เกาะติดประเด็นร้อน “หลังการโค่นล้มโมฮัมเหม็ด มอร์ซีแห่งอียิปต์ และรัฐบาลเฉพาะกาลของอัดลี มานซูร์” (5)

สรุปสถานการณ์(อัพเดท 14 ส.ค. 17.10 น.)  ตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว หลังจากที่พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาทางสูงสุดอียิปต์ประกาศให้ประชาชนอียิปต์ทั่วประเทศพร้อมใจกันชุมนุมเพื่อแสดงพลังสนับสนุน จากนั้นไม่กี่วันคณะรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกาลอียิปต์มีคำสั่งอนุมัติให้ทหารตำรวจทำการสลายการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีที่ยังชุมนุมอยู่ แต่ไม่มีกำหนดว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อไร มีความพยายามเจรจาเพื่อให้การชุมนุมยุติ แต่ฝ่ายสนับสนุนนายมอร์ซีจำนวนหนึ่งยังปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ นำมาสู่การสลายการชุมนุมในวันนี้
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 15 ส.ค. 13.00 น.)
            สื่อ CBS รายงานว่าอ้างสื่ออียิปต์ว่า ทหารตำรวจอียิปต์ ร่วมกับรถหุ้มเกราะ รถตักดินเคลื่อนเข้าไปเคลียร์พื้นที่การชุมนุมสองจุดใหญ่ของฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี มีการใช้แก๊สน้ำตา และมีเสียงปืนดังเป็นระยะจากทั้งสองฝ่าย (ทหารตำรวจกับผู้ชุมนุม)
            การสลายการชุมนุมเริ่มต้นเมื่อวันนี้ (14 ส.ค.) เวลา 7.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 14.00 น.ตามเวลาประเทศไทย
            ผู้สื่อข่าวของ CBS กล่าวเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้ปิดกันถนนทุกเส้นที่มุ่งสู่เขตพื้นที่ชุมนุม เห็นกลุ่มควันไฟก้อนใหญ่จากจุดที่ชุมนุม และเห็นการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับฝ่ายผู้สนับสนุนนายมอร์ซี
            CBS รายงานว่า นาย Ibrahim absolved รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ควบคุมสั่งการ และใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก
            Al Jazeera รายงานว่า ณ เวลาล่าสุดได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 40 ราย ในขณะที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 300 ราย บาดเจ็บว่า 5 พันคน พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนผู้สนับสนุนนายมอร์ซีทั่วประเทศออกจากบ้านมาชุมนุมประท้วงทันที เพื่อ “หยุดการสังหารหมู่”
            Ahram Online รายงานว่ามีประชาชนอียิปต์ออกจากบ้านมาชุมนุมตามท้องถนนในหลายจุดทั่วประเทศ หลังเหตุเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมเมื่อเช้านี้ เช่น มีผู้ชุมนุมหลายร้อยคนออกมาชุมนุมปิดกั้นถนนสายหลักของเมือง Upper Egypt's Assiut กับที่เมือง Alexandria
            Ashraf Abdel Ghaffar ผู้อยู่ในเหตุการณ์คนหนึ่งและเป็นพวกภราดรภาพมุสลิมเล่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมในมหาวิทยาลัยไคโรว่า “พวกเขา (เจ้าหน้าที่) เข้ามาจากประตูทั้งสามพร้อมด้วยรถถังและเฮลิคอปเตอร์ และเริ่มต้นยิงแก๊สน้ำตา” มีคนห้าคนถูกยิงต่อหน้าต่อตาเขา

            ทางการอียิปต์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (state of emergency) เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ห้ามประชาชนออกจากเคหะสถานตั้งแต่เวลา 19.00 น.ถึง 6.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกจับกุม จำกัดการเดินทางของประชาชน ตรวจสอบควบคุมสื่อต่างๆ เจ้าหน้าที่ทหารจะร่วมปฏิบัติการรักษาความสงบ ประธานาธิบดีอัดลี มานซูร์ให้เหตุผลว่า “ความมั่นคงกับความสงบเรียบร้อยของชาติตกอยู่ในอันตรายจากการบ่อนทำลายที่มีการวางแผนอย่างดี การโจมตีสถานที่ราชการกับเอกชน และการสูญเสียชีวิตด้วยกลุ่มหัวรุนแรง” (extremist groups)
            นายฮาเซ็ม อัล-เบบลาวี  รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องสลายการชุมนุมก็เพื่อคืนความสงบเรียบร้อยแก่ประเทศ

            จำนวนตัวเลขผู้บาดเจ็บเสียชีวิตยังไม่นิ่ง ล่าสุดทางการประกาศจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 278 ราย ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 43 ราย ในขณะที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 2 พันคน แกนนำหลายคนถูกจับกุม ณ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมเวทีชุมนุมทุกแห่งเรียบร้อยแล้ว
            นอกจากที่กรุงไคโร ยังมีการปะทะอีกหลายจุดทั่วประเทศ เช่นที่จังหวัด Fayoum มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 ราย จังหวัด Suez มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย พื้นที่ตอนเหนือของจังหวัด Alexandria กับ Beheira และตอนกลางของจังหวัด Assiut กับ Menya
            นายโมฮัมเหม็ด เอลบาราเด รักษาการรองประธานาธิบดีอียิปต์ ประกาศลาออกจากรัฐบาลเฉพาะกาลเนื่องจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่เห็นด้วยการกับสลายการชุมนุม เกรงผลที่ตามมา โดยเฉพาะหากมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต ก่อนหน้านี้ นายเอลบาราเดเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่จะได้เป็นรักษาการประธานาธิบดี

วิเคราะห์(อัพเดท 15 ส.ค. 13.00 น.)
          นับจากการยึดอำนาจอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฝ่ายผู้สนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซีใช้ยุทธศาสตร์ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ ไม่ยอมเจรจาสมานฉันท์ ยึดมั่นคืนตำแหน่งผู้นำประเทศแก่นายมอร์ซี และหลังจากปักหลักชุมนุมยืดเยื้อราว 6 สัปดาห์ ทางการอียิปต์ก็เข้าสลายการชุมนุม
            หากดูข้อมูลย้อนหลัง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.นาย Ibrahim absolved รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เคยกล่าวแล้วว่าทางการมีแผนยุติการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อของฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี
            ตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีความพยายามเจรจาให้ฝ่ายมอร์ซียุติการชุมนุมเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแสดงจุดยืนดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับคุณแคเทอรีน แอชตัน ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปได้พูดคุยส่วนตัวกับทั้งฝ่ายรัฐบาลเฉพาะกาลกับอดีตนายมอร์ซีเป็นการส่วนตัว มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศอียิปต์สามารถเดินหน้าต่อไป ทั้งยังพูดเป็นนัยว่าอยากเห็นอียิปต์สามารถจัดการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่
            แต่สมาชิกภารดรภาพมุสลิม ผู้สนับสนุนนายมอร์ซีส่วนหนึ่งยังคงปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนนำสู่การสลายการชุมนุมในวันนี้

          คาดว่าสถานที่ชุมนุมคงถูกกวาดล้างได้หมดในวันนี้ คำถามคือกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซีจะยกเลิกการชุมนุมหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์การชุมนุม เป็นการออกมาชุมนุมประจำวันโดยไม่จัดตั้งเวทีถาวรเหมือนเช่นที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้อาจชุมนุมทุกเย็นวันศุกร์ หรือกลับมาชุมนุมหลังสิ้นสุดประกาศเคอร์ฟิว เหตุการณ์ลักษณะนี้จะซ้ำรอยสมัยเมื่อนายมอร์ซีเป็นฝ่ายรัฐบาล
            ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่เจรจาต่อรองระหว่างแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกับฝ่ายรัฐบาลเฉพาะกาล ที่ยังเป็นปริศนา ไม่มีข่าวปรากฏชัดเจนว่าคืบหน้าอย่างไร
            ขณะนี้อยู่ในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐเข้าควบคุมสื่อเรียบร้อยแล้ว ข่าวสารที่นำเสนอมักเป็นมุมบวกเกินจริง

            หนึ่งเดือนครึ่งแล้วที่ทหารยึดอำนาจประธานาธิบดีมอร์ซี แต่เรื่องราวยังไม่จบ ยังมีโอกาสเกิดความรุนแรง ต้องติดตามว่าสถานการณ์คืบหน้าจะเป็นอย่างไร ฝ่ายสนับสนุนนายมอร์ซีจะตอบโต้อย่างไร จากเวทีที่ชุมนุมสังเกตได้อย่างชัดเจนว่ากลุ่มได้เตรียมตัวป้องกันการสลายการชุมนุม ดังนั้น น่าจะมีแผนสำหรับขั้นต่อไป
14 สิงหาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 4 ก.ค. 10.30 น.) ข้อเสนอประนีประนอมของมอร์ซีเป็นหมัน กองทัพทำการรัฐประหาร แต่การรัฐประหารเป็นเพียงการเริ่มต้นใหม่เท่านั้น ยังไร้ร่องรอยของอดีตปธน. กลุ่มผู้จงรักภักดีได้ปะทะกับทหารมีผู้เสียชีวิตนับสิบคน
(อัพเดท 8 ก.ค. 9.10 น.) หลังการโค่นล้มรัฐบาลมอร์ซี สถานการณ์การเมืองอียิปต์ยังครุกรุ่น ยังไม่มีข้อสรุปว่าใครจะเป็นนายกฯ รักษาการ ทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านต่างชุมนุมแสดงพลังของตนอย่างต่อเนื่อง ด้านราคาน้ำมันไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
(อัพเดท 9 ก.ค. 8.20 น.) ยังไม่มีข้อสรุปว่าใครควรนายกรัฐมนตรีรักษาการ ในขณะที่การปะทะอย่างหนักเมื่อเช้ามืดวันจันทร์ มีผู้เสียชีวิตราว 50 คน พรรคการเมืองบางพรรคถอนตัวออกจากแผนสมานฉันท์ของกองทัพอียิปต์
(อัพเดท 11 ก.ค. 23.10 น.) รัฐบาลเฉพาะกาลเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจเนื่องจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมนัดชุมนุมใหญ่ในวันศุกร์นี้
(อัพเดท 28 ก.ค. 10.40 น.) พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาทางสูงสุดอียิปต์ ผู้นำทหารยึดอำนาจอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ประกาศเรียกร้องให้ประชาชนอียิปต์ทั่วประเทศพร้อมใจกันชุมนุมในวันศุกร์เพื่อแสดงพลังสนับสนุนการยึดอำนาจอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ด้านแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมยืนยันไม่ร่วมการเจรจาสมานฉันท์ ล่าสุดดูเหมือนว่าทางการมีแผนสลายการชุมนุมเพื่อหยุดการชุมนุมที่ยืดเยื้อไม่จบสิ้น
พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอียิปต์ เรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมสนับสนุนการยึดอำนาจ กลายเป็นภาพของรัฐประหารที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ ต้องขอให้ประชาชนแสดงการสนับสนุนเพิ่มเติม แม้มีผู้ร่วมชุมนุมแสดงพลังสนับสนุนการรัฐประหารจำนวนนับแสนนับล้านคน แต่ฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีจะยังคงชุมนุมยืดเยื้อต่อไป ตอกย้ำผลลัพธ์ด้านลบของการรัฐประหาร

บรรณานุกรม:
1. Egypt forces move in to clear pro-Morsi protest camps in Cairo, CBS, 14 August 2013, http://www.cbsnews.com/8301-202_162-57598425/egypt-forces-move-in-to-clear-pro-morsi-protest-camps-in-cairo/
2. Dozens dead as Egypt cracks down on sit-ins, Al Jazeera, 14 August 2013, http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/08/201381452017193693.html
3. “Protests in Alexandria, Upper Egypt after Cairo sit-ins attacked”, Ahram Online ,14 August 2013, http://english.ahram.org.eg/NewsContent/1/64/78997/Egypt/Politics-/Protests-in-Alexandria,-Upper-Egypt-after-Cairo-si.aspx
----------------------