เกาะติดประเด็นร้อน “ความขัดแย้งในประเทศซีเรีย” (12)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 1 ก.ย. 20.40 น.) นายกรัฐมนตรีคาเมรอนประกาศยกเลิกแผนร่วมโจมตีเนื่องจากรัฐสภาอังกฤษไม่เห็นชอบ ทำเนียบขาวพูดเป็นนัยว่าสหรัฐฯ อาจโจมตีซีเรียตามลำพัง ด้านรัฐบาลฝรั่งเศสกลับเยอรมันเรียกร้องให้เลื่อนปฏิบัติการทางทหาร จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้ทบทวนหลักฐานที่เก็บรวมรวมจากเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 1 ก.ย. 20.40 น.)
            นายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (30 สิงหาคม) ประกาศว่ารัฐบาลมีหลักฐานว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีกับประชาชนของตนเอง พร้อมเอกสารรายงานจากทำเนียบขาว หน่วยงานความมั่นคง “มีความมั่นใจอย่างยิ่ง” (high confidence) ว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้อาวุธเคมีที่ชานกรุงดามัสกัสจากพยานบุคคลและการดักฟังการสนทนาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซีเรีย พร้อมกับพูดเป็นนัยว่าสหรัฐฯ จะต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน
           รัฐบาลโอบามาได้แสดงหลักฐานว่ารัฐบาลอัสซาดคือผู้ใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 1429 คน ทหารซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีอยู่ในพื้นที่เป็นเวลา 3 วันก่อนการโจมตี หลักฐานจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าจรวดปล่อยจากพื้นที่ฝั่งของรัฐบาลเป็นเวลา 90 นาทีก่อนเริ่มมีรายงานการโจมตีด้วยอาวุธเคมี ภาพจากวีดีโอ 100 รายการแสดงให้เห็นว่าผู้เคราะห์ร้ายได้รับอาวุธเคมีชนิดส่งผลต่อระบบประสาท สหรัฐฯ สามารถดักฟังการสนทนาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซีเรีย “ยืนยันว่าได้ปล่อยอาวุธเคมีแล้ว

            เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบสหประชาชาติจะเดินทางออกจากซีเรียในวันเสาร์ (31 สิงหาคม) นาย Martin Nesirky โฆษกสหประชาชาติชี้ว่าไม่สามารถตอบได้ว่าสหประชาชาติจะต้องใช้เวลากี่วันเพื่อตรวจสอบหลักฐานที่ได้มา ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่าต้องใช้เวลาราว 1 สัปดาห์
            ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ท้าทายให้สหรัฐฯ นำหลักฐานที่อ้างว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีมาพิสูจน์ในเวทีสหประชาชาติ
            ประธานาธิบดีปูตินกล่าวอย่างท้าทายว่า “ถ้ามีหลักฐานก็ควรแสดงออกมา ถ้าไม่แสดงก็เท่ากับว่าไม่มีหลักฐานจริง”

            ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวเมื่อวันเสาร์ (31 ส.ค.) ว่า “ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว่าสหรัฐฯ ควรโจมตีรัฐบาลซีเรีย” เห็นว่าตนมีสิทธิอำนาจตามกฎหมายสามารถสั่งการโจมตีโดยไม่ต้องปรึกษารัฐสภา แต่ด้วยตระหนักว่าเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จึงเห็นว่าควรทำเป็นตัวอย่างด้วยการ “ขออนุญาตใช้กำลังจากตัวแทนของชาวอเมริกันในรัฐสภา”
            คาดว่าสภาจะเปิดประชุมเพื่อให้มีการอภิปรายก่อนลงมติ อย่างเร็วคือเริ่มวันที่ 9 กันยายน

วิเคราะห์: (อัพเดท 1 ก.ย. 20.00 น.)
            (เกาะติดประเด็นร้อนฉบับนี้จะมุ่งติดตามคืบหน้าสถานการณ์ล่าสุด และกับรายงานผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน)
            วิเคราะห์ประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ:
            1.ยุทธการการเมืองระหว่างประเทศ
            ประธานาธิบดีปูตินได้โอกาสบ่อนทำลายความนิยมของโอบามา ดึงบทบาทของตนให้โดดเด่นขึ้น แน่นอนว่าทั้งภายในและต่างประเทศจะชื่นชม เพราะหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของรัฐบาลอเมริกัน แต่เนื่องจากเป็นประเทศเล็กไม่กล้าแสดงออกชัดเจน
            ดังที่เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา สหประชาชาติได้รับรายงานการใช้อาวุธเคมีในซีเรียทั้งหมด 13 ครั้ง (รวมวันที่ 21 สิงหาคมจะเป็น 14 ครั้ง) เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกับรัฐบาลปูตินเคยรายงานว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้ ภายใต้ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ประเมินได้ว่าแท้ที่จริงแล้วยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้แน่นอน หรือว่าเคยใช้ทั้งสองฝ่าย
            ส่วนหลักฐานวันที่ 21 ค่อนข้างชัดว่าคือการใช้อาวุธเคมี จุดสำคัญคือเจ้าหน้าที่สหประชาชาติชุดที่เข้าไปตรวจสอบไม่มีหน้าที่สรุปว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ ดังนั้น ที่สุดแล้วผลสรุปของสหประชาชาติคือสรุปว่ามีการใช้ แต่ไม่อาจสรุปว่าใครเป็นผู้ใช้

            ส่วนหลักฐานที่รัฐบาลโอบามากล่าวอ้างนั้นเป็นที่น่าสงสัย เพราะแต่ไหนแต่ไรรัฐบาลโอบามก็ฟันธงว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้ใช้ คาดว่ารัฐบาลโอบามาจะไม่ยอมทำตามข้อเสนอที่ให้นำเสนอต่อเวทีสหประชาชาติเพื่อพิสูจน์ว่าหลักฐานดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ ประธานาธิบดีโอบามาคงไม่ยอมเสี่ยงให้ประเทศชาติมหาอำนาจโลกต้องขายหน้ากลางเวทีสหประชาติ
            นี่คือยุทธการการเมืองระหว่างประเทศอันน่าชื่มชมของประธานาธิบดีปูติน

            2.ประธานาธิบดีโอบามาหาทางลงจากหลังเสือหรือไม่
            ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม เมื่อรัฐสภาอังกฤษไม่เห็นชอบที่รัฐบาลจะโจมตีซีเรีย นายกรัฐมนตรีคาเมรอนประกาศยกเลิกแผนร่วมโจมตี ณ ขณะนั้นทำเนียบขาวพูดเป็นนัยว่าสหรัฐฯ อาจโจมตีซีเรียตามลำพัง เพราะเห็นว่าสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์มากกว่าถ้าเลือกที่จะโจมตี อีกทั้งดังที่เคยวิเคราะห์ไว้แล้วว่ากองทัพอเมริกันเข้มแข็งพอที่จะโจมตีซีเรียตามลำพัง
            แต่หลังจากแสดงท่าทีดังกล่าวได้เพียงสองสามวัน ประธานาธิบดีโอบามาเปลี่ยนท่าทีอีก โดยโยนให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งๆ ที่โดยรัฐธรรมนูญแล้วประธานาธิบดีในฐานะผู้บัญชาการทหารของประเทศมีอำนาจสามารถสั่งโจมตี
            ตีความได้ว่าประธานาธิบดีโอบามา กังวลเรื่องแรงต้านจากชาวอเมริกัน จากรัฐสภาเช่นกัน
            สิ่งที่เป็นไปได้ในช่วงนี้คือ หากรัฐบาลโอบามายังคิดจะโจมตีอีกจะต้องล็อบบี้ขอคะแนนเสียงจากรัฐสภาให้มากที่สุด ต้องขอจากพรรครีพับลิกันพรรคฝ่ายค้านด้วย เพื่อความชอบธรรมเต็มเปี่ยม
            แต่หากนี่คือวิธีการลงจากหลังเสือ นับว่าประธานาธิบดีได้แสดงความเชี่ยวชาญทางการเมืองอีกครั้งแล้ว
            ในอีกด้านหนึ่ง นับว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนชาวอเมริกัน และอาจต้องขอบคุณรัฐสภาอังกฤษด้วยที่ไม่เห็นชอบให้รัฐบาลเข้าร่วมโจมตี สำแดงกระแสต่อต้าน ทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องคิดหนัก

            ผลกระทบต่อตลาดทุน:
            (ข้อมูลส่วนนี้จะปรับตามเวลา เพื่อแสดงสถานะล่าสุด)
            ราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่สหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (30 ส.ค.) อ่อนตัวเป็นวันที่สองหลังจากที่ไม่มีสัญญาณว่าสหรัฐฯ กำลังจะโจมตีซีเรียในเวลาอันใกล้นี้ ราคาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 107-109 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
            ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับยุโรปยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง
            Addison Armstrong ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยการตลาดจาก Tradition Energy กล่าวว่า “การที่รัฐสภาอังกฤษไม่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีประกาศแทรกแซงทางทหารต่อซีเรียทำให้ตลาดคลายความคาดหวังว่าจะเกิดการโจมตีในระยเวลาอันใกล้” ความกังวลเรื่องอุปทานขาดแคลนในช่วงนี้จึงคลายตัว
            นอกจากนี้ นาย Stephen Schork ประธานของ Schork Group Inc เชื่อว่าหากสหรัฐฯ โจมตีซีเรียอย่างจำกัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีอย่างจำกัดด้วย ไม่น่าจะดึงให้อิหร่านเข้าร่วมสมรภูมิ หรือทำการปิดอ่าวเปอร์เซีย “เนื่องจากอิหร่านอยู่ระหว่างที่ต้องการขายน้ำมันเช่นกัน”

            วิเคราะห์: ดังที่วิเคราะห์แล้วว่าขณะนี้สัญญาณการโจมตีเปลี่ยนแปลงอีก กลับมาอยู่ในจุดเดิมคือ อาจ “โจมตี” หรือ “ไม่โจมตี” ทั้งนี้ขึ้นกับการลงมติของรัฐสภา และน่าจะเป็นสัญญาณตัดสินใจสุดท้ายแล้ว คาดว่ารัฐสภาอเมริกันจะประชุมอย่างเร็วคือวันที่ 9 สิงหาคม (ต้องติดตามกำหนดวันประชุมอีกที)
            ที่อาจเป็นไปได้คือ การประชุมรอบนี้อาจยังไม่มีข้อสรุปก็เป็นได้ หากที่ประชุมขอดูผลการตรวจสอบหลักฐานจากเจ้าหน้าที่สหประชาชาติซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะสรุปรายงานได้เมื่อไหร่ (บางกระแสบอกว่า 1 สัปดาห์ บางกระแสบอกว่า 1 เดือน) ก่อให้เกิดภาวะอึมครึม
            สัปดาห์นี้หรือระหว่างนี้จึงต้องติดตามกระแสการเมืองภายในประเทศอเมริกัน การเมืองระหว่างประเทศ ผลการตรวจสอบของสหประชาชาติ เพื่อประเมินว่ารัฐสภาน่าจะมีมติในทางใด
            อนึ่ง การวิเคราะห์นี้มุ่งอธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรีย ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุน
            ณ วันนี้สัญญาณการโจมตีเปลี่ยจาก “ชัดเจน” มาเป็นจุดเดิมคืออาจโจมตีหรือไม่โจมตีก็เป็นได้ และมีแนวโน้มว่าหากเป็นการโจมตีคงต้องรออีกเป็นสัปดาห์
            สถานการณ์จะอยู่ในภาวะอึมครึมยาวนาน
1 กันยายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 27 ส.ค. 20.00 น.) นานาชาติพุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการใช้อาวุธเคมีที่ชานกรุงดามัสกัส เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศสเชื่อว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลอัสซาด และกำลังพิจารณาใช้กำลังทหารในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
(อัพเดท 28 ส.ค. 17.30 น.) กระแสข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศล้วนชี้ว่าอเมริกากำลังเตรียมการโจมตี ล่าสุดทางการรัสเซียเริ่มอพยพคนของตนออกจากซีเรีย การวิเคราะห์ผลยุทธการต่อตลาดทุน ราคาน้ำมัน ควรแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงก่อนโจมตี ช่วงระหว่างโจมตี และช่วงหลังโจมตี
(อัพเดท 29 ส.ค. 18.30 น.) ณ วันนี้ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะโจมตีหรือไม่โจมตีซีเรียก็ได้ ตลาดเงินตลาดทุนกำลังรอดูสัญญาณ เพื่อทิศทางที่ชัดเจนกว่านี้ การถอนตัวของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติกับการประกาศพร้อมโจมตีของกองทัพฝรั่งเศสคือสัญญาณล่าสุด
(อัพเดท 30 ส.ค. 10.25 น.) ณ วันนี้ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะโจมตีหรือไม่โจมตีซีเรียก็ได้ แม้ว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากการโจมตี เพราะรัฐบาลโอบามาเตรียมใจแต่ต้นแล้ว

บรรณานุกรม:
1. White House releases report detailing Syria chemical attack, USA Today, 31 August 2013, http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/08/30/kerry-syria-chemical-weapons-obama/2742369/
2. U.N. Inspectors to Leave Syria Saturday, The Wall Street Journal, 30 August 2013, http://stream.wsj.com/story/syria/SS-2-34182/SS-2-313211/
3. Russia's Vladimir Putin challenges US on Syria claims, BBC, 31 August 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23911833
4. Obama to ask Congress to approve strike on Syria, Market Watch, 31 August 2013, http://www.marketwatch.com/story/obama-to-ask-congress-to-approve-strike-on-syria-2013-08-31
5. WTI Falls a Second Day as Concern Eases on Syria Strike, Bloomberg, 31 August 2013, http://www.bloomberg.com/news/2013-08-30/wti-falls-after-u-k-lawmakers-reject-syria-action.html
----------