เกาะติดประเด็นร้อน “ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์”

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 7 พ.ค. 15.40 น.) หมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นอีกพื้นที่ข้อพิพาทหนึ่งระหว่างจีนกับอีกหลายประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณดังกล่าว ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเกิดเหตุความขัดแย้งเรื่อยมาโดยเฉพาะระหว่างจีนกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ แต่ยังตกลงความเป็นเจ้าของไม่ได้แม้จะมีการพูดคุยหารือแล้วหลายรอบ
            จีนได้ส่งกองเรือไปทำประมงที่หมู่เกาะสแปตลีย์สม่ำเสมอหลายรอบ
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 7 พ.ค. 15.40 น.)
            จีนส่งกองเรือประมงราว 30 ลำพร้อมเรือสนับสนุนมุ่งหน้าสู่หมู่เกาะสแปรตลีย์เพื่อทำประมงเป็นเวลาราว 40 วัน ทางการจีนประกาศว่า “จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อประกันความปลอดภัยของกองเรือ”
(China sends large fleet to disputed islands: media, AFP)
            ทางการจีนได้ประกาศตั้งแต่เมื่อวาน (6 พ.ค.) ว่าจะส่งกองเรือประมงดังกล่าวไปทำประมงบริเวณหมู่เกาะหนานซา (หมู่เกาะสแปรตลีย์) เป็นเวลาราว 40 วัน เป้าหมายสำคัญคือเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งประมงสำหรับการทำประมงเป็นประจำ
(China sends fishing fleet to Nansha Islands, Xinhua)

วิเคราะห์: (อัพเดท 7 พ.ค. 15.40 น.)
            ทางการจีนจัดพิธีอย่างใหญ่โตเพื่อส่งกองเรือประมง 30 ลำ พร้อมด้วยเรือสนับสนุนไปน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นหนึ่งในกระบวนการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน ที่กระทำอย่างเปิดเผยให้นานาชาติรับทราบ
            พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องแปลกเพราะจีนทำอยู่เป็นประจำ ดังนั้นรัฐบาลจีนย่อมตระหนักถึงผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น
            ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือ
            1. กรณีไม่ร้ายแรง ประเทศอ้างสิทธิ์อื่น ๆ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์จะออกมาประท้วง และเรื่องจะสงบไปในที่สุด
            2. กรณีร้ายแรง ประเทศอ้างสิทธิ์อื่นๆ ไม่ประท้วงด้วยวาจาเพียงอย่างเดียว แต่ส่งเรือรบ เรือลาดตระเวรไปประกบกองเรือประมงจีน สองฝ่ายเกิดการเผชิญหน้า และหากชาติมหาอำนาจอื่นเข้าร่วมแสดงบทบาทด้วยจะยิ่งซ้ำเติมให้เหตุการณ์ทวีความรุนแรง
            โดยภาพรวมแล้วทั้งจีนกับกลุ่มประเทศอ้างกรรมสิทธิ์ ซึ่งหลายประเทศเป็นชาติสมาชิกอาเซียนต่างแสดงท่าทีต้องการช่วยกันรักษาบรรยากาศอันดีต่อกัน เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาผลการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีนกับ 4 ชาติสมาชิกอาเซียนมีฉันทามติร่วมในอันที่จะรักษาสันติและเสถียรภาพในภูมิภาค รวมทั้งทะเลจีนใต้ สี่ชาติอาเซียนได้แก่ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และบรูไน
            ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายครั้งกลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง
7 พฤษภาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------

บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 25 เม.ษ. 16.50 น.) ผลการประชุมเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้คือให้เจรจากับจีนต่อไป ฝ่ายไทยเรียกร้องให้อาเซียนมีข้อสรุปก่อนเจรจากับจีนในเดือนสิงหาคมนี้
2. เกาะติดประเด็นร้อน “ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์”(5)
(อัพเดท 22 พ.ค. 3.30 น.) หลังเหตุความตึงเครียดระหว่างฟิลิปปินส์กับไต้หวันอันเนื่องจากลูกเรือประมงไต้หวันคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมขณะทำประมงใกล้หมู่เกาะสแปรตลีย์ สถานการณ์ล่าสุดคือความตึงเครียดระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน เมื่อกองเรือประมงพร้อมเรือคุ้มกันได้แล่นเข้าน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นอธิปไตยของตน