พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอียิปต์ เรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมสนับสนุนการยึดอำนาจ คาดหวังให้ประชาชนทั่วประเทศออกมาชุมนุมนับล้านคนเหมือนครั้งการชุมนุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พร้อมกับสัญญาว่าทหารตำรวจจะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ยืนยันว่าการเรียกให้คนมาชุมนุมไม่ใช่เรียกคนให้มาก่อความรุนแรง
แต่ผลของการเรียกชุมนุมให้ทำฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีตีความต่างๆ นานา ซึ่งออกไปแนวทางลบทั้งสิ้น เช่น ทหารกำลังเรียกคนมาชุมนุมเพื่อสนับสนุนการที่ทหารจะบดขยี้ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ทั้งที่พวกเขานั่งชุมนุมโดยสงบ
ผลการของชุมนุมยังทำให้บรรดาแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมออกมาประกาศว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากคืนอำนาจแก่ประธานาธิบดีมอร์ซีเท่านั้น ยืนยันว่าการรัฐประหารผิดหลักประชาธิปไตยที่คนอียิปต์เรียกร้องตั้งแต่เริ่มต้นอียิปต์สปริงเมื่อสองปีก่อน
ข้อดีข้อเสียของการเรียกการชุมนุม:
หัวข้อแรกที่ควรวิเคราะห์คือการเรียกชุมนุมทั่วประเทศน่าจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
ในด้านข้อดีประการแรกคือ ยืนยันว่าประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศให้การสนับสนุน เพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาที่ว่าการที่ทหารยึดอำนาจ ยุติการใช้รัฐธรรมนูญไม่ใช่วิถีตามระบอบประชาธิปไตย แต่มีความชอบธรรมเพราะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่
ประการที่สอง เป็นแรงกดดันให้ฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซียอมรับการรัฐประหาร ยอมเข้าร่วมกระบวนการสมานฉันท์
ในด้านข้อเสียประการแรกคือ เกิดภาพกองทัพเลือกข้าง การที่พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาทางสูงสุดอียิปต์เรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมสนับสนุนการยึดอำนาจ เท่ากับกับว่าผู้นำทหาร กองทัพปัจจุบันอยู่ข้างเดียวกับผู้ชุมนุมฝ่ายหนึ่ง และอยู่ตรงข้ามกับประชาชนอีกฝ่าย
ประการที่สอง การเรียกชุมนุมใหญ่อีกครั้งตอกย้ำการแบ่งแยก อันที่จริงแล้วการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม กองทัพอ้างว่าทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการขับไล่รัฐบาลมอร์ซี จึงมีคำถามว่าจำเป็นต้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังสนับสนุนอีกครั้งหรือไม่ และจะเป็นการตอกย้ำการแบ่งแยกหรือไม่
ประการที่สาม การเรียกร้องออกมาชุมนุมอีกครั้งเท่ากับให้ความสำคัญกับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ทำให้ฝ่ายนี้เกิดความฮึกเหิม เชื่อมั่นว่าฝ่ายตนมาถูกทางแล้ว มีกำลังใจที่จะชุมนุมยืดเยื้อต่อไป
ประการที่สี่ เกิดความสุ่มเสี่ยงในความชอบธรรม ถ้าหากการชุมนุมแสดงพลังมีจำนวนน้อยกว่าวันที่ 30 มิถุนายน จะถูกตีความว่าประชาชนไม่สนับสนุนการยึดอำนาจหรือไม่
ประการที่ห้า ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารมีเหตุเรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มออกมาชุมนุมต่อต้านเช่นกัน เกิดการระดมพลด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ประการที่หก การแสดงพลังเป็นการใช้หลักเสียงคนหมู่มากเอาชนะคนหมู่น้อย ราวกับว่าให้เสียงส่วนน้อยยอมรับความต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างสงบเจียมตัว ปฏิเสธสิทธิของเสียงข้างน้อย
บทความนี้วิเคราะห์ว่าการเรียกชุมนุมใหญ่มีความสุ่มเสี่ยง เกิดผลเสียมากกว่าผลดี และยังเป็นเรื่องปริศนาว่าทำไมพลเอกอัล-ซิซีจึงตัดสินใจทำเช่นนี้ ในเมื่อการยึดอำนาจตั้งอยู่บนข้ออ้างว่าตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว กลายเป็นภาพของรัฐประหารที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ ต้องขอให้ประชาชนแสดงการสนับสนุนเพิ่มเติม
ยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร:
ยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารหรือฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี สรุปเป็นหลักง่ายๆ คือ ไม่เจรจา ไม่สมานฉันท์ ชุมนุมยืดเยื้อ ยืนยันความชอบธรรมของรัฐบาลมอร์ซี ผลลัพธ์คือการชุมนุมอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจุดหลักที่ใจกลางกรุงไคโร มีเหตุปะทะกันประปรายเฉพาะจุด ประเทศที่มีภาพการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ข่าวความรุนแรงความไม่สงบทางการเมือง ผนวกกับการคาดว่าในอนาคตฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจะไม่ร่วมลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ร่วมลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีกำหนดจัดในต้นปีหน้า เป็นข้ออ้างว่าทั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับรัฐบาลชุดใหม่ต่างไม่มีความชอบธรรมอันสมบูรณ์ เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติหวั่นเกรงสถานการณ์ในประเทศ บั่นทอนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเสถียรภาพทางการเมือง
ความเข้มแข็งของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมคือส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นแกนหลักของฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ควรกล่าวย้ำด้วยว่าโมฮัมเหม็ด มอร์ซีคืออดีตผู้นำของกลุ่มที่ผันตัวเองเข้าสู่สนามการเมืองเมื่อเกิดอียิปต์สปริง ความผูกพันระหว่างนายมอร์ซีกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ความเข้มแข็งของสมาชิกกับองค์กรทำให้มีฝ่ายต่อต้านรัฐประหารมีแกนหลักที่มั่นคงแม้ผู้นำหลายคนจะถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ก็ตาม
ดังนั้นแม้วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคมจะมีผู้ร่วมชุมนุมแสดงพลังสนับสนุนการรัฐประหารจำนวนนับแสนนับล้านคน แต่ฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีจะยังคงชุมนุมยืดเยื้อต่อไป ตอกย้ำผลลัพธ์ด้านลบของการรัฐประหาร
วิเคราะห์องค์รวมและข้อเสนอแนะ:
วิเคราะห์องค์รวมและข้อเสนอแนะ:
สถานการณ์การเมืองอียิปต์ขณะนี้ต้องกล่าวย้อนหลังว่าหนึ่งปีก่อนเมื่อประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซีชนะการเลือกตั้งเข้าบริหารประเทศ ได้ร่างและผลักดันรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาอิงหลักศาสนา ถูกกล่าวหาว่าพยายามรวบอำนาจทางทหาร ตุลาการ ประธานาธิบดีมอร์ซีถูกฝ่ายต่อต้านมองว่าเป็นผู้นำอำนาจนิยมมากกว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตย เห็นว่ารัฐบาลไม่พยายามบริหารประเทศเพื่อประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง ในด้านเศรษฐกิจตลอดหนึ่งขวบปีของการบริหารเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น หลายอย่างแย่กว่าสมัยรัฐบาลมูบารัค น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน ทุนสำรองเงินตราร่อยหรอ เงินเฟ้อพุ่งสูง จนนำสู่การชุมนุมใหญ่ ทหารเข้ายึดอำนาจในที่สุด
สถานการณ์ในวันนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีชูประเด็นต้านรัฐประหารว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ยืนยันการเข้าสู่อำนาจโดยชอบของรัฐบาลมอร์ซี กลายเป็นว่ากองทัพกับประชาชนที่ชุมนุมต้านรัฐบาลมอร์ซีคือพวกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ณ วันนี้อียิปต์สปริงจึงกลายเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารกับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร หรือฝ่ายต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีมอร์ซีกับฝ่ายที่เห็นด้วย ต่างยึดมั่นว่าแนวทางของตนถูกต้อง ไม่ยอมประนีประนอมกับอีกฝ่าย
ณ วันนี้อียิปต์สปริงจึงกลายเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารกับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร หรือฝ่ายต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีมอร์ซีกับฝ่ายที่เห็นด้วย ต่างยึดมั่นว่าแนวทางของตนถูกต้อง ไม่ยอมประนีประนอมกับอีกฝ่าย
สภาพการแบ่งแยกสะท้อนรากปัญหาสังคมที่ยังแก้ไขไม่ได้ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต คือทำอย่างไรจึงจะให้กลุ่มยึดมั่นในหลักการอิสลาม (Islamic Fundamentalism) อยู่ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ อียิปต์สปริง การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นจุดเริ่มที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเข้ามามีอำนาจทางการเมืองและพยายามบริหารประเทศตามแนวทางที่ตนเห็นว่าดีและยึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มการเคลื่อนไหวที่ย้อนหลังได้ถึงทศวรรษ 1970 แต่แนวทางดังกล่าวนำมาซึ่งการต่อต้านจากกลุ่มคนอื่นๆ
แนวทางประชาธิปไตยตามแบบฉบับของอียิปต์ควรเป็นอย่าไร ยังเป็นคำถามสำคัญที่สังคมอียิปต์ต้องค้นหาต่อไป อียิปต์สปริงจึงยังไม่แล้วเสร็จและไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการรัฐประหาร ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ที่ว่าในระหว่างนี้สังคมจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างไร
ในระหว่างที่สังคมกำลังหาคำตอบทางการเมืองแก่ตนเองนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลเฉพาะกาลควรทำคือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ แม้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของทหารตำรวจ แต่หากเกิดความรุนแรงย่อมกระเทือนถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ผู้มีหน้าที่จะต้องป้องกันการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมของทั้งสองฝ่ายซึ่งที่ผ่านมามีเหตุการณ์ปะทะเกิดขึ้นทำให้เกิดคนบาดเจ็บล้มตาย
เรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าคือการดูแลกิจกรรมเศรษฐกิจให้ดำเนินไปเป็นปกติ ระวังการขาดแคลนอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ป้องกันการกักตุนสินค้า การลักลอบขึ้นราคาสินค้า ควบคุมการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้ประชาชนมีใช้อย่างเพียงพอพร้อมกับป้องกันไม่ให้นำไปขายในตลาดมืด
เรื่องที่น่ากังวลใจคือเศรษฐกิจที่ต้องอุดหนุนราคาขนมปัง (อาหารหลักของชาวอียิปต์) กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดำเนินมาต่อเนื่องหลายทศวรรษ เป็นต้นเหตุทำให้รัฐบาลขาดดุลการคลัง เงินกู้ช่วยเหลือ 12 พันล้านดอลลาร์ที่เพื่อนบ้านให้มาจะสามารถช่วยค้ำจุนภาวะการคลังอีกระยะหนึ่งเพียงพอถึงวันเลือกตั้งปีหน้าเท่านั้น
ความวุ่นวายทางการเมืองขณะนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ไข เช่นเดียวกับการดูแลเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้บริหารประเทศต้องไม่ลืมว่ามูลเหตุสำคัญที่ประชาชนลุกฮือครั้งใหญ่แต่ละครั้งเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจที่พิกลพิการ ก่อให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลมาตลอดทุกยุคทุกสมัย เริ่มจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค เมื่อรัฐบาลสมัยนั้นประกาศจะลด/ยกเลิกการอุดหนุนราคาขนมปัง สุดท้ายนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบการบริหารที่ผิดพลาด เหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้น ต่อมาคืออียิปต์สปริงเมื่อปี 2011 ครั้งนี้ประธานาธิบดีมูบารัคต้องลาออกเอง จนถึงการรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีมอร์ซีก็มีส่วนจากปัญหาเศรษฐกิจ
ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่ารัฐบาลใดหากไม่สามารถแก้หรือทุเลาปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ ความไม่สงบจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ การแก้ไขปัญหาการเมืองเป็นเพียงจุดเริ่มของการแก้รากปัญหาของประเทศ
28 กรกฎาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6110 วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2556)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ในเวลาไม่ถึง 3 ปี ประเทศอียิปต์เกิดเหตุประชาชนขับไล่รัฐบาลมาแล้ว
2 ชุด คือรัฐบาลของประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค กับรัฐบาลของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด
มอร์ซี ทั้งสองครั้งประชาชนผู้สนับสนุนต่างประกาศว่าคือส่วนหนึ่งของอียิปต์สปริง
เป็นชัยชนะของประชาชน การชุมนุมทั้งสองครั้งกองทัพอียิปต์เข้าเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
และสหรัฐมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพอียิปต์มานานหลายทศวรรษแล้ว
2. เกาะติดประเด็นร้อน “หลังการโค่นล้มโมฮัมเหม็ด
มอร์ซีแห่งอียิปต์ และรัฐบาลเฉพาะกาลของอัดลี มานซูร์” (4)
(อัพเดท 28 ก.ค. 10.40 น.) พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาทางสูงสุดอียิปต์
ผู้นำทหารยึดอำนาจอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ประกาศเรียกร้องให้ประชาชนอียิปต์ทั่วประเทศพร้อมใจกันชุมนุมในวันศุกร์เพื่อแสดงพลังสนับสนุนการยึดอำนาจอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี
ด้านแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมยืนยันไม่ร่วมการเจรจาสมานฉันท์ ล่าสุดดูเหมือนว่าทางการมีแผนสลายการชุมนุมเพื่อหยุดการชุมนุมที่ยืดเยื้อไม่จบสิ้น
บรรณานุกรม:
1. Egypt army call signals possible crackdown, AP, 25 July 2013, http://news.yahoo.com/egypt-army-call-signals-possible-crackdown-154241098.html
2. Magdi Amin, Ragui Assaad, Nazar Al-Baharna, Kemal Dervis, Raj M. Desai, Navtej S. Dhillon, Ahmed Galal, Hafez Ghanem and Carol Graham, After the Spring: Economic Transitions in the Arab World (NY: Oxford University Press, 2012).
3. Rabab El-Mahdi and Philip Marfleet (editors), Egypt: The Moment of Change (N.Y.: Zed Books, 2009).
4. Derek Hopwood, Egypt 1945-1990: Politics and Society (N.Y.: Routledge, 2002).
5. UPDATE 8: Egypt sees massive pro-military rallies, Islamists remain defiant, Ahram Online, 26 July 2013, http://english.ahram.org.eg/NewsContent/1/64/77438/Egypt/Politics-/UPDATE--Egypt-sees-massive-promilitary-rallies,-Is.aspx
-----------------------