ทำไมฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวันในน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์

น่านน้ำบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์กลายเป็นจุดเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศอีกครั้ง เมื่อเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์ยิงปืนใส่เรือประมงไต้หวันเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังผลให้ลูกเรือประมงไต้หวันคนหนึ่งเสียชีวิต ประธานาธิบดีไต้หวัน นายหม่า อิงจิ่วเรียกร้องคำขอโทษจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ทันที สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเมื่อผู้บัญชาการอาร์มานด์ บาลิโล โฆษกกองป้องกันยามฝั่งฟิลิปปินส์กล่าวว่า “รู้สึกสงสารเห็นใจถ้ามีผู้เสียชีวิต แต่ไม่ขอโทษ” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและท่าทีของทั้งสองฝ่ายเป็นที่มาของคำถามว่า ทำไมฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวันในน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์
            คำถามดังกล่าวมีแนวคำตอบมีหลายแนว ดังนี้
            แนวคำตอบแรก รัฐบาลฟิลิปปินส์อ้างว่าจุดเกิดเหตุอยู่ในพื้นที่อธิปไตยของตนเพียงประเทศเดียว
            หลังเกิดเหตุปฏิกิริยาตอบสนองแรกจากทางการฟิลิปปินส์ ผู้บัญชาการอาร์มานด์ บาลิโล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ทำหน้าที่ห้ามการทำประมงอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำฟิลิปปินส์ที่ไม่มีประเทศใดอ้างอธิปไตย แม้กระทั่งไต้หวัน ผู้บัญชาการบาลิโลอธิบายเพิ่มว่าในตอนแรกเรือยามฝั่งขนาด 30 เมตรพบเรือประมง 2 ลำจึงแล่นเข้าใกล้ ปรากฏว่าเรือประมงอย่างน้อยหนึ่งในสองลำพยายามพุ่งเข้าชน เจ้าหน้าที่บนเรือจึงยิงปืนใส่เครื่องยนต์เพื่อให้เรือหยุด โดยไม่ระวังว่าจะมีใครถูกยิงหรือไม่ จากนั้นเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์รีบแล่นออกจากจุดเกิดเหตุเมื่อพบเห็นเรือ “สีขาวลำใหญ่” อีกลำแล่นเข้ามาด้วยเกรงว่าจะมีภัยคุกคามมาถึงตัว
            ฝ่ายไต้หวันเห็นว่าเรือประมงกวงต้าเสียง 28 (Kuang Ta Hsing No. 28) ของตนไม่ได้กระทำผิดใดๆ เรือถูกยิงขณะทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนที่จุด 164 ไมล์ทะเลจากไต้หวัน และเห็นว่า “การที่ฟิลิปปินส์ยิงใส่เรือประมงที่ปราศอาวุธ เป็นการฝ่าฝืนกฎความปลอดภัยระหว่างประเทศ” เรือลำดังกล่าวถูกยิงกว่า 50 นัด
            เรื่องต้องพิสูจน์ภายใต้แนวคำตอบแรกคือเหตุยิงเรือประมงอยู่ในจุดตามที่ทางการฟิลิปปินส์กล่าวอ้างว่าเป็นพื้นที่อธิปไตยของตนไม่ใช่จุดอ้างสิทธิ์ทับซ้อน หรือเป็นไปตามที่ทางการไต้หวันบอกว่าอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของตน เป็นพื้นที่ๆ ไต้หวันอ้างสิทธิ์ว่าเรือประมงของตนสามารถทำประมง ณ จุดดังกล่าวได้
            จุดยืนของไต้หวันตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าจุดที่ทำประมงนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ๆ ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ข้อล้ำลึกกว่าเรื่องเรียกร้องการขอโทษคือการอ้างกรรมสิทธิ์ของไต้หวัน เท่ากับว่าไต้หวันไม่ยอมรับการอ้างกรรมสิทธิ์ของฟิลิปปินส์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ และตอกย้ำจุดยืนของไต้หวันเหนือกรรมสิทธิ์หมู่เกาะเหล่านี้
          แนวคำตอบที่สอง เหตุจากความขัดแย้งเรื่องการทำประมง
            คุณซินดี้ สุย (Cindy Sui) นักวิเคราะห์คนหนึ่งให้ความเห็นว่า เหตุเรือประมงไต้หวันถูกยิงไม่ใช่เรื่องใหม่ เรือประมงไต้หวันถูกเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์รบกวนมานานแล้ว หลายปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ได้กักตัวลูกเรือประมงไต้หวันมาแล้วหลายครั้งหลายหน บางครั้งถึงขั้นยึดเรือ เช่นเดียวกับที่ลูกเรือประมงไต้หวันถูกยิงเสียชีวิต เหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
            สาเหตุเกิดจากฝ่ายฟิลิปปินส์ไม่พอใจที่เรือประมงของไต้หวันลำใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า สามารถจับปลาในจุดที่เรือประมงฟิลิปปินส์ทำไม่ได้ จึงเป็นความไม่พอใจที่ซ่อนอยู่ภายในและพยายามรังควานเรือประมงไต้หวัน
            ที่ผ่านมารัฐบาลสองฝ่ายไม่เคยเจรจาตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะเนื่องจากฟิลิปปินส์ดำเนินตามนโยบายจีนเดียว (One-China policy) ของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือว่าไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของจีนเท่านั้น (ในขณะเดียวกันฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์กับไต้หวันในหลายมิติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์) ส่วนรัฐบาลไต้หวันไม่ต้องการข้อยุติเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อน เพียงแต่ต้องการแนวปฏิบัติ (code of conduct) เพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกัน สถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลไต้หวันไม่เพียงต้องการเรียกร้องความยุติธรรมแก่ลูกเรือประมงที่เสียชีวิต ยังต้องการความชอบธรรมในการทำประมงและแก้ไขปัญหาการทำประมงอย่างถาวรด้วย ส่วนเหตุที่ชาวไต้หวันเป็นเดือดเป็นแค้นไม่ใช่เพียงเพราะชาวประมงคนหนึ่งเสียชีวิต แต่เป็นความไม่พอใจที่สะสมมานานโดยเฉพาะในกลุ่มชาวประมง และเกรงว่าหากไม่ประท้วงจนถึงที่สุดคนในครอบครัวของตนอาจเป็นเหยื่อกระสุนรายต่อไปก็เป็นได้
            แนวคำตอบของคุณซินดี้ สุยจึงให้ความสำคัญกับความขัดแย้งจากการทำประมงเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งอันซับซ้อนของการเมืองระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์ไต้หวันบางคนเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์ในการทำประมงบนพื้นที่ทับซ้อนสามารถแก้ไขได้ โดยทำข้อตกลงร่วมเหมือนกับข้อตกลงร่วมล่าสุดระหว่างไต้หวันกับญี่ปุ่นที่อนุญาตให้เรือประมงของทั้งสองฝ่ายสามารถทำประมงในน่านน้ำบริเวณหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูได้อย่างปลอดภัย ไม่ผิดกฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง ไต้หวันเพิ่งบรรลุข้อตกลงดังกล่าวกับญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2013 หลังจากเจรจาถึง 17 ปี แนวคำตอบที่สองนี้มีความเป็นไปได้เพราะทันทีที่เกิดเหตุกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันได้ส่งมอบสำเนาข้อตกลงร่วมระหว่างไต้หวันกับญี่ปุ่นให้กับทางการฟิลิปปินส์ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการทำประมงของทั้งสองฝ่าย
            ปัญหาคือรัฐบาลฟิลิปปินส์ยึดมั่นนโยบายจีนเดียว และต้องการปกป้องผลประโยชน์การทำประมงของตน ในมุมของรัฐบาลฟิลิปปินส์การทำข้อตกลงเรื่องประมงกับไต้หวันจึงได้ไม่คุ้มเสีย
          แนวคำตอบที่สาม ความตั้งใจของฟิลิปปินส์คือเพื่อส่งสัญญาณเตือนจีน
            แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า นอกจากฟิลิปปินส์แล้วยังมีอีก 5 ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์ ฟิลิปปินส์มีข้อพิพาทกับไต้หวันและอีกหลายประเทศมานานแล้ว แต่ในระยะนี้ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 คู่กรณีที่สำคัญของฟิลิปปินส์คือจีน การที่ฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวันก็เพื่อส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าไปถึงเรือประมงจีนที่กำลังจะเข้ามาทำประมงในเขตน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์
            สองวันก่อนเกิดเหตุลูกเรือประมงไต้หวันถูกยิงเสียชีวิต จีนได้ส่งกองเรือประมงราว 30 ลำพร้อมเรือสนับสนุนมุ่งหน้าสู่หมู่เกาะสแปรตลีย์ (หมู่เกาะหนานซา) เพื่อทำประมงเป็นเวลาราว 40 วัน ทางการจีนประกาศว่าเป้าหมายสำคัญคือเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งประมงสำหรับการทำประมงเป็นประจำและ “จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อความปลอดภัยของกองเรือ”
            คำประกาศของรัฐบาลจีนชัดเจน ยึดถือว่าบริเวณน่านน้ำดังกล่าวเป็นอธิปไตยของตน มีแผนพัฒนาให้เป็นแหล่งทำประมงถาวร พร้อมจะปกป้องเรือของตนจากทุกประเทศ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหนึ่งในคู่พิพาทสำคัญคือฟิลิปปินส์
            แนวคำตอบนี้ไม่มีหลักฐานรองรับแบบตรงไปตรงมา แต่อิงหลักฐานจากบริบทแวดล้อมว่าในหมู่ประเทศที่อ้างสิทธิด้วยกัน โดยเฉพาะสองสามปีที่ผ่านมารัฐบาลอากีโนกระตือรือร้นในการต่อต้านรัฐบาลจีนมากที่สุด หลายนโยบายของรัฐบาลอากีโนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หวนคืนสู่เอเชียของรัฐบาลโอบามา เห็นว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความสำคัญต่อผลประโยชน์แห่งชาติอเมริกาและหวังสกัดกั้นอิทธิพลของจีนที่กำลังก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศและอำนาจทางทหาร
            จากข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏไม่อาจให้คำตอบที่แน่ชัดว่า ทำไมฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวันในน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์ คำตอบอาจอยู่หนึ่งในสามแนวทางดังกล่าว หรืออาจประกอบด้วยหลายแนวทางรวมกัน
            เรื่องที่ไม่คาดฝันคือเหตุการณ์ที่ลูกเรือประมงไต้หวันถูกยิงเสียชีวิต ทำให้ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ต้องแสดงบทบาทผู้นำประเทศทวงความยุติธรรมแก่พลเมืองของตน แท้ที่จริงแล้วทางการฟิลิปปินส์คงไม่ต้องการให้ลูกเรือประมงไต้หวันเสียชีวิต เพราะการขับไล่เรือประมงต่างชาติจากพื้นที่อธิปไตยไม่จำต้องถึงขั้นลงมือให้อีกฝ่ายเสียชีวิต และไม่ควรกระทำรุนแรงถึงขนาดนั้นด้วย (จินตนาการว่าฟิลิปปินส์ยิงใส่อีก 4 ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เดียวกันนี้) เช่นเดียวกับเหตุผลเรื่องความขัดแย้งในการทำประมง หรือเพื่อส่งสัญญาณเตือนจีน
            เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างผลเสียแก่ฟิลิปปินส์มากมาย จากรัฐบาลอากีโนที่พยายามเล่นบทเป็นฝ่ายรุกในการอ้างกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นฝ่ายรับทันที เพราะทางการไต้หวันยกประเด็นพลเมืองของตนเสียชีวิตเป็นตัวนำเรื่อง อ้างพฤติกรรมอันไม่ชอบธรรม รุนแรงเกินกว่าเหตุของฟิลิปปินส์ กลายเป็นโอกาสให้ทางการไต้หวันยื่นข้อเรียกร้องหลายประการ กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติฟิลิปปินส์โดยเฉพาะเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ สิทธิในการทำประมง
            ข้อเรียกร้องของไต้หวันที่ส่งผลต่อการอ้างกรรมสิทธิ์เป็นเรื่องที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ยอมตกลงด้วยแน่นอน ที่สุดแล้วความขัดแย้งดำเนินต่อไปและไต้หวันจะจดจำว่าคนของตนเองถูกทางการฟิลิปปินส์ยิงเสียชีวิตอีก 1 ราย แม้ว่าน่าจะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจก็ตาม ส่วนรัฐบาลฟิลิปปินส์คงจะกำชับเจ้าหน้าที่ให้ระวังการใช้ปืนให้มากกว่านี้ ยกเว้นจะมีเหตุจำเป็น ได้คำนวณผลได้ผลเสียล่วงหน้าแล้ว
19 พฤษภาคม 2013

ชาญชัย
ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6040 วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2013, http://thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=3127:2013-05-20-02-39-27&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100

---------------
(อัพเดท 7 พ.ค. 15.40 น.) จีนส่งกองเรือประมงมุ่งหน้าหมู่เกาะสแปรตลีย์ ยืนยันป้องกันกองเรือของตนอย่างเต็มที่
(อัพเดท 10 พ.ค. 20.30 น.) ทางการฟิลิปปินส์ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของตนเป็นผู้ยิงลูกเรือประมงไต้หวัน รู้สึกเสียใจแต่ไม่ขอโทษ รัฐบาลจีนออกโรงเตือนขอให้ประเทศทั้งหลายไม่ทำให้สถานการณ์ยุ่งเหยิงกว่าเดิม
(อัพเดท 15 พ.ค. 8.30 น.) รัฐบาลไต้หวันยื่นคำขาดให้ฟิลิปปินส์ 72 ชั่วโมงเพื่อจับกุมผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของลูกเรือประมงไต้หวัน แต่ผลสรุปหลังกำหนดเส้นตายคือสองฝ่ายจะเจรจากันต่อไป
(อัพเดท 15 พ.ค. 17.50 น.) ประธานาธิบดีไต้หวันแสดงความไม่พอใจ เห็นว่าฟิลิปปินส์ไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องและพยายามเบี่ยงประเด็น สั่งระงับจ้างแรงงานฟิลิปปินส์ และกำหนดเส้นตายใหม่อีกครั้ง แต่หลังกำหนดเส้นตายปรากฏว่าฟิลิปปินส์ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องดังเดิม ทางการไต้หวันจึงประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม
5. เกาะติดประเด็นร้อน “ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์”(5)
(อัพเดท 22 พ.ค. 3.30 น.) หลังเหตุความตึงเครียดระหว่างฟิลิปปินส์กับไต้หวันอันเนื่องจากลูกเรือประมงไต้หวันคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมขณะทำประมงใกล้หมู่เกาะสแปรตลีย์ สถานการณ์ล่าสุดคือความตึงเครียดระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน เมื่อกองเรือประมงพร้อมเรือคุ้มกันได้แล่นเข้าน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นอธิปไตยของตน
----------------
บรรณานุกรม:
1. Philippines admits to shooting at Taiwan boat, Times of Oman/AFP, 10 May 2013, http://www.timesofoman.com/News/Article-15103.aspx
2. Cindy Sui, Taiwan recalls envoy, suspends hiring over Philippine row - Analysis, BBC, 15 May 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-22535524
3. Death on the High Seas: Over 50 bullet holes found on Taiwan boat, Taipei Times, 12 May 2013, http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2013/05/12/2003562051
4. EDITORIAL: Action needed on Philippines, Taipei Times, 13 May 2013, http://www.taipeitimes.com/News/editorials/archives/2013/05/13/2003562115
5. China sends large fleet to disputed islands: media, AFP, 7 May 2013, http://sg.news.yahoo.com/china-sends-large-fleet-disputed-islands-media-064005493.html
6. China sends fishing fleet to Nansha Islands, Xinhua, 6 May 2013, http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-05/06/c_132363121.htm
-----------------