ถอดรหัสสัมพันธ์แนบแน่นรัฐบาลสหรัฐกับซาอุฯ (1)

การเยือนซาอุดิอาระเบียเมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) มีการประชุมสุดยอดผู้นำที่เรียกว่า “Arab Islamic American Summit” ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้นำชาติอาหรับ ผู้นำมุสลิมประเทศอื่นๆ และผู้นำอเมริกา รวมทั้งหมด 55 ประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือต่อต้านก่อการร้ายซึ่งหมายถึงพวกมุสลิมสุดโต่งกับอิหร่าน
            สหรัฐให้เสรีภาพนับถือศาสนานิกายต่างๆ พลเมืองอเมริกันกว่า 3 ล้านคนนับถืออิสลาม หลังเหตุ 9/11 เกิดกระแสโรคกลัวอิสลาม  (Islamophobia) บางคนตีความแบบเหมารวมว่าอิสลามคือพวกหัวรุนแรง อย่างไรก็ตามสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุชกล่าวชัดเจนว่าอิสลามคือศาสนาแห่งสันติ การต่อต้านก่อการร้ายไม่ใช่ต่อต้านอิสลาม สมัยรัฐบาลโอบามาก็ดำเนินทิศทางนี้
“ผมคิดว่าอิสลามเกลียดชังเรา” :
            ในช่วงหาเสียงเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าทรัมป์แสดงท่าทีเชิงลบต่อมุสลิม ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ในสื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า “ผมคิดว่าอิสลามเกลียดชังเรา เกลียดชังอย่างรุนแรง เราต้องเรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นข้อนี้” ที่ควรตระหนักคือทรัมป์ไม่ได้หมายถึงเฉพาะมุสลิมหัวรุนแรงเท่านั้น แต่หมายถึงมุสลิมทั่วไป
ทรัมป์มักใช้คำว่าก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง (radical Islamic terrorism) นักวิเคราะห์ชี้ว่าเป็นการเชื่อมโยง “อิสลาม” เข้ากับ “ก่อการร้าย” เข้ากับ “หัวรุนแรง นิยมความรุนแรง”
            ไม่กี่วันหลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งห้ามคน 7 สัญชาติเข้าประเทศ (ต่อมาแก้เหลือ 6 ทั้งหมดเป็นประเทศมุสลิม) ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งสนับสนุนกับต่อต้านว่าคือมุ่งเล่นงานมุสลิม

            ในการเยือนซาอุฯ ประธานาธิบดีทรัมป์แยกมุสลิมทั่วไปออกจากมุสลิมหัวรุนแรง การต่อต้านก่อการร้ายคือต่อต้านพวกสุดโต่งหัวรุนแรงเท่านั้น อีกทั้งเรียกร้องให้ทุกศาสนาร่วมกันต่อต้านก่อการร้าย รัฐบาลสหรัฐยินดีที่จะอยู่ร่วมกับชาติต่างศาสนา ต่างระบอบการปกครอง ท่าทีทำนองนี้จะอยู่ในแนวเดียวกับอดีตประธานาธิบดีคนก่อนทั้งโอบามากับบุชที่ต่างการต่อต้านก่อการร้ายไม่ใช่ต่อต้านศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตามท่าทีของทรัมป์ไม่เสมอต้นเสมอปลาย ในบางช่วงของการเยือนประธานาธิบดีทรัมป์ใช้คำว่า อิสลามสุดโต่ง (Islamist extremism) แทนคำว่า อิสลามหัวรุนแรง (radical Islam) Robert Fisk เห็นว่าการใช้คำใหม่ไม่มีความแตกต่าง เพราะยังมีคำว่า “อิสลาม” ยังเป็นการชี้ว่าอิสลามสัมพันธ์กับก่อการร้าย
            ถ้ายึดตาม “Joint Strategic Vision Declaration for the United States of America and the Kingdom of Saudi Arabia” เมื่อ 20 พฤษภาคม แถลงการณ์ระบุว่าสหรัฐกับซาอุฯ จะร่วมกันหาทางต่อต้านแนวคิดสุดโต่ง ลัทธิก่อการร้าย พวกนิยมความรุนแรงสุดโต่ง (violent extremists) จะสังเกตว่าแถลงการณ์ร่วมใช้คำว่าพวกนิยมความรุนแรงสุดโต่งปราศจากคำว่าอิสลามหรือมุสลิม ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าเนื้อหาแถลงการณ์ร่วมจะต้องผ่านความเห็นชอบของทั้ง 2 ฝ่าย
            ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์จึงยังไม่ค่อยชัดเจนนัก

พยายามเชื่อมโยงต่อต้านก่อการร้ายกับศาสนา :
            วันที่ 21 พฤษภาคมป็นครั้งแรกของการประชุม “Arab Islamic American Summit” เป้าหมายหลักคือต่อต้านก่อการร้าย พวกลัทธิสุดโต่ง
            ประเด็นน่าสนใจคือประธานาธิบดีทรัมป์พูดเชื่อมโยงศาสนามาก ความตอนหนึ่งกล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ให้ความสำคัญต่อความแตกต่างด้านระบอบการปกครอง ศาสนา เป้าหมายของความร่วมมือ (กับชาติอาหรับและมิตรประเทศมุสลิม) คือ ร่วมกันจำกัดลัทธิสุดโต่ง (extremism) มอบอนาคตที่เปี่ยมด้วยความหวังอันเป็นการถวายเกียรติพระเจ้า
“ทุกครั้งที่ผู้ก่อการร้ายสังหารผู้บริสุทธิ์และอ้างนามพระเจ้าอย่างผิดๆ เท่ากับดูหมิ่นนามพระเจ้า และน่าจะดูหมื่นความเชื่อของทุกคน” “ผู้ก่อการร้ายไม่บูชาพระเจ้า พวกเขาบูชาความตาย”
            “เมื่อเรามองภาพการทำลายล้างของก่อการร้าย เราไม่เห็นความเป็นศาสนิกชนยิว คริสเตียน ชีอะห์หรือซุนนี” พฤติกรรมสังหารผู้บริสุทธิ์ไม่สะท้อนว่าเป็นความเชื่อของศาสนานิกายใด
ในสุนทรพจน์ตอนท้ายทรัมป์กล่าวว่า “บรรดาผู้นำศาสนาต้องชัดเจนยิ่งในเรื่องนี้ ความป่าเถื่อนไม่พาท่านสู่สง่าราศี การบูชาความชั่วไม่นำท่านสู่จุดหมายแห่งศักดิ์ศรี ถ้าท่านเลือกทางแห่งความโหดร้าย ชีวิตจะว่างเปล่าและสั้น จิตวิญญาณจะถูกกล่าวโทษ”

สงครามระหว่างความดีกับความชั่ว :
            ความอีกตอนประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวต่อผู้นำมุสลิม 55 ประเทศว่าการต่อต้านก่อการร้ายคือการเผชิญหน้าลัทธิอิสลามสุดโต่ง (Islamist extremism) กับกลุ่มก่อการร้ายอิสลาม (Islamist terror groups) ร่วมกันต่อต้านการสังหารมุสลิมผู้บริสุทธิ์และศาสนาอื่นๆ “นี่คือสงครามระหว่างความดีกับความชั่วร้าย” (good and evil)
ในสุนทรพจน์อีกตอนพูดย้ำว่า “ไม่ใช่สงครามระหว่างต่างความเชื่อ ต่างนิกาย หรือต่างอารยธรรม เป็นสงครามระหว่างอาชญากรผู้ป่าเถื่อน (barbaric criminals) ที่พยายามทำร้ายชีวิตมนุษย์ คนทุกศาสนา กับคนทุกศาสนาผู้พยายามปกป้อง เป็นสงครามระหว่างความดีกับความชั่ว”

การนิยามปรปักษ์คือความชั่วร้าย (evil) หรือฝ่ายอธรรม เป็นวิธีที่ใช้เรื่อยมาเพื่อปลูกฝังค่านิยมให้สังคมเกลียดชิงสิ่งนั้น คนนั้น ประเทศนั้น ในอดีตอาจเป็นพวกนาซี ต่อมาเป็นพวกคอมมิวนิสต์
การพูดถึงความชั่วร้ายย่อมต้องชี้ว่าตัวเองเป็นฝ่ายธรรมะ เป็นการเชื่อมโยงกับศาสนาความเชื่อโดยตรง เพราะศาสนาสอนให้แยกแยะความดีชั่ว การต่อต้านความชั่วเป็นเรื่องสมควร วิธีการของรัฐบาลสหรัฐคือกำลังย้ำว่าผู้ก่อการร้ายคือความชั่วร้ายที่ทุกศาสนาความเชื่อต้องร่วมกันต่อต้าน

ทรัมป์เป็นตัวแทนผู้นำศาสนาได้หรือ :
มีคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ประธานาธิบดีผู้ปกครองฝ่ายโลกเอ่ยนโยบายสำคัญด้วยการเชื่อมโยงศาสนาอย่างเข้มข้น เพราะผู้ปกครองฝ่ายโลกไม่ใช่ผู้นำศาสนา สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนอย่างทรัมป์กำลังประกาศแบ่งแยกว่าอะไรคือดีหรือชั่วตามหลักศาสนา ทรัมป์เป็นตัวแทนพระเจ้าได้หรือ

รัฐธรรมนูญสหรัฐให้พลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาความเชื่อใดๆ ไม่ได้ปฏิเสธบทบาทศาสนาในวิถีชีวิต แต่ถือหลักห้ามศาสนามีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองโดยตรง ดังยุโรปสมัยกลางที่สถาบันศาสนาเกี่ยวข้องกับอำนาจปกครองอย่างเข้มข้น สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำคือการดึงศาสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายรัฐบาลอย่างเข้มข้น จึงเป็นที่มาของคำถามว่าทรัมป์ถือสิทธิ์ใดในการประกาศว่าอะไรคือความดีชั่ว ถ้าจะยึดหลักศาสนาจริงก็ต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาทั้งหมด เกิดคำความว่ารายละเอียดนโยบายต่อต้านก่อการร้ายสอดคล้องกับหลักศาสนาหรือไม่ มากน้อยเพียง ผลลัพธ์คือทรัมป์ใช้ศาสนาเพื่อตีตราผู้ก่อการร้ายเป็นความชั่ว ส่วนรายละเอียดที่เหลือ วิธีปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายใช้วิธีการฝ่ายโลกและขัดแย้งกับหลักศาสนา นี่คือการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ
ทรัมป์กำลังอ้างศาสนาอย่างผิดๆ หรือไม่ เป็นการแทรกแซงศาสนาหรือไม่ มีผลทำให้คนต่างศาสนาความเชื่อเข้าใจผิด มองแง่ลบหรือไม่ นี่คือประเด็นที่สังคมโลกควรคิดคำนึงให้มาก
ในช่วงหาเสียง พระสันตะปาปาฟรานซิส (Francis) ประกาศว่าโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ใช่พวกนับถือคริสต์ “ข้าพเจ้าพูดว่าชายคนนี้ไม่ใช่พวกนับถือคริสต์ถ้าเขาพูดเรื่องอย่างนั้น”

ฮันติงตันพูดผิดอีกแล้ว :
Adel al-Jubeir รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศซาอุฯ อธิบายการประชุม Arab-Islamic-US summit เป็นขั้นแรกที่จะรวมชาติอาหรับ ชาติอิสลามและสหรัฐเข้าด้วยกันเพื่อต่อต้านลัทธิสุดโต่ง พร้อมกับเอ่ยถึงอิหร่านผู้รบกวนความสงบสุข “นี่ไม่ใช่การปะทะกันระหว่างอารยธรรมแต่เป็นการปะทะเพื่อสร้างอารยธรรม” คำพูดของรัฐมนตรีอิงแนวคิดของ เซมวล พี. ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) แต่พูดในทิศทางตรงข้ามคืออิสลามร่วมมือกับสหรัฐ (ตัวแทนอารยธรรมตะวันตก) 2 อารยธรรมไม่ได้ต่อสู้กันดังแนวคิดของฮันติงตัน
ฮันติงตันชี้ว่าโลกจะไม่แบ่งแยกด้วยอุดมการณ์การเมืองเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่จะแบ่งแยกด้วยวัฒนธรรมซึ่งหมายถึงความเชื่อศาสนา (ไม่ใช่ความหมายวัฒนธรรมในกรอบกว้าง) การสิ้นสุดยุคสงครามเย็นไม่ได้ยุติความขัดแย้งโลก แต่เปลี่ยนมาเป็นความความขัดแย้งทางศาสนา และจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์จะฆ่าฟันทำลายล้างกันด้วยเหตุผลนี้
            ถ้าจะวิเคราะห์ตามแนวคิดของฮันติงตัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาติอาหรับซุนนีกับสหรัฐร่วมกันต่อต้านผู้ก่อการร้ายกับอิหร่าน บางคนอาจตีความว่าคืออิสลามซุนนีร่วมมือกับคริสต์เพื่อต่อต้านอิสลามชีอะห์ ซึ่งเป็นการตีความที่ผิดพลาด เพราะรัฐบาลสหรัฐไม่ใช่ตัวแทนศาสนาคริสต์ การอิงแนวคิดฮันติงตันเพื่อต่อต้านอิหร่านหรืออิสลามนั้นเป็นวาทกรรม เป็นการสร้างเหตุผลอย่างผิดๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น

ที่สำคัญอีกข้อคือ บัดนี้รัฐบาลทรัมป์ประกาศยอมรับว่าแนวทางศาสนาของซาอุฯ เป็นแนวทางที่เข้าได้กับนโยบายของตน เป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นในอีกมิติโดยใช้ประเด็นความมั่นคงเป็นตัวเชื่อม
28 พฤษภาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7506 วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2560)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
Mohammed bin Salman รองมกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบียหารือประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเป็นทางการ ฝ่ายซาอุฯ ไม่เชื่อว่ามาตรการ (ห้ามคน 6 ประเทศเข้าเมือง) มุ่งเป้าชาติมุสลิมหรือศาสนาอิสลาม แท้จริงแล้วทรัมป์เคารพศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง เป็น “มิตรแท้ของมุสลิม” 2 ฝ่ายเห็นร่วมที่จะต้องจัดการอิหร่านตัวการทำลายเสถียรภาพภูมิภาค
ประธานาธิบดีทรัมป์ห้ามคน 7 สัญชาติเข้าประเทศ ชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เมื่อพิจารณานโยบายหาเสียงและอื่นๆ พบว่านโยบายต่อต้านก่อการร้ายสัมพันธ์กับก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง (radical Islamic terrorism) อันเป็นนโยบายหลักข้อหนึ่งของพรรครีพับลิกัน และเป็นกระแสเกลียดชังมุสลิมที่รุนแรงขึ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุ 9/11 ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ทำส่งผล “โหม” กระแสต่อต้านมุสลิม แต่เป้าหมายจริงๆ อาจอยู่ที่ 1-2 ประเทศเท่านั้น

บรรณานุกรม:
1. Anti-terror fight ‘not a battle between different faiths,’ Trump to tell Saudi summit. (2017, May 21). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1102721/saudi-arabia
2. Bazian, Hatem. (2017, January 30). Trump's war on Islam and clash of civilization wrecking crew! Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/columns/hatem-bazian/2017/01/30/trumps-war-on-islam-and-clash-of-civilization-wrecking-crew
3. Buncombe, Andrew. (2016, February 19). Donald Trump is 'not Christian', says Pope Francis. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-is-not-christian-says-pope-francis-a6881846.html
4. Fisk, Robert. (2017, May 21). Donald Trump’s speech to the Muslim world was filled with hypocrisy and condescension. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/voices/donald-trump-saudi-arabia-muslim-speech-a7747856.html
5. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
6. Huntington, Samuel P. (1996/2011). The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York: Simon & Schuste.
7. Joint Strategic Vision Declaration for the United States of America and the Kingdom of Saudi Arabia. (2017, May 21). Retrieved from https://secureservices.riyadhsummit2017.org/UploadedImages/636309364411477597.pdf
8. The White House. (2017, May 21). President Trump’s Speech to the Arab Islamic American Summit. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/05/21/president-trumps-speech-arab-islamic-american-summit
9. Trump seeks to win over Muslims with Islam speech. (2017, May 21). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2017/05/trump-seeks-win-muslims-islam-speech-170521043522910.html
10. US-Saudi Agreement to Reign in Iranian Expansionism. (2017, May 21). Asharq Al-Awsat English. Retrieved from http://english.aawsat.com/asharq-al-awsat-english/news-middle-east/saudi-arabia/saudi-fm-jubeir-says-riyadh-summit-integral-combating-terrorism
-----------------------------