เกาะติดประเด็นร้อน “ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์” (5)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 22 พ.ค. 3.30 น.) ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการจีนประกาศว่าจะส่งกองเรือประมงราว 30 ลำพร้อมเรือสนับสนุนมุ่งหน้าสู่หมู่เกาะหนานซา (หมู่เกาะสแปรตลีย์) เพื่อทำประมงเป็นเวลาราว 40 วัน เป้าหมายสำคัญคือเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งประมงสำหรับการทำประมงเป็นประจำ และประกาศว่า “จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อประกันความปลอดภัยของกองเรือ
            แต่ก่อนที่จะเกิดการเผชิญหน้าระหว่าฟิลิปปินส์กับจีน ปรากฏว่าเกิดเหตุลูกเรือประมงไต้หวันคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะทำประมงใกล้หมู่เกาะสแปรตลีย์ กลายเป็นข่าวความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายอยู่หลายวัน
            ล่าสุด รัฐบาลฟิลิปปินส์ประท้วงเรือรบจีนที่แล่นเข้ามาใกล้น่านน้ำที่ทั้งสองประเทศคือจีนกับฟิลิปปินส์ต่างอ้างกรรมสิทธิ์แล้ว
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 22 พ.ค. 3.30 น.)
          มื่อวันอังคาร (21) ทางการฟิลิปปินส์แจ้งว่าได้ยื่นจดหมายประท้วงเรือรบจีนกับเรืออื่นๆ ที่แล่นอยู่ใกล้บริเวณหินโสโครก Ayungin Shoal กับ Second Thomas Shoal ในทะเลจีนใต้ที่ฟิลิปปินส์ถือว่าเป็นเจ้าของ และกล่าวว่าได้ยื่นจดหมายประท้วงตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมเมื่อพบเรือเหล่านั้นเป็นครั้งแรก แต่รัฐบาลจีนไม่ตอบสนองประการใด ทั้งสองจุดอยู่ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์
(Philippines protests to China over 'illegal' sea presence, Channel Newsasia/AFP)
            ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 เตือนว่าฟิลิปปินส์พร้อมจะตอบโต้ และประกาศว่าจะซื้อเรือรบ เครื่องบินมาประจำการเพิ่มเติม “เราสื่อสารถึงโลกอย่างชัดเจนว่า อะไรที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของ สิ่งนั้นคือของฟิลิปปินส์ ... เราสามารถตอบโต้และป้องกันตนเองทุกครั้งเมื่อมีผู้มาคุกคามพวกเรา ณ ผืนแผ่นดินบ้านเรา”
(Philippines protests presence of Chinese warship, fishing boats in disputed Spratly Islands, The Washington Post)

วิเคราะห์: (อัพเดท 22 พ.ค. 3.30 น.)
          และแล้วการเผชิญหน้าระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนก็เกิดขึ้น จากข้อมูลที่ปรากฏทำให้ทราบว่ากองเรือประมงพร้อมเรือคุ้มกันของจีนแล่นเข้ามาในน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม หรือหลังเกิดเหตุลูกเรือประมงไต้หวันถูกยิงเพียง 1 วัน ในครั้งนั้นทางการฟิลิปปินส์ได้ส่งจดหมายประท้วง แต่รอบนี้การประท้วงรุนแรงกว่าเดิม แม้ประธานาธิบดีอากีโนจะไม่เอ่ยชื่อประเทศใดอย่างเจาะจง แต่ ณ วันนี้ยอมเล็งถึงประเทศจีนเป็นหลัก
            เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าทั้งสองประเทศต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์มานานแล้ว การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจเป็นเพียงการเผชิญหน้าอีกครั้งหนึ่ง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะจบลงโดยปราศจากความรุนแรงใดๆ
            สถานการณ์จะตึงเครียดขึ้นทันที หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กำลัง กรณีฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดี แต่กรณีกองเรือประมงจีนมาพร้อมกับเรือรบและเรือลาดตระเวรยามฝั่ง เรียกว่ามาแบบเตรียมพร้อมรับมือ ถ้าคิดในแง่บวกคือ เรื่องสงบลงโดยดีเพราะการเตรียมพร้อมของจีนทำให้ฟิลิปปินส์ไม่กล้าทำอะไรผลีผลาม
            แต่แม้ไม่ปะทะด้วยกำลัง อาจต่อกรด้วยวาทะ และดูเหมือนว่าประธานาธิบดีอากีโนได้เปิดฉากเรียบร้อยแล้ว
            ณ จุดนี้อาจเป็นการเริ่มต้นของความตึงเครียด หากเกิดการตอบโต้ไปมา
22 พฤษภาคม 2013

ชาญชัย คุุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 7 พ.ค. 15.40 น.) จีนส่งกองเรือประมงมุ่งหน้าหมู่เกาะสแปรตลีย์ ยืนยันป้องกันกองเรือของตนอย่างเต็มที่
ความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์กับไต้หวันต่อหมู่เกาะสแปรตลีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ การค้นหาคำตอบว่า “ทำไมฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวันในน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะช่วยทำให้เข้าใจว่าเป็นเพราะการอ้างอธิปไตย ความขัดแย้งเรื่องการทำประมง หรือการเมืองระหว่างประเทศอันซับซ้อน คำตอบจากแต่ละแนวทางส่งผลต่อทิศทางการแก้ปัญหา ความเป็นไปในอนาคต
-----------------