ภัยคุกคามในสายตาของประชาชนแต่ละประเทศ

ต้นสิงหาคม 2017 Pew Research Center เสนอผลสำรวจภัยคุกคามต่างๆ ตามความคิดเห็นของประชาชน พบว่าผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (global climate change) คือ 2 ประเด็นที่คนทั่วโลกเห็นว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด
            งานสำรวจอาศัยความเห็นประชาชน 41,953 คน จาก 38 ประเทศ กระจายทุกทวีป ตั้งภัยคุกคาม 8 ตัวให้ผู้ตอบให้คะแนนเป็นคุกคามรุนแรง ภัยคุกคามทั้ง 8 ได้แก่ ผู้ก่อการร้าย IS การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การโจมตีทางไซเบอร์จากต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลก ผู้อพยพลี้ภัยต่างชาติเข้าประเทศ และอีก 3 ข้อคือ อำนาจกับอิทธิพลของสหรัฐ รัสเซียและจีน
ผลสรุปของกลุ่มอาเซียน :
            ในกลุ่มอาเซียนทำการสำรวจ 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทั้งอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์เห็นว่า IS คือภัยคุกคามร้ายแรงสุด ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 74 กับ 70 คิดเช่นนั้น
            ภัยคุกคามรองลงมาของอินโดนีเซีย ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก (58) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (56) และอำนาจกับอิทธิพลของสหรัฐ (55)
            ภัยคุกคามรองลงมาของฟิลิปปินส์ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (65) การโจมตีทางไซเบอร์จากต่างประเทศ (64) และอำนาจกับอิทธิพลจากจีน (47)

ผลสำรวจสอดคล้องกับข้อมูลที่บ่งบอกว่า IS ถอนตัวจากอิรักกับซีเรีย กำลังขยับเข้ามาเคลื่อนไหวในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงาน “Country Reports on Terrorism 2016” ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐชี้ว่า ปี 2016 ที่ผ่านมาคนในภูมิภาคนี้ที่เดินทางไปสมทบกองกำลังที่อิรักกับซีเรียลดลง อาเซียนต้องให้ความสำคัญกับผู้ก่อการร้ายที่เดินทางกลับประเทศและพยายามก่อเหตุกับประเทศตนเอง

            ส่วนเวียดนามเห็นว่าภัยคุกคามร้ายแรงสุดคือ อำนาจกับอิทธิพลจากจีน ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 80 คิดเช่นนั้น รองลงมาคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (61) ภาวะเศรษฐกิจโลก (44) การโจมตีทางไซเบอร์จากต่างประเทศ (41) ผู้ก่อการร้าย IS (30) ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 21 เท่านั้นที่เห็นว่าสหรัฐเป็นภัยคุกคามร้ายแรง (เทียบกับจีนที่สูงถึงร้อยละ 80)
            ความขัดแย้ง ความไม่ไว้วางใจต่อกันระหว่างเวียดนามกับจีนมาจาก 2 สาเหตุหลัก สาเหตุแรกคือความขัดแย้งสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ ที่จีนมักแสดงอิทธิพลเหนือเวียดนาม ทำสงครามเรื่อยมา ทุกวันนี้แม้จะปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์คล้ายกัน แต่ไม่เป็นเหตุทำให้ 2 ประเทศเป็นพันธมิตร สอดแทรกด้วยประเด็นขัดแย้งในพื้นที่พิพาท เรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) หมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของเวียดนาม รัฐบาลจีนพยายามปรับสัมพันธ์กับเวียดนาม มีความร่วมมือหลายอย่าง แต่ลึกๆ แล้วงานศึกษาชิ้นนี้ให้ข้อสรุปว่าชาวเวียดนามยังมองจีนอย่างไม่เป็นมิตร
            ในทางตรงข้าม เวียดนามที่ทำสงครามกับสหรัฐอย่างดุเดือดในสงครามเวียดนาม บัดนี้ 2 ประเทศฟื้นฟูความสัมพันธ์ รัฐบาลสหรัฐปัจจุบันไม่คิดว่าจะต้องล้มล้างระบอบคอมมิวนิสต์เวียดนาม (อย่างน้อยในระยะนี้) เป็นกรณีตัวอย่างที่รัฐบาลสหรัฐยอมรับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ รัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ในหมวดมหาอำนาจ :
งานศึกษาของ Pew Research Center ตั้งคำถาม 8 ข้อว่าอะไรคือภัยคุกคามร้ายแรง 3 ใน 8 ข้อถามว่าอำนาจกับอิทธิพลของสหรัฐ รัสเซีย จีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงหรือไม่
ผลการสำรวจมีข้อสรุปที่น่าสนใจว่า คนญี่ปุ่นเห็นว่าจีนกับสหรัฐเป็นภัยคุกคามพอๆ กัน ด้วยคะแนน 64 ต่อ 62 (ส่วนรัสเซียได้ 43)
รัฐบาลญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นมิตรกับสหรัฐ โดยเฉพาะพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรคหลักและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเกือบทุกชุด (รวมทั้งชุดนายกฯ อาเบะปัจจุบัน) รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ แต่ในสายตาของประชาชนญี่ปุ่นกลับคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐบาล นั่นคือมองรัฐบาลสหรัฐด้วยสายตาไม่เป็นมิตรพอๆ กับจีน
เกาหลีใต้มีลักษณะคล้ายญี่ปุ่น นั่นคือ คนเกาหลีใต้เห็นว่าจีนกับสหรัฐเป็นภัยคุกคามพอๆ กัน ด้วยคะแนน 83 ต่อ 70 (ส่วนรัสเซียได้ 46)
ในกรณีเกาหลีใต้ คะแนนระหว่างจีนกับสหรัฐมีความห่างอยู่บ้าง แต่ตัวเลขร้อยละ 70 เห็นว่าสหรัฐเป็นภัยคุกคามร้ายแรงนั้น ย่อมต้องสรุปว่าคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นภัยคุกคามร้ายแรงเช่นกัน เพียงแต่เป็นรองจีนเท่านั้น

ถ้าวิเคราะห์ในกรอบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรความมั่นคงกับสหรัฐตั้งแต่ยุคสงครามเกาหลี ทุกวันนี้ยังต้องพึ่งพาสหรัฐด้านความมั่นคง แต่ในสายตาของประชาชน คนเกาหลีใต้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐคือภัยคุกคามร้ายแรง
ทั้ง 2 กรณีคือญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จึงมีข้อสังเกตว่าแม้มีศัตรูเดียวกันคือจีน แต่สหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรเป็นภัยคุกคามไม่น้อยกว่าจีน

ฝั่งยุโรป ตุรกีเป็นอีกประเทศที่มีลักษณะทำนองนี้ คนตุรกีร้อยละ 72 เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นภัยคุกคามร้ายแรง (ตัวเลขสูงขึ้น 28 จุดเมื่อเทียบกับการสำรวจปี 2013) ร้อยละ 54 กับ 33 เห็นว่ารัสเซียกับจีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับตุรกีจะไม่ราบรื่นเสียทีเดียว บางช่วงดีบางช่วงร้าย (ขึ้นกับรัฐบาล) ตุรกีเป็นสมาชิกนาโตตั้งแต่ค.ศ. 1952 หรือตั้งแต่เริ่มสงครามเย็น ในสมัยนั้นรัฐบาลมุ่งปิดล้อมอิทธิพลของโซเวียตตามยุทธศาสตร์ปิดล้อม ในปี 1959 ถึงกับยอมให้สหรัฐติดตั้งขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ Jupiter ในตุรกี แต่เมื่อสิ้นสงครามเย็น ตุรกีเห็นว่าไม่จำต้องอิงสหรัฐมากเท่าเดิมอีกต่อไป เป็นโอกาสที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับรัสเซีย รวมทั้งประเทศที่แตกตัวออกจากอดีตสหภาพโซเวียต

รัฐบาลตุรกีปัจจุบัน ภายใต้ประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ แอร์โดกาน (Recep Tayyip Erdogan) แต่แรกมีสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐพอสมควร ร่วมต่อต้านรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรีย แต่หลังเหตุกบฏเมื่อกรกฎาคม 2016 รัฐบาลแอร์โดกานโจมตีรัฐบาลสหรัฐเรื่อยมา โดยเฉพาะประเด็นให้ที่พักพิงแก่หัวหน้าฝ่ายกบฏ
ทุกวันนี้ตุรกียังเป็นสมาชิกนาโตซึ่งหมายความว่าเป็นพันธมิตรด้านการทหาร แต่ในทางปฏิบัติ ตุรกีหันไปใกล้ชิดรัสเซียมากขึ้น เดือนที่แล้วตุรกีกับรัสเซียบรรลุข้อตกลงซื้อระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ S-400 รุ่นล่าสุดของรัสเซีย ตุรกีเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากจีนที่เป็นลูกค้ารายแรก แสดงถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่น
เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่ตัวอยู่กับนาโตแต่ใจอยู่ที่รัสเซีย ตัวเลขคนตุรกีร้อยละ 72 เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นภัยคุกคามร้ายแรงเป็นหลักฐานที่ดี
ในอีกด้านหนึ่งคนตุรกีร้อยละ 54 เห็นว่ารัสเซียภัยคุกคามร้ายแรงเป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกัน เพราะมากกว่าครึ่งเห็นว่ารัสเซียเป็นศัตรู

มุมมองชาวอเมริกันกับรัสเซีย :
ชาวอเมริกันร้อยละ 74 เห็นว่าผู้ก่อการร้าย IS เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด รองลงมาร้อยละ 71 เห็นว่าการโจมตีด้วยไซเบอร์จากต่างประเทศเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ลำดับ 3 คือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (ร้อยละ 56) ส่วนอำนาจกับอิทธิพลจากรัสเซียและจีนได้คะแนน 47 กับ 41 ตามลำดับ

            รัสเซียมีลักษณะพิเศษคือชาวรัสเซียไม่ค่อยเห็นว่ามีภัยคุกคาม ภัยคุกคามอันดับหนึ่งคือ ผู้ก่อการร้าย IS ด้วยคะแนนร้อยละ 58 รองมาคือภาวะเศรษฐกิจโลก ผู้อพยพลี้ภัย และอำนาจกับอิทธิพลจากสหรัฐ ด้วยคะแนน 38, 37 และ 37 ตามลำดับ ตั้งแต่ภัยคุกคามลำดับ 2 เรื่อยมานั้นได้คะแนนต่ำกว่า 40

วิเคราะห์องค์รวม :
อำนาจกับอิทธิพลของสหรัฐ รัสเซียและจีน เป็น 3 ข้อที่ได้คะแนนต่ำสุดเมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับอิทธิพลมหาอำนาจ
ตุรกี (72) เกาหลีใต้ (70) ญี่ปุ่น (62) และเม็กซิโก (61) คือ 4 ประเทศที่เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
โปแลนด์ (65) จอร์แดน (49) สหรัฐ (47) สเปน (47) คือ 4 ประเทศที่เห็นว่ารัฐบาลรัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง สังเกตว่ามีเฉพาะโปแลนด์เพียงประเทศเดียวที่ให้คะแนนมากว่า 50
เกาหลีใต้ (83) เวียดนาม (80) ญี่ปุ่น (64) สเปน (51) คือ 4 ประเทศที่เห็นว่าจีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
บ่งชี้ว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่ามีประเด็นที่สำคัญกว่าบทบาทอิทธิพลโดยตรงของชาติมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ รัสเซียหรือจีน

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกหรือที่นิยมเรียกว่าภาวะโลกร้อนนั้น เป็นภัยคุกคามลำดับ 2 ด้วยคะแนน 61 ใกล้เคียงกับลำดับที่ 1 มาก เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ วิถีดำเนินชีวิต แต่ไม่ได้ตอบว่ามีสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากเพียงไร ภูมิภาคที่ให้คะแนนข้อนี้ต่ำสุดคือตะวันออกกลาง ด้วยคะแนนระหว่าง 38-58 ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ส่วนใหญ่ให้คะแนนระดับ 60-80

ในเชิงภาพรวมทั้งโลก งานศึกษาของ Pew Research Center ครั้งนี้ชี้ว่าผู้ก่อการร้ายคือภัยคุกคามร้ายแรงลำดับ 1 ของโลก ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 62 คิดเช่นนั้น เวียดนามให้คะแนนข้อนี้ต่ำสุด ได้คะแนนเท่ากับ 30 ถ้าเปรียบเทียบระดับภูมิภาค ลาตินอเมริกากับอเมริกาใต้ให้คะแนนต่ำสุด สังเกตว่าประเทศเหล่านี้มีมุสลิมน้อยมาก เป็นงานศึกษาอีกชิ้นที่ชี้ว่าการก่อเหตุของ IS จะรุนแรงในประเทศที่มีมุสลิมจำนวนมาก (หรือมีในระดับหนึ่ง)
คำถามคือ จริงหรือที่ IS เป็นภัยคุกคามรุนแรงจนเป็นภัยลำดับหนึ่งของโลก (ถ้าไม่นับประเทศที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการหลักอย่างอิรักกับซีเรีย) ภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องกลายเป็นเรื่องรอง
ไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไร งานศึกษานี้สะท้อนมุมมองของพลเมืองโลก ไม่จำต้องมีความเห็นตรงกับฝ่ายรัฐบาลที่ข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมาจากปากของฝ่ายรัฐ
สิงหาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7576 วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2560)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
งานศึกษาล่าสุดของ Pew Research Center ให้ข้อสรุปว่า ในสายตาของประชาชนอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ IS หรือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ IS เป็นภัยคุกคามประเทศที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนี้ สอดคล้องกับข้อมูลหลายแหล่ง ... 
บรรณานุกรม:
1. Poushter, Jacob., Manevich, Dorothy. (2017, August 1). Globally, People Point to ISIS and Climate Change as Leading Security Threats. Pew Research Center. Retrieved from http://www.pewglobal.org/2017/08/01/globally-people-point-to-isis-and-climate-change-as-leading-security-threats/?utm_source=AdaptiveMailer&utm_medium=email&utm_campaign=8-1-17%20Global%20Threats&org=982&lvl=100&ite=1568&lea=323345&ctr=0&par=1&trk=
2. U.S. State Department. (2017, July 19). Country Reports on Terrorism 2016. Retrieved from https://www.state.gov/j/ct/rls/crt/2016/
3. Turkey, US blast Assad regime as Aleppo toll rises. (2013, February 25). AFP. Retrieved from
http://uk.news.yahoo.com/turkey-says-not-remain-silent-syria-crimes-140954493.html
4. Turkey agrees to pay Russia $2.5B for S-400 missile systems, official says. (2017, July 14). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/defense/2017/07/13/turkey-agrees-to-pay-russia-25b-for-s-400-missile-systems-official-says
5. Williams, Paul A. (2011). Turkey: A Neglected Partner. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.237-254). New York: Palgrave Macmillan.
-----------------------------