เกาะติดประเด็นร้อน “ความขัดแย้งในประเทศซีเรีย” (13)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 4 ก.ย. 1.15 น.) รัฐบาลโอบามาได้แสดงหลักฐานว่ารัฐบาลอัสซาดคือผู้ใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 1429 คน และให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งๆ ที่โดยรัฐธรรมนูญแล้วประธานาธิบดีในฐานะผู้บัญชาการทหารของประเทศมีอำนาจสามารถสั่งโจมตี
            ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ท้าทายให้สหรัฐฯ นำหลักฐานที่อ้างว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีมาพิสูจน์ในเวทีสหประชาชาติ
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 4 ก.ย. 1.15 น.)
            ประธานาธิบดีบารัก โอบามา รองประธานาธิบดีโจ ไบเดนและรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคอร์รีกำลังอยู่ระหว่างการล็อบบี้สมาชิกรัฐสภาให้สนับสนุนการโจมตีซีเรีย
            นักวิเคราะห์เชื่อว่าผลการลงมติของรัฐสภามีผลต่อรัฐบาลอย่างมาก กระทบนโยบายของรัฐบาลต่อตะวันออกกลาง ทำให้กลุ่มฮิซบุลลอฮ์กับอิหร่านเหิมเกริม ไม่เกรงกลัวที่จะทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ นาย John McCain วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันกล่าวว่า ถ้ารัฐสภา “คัดค้านมติจะกลายเป็นหายนะต่อสถาบันประธานาธิบดีและต่อความน่าเชื่อถือของประเทศสหรัฐอเมริกา”

            นาย Jean-Marc Ayrault นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสแถลงข่าวว่า “ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความจริง” ว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้อาวุธในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ฝรั่งเศส “ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะลงโทษระบอบของบาชาร์ อัลอัสซาดอย่างเหมาสมเพื่อลงโทษที่ใช้อาวุธเคมี” แต่ไม่ถึงขั้นล้มรัฐบาลอัสซาด เห็นว่าปัญหาซีเรียต้องแก้ไขด้วยวิถีทางการเมืองเท่านั้น
            ตามกฎหมายฝรั่งเศส ประธานาธิบดีสามารถสั่งโจมตีโดยไม่ต้องขอการรับรองจากรัฐสภา อย่างไรก็ตามรัฐสภาจะเปิดการประชุมในวันพุธ (4 ส.ค.) เพื่ออภิปรายโดยไม่มีการลงมติ
            ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวว่า “ผมจะไม่ส่งเรื่อง (ตัดสินใจโจมตีซีเรีย) เข้ารัฐสภาถ้าผมจะไม่ให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือ” เป้าหมายเพื่อ “ส่งข้อความเตือนอัสซาด” และ “บั่นทอนความสามารถในการใช้อาวุธเคมี” และเชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับรัฐสภาได้ เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบ พร้อมกับกล่าวยืนยันอีกครั้งว่าจะไม่ส่งทหารเข้าไปรบในซีเรีย “นี่ไม่ใช่อิรัก ไม่ใช่อัฟกานิสถาน” และให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การใช้อาวุธดังกล่าว “คุกคามความมั่นคงของประเทศ (สหรัฐฯ) และภูมิภาคอย่างรุนแรง” ดังนั้น รัฐบาลอัสซาดต้องได้รับการลงโทษ
            ล่าสุดแกนนำสมาชิกรัฐสภาของพรรครีพับลิกันสองคนประกาศให้การสนับสนุนแล้ว ได้แก่ นาย John Boehner โฆษกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ จะให้การสนับสนุนเช่นกัน อีกคนคือนาย Eric Cantor
            ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาบางคนไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังสงสัยเรื่องหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมี เช่น นาย Justin Amash ส.ส.จากพรรครีพับลิกัน
  
วิเคราะห์: (อัพเดท 9 ก.ย. 8.25 น.)
            (เกาะติดประเด็นร้อนฉบับนี้จะมุ่งติดตามคืบหน้าสถานการณ์ล่าสุด และกับรายงานผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน)
            วิเคราะห์ประเด็นทางการเมือง:
            1. ประธานาธิบดีโอบามาแสดงท่าทีต้องการโจมตี
            จากคำพูดท่าทีการแสดงออกในสองสามวันที่ผ่าน พบว่าประธานาธิบดีมีท่าทีต้องการโจมตีมากกว่า เนื่องจาก
            1)อ้างเหตุผลว่าเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
            การอ้างเหตุผลดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโอบามาไม่เอ่ยถึงเหตุผลดังกล่าว เป็นไปได้ว่าเพื่อจูงใจชาวอเมริกันโดยเฉพาะ ให้เห็นว่าการโจมตีมีความสำคัญ เป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเขา

            2)ได้ติดต่อล็อบบี้พรรครีพับลิกันพรรคฝ่ายค้านเพื่อขอเสียงสนับสนุน
            ขณะนี้มีการล็อบบี้อย่างต่อเนื่อง สมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนแสดงตัวจะยกมือสนับสนุนในรัฐสภาแล้ว
            การสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านมีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันพรรคเดโมแครตมี 52+200=252 เสียงในรัฐสภา ส่วนพรรครีพับลิกันมี 46+233= 279 เสียง สังกัดอิสระอีก 2 เสียง (และว่างอีก 2) ดังนั้น โอกาสที่จะชนะโหวตในวุฒิสภาน่าจะมีค่อนข้างสูง ส่วนการโหวตในสภาผู้แทนราษฎรต้องหวังความช่วยเหลือจากพรรคฝ่ายค้าน
            ประเด็นคือแม้พรรครีพับลิกันเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่สมาชิกพรรคหลายคนเป็นพวก neo-conservative ที่มีนโยบายแข็งกร้าวต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง มีแนวโน้มสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้าย ต่อต้านอิหร่าน ดังนั้น น่าจะสนับสนุนประธานาธิบดีโอบามา
            ส่วนแรงกดดันน่าจะมาจากประชาชนอเมริกันทั่วไปมากกว่า สมาชิกรัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไรต้องตรวจสอบว่าสอดคล้องกับฐานคะแนนเสียงของตนหรือไม่
            คาดว่าไม่ใช่พรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันทุกคนจะยกมือสนับสนุนหรือคัดค้าน ดังนั้น รัฐบาลโอบามาต้องคำนวณว่าใครจะยกมือสนับสนุน และรวมคะแนนให้ได้ตามเป้า ต้องล็อบบี้ให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ
            3)รัฐบาลฝรั่งเศสยังยืนยันจุดยืนโจมตีซีเรีย โดยร่วมมือกับมิตรประเทศ ซึ่งหมายถึงอเมริกา

            2.อุปสรรคของประธานาธิบดีโอบามา
            อุปสรรคของประธานาธิบดีโอบามาในขณะนี้ไม่ใช่อยู่ที่สมาชิกรัฐสภาโดยตรง แต่อยู่ที่การแสดงออกของชาวอเมริกันว่าจะต่อต้านมากเพียงไร จะสังเกตเห็นได้ว่าประธานาธิบดีพยายามลดกระแสดังกล่าวด้วยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยมั่นคงของประเทศ เป็นการโจมตีอย่างจำกัด จะไม่ส่งทหารเข้ารบในพื้นราบอย่างกรณีอิรัก อัฟกานิสถานโดยเด็ดขาด
            หากกระแสต่อต้านลดลง สมาชิกรัฐสภาก็จะสบายใจที่จะยกมือสนับสนุน ดังนั้น ต้องติดตามว่าชาวอเมริกันจะมีปฏิกิริยาอย่างไร

            ผลกระทบต่อตลาดทุน:
            (ข้อมูลส่วนนี้จะปรับตามเวลา เพื่อแสดงสถานะล่าสุด)
            ราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่สหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (2 ก.ย.) ปรับเพิ่มขึ้น ราคาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 107-109 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และยังคงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างวันราคาน้ำมันดิบพุ่งพรวดแตะ 109 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังประธานาธิบดีบารัก โอบามาเชื่อมั่นว่ารัฐสภาจะเห็นชอบให้โจมตีรัสเซีย
            ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ อ่อนตัวลงเรื่อยๆ จากที่เปิดตลาดเป็นบวก
            อนึ่ง การวิเคราะห์นี้มุ่งอธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรีย ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุน
            สถานการณ์ขณะนี้คือประธานาธิบดีโอบามากำลังรวบรวมให้ได้เสียงข้างมาก เพียงพอที่รัฐสภาจะประกาศโจมตีซีเรีย โดยไม่รอผลการตรวจสอบหลักฐานจากเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ หากเป็นเช่นนั้นจริง การโจมตีน่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า หลังการอภิปรายและรัฐสภาลงมติ
            สัปดาห์นี้หรือระหว่างนี้จึงต้องติดตามกระแสการเมืองภายในประเทศอเมริกัน การเมืองระหว่างประเทศ ผลการตรวจสอบของสหประชาชาติ เพื่อประเมินว่ารัฐสภาน่าจะมีมติในทางใด
            ณ วันนี้สัญญาณการโจมตีเปลี่ยจาก “ชัดเจน” มาเป็นจุดเดิมคืออาจโจมตีหรือไม่โจมตีก็เป็นได้ ถ้าผลสรุปคือโจมตี การโจมตีน่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า
4 กันยายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 29 ส.ค. 18.30 น.) ณ วันนี้ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะโจมตีหรือไม่โจมตีซีเรียก็ได้ ตลาดเงินตลาดทุนกำลังรอดูสัญญาณ เพื่อทิศทางที่ชัดเจนกว่านี้ การถอนตัวของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติกับการประกาศพร้อมโจมตีของกองทัพฝรั่งเศสคือสัญญาณล่าสุด
(อัพเดท 30 ส.ค. 10.25 น.) ณ วันนี้ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะโจมตีหรือไม่โจมตีซีเรียก็ได้ แม้ว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากการโจมตี เพราะรัฐบาลโอบามาเตรียมใจแต่ต้นแล้ว
(อัพเดท 1 ก.ย. 20.40 น.) ประธานาธิบดีโอบามาร้องขอให้รัฐสภาอภิปรายเพื่อลงมติโจมตีซีเรีย สัญญาณการโจมตีเปลี่ยนจาก “ชัดเจน” มาเป็นจุดเดิมคืออาจโจมตีหรือไม่โจมตีก็เป็นได้ และมีแนวโน้มว่าหากเป็นการโจมตีคงต้องรออีกเป็นสัปดาห์

บรรณานุกรม:
1. Analysis: Obama lobbies personally for Syria vote, Reuters, 2 September 2013, http://www.reuters.com/article/2013/09/02/us-syria-crisis-obama-analysis-idUSBRE9810PJ20130902
2. French PM promises 'proportionate' Syria action, France 24, 3 September 2013, http://www.france24.com/en/20130902-french-pm-promises-firm-proportionate-syria-action
3. Syria crisis: Israel and US test missile system - live updates, The Guardian, 3 September 2013, http://www.theguardian.com/world/middle-east-live/2013/sep/03/syria-crisis-2-million-refugees-live
4. “Boehner, Cantor back Obama on force against Syria”, USA Today, 3 September 2013, http://www.usatoday.com/story/news/2013/09/03/obama-syria-strike-chemical-weapons-congress-g-20-russia/2756991/
5. Members of Congress, http://www.govtrack.us/congress/members, accessed 3 September 2013
6. Obama confident Congress will approve Syria strike, Market Watch, 3 September 2013, http://www.marketwatch.com/story/obama-confident-congress-will-approve-syria-strike-2013-09-03?link=MW_home_latest_news
----------