เกาะติดประเด็นร้อน “การชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี แห่งอียิปต์” (5)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 4 ก.ค. 4.00 น.) ก่อนถึงกำหนดเส้นตาย ประธานาธิบดีมอร์ซี เสนอแนวทางประนีประนอม ร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการ แต่เมื่อเลยกำหนดเส้นตาย ทหารจำนวนมาก พร้อมด้วยยานยนต์ติดอาวุธ ก็เข้าควบคุมจุดสำคัญๆ ของกรุงไคโร ล้อมรั้วรั้วลวดหนามกั้นพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ควบคุมสถานีโทรทัศน์ของรัฐ
            ในขณะที่ ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีพูดว่าเขาไม่ทราบว่าขณะนี้ประธานาธิบดีอยู่ที่ไหน และชี้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ทหารทำการัฐประหารแล้ว บ้างอ้างว่าแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหลายคนถูกทหารกักตัวเรียบร้อยแล้ว
            ในที่สุด ผู้บัญชาการทหารอียิปต์สั่งระงับใช้รัฐธรรมนูญ หรือเท่ากับทำการรัฐประการแล้ว กองทัพได้เคลื่อนรถถังเผชิญหน้าฝ่ายสนับสนุนมอร์ซี
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 4 ก.ค. 10.30 น.)
            กองทัพทำการรัฐประการและแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด (Supreme Constitutional Court) ขึ้นรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี ประกาศว่าจะจัดเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ระงับการใช้รัฐธรรมนูญ
            Abdel-Fattah el-Sissi ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ให้เหตุผลของการรัฐประหารว่ารัฐบาล “ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนอียิปต์” เตือนว่าทหารตำรวจพร้อมจะจัดการอย่างเด็ดขาดกับผู้ก่อความไม่สงบ
            นายโมฮัมเหม็ด เอลบาราเด (Mohamed Elbaradei) ผู้นำกลุ่ม National Salvation Front และผู้นำพรรค liberal Al-Dustur party ประกาศว่านโยบายใหม่คือสร้างความสมานฉันท์ภายในประเทศ และถือเป็นเหมือนการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งเช่นเดียวกับสมัยเดือนมกราคม 2011 เมื่อสามารถโค่นล้มระบอบฮอสนี่ มูบารัค
            ในขณะที่ไร้ร่องรอยของโมฮัมเหม็ด มอร์ซีซึ่งกลายเป็นอดีตประธานาธิบดีแล้ว ทางกองทัพไม่ได้ชี้แจงว่าได้จับกุมตัวแล้วด้วยหรือไม่
            หัวหน้าพรรคการเมืองของกลุ่มกลุ่มภราดรภาพมุสลิมถูกจับกุม พร้อมกับแกนนำคนสำคัญอีก 300  คนถูกกักตัว
            ยอดผู้เสียชีวิตจากการประท้วงใหญ่ที่เริ่มต้นเมื่อวันอาทิตย์มีจำนวน 40 คน และมีข่าวการปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตปธน.มอร์ซีกับทหารในกรุงไคโร
            ประชาชนนับล้านคนออกมาเฉลิมฉลอง ในขณะที่กลุ่มผู้จงรักภักดีต่อมอร์ซีตะโกนไม่ยอมรับการปกครองโดยทหาร

            ด้านประธานาธิบดีบารัก โอบามา รู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หลีกเลี่ยงการจับกุมประธานาธิบดีมอร์ซีและพรรคพวกโดยปราศจากเหตุผล
            นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าหากรัฐบาลชั่วคราวไม่รีบเข้าบริหารประเทศ อาจเกิดการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเงินอ่อนค่าลงอีก ซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้ที่มีอยู่เดิม และในสถานการณ์ที่ประเทศไม่สงบ ไม่มีผู้ใดสนใจไปท่องเที่ยวหรือลงทุน

วิเคราะห์: (อัพเดท 4 ก.ค. 10.30 น.)
            ท้ายที่สุด แม้ประธานาธิบดีมอร์ซียอมเลือกแนวทางประนีประนอมกับฝ่ายต่อต้าน เสนอปรับคณะรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลผสม ดึงฝ่ายต่อต้านเข้าร่วม และแก้ไขรัฐธรรมนูญตอบสนองข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้าน แต่ไม่มีคำตอบจากฝ่ายต่อต้านที่ปรากฏออกมาทางสื่อ มีแต่ภาพทหารพร้อมรถถัง ยานเกราะออกมาประจำสถานที่ต่างๆ และสุดท้ายเมื่อทุกอย่างพร้อม ผู้นำกองทัพก็ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่าได้ทำการรัฐประหารแล้ว
            การเลือกวิธีรัฐประหารสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการต่อต้านจากผู้ที่จงรักภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี โดยเฉพาะกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เขาเป็นผู้นำมาก่อน
            ข้อมูลล่าสุด ไม่ชัดเจนว่ามอร์ซีอยู่ที่ใด ทางกองทัพก็ไม่ได้แถลงเรื่องนี้ ในขณะที่แกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหลายร้อยคนถูกกักตัว
            ต่อจากนี้คงไม่เกิดม็อบชนม็อบดังที่นักวิเคราะห์หลายคนกังวล แต่เห็นได้ชัดเมื่อวานหลังเลยกำหนดเส้นตาย 48 ชั่วโมงมีการปะทะระหว่างทหารกับผู้จงรักภักดีต่อมอร์ซีทำให้ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดกลายเป็น 40 คน ข่าวการปะทะกลายเป็นข่าวเล็ก เพราะสื่อส่วนใหญ่เสนอประเด็นอื่น ทั้งยังสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะอีก

            ถ้าวิเคราะห์ภาพกว้าง จุดเริ่มต้นของการประท้วงรอบนี้เกิดจากสองสาเหตุหลักคือ เรื่องทางการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจ ในด้านการเมืองอาจถือว่าฝ่ายต่อต้านได้กุมหัวหาดแห่งชัยชนะแล้ว แต่เส้นทางอีกยาวไกลเพราะต้องเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหล่านี้มีหลายขั้นตอน เมื่อถึงวันนั้น จะกลายเป็นว่าฝ่ายต่อต้านในปัจจุบันกลายเป็นฝ่ายสนับสนุน ในขณะที่กลุ่มผู้จงรักภักดีต่อมอร์ซีกลายเป็นฝ่ายต่อต้าน อาจเกิดการชุมนุมประท้วงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาเพียงแต่สลับฝ่ายสลับขั้ว
            ดังที่นักวิเคราะห์หลายคนวิเคราะห์ว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง

            อีกประเด็นที่อาจถูกมองข้ามในระยะนี้ที่การเมืองเข้มข้น นั่นคือปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมมายาวนานหลายทศวรรษ และยิ่งซ้ำเติมหนักในยุคของประธานาธิบดีมอร์ซี ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้อาจแบ่งออกเป็น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือเรื่องให้ธุรกิจต่างๆ ทำงานต่อโดยราบรื่น ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง แม้เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลก็ต้องเร่งคืนความสงบกลับมาโดยเร็ว ส่วนในระยะยาวการแก้ไขต้องทำการปฏิรูปทั้งระบบ โจทย์ข้อนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่กว่าปัญหาการเมือง เพราะต้องแก้ถึงรากฐานสังคม เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของรัฐบาลชุดใหม่

            สุดท้าย แม้กองทัพทำการรัฐประหารแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ควรใช้คำว่ายัง “ตึงเครียด” ต้องจับตาการเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้จงรักภักดีต่ออดีตปธน.มอร์ซี และยังมีปริศนาเบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวันสองวันที่ผ่านมานี้

4 กรกฎาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง
(อัพเดท 30 มิ.ย. 8.00 น.) ตลอด 1 ปีที่ผ่านมานับจากประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซีบริหารประเทศ มีการชุมนุมประท้วงน้อยใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้ง ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ฝ่ายต่อต้านเตรียมการมาอย่างดี หวังเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ในขณะที่ยังมีประชาชนอีกไม่ที่สนับสนุนรัฐบาล
(อัพเดท 2 ก.ค. 12.00 น.) หลังการชุมนุมใหญ่เพียง 2 วัน ฝ่ายกองทัพอียิปต์ประกาศยื่นคำขาดให้รัฐบาลประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซีตอบสนองความต้องการของฝ่ายต่อต้านที่ชุมนุมทั่วประเทศนับล้านคน ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมีจำนวนนับล้านเช่นกัน ด้านประธานาธิบดีมอร์ซีประกาศไม่ยอมรับคำขาดของกองทัพ
(อัพเดท 3 ก.ค. 7.40 น.) ประธานาธิบดีมอร์ซียืนยันไม่ยอมรับคำขาดของกองทัพ พร้อมด้วยผู้จงรักภักดีอีกนับล้านคน แหล่งข่าวชี้ว่ากองทัพมีแผนเข้าแทรกแซง จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว วันนี้จะเป็นวันที่ครบเส้นตาย 48 ชั่วโมง
(อัพเดท 4 ก.ค. 2.10 น.) ประธานาธิบดีมอร์ซีเสนอทางประนีประนอม จัดตั้งรัฐบาลผสม ปรับแก้รัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีคำตอบจากฝ่ายต่อต้าน BBC รายงานข่าวล่าสุดว่า ทหารอียิปต์ได้เข้าประจำการตามจุดสำคัญๆ ในกรุงไคโร หลังเลยกำหนดเส้นตายมาแล้ว ประชาชนอียิปต์รอฟังแถลงการณ์ทางทีวี ไม่ทราบว่าประธานาธิบดีตอนนี้อยู่ที่ใด

บรรณานุกรม:
1. Egypt army ousts Morsi, calls early vote, AP, 4 July 2013, http://news.yahoo.com/egypt-army-ousts-morsi-calls-early-vote-193602160.html
2. Army ousts Egypt's President Morsi, BBC, 3 July 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23173794
3. Magdi Amin, Ragui Assaad, Nazar Al-Baharna, Kemal Dervis, Raj M. Desai, Navtej S. Dhillon, Ahmed Galal, Hafez Ghanem and Carol Graham,  After the Spring: Economic Transitions in the Arab World (NY: Oxford University Press, 2012).
4. Egypt Military Coup Ousts President Morsi, Sky News, 4 July 2013, http://uk.news.yahoo.com/egyptian-army-ousts-president-morsi-power-191411874.html
5. 'Morsi is no longer president': Millions explode with joy on streets as Egyptian army seizes power in people's coup following protests, Mail Online, 4 July 2013, http://www.dailymail.co.uk/news/article-2354953/Morsi-longer-president-Military-coup-forces-Egyptian-leader-tens-thousands-celebrate-streets.html
----------------------