เกาะติดประเด็นร้อน “ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์” (2)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 10 พ.ค. 17.30 น.) เมื่อวานก่อนมีข่าวลูกเรือประมงไต้หวันถูกยิงเสียชีวิตขณะทำประมงใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดซ้ำกรณีปี 2006 ที่ลูกเรือไต้หวันถูกยิงเสียชีวิต รัฐบาลไต้หวันประท้วงฟิลิปปินส์
            หมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นอีกพื้นที่ข้อพิพาทหนึ่งระหว่างฟิลิปปินส์กับอีกหลายประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณดังกล่าว ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเกิดเหตุความขัดแย้งเรื่อยมาโดยเฉพาะระหว่างจีนกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ แต่ยังตกลงความเป็นเจ้าของไม่ได้แม้จะมีการพูดคุยหารือแล้วหลายรอบ
            3-4 วันก่อน จีนปล่อยกองเรือประมงราว 30 ลำพร้อมเรือสนับสนุนมุ่งหน้าสู่หมู่เกาะสแปรตลีย์เพื่อทำประมงเป็นเวลาราว 40 วัน ทางการจีนประกาศว่า “จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อประกันความปลอดภัยของกองเรือ”
            ปรากฏว่าข่าวลูกเรือประมงไต้หวันถูกยิงเสียชีวิตเกิดขึ้นก่อน
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 10 พ.ค. 20.30 น.)
            ทางการฟิลิปปินส์ยอมรับแล้วในวันนี้ (10 พ.ค.) ว่าเจ้าหน้าที่ประจำเรือลาดตระเวรยามฝั่งยิงเรือประมงไต้หวัน ทำให้ลูกเรือประมงไต้หวันคนหนึ่งเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว ประธานาธิบดีไต้หวันนายหม่า อิงจิ่ว เรียกร้องขอคำขอโทษจากฟิลิปปินส์ แต่ฝ่ายฟิลิปปินส์กล่าวว่าเหตุเกิดในน่านน้ำฟิลิปปินส์  และเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และจะไม่ขอโทษต่อการกระทำดังกล่าว
(Philippines admits to shooting at Taiwan boat, Times of Oman/AFP)
            ทางการไต้หวันแจ้งเตือนให้กับเรือประมงลำอื่นๆ ของตนที่กำลังทำประมงในพื้นที่ใกล้เคียงระวังตัว บางลำอยู่ใกล้กับเขตพื้นที่ๆ ฟิลิปปินส์อ้างความเป็นเจ้าของมากกว่าเรือที่ถูกยิง
(Fisherman killed in disputed waters, Taipei Times)
            จากเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาแสดงท่าทีว่าตนกำลังจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฮัว ชุนหยิง (Hua Chunying) กล่าวว่า “จีนเรียกร้องให้ประเทศทั้งหลายระวังที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ละเว้นที่จะทำการอันจะทำให้สถานการณ์ยุ่งยากกว่านี้ และพยายามที่จะดำรงสันติภาพ ความมั่นคงของทะเล (จีน) ใต้”
(China closely watching development of shooting incident: FM spokeswoman, Xinhua)

วิเคราะห์: (อัพเดท 10 พ.ค. 20.30 น.)
            สถานการณ์ขณะนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 พร้อมแสดงท่าทีแข็งกร้าว จัดการขั้นเด็ดขาดต่อทุกประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์
            ณ เวลานี้จึงมีอย่างน้อย 2 สถานการณ์ คือ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์ที่เกิดขึ้นแล้ว กับสถานการณ์ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า
            ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเป็นความขัดแย้งที่ดำเนินมาแล้วหลายสิบปี หลายเหตุการณ์เป็นเรื่องเกิดซ้ำ รวมถึงกรณีล่าสุดที่ชาวประมงไต้หวันถูกเจ้าหน้าฟิลิปปินส์ยิงเสียชีวิต ทุกฝ่ายประเมินต่างผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น
            ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือ
            1. กรณีไม่ร้ายแรง ประเทศอ้างสิทธิ์อื่น ๆ เช่น ไต้หวัน จีน ฟิลิปปินส์จะออกมาประท้วง และเรื่องจะสงบไปในที่สุด
            2. กรณีร้ายแรง ประเทศอ้างสิทธิ์อื่นๆ ไม่ประท้วงด้วยวาจาเพียงอย่างเดียว สองฝ่ายเกิดการเผชิญหน้า และหากชาติมหาอำนาจอื่นเข้าร่วมแสดงบทบาทด้วยจะยิ่งซ้ำเติมให้เหตุการณ์ทวีความรุนแรง
            ไม่อาจสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือประมงไต้หวัน คือสัญญาณที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ตั้งใจส่งไปถึงรัฐบาลจีนหรือไม่ แต่เป็นการประกาศนโยบายอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ถือว่าพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวเป็นของฟิลิปปินส์แต่เพียงผู้เดียว
            ไม่ว่าฟิลิปปินส์ต้องการส่งสัญญาณไปถึงจีนหรือไม่ รัฐบาลจีนได้แสดงท่าทีอออกมาแล้วว่าขอให้ปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) แม้รัฐบาลจีนจะไม่ระบุว่ากำลังพูดถึงประเทศใด แต่ DOC คือข้อตกลงที่จีนทำร่วมกับอาเซียน โดยที่ไต้หวันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ DOC ดังนั้น แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศจีนคือกำลังพูดกับฟิลิปปินส์โดยตรง
            ข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายครั้งกลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง
10 พฤษภาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 7 พ.ค. 15.40 น.) จีนส่งกองเรือประมงมุ่งหน้าหมู่เกาะสแปรตลีย์ ยืนยันป้องกันกองเรือของตนอย่างเต็มที่