เกาะติดประเด็นร้อน “หลังการโค่นล้มโมฮัมเหม็ด มอร์ซีแห่งอียิปต์ และรัฐบาลเฉพาะกาลของอัดลี มานซูร์” (2)

สรุปสถานการณ์(อัพเดท 9 ก.ค. 8.20 น.) ประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านอดีตปธน.มอร์ซี ยังคงชุมนุมกันต่อไป มีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคนในหลายจุดทั่วไประเทศ
            ประเด็นสำคัญขณะนี้คือยังไม่ได้ข้อสรุปนายกรัฐมนตรีรักษาการ
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 9 ก.ค. 8.20 น.)
             เช้ามืดวันจันทร์ (8 ก.ค.) ตามเวลาอียิปต์ เกิดการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนปธน.มอร์ซีกับเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 51 คนบาดเจ็บกว่า 400 คนหนึ่งในจุดที่ปะทะหนึ่งคือหน้าบริเวณกองบัญชาการรักษาดินแดน (Republican Guard)
            BBC รายงานว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมแจงว่าสมาชิกของตนถูกยิงขณะกำลังละหมาด กลุ่มดังกล่าวนั่งประท้วงหน้ากองบัญชาการรักษาดินแดนอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่กองทัพแจ้งว่า “กลุ่มก่อการร้าย” พยายามบุกเข้าฐานที่มั่นแห่งนั้น
            หลังการปะทะในเช้าวันที่ 8 ก.ค. พรรค Muslim Brotherhood's Freedom and Justice Party (FJP) ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมออกแถลงเรียกร้องให้ “ประชาชนอียิปต์ลุกขึ้นต่อต้านผู้ลักขโมยการปฏิวัติด้วยรถถังและยานเกราะ”

            พรรค Salafist Al-Nour Party เสนอแนวทางจัดตั้งให้ทุกพรรคการเมืองรวมทั้งกองทัพเพื่อร่วมกันทำหน้าที่สมานฉันท์ กล่าวโจมตีกองทัพว่าเป็นเหตุทำให้เกิดการนองเลือดในขณะนี้ กล่าวโจมตีนายอัดลี มานซูร์ ประธานาธิบดีรักษาการว่าเป็นอำนาจนิยมละมุ่งทำเพื่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม แต่ให้ประธานาธิบดีเฉพาะกาลมีอำนาจเต็มเพื่อบริหารประเทศในระยะนี้ แต่ในเวลาต่อมาพรรค Salafi Al-Nour Party ประกาศถอนตัว ไม่ขอมีส่วนร่วมในแผนจัดตั้งรัฐบาลของกองทัพหลังเกิดเหตุปะทะเมื่อเช้ามืดวันที่ 8 เห็นว่ากองทัพเป็นฝ่ายผิด พรรคต้องการ “หยุดการนองเลือด แต่ตอนนี้เลือดนองไหลท่วม” และไม่ยอมรับข้อเสนอให้นาย Ziad Baha Al-Din เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ
            ด้านนายอัดลี มานซูร์ ประธานาธิบดีรักษาการของอียิปต์ มีแผนเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดทำประชามติ ก่อนจัดเลือกตั้งในราวเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยจะจัดตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญในอีก 15 วันข้างหน้า จากนั้นจะทำประชามติซึ่งคาดว่าจะทำได้หลังยกร่างรัฐธรรมใหม่แล้ว 4 เดือน
            ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า นาย Ziad Bahaa el-Din อาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ส่วนนายโมฮัมเหม็ด เอลบาราเดจะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีรักษาการ

วิเคราะห์(อัพเดท 9 ก.ค. 8.20 น.)
            ตั้งแต่ฝ่ายสนับสนุปธน.มอร์ซีเริ่มชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจ จุดที่มักเกิดการเผชิญหน้าและเกิดการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนปธน.มอร์ซีกับเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ คือ บริเวณหน้ากองบัญชาการรักษาดินแดนที่เข้าใจกันว่าปธน.มอร์ซีถูกกักตัวอยู่ที่นั่น ที่ซึ่งผู้สนับสนุนปธน.มอร์ซีจำนวนมากจัดชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าว และเป็นจุดที่เกิดการปะทะหนักเมื่อเช้ามืดวันที่ 8 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 50 คนบาดเจ็บกว่า 400 คน ประเด็นสำคัญคือไม่ว่าข้อเท็จจริงคือทหารยิงประชาชนที่กำลังละหมาดหรือกลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้สถานการณ์ดังกล่าวพยายามบุกเข้าไปในกองบัญชาการ ขณะนี้ผู้สนับสนุนปธน.มอรซีจำนวนมากเชื่อว่าทหารยิงประชาชนขณะละหมาด เพิ่มความเกลียดชัง ประเทศแบ่งแยกมากขึ้น

            กองทัพอียิปต์และรัฐบาลโอบามาพยายามเจรจาหว่านล้อมทุกกลุ่มทุกพรรคให้เข้าร่วมการเจรจาเพื่อหาทางออก ยุติปัญหา แต่ขณะนี้อย่างน้อยสองพรรคใหญ่ไม่ของร่วมด้วยนั่นคือพรรค Salafist Nour Party กับพรรค Muslim Brotherhood's Freedom and Justice Party (FJP) ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม จุดยืนดังกล่าวตีความได้หลายทาง เช่น
            แนวทางแรก ต้องการสร้างความปั่นป่วน เพื่อคืนอำนาจแก่ประธานาธิบดีมอร์ซี แนวทางนี้เป็นจุดยืนที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมประกาศมาตลอด แต่โอกาสที่กองทัพจะยอมคืนอำนาจนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่ายผู้สนับสนุนขับไล่ปธน.มอร์ซีก็มีจำนวนมากและเป็นต้นเหตุของการยึดอำนาจครั้งนี้

            แนวทางที่สอง คือ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเจรจาต่อรอง เป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล และเพื่อหวังผลการยกร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งในปีหน้า
            ยิ่งเวลาถูกดึงให้ยืดยาวออกไป ฝ่ายกองทัพจะยิ่งมีปัญหา เพราะนอกจากต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายสนับสนุนปธน.มอร์ซีโดยตรงแล้ว ยังขาดผู้เข้ามาบริหารควบคุมเศรษฐกิจ (แม้มีข้าราชการประจำดูแลอยู่ในขณะนี้ก็ตาม) ทั้งยังมีสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเพิ่มมากขึ้น
            แน่นอนว่าพรรคหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ย่อมเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าว และรู้ว่าต้องแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์อย่างไร
            การที่ยังไม่สามารถกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่ากลุ่มต่างๆ พยายามเจรจาต่อรอง และมีอำนาจต่อรอง จึงทำให้นายเอลบาราเดที่เป็นตัวเลือกหลักคนแรกถูกปฏิเสธ เช่นเดียวกับนาย Ziad Baha Al-Din ที่เป็นตัวเลือกล่าสุด
            สถานการณ์การเมืองอียิปต์ขณะนี้จึงเป็นการช่วงชิงอำนาจอย่างเข้มข้น
            ตราบใดที่ยังไม่มีข้อสรุป การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลยังไม่ลงตัว โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงย่อมมีอยู่เสมอ และอาจพลิกผันสู่บริบทใหม่ๆ ที่ไม่มีใครคาดฝัน
            ปัญหาหนักอกตกแก่กองทัพ สถานการณ์ยัง “ตึงเครียด” ต่อไป
9 กรกฎาคม 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 4 ก.ค. 10.30 น.) ข้อเสนอประนีประนอมของมอร์ซีเป็นหมัน กองทัพทำการรัฐประหาร แต่การรัฐประหารเป็นเพียงการเริ่มต้นใหม่เท่านั้น ยังไร้ร่องรอยของอดีตปธน. กลุ่มผู้จงรักภักดีได้ปะทะกับทหารมีผู้เสียชีวิตนับสิบคน
(อัพเดท 8 ก.ค. 9.10 น.) หลังการโค่นล้มรัฐบาลมอร์ซี สถานการณ์การเมืองอียิปต์ยังครุกรุ่น ยังไม่มีข้อสรุปว่าใครจะเป็นนายกฯ รักษาการ ทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านต่างชุมนุมแสดงพลังของตนอย่างต่อเนื่อง ด้านราคาน้ำมันไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
ในเวลาไม่ถึง 3 ปี ประเทศอียิปต์เกิดเหตุประชาชนขับไล่รัฐบาลมาแล้ว 2 ชุด คือรัฐบาลของประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค กับรัฐบาลของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ทั้งสองครั้งประชาชนผู้สนับสนุนต่างประกาศว่าคือส่วนหนึ่งของอียิปต์สปริง เป็นชัยชนะของประชาชน การชุมนุมทั้งสองครั้งกองทัพอียิปต์เข้าเกี่ยวข้องด้วยเสมอ และสหรัฐมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพอียิปต์มานานหลายทศวรรษแล้ว

บรรณานุกรม:
1. Egypt unrest: Interim leader outlines election timetable, BBC, 8 July 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23236534
2. Egypt's Nour Party proposes alternative 'roadmap,' slams interim president, MENA, 8 July 2013, http://english.ahram.org.eg/NewsContent/1/64/76062/Egypt/Politics-/Egypts-Nour-Party-proposes-alternative-roadmap,-sl.aspx
3. Al-Nour Party withdraws from Al-Sisi’s roadmap, Daily News Egypt, 8 July 2013, http://www.dailynewsegypt.com/2013/07/08/al-nour-party-withdraws-from-al-sisis-roadmap/
4. Egypt unrest: Morsi supporters shot dead in Cairo, BBC, 8 July 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23222546
5. Dozens of Morsi Backers Are Reported Killed in Cairo, NYT, 8 July 2013, http://www.nytimes.com/2013/07/09/world/middleeast/egypt.html?pagewanted=all&_r=0
6. Egypt's Brotherhood calls for uprising against 'coup', Ahram Online, 8 July 2013, http://english.ahram.org.eg/NewsContent/1/64/75988/Egypt/Politics-/Egypts-Brotherhood-calls-for-uprising-against-coup.aspx
----------------------