นเวลา
3 วันก่อนการโจมตี
หลักฐานจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าจรวดปล่อยจากพื้นที่ฝั่งของรัฐบาลเป็นเวลา 90
นาทีก่อนเริ่มมีรายงานการโจมตีด้วยอาวุธเคมี ภาพจากวีดีโอกว่า 100
รายการแสดงให้เห็นว่าผู้เคราะห์ร้ายได้รับอาวุธเคมีชนิดส่งผลต่อระบบประสาท สหรัฐสามารถดักฟังการสนทนาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซีเรียที่พูดว่า
“ยืนยันว่าได้ปล่อยอาวุธเคมีแล้ว”
ข้อมูลข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่ทำเนียบขาวเผยแพร่ แต่รายงานความยาว
4 หน้ากระดาษดังกล่าวเป็นเพียงรายงานสรุป ไม่ใช่หลักฐาน และที่สำคัญคือเป็นข้อสรุปฝ่ายเดียว
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียจึงท้าทายให้สหรัฐนำหลักฐานดังกล่าวมาพิสูจน์ในสหประชาชาติ พร้อมกับกล่าวอย่างท้าทายว่า
“ถ้ามีหลักฐานก็ควรแสดงออกมา ถ้าไม่แสดงเท่ากับว่าไม่มีหลักฐานจริง”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่ารายงานที่รัฐบาลอังกฤษนำเสนอไม่น่าเชื่อถือ
หลายคนไม่เห็นด้วย หลายคนยังสงสัย รัฐสภาอังกฤษจึงไม่เห็นชอบที่รัฐบาลจะโจมตีซีเรีย
นายเอ็ด มิลิแบนด์ (Ed Miliband) หัวหน้าพรรคแรงงานกล่าวว่า
“จากบทเรียนในอดีต รวมทั้งกรณีอิรัก” หลักฐานเรื่องอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรงที่นำมาอ้างสุดท้ายกลายเป็นหลักฐานเท็จ
สนใจคลิกที่รูป
อีกประเด็นที่ไม่ควรละเลยคือรายงานการใช้อาวุธเคมีที่สหประชาชาติได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ
13 ครั้ง รายงานดังกล่าวคือรายงานที่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียได้เสนอต่อสหประชาชาติ
มีทั้งที่กล่าวหาว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี
กับที่กล่าวหาว่าฝ่ายต่อต้านเป็นผู้ใช้ ต้องไม่ลืมว่าเหตุผลเบื้องต้นที่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเข้าตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีในซีเรียก็ด้วยต้องการพิสูจน์รายงานดังกล่าว
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงก็เกิดเหตุการณ์วันที่ 21 สิงหาคม สุดท้ายกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บหลักฐานของวันนั้นเพียงเหตุการณ์เดียว
ละเลยแผนที่กำหนดแต่แรกว่าต้องการหาหลักฐานของรายงานดั้งเดิม
การถกเถียงว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีหรือไม่ในขณะนี้เป็นการถกเถียงที่ตั้งอยู่บนเหตุการณ์วันที่
21 สิงหาคมเพียงเหตุการณ์เดียว แต่เหตุการณ์ใช้อาวุธเคมี 13 รายงานก่อนนี้ถูกละเลย รัฐบาลโอบามาไม่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์เหล่านั้น จึงกลายเป็นปริศนา และไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสได้พิสูจน์ความจริง
อีกประเด็นที่ต้องเตือนความจำคือก่อนหน้านี้สหรัฐ
อังกฤษ ฝรั่งเศสได้นำเรื่องการใช้อาวุธเคมีเข้าสหประชาชาติเพื่อพิสูจน์ค้นหาความจริง
(เป็นที่มาของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติเข้าซีเรียเพื่อตรวจสอบ) จึงมีคำถามว่าทำไมสหรัฐไม่ดำเนินตามขั้นตอนดังกล่าวต่อไป
รอให้สหประชาชาติได้ผลสรุปการใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมก่อน แต่ขณะนี้กลับพยายามรวบรัดสรุปและเตรียมกองทัพโจมตีซีเรียด้วยตนเอง
เป็นอีกคำถามว่าในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงกำลังพิจารณาเรื่องการใช้อาวุธเคมีในซีเรียอยู่แล้ว
ทำรัฐบาลโอบามาจึงละทิ้งขั้นตอนดังกล่าว หากรัฐบาลโอบามาใจเย็นกว่านี้ปล่อยให้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติทำงานต่อไป
ประชาคมโลกน่าจะมีโอกาสได้ข้อสรุปอันที่เป็นยอมรับมากกว่านี้
การใช้อาวุธเคมีผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
จำต้องได้รับการลงโทษ:
ประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่าการใช้อาวุธเคมีผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ย้ำเตือนว่าถ้าประชาคมโลกไม่สามารถรักษามาตรฐาน บรรทัดฐาน กฎหมายต่างๆ ที่ควบคุมพฤติกรรมของประเทศและแนวทางปฏิบัติต่อประชาชน
ความปลอดภัยของโลกจะลดน้อยลง “อันตรายจะเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงประชาชนผู้เป็นเหยื่ออาชญากรรมอันโหดร้ายนี้เท่านั้น
แต่มีผลต่อมนุษย์ทุกผู้ตัวคน”
การปล่อยให้อาวุธเคมีแพร่กระจายหรือมีผู้ใช้อาวุธดังกล่าวจึงเป็นการก้าวล่วงเส้นต้องห้าม
(red line) ที่ไม่อาจทนอยู่นิ่งเฉยต่อไป
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม “ทำให้ผมเปลี่ยนใจ” และกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้กำหนดเส้นต้องห้าม
โลกต่างหากที่กำหนดเส้นต้องห้าม”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวสหรัฐจึงต้องโจมตีกองทัพอัสซาดเพื่อการลงโทษ
แม้อเมริกาจะต้องลงมือตามลำพังโดยไม่ผ่านคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
ไม่ว่ารัฐบาลอเมริกาจะอ้างเหตุผลใด
นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเตือนว่า
“การใช้กำลังจะถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อใช้เพื่อป้องกันตนเองตามมาตรา 51
ของกฎบัตรสหประชาชาติ และ/หรือ
คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องให้การรับรองใช้กำลังดังกล่าว”
ด้านประธานาธิบดีปูตินกล่าวอย่างชัดเจนว่า ถ้าสหรัฐโจมตีซีเรียโดยไม่ได้รับการรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเท่ากับเป็นการ
“รุกราน” ประเทศซีเรีย
รัฐบาลโอบามาชี้ว่ารัฐบาลอัสซาดทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศและจำต้องได้รับโทษ
แต่เลขาธิการสหประชาชาติกับประธานาธิบดีปูตินเตือนว่าการใช้กำลังต้องผ่านการรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคง
มิฉะนั้นคือการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเช่นกัน
ทุกคนเข้าใจว่าการใช้อาวุธเคมีผิดกฎหมายระหว่างประเทศและสมควรได้รับโทษ
คำถามคือทำไมสหรัฐไม่ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวอยู่ในมือของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
ทั้งๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้มีบทบาทโดยตรง นี่เป็นกฎเกณฑ์
เป็นบรรทัดฐานที่โลกวางไว้นานหลายทศวรรษแล้ว อีกทั้งสหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่กำหนดกฎเกณฑ์สร้างระบบดังกล่าว
โลกจะปลอดภัยขึ้นหรือ
ถ้ากฎเกณฑ์ ระบบความมั่นของโลกถูกละเมิด
การวิเคราะห์วิพากษ์ข้างต้นเป็นเพียงแนวทางหนึ่ง
แท้จริงแล้วแนวทางการวิเคราะห์ ตีความประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีหลายแนว หากยึดแนวทางแบบมีศีลมีธรรมอาจสงสัยรัฐบาลโอบามากำลังกระทำสิ่งที่มีความชอบธรรมหรือไม่
แต่ในอีกแนวหนึ่งเห็นว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศไม่สามารถยึดถือเรื่องความดีความถูกต้องเพียงด้านเดียว
ต้องให้ความสำคัญกับความอยู่รอด ผลประโยชน์ที่จะได้ เพราะโลกนี้เต็มด้วยอันตรายและต่างฝ่ายต่างมุ่งกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง
โดยหลักการแล้วที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกายึดถือทั้งสองแนวทาง และพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดเองทำเองหรือไม่ ผลประโยชน์อเมริกาย่อมต้องมาก่อน
8 กันยายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6152 วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ.2556)
----------------
ประชาสัมพันธ์ :
จองโรงแรมที่พักกับ Booking.com
บทความที่เกี่ยว:
จากที่ลังเลใจมาตลอดหนึ่งปี
พยายามเลื่อนการตัดสินใจว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีในซีเรีย
เหตุการณ์การใช้อาวุธเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม กลายเป็นข้ออ้าง
เป็นจุดเปลี่ยนนโยบายของโอบามาต่อซีเรีย สหรัฐคิดโจมตีกองทัพรัฐบาลอัสซาดด้วยตนเอง
ด้วยไม่ฟังคำทัดทานจากหลายประเทศ เหตุผลหลักประการหนึ่งคือต้องการช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
(อัพเดท 30 ส.ค. 10.25 น.) ณ วันนี้ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะโจมตีหรือไม่โจมตีซีเรียก็ได้
แม้ว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากการโจมตี เพราะรัฐบาลโอบามาเตรียมใจแต่ต้นแล้ว
(อัพเดท 1 ก.ย. 20.40
น.) ประธานาธิบดีโอบามาร้องขอให้รัฐสภาอภิปรายเพื่อลงมติโจมตีซีเรีย
สัญญาณการโจมตีเปลี่ยนจาก “ชัดเจน” มาเป็นจุดเดิมคืออาจโจมตีหรือไม่โจมตีก็เป็นได้
และมีแนวโน้มว่าหากเป็นการโจมตีคงต้องรออีกเป็นสัปดาห์
(อัพเดท 4 ก.ย. 1.15
น.) สถานการณ์ขณะนี้คือประธานาธิบดีโอบามากำลังรวบรวมให้ได้เสียงข้างมาก
เพียงพอที่รัฐสภาจะประกาศโจมตีซีเรีย
โดยไม่รอผลการตรวจสอบหลักฐานจากเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ หากเป็นเช่นนั้นจริง
การโจมตีน่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า หลังการอภิปรายและรัฐสภาลงมติ
(อัพเดท 8 ก.ย. 21.50 น.)
อเมริกากับรัสเซียเสริมกองทัพอย่างต่อเนื่อง
อียูเรียกร้องให้รอการพิสูจน์การใช้อาวุธเคมีจากสหประชาชาติ สัปดาห์นี้รัฐสภาอเมริกันพิจารณาญัตติโจมตีซีเรีย
1. “Government Assessment of the Syrian Government’s Use of
Chemical Weapons on August 21, 2013”, The White House, 30 August 2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/08/30/government-assessment-syrian-government-s-use-chemical-weapons-august-21,
accessed 2 September 2013.
2. Statement by the President on Syria, The White House, 31 August
2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/08/31/statement-president-syria,
accessed 2 September 2013.
3. Russia's Vladimir Putin challenges US on Syria claims, BBC,
31 August 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23911833
4. U.K. under pressure to produce Syria evidence, USA
Today, 29 August 2013, http://www.usatoday.com/story/news/world/2013/08/29/syria-united-kingdom-debate/2725999/
5. Obama: It's the world's 'red line' on Syria; Senate panel
backs military strike plan, CNN, 5 September 2013, http://edition.cnn.com/2013/09/04/politics/us-syria/index.html?hpt=hp_t1
6. International Community Hedges Bets as Senate Readies for
Syria Vote, Time, 4 September 2013, http://world.time.com/2013/09/04/international-community-hedges-bets-as-senate-readies-for-syria-vote/
7. Russia's President Putin warns US over Syria action,
BBC, 4 September 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-23955655
--------------