รายงานการก่อการร้ายรายประเทศ 2017

ผู้ก่อการร้ายยังคงมีอยู่ในกว่าร้อยประเทศทั่วโลก มีทั้งกลุ่มเล็กกับกลุ่มใหญ่ชื่อดังอย่างอัลกออิดะห์ ISIS บางครั้งก่อเหตุตามลำพังจนถึงขั้นมีรัฐบาลต่างชาติให้การสนับสนุน เป็นอีกประเด็นที่อยู่คู่สถานการณ์โลก
            เป็นประจำทุกปีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะนำเสนอ “รายงานการก่อการร้ายรายประเทศ” ฉบับล่าสุดคือปี 2017 (Country Reports on Terrorism 2017) นำเสนอต่อสาธารณะเมื่อกันยายน 2018 มีความยาว 340 หน้า นำเสนอการก่อการร้ายทั่วโลกจากมุมมองของรัฐบาลสหรัฐอย่างเป็นระบบ มีสาระน่าสนใจพร้อมการวิพากษ์ ดังนี้
2017 เป็นปีที่สหรัฐกับประเทศหุ้นส่วนประสบความสำเร็จในหลายปราบปรามองค์กรก่อการร้ายทั่วโลก สามารถปลดปล่อยอิรักกับซีเรียจาก ISIS กดดันอัลกออิดะห์ (al-Qa’ida) ไม่ให้ฟื้นตัว ลดปฏิบัติการของฮิซบอลเลาะห์ (Hizballah) ในเลบานอนและที่อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ISIS กับอัลกออิดะห์พยายามฟื้นตัว ปรับตัวเองในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลบซ่อนมิดชิด ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือติดต่อสมาชิกทั่วโลก กระจายการประสานงานและปฏิบัติการ ใช้เครื่องบินไร้พลขับ อาวุธเคมี สั่งการจากจุดที่ห่างไกลจากพื้นที่ปฏิบัติการมาก เช่น การก่อการร้ายในสหราชอาณาจักร สเปน อียิปต์ ฟิลิปปินส์ สหรัฐ ฯลฯ
อัลกออิดะห์ยังคงขยายสมาชิกและปฏิบัติการเงียบๆ เครือข่ายแกนนำอยู่ในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน ประเทศกลุ่มอาหรับ บางพื้นที่ในอินเดีย
กลุ่มก่อการร้ายทั่วโลกยังคงพยามยามระดมสมาชิกจากความขัดแย้งทางนิกายศาสนา ประเทศที่กลายเป็นรัฐล้มเหลว (failing states) เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง
            รัฐบาลสหรัฐกับมิตรประเทศร่วมกันแบ่งปันข้อมูล ขัดขวางปฏิบัติการ และเพิ่มขีดความสามารถต่อต้านก่อการร้ายแก่หลายประเทศทั่วโลก ให้คำแนะนำเรื่องข้อกฎหมาย พยายามขัดขวางเส้นทางการเงิน คว่ำบาตรประเทศที่สนับสนุนก่อการร้าย ประสานงานรักษาความปลอดภัยตามสถานที่สำคัญๆ
            หลายประเทศในแอฟริกาเพิ่มความพยายามต่อต้านก่อการร้าย พร้อมกับเผชิญปัญหาที่หนักหน่วงกว่าเดิม al-Shabaab คือกลุ่มสำคัญในแอฟริกาตะวันออกกับโซมาเลีย ติดต่อสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์
Boko Haram เป็นอีกกลุ่มที่ปฏิบัติการหลายพื้นที่ รัฐบาลไนจีเรีย แคเมอรูน ชาด ไนเจอร์ ร่วมกันต่อต้านผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ รัฐบาลสหรัฐให้ความช่วยเหลือหลายอย่าง
            รัฐบาลในแถบเอเชียตะวันออกกับแปซิฟิกกระชับการใช้กฎหมาย ร่วมกันดูแลความปลอดภัยตามแนวชายแดนและการเดินทางโดยเครื่องบิน กลุ่มผู้ก่อการร้ายยังคงพยายามระดมสมาชิกในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มใกล้ชิด ISIS ก่อเหตุทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ต้องใช้เวลาถึง 5 เดือนกว่าเหตุการณ์ก่อการร้ายปี 2017 จะสงบ รัฐบาลในหมู่อาเซียนกังวลว่าผู้ก่อการร้ายที่กลับจากอิรักกับซีเรียจะกลับมาก่อเหตุที่ประเทศตัวเอง
            คน 3 จำพวกที่รัฐบาลจีนเห็นว่าเป็นภัยคือพวกผู้ก่อการร้าย พวกแบ่งแยกดินแดนและพวกนิยมลัทธิสุดโต่ง (extremism) นอกจากเพิ่มมาตรการควบคุมในประเทศแล้วยังพยายามขอความร่วมมือจากต่างประเทศ พื้นที่สำคัญคือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uighur Autonomous Region) ที่คนอุยกูร์กับชาติพันธุ์มุสลิมอื่นๆ เคลื่อนไหวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล โดยเฉพาะพวกสุดโต่งที่เรียกว่า East Turkistan Islamic Movement (ETIM) ทางการจีนตรวจสอบติดตามความเคลื่อนไหวสมาชิกกลุ่มอย่างใกล้ชิด จำกัดการเดินทาง การปฏิบัติศาสนกิจ มีข้อมูลว่าบางคนเข้าพวกกับ ISIS และผู้ก่อการร้ายกลุ่มอื่นๆ ในตะวันออกกลาง
            มาเลเซียเป็นอีกประเทศอันเป็นแหล่งที่มาของผู้ก่อการร้าย เป็นจุดพักรอการเดินทางสู่จุดหมายของพวก ISIS ทางการมาเลเซียสามารถจับกุมผู้ก่อการร้ายได้หลายราย ป้องกันผู้ที่คาดว่ากำลังจะก่อเหตุร้าย ผู้ก่อการร้ายกลุ่มเล็กๆ จะระดมเงินสนับสนุนด้วยตนเองจากญาติพี่น้อง เพื่อนและทางอินเทอร์เน็ต พวกที่พยายามระดมทุนถูกจับกุมและขึ้นศาลแล้วหลายราย รัฐบาลพยายามควบคุมสกุลเงินดิจิทัลด้วยความกังวลว่าผู้ก่อการร้ายจะระดมทุนจากช่องทางดังกล่าว
            มาเลเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อต้านก่อการร้ายทั้งระดับนานาชาติและระดับอาเซียน ร่วมมือใกล้ชิดกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
            การปรากฏตัวของผู้ก่อการร้ายที่ใกล้ชิด ISIS ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่มมาตรการต่อต้านหลายอย่าง บางส่วนเป็นความร่วมมือกับกลุ่มเดิมๆ อย่าง Abu Sayyaf Group และ Maute Group
            ถ้าไม่เอ่ยเรื่องความไม่สงบใน 4 จังหวัดภาคใต้ ประเทศไทยเป็นจุดแวะพักและเตรียมความพร้อมที่ผู้ก่อการร้ายนิยม เป็นแหล่งสินค้าผิดกฎหมาย ระบบการควบคุมของธนาคารยังอ่อนแอ หน่วยงานความมั่นคงพูดถึงภัยจาก ISIS ร่วมมือกับต่างประเทศเป็นครั้งคราว การควบคุมแนวชายแดนยังมีช่องโหว่อีกมาก ทางการไทยสามารถจับกุมการเคลื่อนไหวการเงินผิดปกติ แต่มีองค์กรไม่จดทะเบียนหลายแห่งที่สามารถเคลื่อนย้ายเงินที่สุ่มเสี่ยงสนับสนุนผู้ก่อการร้าย
            หลายประเทศในยุโรปกังวลเรื่องผู้ก่อการร้ายจากอิรักและซีเรียกลับประเทศเช่นกัน เหตุร้ายหลายครั้งเกิดขึ้นเพราะได้รับแนวคิดจาก ISIS แต่บางประเทศเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางเชื้อชาติเช่น กลุ่ม Kurdistan Workers’ Party ในตุรกี
            กลุ่มประเทศยุโรปสร้างเครือข่ายต่อต้านก่อการร้ายในระดับภูมิภาคของตนเอง และทำงานกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม
            เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการก่อการร้าย ด้วยการโจมตีเป็นจุดๆ ใช้อาวุธหรือความรุนแรงเท่าที่ทำได้ การก่อเหตุโดยคนๆ เดียวเป็นแบบที่ตรวจจับยากที่สุด เฉพาะปี 2017 สามารถป้องกันการก่อเหตุได้ถึง 20 ครั้งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ ISIS
รัฐบาลรัสเซียระบุว่ามีคนของตน 3,400 คนเข้าร่วมกับผู้ก่อการร้ายต่อสู้ในซีเรียกับอิรัก ความร่วมมือกับสหรัฐจำกัดด้วยเหตุผลหลายข้อ รวมทั้งการกล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐสนับสนุน ISIS ทางการรัสเซียออกกฎหมายมีโทษถึงขั้นประหารชีวิตต่อผู้ชักชวนคนเข้าร่วมกับผู้ก่อการร้าย ให้การฝึกฝน จัดตั้งองค์กรหรือเข้าร่วมกับกลุ่ม
สหราชอาณาจักรเป็นอีกประเทศที่เมื่อปี 2017 เกิดเหตุร้ายสำคัญถึง 5 ครั้ง หน่วยงานความมั่นคงเฝ้าระวังในระดับสูง สามารถป้องกันการก่อเหตุได้หลายครั้ง
แหล่งซ่องสุมที่สำคัญยังอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางกับแอฟริกา แม้ถูกปราบปรามและ ISIS สูญเสียพื้นที่ยึดครองในอิรักกับซีเรียแล้ว ผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ยังคงกระจายตัวอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ ในขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียให้ความร่วมมือและพยายามต่อต้านก่อการร้ายเต็มกำลัง รัฐบาลของกลุ่มประเทศเหล่านี้เรียกตัวเองว่าเป็นมุสลิมสายกลาง (moderate Islam) ไม่สนับสนุนลัทธิสุดโต่ง การใช้ความรุนแรงล

อิหร่านสร้างความขัดแย้งและบ่อนทำลายผลประโยชน์สหรัฐในอัฟกานิสถาน บาห์เรน อิรัก เลบานอนและเยเมน ที่เป็นประเด็นสำคัญในตอนนี้คือการปรากฏตัวของอิหร่านกับฮิซบอลเลาะห์ในซีเรีย ระดมกองกำลังชีอะห์จากทั่วโลก (ส่วนใหญ่ระดมคนจากภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียใต้) และใช้คนเหล่านี้ปกป้องรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรีย
อิหร่านและผู้ก่อการร้ายในกลุ่มพยายามวางเครือข่ายกระจายทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐสามารถจับกุมสมาชิกฮิซบอลเลาะห์ผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อเหตุร้ายในประเทศ
ตั้งแต่ปี 1984 รัฐบาลสหรัฐตีตราว่าอิหร่านคือรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย (State Sponsors of Terrorism) จากการสนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มก่อการร้ายในฉนวนกาซา หลายกลุ่มในซีเรียกับอิรัก และอีกมากในภูมิภาคตะวันออกกลาง
พฤศจิกายน 2017 รัฐบาลทรัมป์ตีตราว่าเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย เพราะสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย มีพฤติกรรมลอบสังหารบุคคลที่อยู่ในต่างแดน เอื้อให้ประเทศพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกล ในอดีตเมื่อปี 1988 รัฐบาลสหรัฐเคยตีตราเกาหลีเหนือเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้ายครั้งหนึ่งแล้ว จากเหตุเกี่ยวข้องกับการวินาศกรรมเครื่องบินโดยสารเมื่อปี 1987 ได้รับการถอดชื่อเมื่อปี 2008 หลังเกาหลีเหนือเข้าข่ายปฏิบัติตามกฎ
ซูดานถูกตีตราเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1993 สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนานาชาติหลายกลุ่ม เช่น Abu Nidal Organization, Palestine Islamic Jihad, Hamas, และ Lebanese Hizballah อย่างไรก็ตามรัฐบาลซูดานให้ความร่วมมือกับสหรัฐต่อต้านก่อการร้าย
ประเทศที่ 4 คือซีเรีย ถูกตีตราตั้งแต่ปี 1979 ด้วยเหตุผลสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม ให้อาวุธแก่ฮิซบอลเลาะห์ อนุญาตให้อิหร่านติดอาวุธกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้รัฐบาลอัสซาดสนับสนุนรัฐบาลอิหร่าน ฮิซบอลเลาะห์
วิพากษ์องค์รวม :
            บทความนี้นำเสนอรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เขียนเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเองโดยเฉพาะ เนื้อหาบางส่วนบางประเทศอาจไม่ยอมรับ และอาจกล่าวโทษว่ารัฐบาลสหรัฐคือรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้ายเช่นกัน
            ความเป็นไปในซีเรียกับอิรักอาจอธิบายว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายสูญเสียพื้นที่ยึดครอง ล้มตายนับพันนับหมื่น ที่เหลือหลบซ่อนตัวหลีกเลี่ยงถูกจับกุม ในอีกมุมหนึ่งการเกิดขึ้นและดับสูญเป็นสภาวะที่ไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางคนวันนี้เป็นผู้ก่อการร้าย วันรุ่งขึ้นกลับตัวกลับใจเป็นคนปกติ และในปีต่อไปอาจกลับไปเป็นผู้ก่อการร้ายอีก ย้ายจากกลุ่มนี้ไปกลุ่มนั้น บทเรียนสำคัญคือ ประเทศที่ประชาชนไม่อาจอยู่เป็นเย็นเป็นสุข จนเกิดความวุ่นวายรุนแรง รัฐบาลไม่อาจควบคุมสถานการณ์ มักเป็นบ่อเกิดและเป็นพื้นที่ก่อการของเหล่าผู้ก่อการร้าย อิรัก ซีเรีย ลิเบีย ซูดานและอีกหลายประเทศเป็นตัวอย่างที่เห็นชัด และคาดการณ์ได้ว่าผู้ก่อการร้ายจะยังไม่หมดจากประเทศเหล่านี้ (เปรียบเทียบกับประเทศอย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสแม้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเป็นระยะแต่ไม่บานปลาย) กลายเป็นเหตุให้ต่างชาติแทรกแซงเพื่อปราบผู้ก่อการร้าย เกิดความรุนแรงไม่รู้จบ การปล้นฆ่าข่มขืนโดยผู้ก่อการร้ายกลายเป็นเรื่องสามัญของประเทศเหล่านี้
21 เมษายน 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8197 วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2562)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
1. ถอดรหัสสัมพันธ์แนบแน่นรัฐบาลสหรัฐกับซาอุฯ(1)
ในที่ประชุม “Arab Islamic American Summit” ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรกับรัฐบาลซาอุฯ ท่ามกลางผู้นำชาติอาหรับ ผู้นำมุสลิมประเทศอื่นๆ รวม 55 ประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือร่วมต่อต้านก่อการร้ายซึ่งหมายถึงมุสลิมสุดโต่งกับอิหร่าน เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์พูดถึงความดีความชั่ว ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบาย ยอมรับว่าแนวทางศาสนาของซาอุฯ เข้าได้กับนโยบายของตน
2. ภัยคุกคามในสายตาของประชาชนแต่ละประเทศ
Pew Research Center เสนอผลสำรวจภัยคุกคามต่างๆ ตามความคิดเห็นของประชาชน พบว่าผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (global climate change) คือ 2 ประเด็นที่คนทั่วโลกเห็นว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดในขณะนี้
3. มาเลเซียประกาศเผชิญหน้าผู้ก่อการร้ายดาอิช (IS)
รัฐบาลนาจิบประกาศชัดว่าประเทศกำลังเผชิญภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย IS หลังเผชิญการคุกคามต่อเนื่อง ประกาศหลักวะสะฏียะฮ์ ยึดความสมดุล ความพอดี ไม่สุดโต่งเป็นอุดมการณ์ต่อต้านอุดมการณ์ของผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ตามประเด็นหลักอิสลามเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สำคัญที่เมื่อ IS ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ ฝ่ายต่อต้าน IS สามารถใช้และน่าจะมีพลังมากกว่า 
เป็นเรื่องแปลกที่รัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ (รวมชาติตะวันตกกับรัฐอาหรับ) ต่างมีนโยบายปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS แต่ต่างฝ่ายต่างทำ ฝ่ายสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัสเซียไม่ได้มุ่งทำลาย IS แต่มุ่งเป้าที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาดมากกว่า ในขณะที่รัสเซียปฏิเสธ อีกทั้งมีประเด็นที่นักวิชาการหลายคนชี้ว่านโยบายปราบ IS ของฝ่ายสหรัฐฯ ไม่ได้ผล ถ้ามองในกรอบแคบความแตกต่างนี้มาจากการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาลอัสซาด ถ้ามองในกรอบกว้างคือการเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจ
บรรณานุกรม :
U.S. State Department. (2018, September).  Country Reports on Terrorism 2017. Retrieved from https://www.state.gov/documents/organization/283100.pdf
ที่มาของภาพ : https://aclj.org/united-nations/demanding-action-at-un-to-defend-persecuted-church-from-isis-genocide