เกาะติดประเด็นร้อน “ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์” (3)

สรุปสถานการณ์ (อัพเดท 15 พ.ค. 8.30 น.) จากเหตุกรณีลูกเรือประมงไต้หวันคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะทำประมงใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์ ทางการฟิลิปปินส์ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ประจำเรือลาดตระเวรยามฝั่งยิงเรือประมงไต้วัน เนื่องจากเรือประมงลำดังกล่าวทำท่าจะพุ่งชนจึงต้องยิงเพื่อป้องกันตัว อีกทั้งฝ่ายฟิลิปปินส์เห็นว่าเหตุเกิดในน่านน้ำฟิลิปปินส์ เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง จึงไม่ขอโทษต่อการกระทำดังกล่าว แต่จะสืบสวนตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
             ฝ่ายไต้หวันเห็นว่าเรือประมงของตนไม่ได้กระทำผิดใดๆ เรือถูกยิงขณะทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน ประธานาธิบดีไต้หวันนายหม่า อิงจิ่ว กล่าวว่า ”การที่ฟิลิปปินส์ยิงใส่เรือประมงที่ปราศอาวุธ เป็นการฝ่าฝืนกฎความปลอดภัยระหว่างประเทศ การยิง 40-50 นัดใส่เรือเป็นเรื่องโหดร้ายและเลือดเย็น” จึงประกาศอย่างเป็นทางการให้เวลาฟิลิปปินส์ 72 ชั่วโมง ชั่วโมง (กำหนดเส้นตายคือเที่ยงคืนวันอังคาร หรือ ห้าทุ่มตามเวลาไทย) เพื่อดำเนินตามข้อเรียกร้อง 4 ประการของไต้หวัน คือ รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องขอโทษอย่างเป็นทางการ จ่ายค่าชดเชยแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต นำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และเริ่มต้นกระบวนการลงนามข้อตกลงทวิภาคีเพื่อการทำประมงโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นไต้หวันจะยกเลิกการจ้างแรงงานฟิลิปปินส์ในไต้หวัน เรียกตัวแทนของประเทศตนทั้งฝ่ายไต้หวันกับฟิลิปปินส์กลับประเทศเพื่อจัดการแก้ปัญหาดังกล่าว
            ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในความสงบ “ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายที่จะมุ่งรักษาความสงบ ... เรากำลังประพฤติอย่างนั้น” ปธน.อากีโนไม่ยอมตอบคำถามเรื่องข้อเรียกร้องของรัฐบาลไต้หวัน แต่กล่าวว่า “ถ้าเราพูดในระดับ (ประธานาธิบดี) รับประกันได้เลยว่าเรื่องจะรุนแรงขึ้น”
            ไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงกำหนดเส้นตายมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ยอมกระทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลไต้หวันทุกประการ ยกเว้นเรื่องการจ่ายค่าชดเชยแก่ครอบครัวลูกเรือประมงที่ถูกยิงเสียชีวิต เนื่องจากต้องรอให้การสืบสวนเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ก่อน ในขณะที่กระทรวงกลาโหมไต้หวันประเทศว่าจะทำการซ้อมรบทางทะเลใกล้กับประเทศฟิลิปปินส์หากรัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของไต้หวันตามกำหนดเส้นตายเที่ยงคืนวันนี้ (14 พ.ค.) การซ้อมรบจะประกอบด้วยเรือพิฆาตชั้นคิดด์ (Kidd-class) 1 ลำ เรือฟรีเกตชั้นเปอร์รี 1 ลำและเรือฟรีเกตลาดตระเวรยามฝั่งอีก 3 ลำ นอกจากนี้จะมีเครื่องบินเข้าร่วมซ้อมรบด้วย

คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 15 พ.ค. 8.00 น.)
            เมื่อคืนก่อนถึงเวลาเส้นตายเล็กน้อย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันเดวิด หลินกล่าวว่าฟิลิปปินส์ตอบสนองข้อเรียกร้องบางอย่างในทางที่ดีขึ้น และจะปรึกษาหารือร่วมกันต่อไป สองฝ่ายได้ข้อสรุปว่า ทางการไต้หวันจะส่งทีมสอบสวนไปฟิลิปปินส์ในวันพฤหัสบดีนี้ (16) เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ เช่นเดียวกับที่ฟิลิปปินส์จะส่งเจ้าหน้าที่มาไต้หวันเพื่อเก็บหลักฐาน รัฐมนตรีหลินยังกล่าวอีกว่าไต้หวันจะใช้มาตรการลงโทษหรือไม่ขึ้นกับการทำตามข้อเรียกร้องของไต้หวัน และในระหว่างนี้เรือรบและเรือลาดตระเวรไต้หวันจะทำหน้าที่คุ้มกันเรือประมงไต้หวันอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่ง ณ จุดเกิดเหตุเรือประมงไต้หวันถูกยิง
(Manila gives 'some response' to Taiwan's demands (update), Taiwan News)
            ชาวไต้หวันยังคงประท้วงฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนตะโกนเรียกร้องความเป็นธรรม ขอให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
            ฝ่ายสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่แสดงพฤติกรรมยั่วยุ เรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์สืบสวนตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส
(Taiwanese fishermen burn Filipino flags in protest, AFP)

วิเคราะห์: (อัพเดท 15 พ.ค. 8.30 น.)
            แม้ฟิลิปปินส์ไม่ยอมรับไต้หวันว่าเป็นประเทศเอกราช เนื่องจากยึดมั่นนโยบายจีนเดียว (คือจีนมีประเทศเดียวคือสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน) ที่ผ่านมาสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีตามปกติ แต่ด้วยเหตุลูกเรือประมงคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต กลายเป็นประเด็นระดับประเทศ ประธานาธิบดีของทั้งสองฝ่ายต้องออกโรงพูดด้วยตัวเอง
            เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไต้หวันเล่นบทหนัก เพียงลูกเรือประมงคนหนึ่งเสียชีวิตถึงกับออกข้อเรียกร้องหลายข้อ พร้อมกับขู่ยกเลิกจ้างแรงงานฟิลิปปินส์ในไต้หวันทั้งหมด เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันจากประชาชน นักการเมือง สื่อมวลชนท้องถิ่นไต้หวันเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
            จุดยืนของไต้หวันตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าจุดที่ทำประมงนั้นอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของตน เป็นพื้นที่ๆ ไต้หวันอ้างสิทธิ์ว่าเรือประมงของตนสามารถทำประมง ณ จุดดังกล่าวได้ แต่เป็นจุดทับซ้อนกับพื้นที่ๆ ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ดังนั้น การอ้างสิทธิ์ของไต้หวันเท่ากับว่าไต้หวันไม่ยอมรับการอ้างกรรมสิทธิ์ของฟิลิปปินส์ดังกล่าว เป็นการตอกย้ำจุดยืนของไต้หวันเหนือกรรมสิทธิ์หมู่เกาะเหล่านี้ เหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้
            เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องจับตาคือ รัฐบาลฟิลิปปินส์จะตอบสนองข้อเรียกร้องไต้หวันอย่างไร ในเมื่อตัวเองอ้างมาตลอดว่าทำถูกต้องตามขั้นตอนและเป็นการยิงเพื่อป้องกันตนเอง นั่นหมายความว่า ไม่อาจลงโทษเจ้าหน้าฟิลิปปินส์ที่กระทำการดังกล่าว และไม่อาจขอโทษอย่างเป็นทางการด้วย และหากการกระทำเช่นนั้นเท่ากับยอมรับกรรมสิทธิ์ไต้หวันเหนือน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์ และละเมิดนโยบายจีนเดียว
            เรื่องเดียวที่น่าจะทำได้คือจ่ายเงินชดเชยแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต ปัญหาคือรัฐบาลไต้หวันพอใจเพียงแค่นั้นหรือไม่ ลำพังประธานาธิบดีหม่าอาจพูดคุยตกลงกับประธานาธิบดีอากีโนได้ง่าย แต่สถานการณ์ตอนนี้ยังมีประชาชนที่โกรธแค้น นักการเมืองฝ่ายค้านที่จ้องเล่นงาน
            หลังกำหนดเส้นตายเมื่อคืนวันอังคาร (14 พ.ค.) รัฐบาลทั้งสองฝ่ายพยายามนำเสนอว่าแต่ละฝ่ายตอบสนองในทางที่ดีขึ้น และจะร่วมกันตรวจสอบเหตุยิงลูกเรือประมงไต้หวันเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมต่อไป ข้อสังเกตคือไม่มีข้อเรียกร้องใดที่ฟิลิปปินส์ได้ปฏิบัติตามแล้ว มีแต่ยืดเวลาออกโดยอ้างว่าเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
            จากนี้ไปต้องดูว่าจะมีประชาชนไต้หวันที่แสดงความไม่พอใจหรือไม่ นักการเมืองฝ่ายค้านจะกดดันรัฐบาลหรือไม่อย่างไร หากไม่มีปฏิกิริยาไม่พอใจ เรื่องนี้จะสงบไปชั่วคราวและจะกลายเป็นเรื่องยืดเยื้อในอนาคต
14 พฤษภาคม 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 7 พ.ค. 15.40 น.) จีนส่งกองเรือประมงมุ่งหน้าหมู่เกาะสแปรตลีย์ ยืนยันป้องกันกองเรือของตนอย่างเต็มที่
(อัพเดท 10 พ.ค. 20.30 น.) ทางการฟิลิปปินส์ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของตนเป็นผู้ยิงลูกเรือประมงไต้หวัน รู้สึกเสียใจแต่ไม่ขอโทษ รัฐบาลจีนออกโรงเตือนขอให้ประเทศทั้งหลายไม่ทำให้สถานการณ์ยุ่งเหยิงกว่าเดิม