รัสเซียทำสงครามปราบ IS ในซีเรียเพื่อใคร (2)

ความแปลกแยกระหว่างรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐ : ประเด็นสำคัญคือความแปลกแยกระหว่างรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐที่ต่างมีนโยบายปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS แต่ไม่สามารถร่วมมือและขัดแย้งกันเอง เช่น รัฐบาลสหรัฐ นาโต รัฐอาหรับเห็นว่าการโจมตีทางอากาศของรัสเซียมุ่งเป้าทำลายฝ่ายต่อต้านสายกลางมากกว่า และเป็นผลดีต่อ IS ในขณะที่รัฐบาลรัสเซียยืนยันว่าปฏิบัติการของตนมุ่งเป้ากลุ่มผู้ก่อการร้าย พยายามเสนอข้อมูลหลักฐาน แต่ฝ่ายสหรัฐไม่ยอมรับข้อมูลเหล่านั้น
            ในอีกด้านหนึ่ง ทางการรัสเซียร้องขอข้อมูลว่าฝ่ายต่อต้านสายกลางที่ฝ่ายสหรัฐอ้างถึงคือกลุ่มใด อยู่ที่ไหน เพื่อป้องกันการโจมตีผิดกลุ่ม แต่สหรัฐไม่ให้คำตอบเรื่องนี้ (ล่าสุด 2 ประเทศได้แลกเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มเพื่อป้องกันโจมตีผิดพลาด แต่น่าจะเป็นกรณีเฉพาะกิจสำหรับการหยุดยิงชั่วคราวเท่านั้น)
            กลายเป็นว่าทั้งรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐต่างปราบ IS ในซีเรีย แต่ต่างฝ่ายต่างทำ แผนปราบปราม IS ในซีเรียจึงกลายเป็นมี 2 แผน
เหตุที่แผนปราบปราม IS แตกต่างกัน :
ประการแรก สัมพันธ์กับการล้มระบอบอัสซาดหรือไม่
            ตั้งแต่เริ่มต้น รัฐบาลโอบามา พันธมิตรชาติตะวันตกกับรัฐอาหรับยึดมั่นว่าซีเรียในอนาคตต้องไม่มีระบอบอัสซาด ส่วนการต่อต้าน IS นั้นนับจากประธานาธิบดีโอบามาเริ่มเอ่ยถึงยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS อย่างเป็นระบบ เมื่อพิจารณาดูผลงานจนถึงปัจจุบันเป็นหลักฐานในตัวเองว่า แม้ระบุว่าโจมตี IS นับพันเที่ยว ทำลายสิ่งต่างมากมาย แต่โดยรวม IS ยังคงแข็งแกร่งในขณะที่กองทัพอัสซาดอ่อนแอลง
            ด้วยยุทธศาสตร์ต่อต้าน IS ของรัฐบาลโอบามาทำให้นักวิเคราะห์บางคนตั้งคำถามว่ารัฐบาลโอบามาหวังให้ IS ล้มอัสซาดหรือไม่

ถ้าย้อนกลับไปดูหลักเหตุผลที่ประธานาธิบดีโอบามาต้องการล้มรัฐบาลอัสซาดคือ รัฐบาลอัสซาดปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบ สหรัฐไม่ยอมรับหลักอ้างอธิปไตยแล้วสามารถสังหารหมู่พลเรือน
            ในช่วงระยะหลังนี้ รัฐบาลโอบามาใช้ตรรกะเชื่อมโยงการมีอยู่ของ IS กับระบอบอัสซาดว่าเหตุที่มี IS เพราะมีรัฐบาลอัสซาด พูดอีกนัยหนึ่งคือรัฐบาลอัสซาดเป็นต้นเหตุของการเกิด IS ดังนั้นตราบใดที่ยังมีรัฐบาลอัสซาด IS จะยังคงอยู่ต่อไป ถ้ายึดถือตรรกะดังกล่าวจะ “ต้องล้มระบอบอัสซาดก่อน” เพราะเป็นทางสู่การปราบปราม IS
หากตรรกะนี้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่เท่ากับว่าในอนาคตถ้ามีผู้ก่อการร้ายต่างชาติบุกเข้าประเทศใด รัฐบาลสหรัฐจะมุ่งล้มล้างรัฐบาลนั้นก่อนค่อยปราบผู้ก่อการร้าย
            นี่คือตรรกะของรัฐบาลโอบามา

            แนวคิดการยืมมือ IS หรือแกล้งหลับตาข้างหนึ่งเพื่อล้มระบอบอัสซาดมีจุดอ่อนร้ายแรงว่าถ้ารัฐบาลอัสซาดล้มจริง ใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว IS เข้มแข็งกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง ดังนั้น แม้รัฐบาลชาติตะวันตกกับรัฐอาหรับประกาศสนับสนุนฝ่ายต่อต้านสายกลายเป็นรัฐบาลซีเรียใหม่ แต่สงครามต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายจะยังดำเนินต่อไป คราวนี้ฝ่ายต่อต้านสายกลางจะต้องเผชิญหน้าผู้ก่อการร้ายโดยตรง
ผลลัพธ์ตามมาเป็นได้หลายแบบ
            แบบแรก คือ แบบอัฟกานิสถาน หลังสหรัฐกับพันธมิตรส่งทหารล้มระบอบตาลีบัน จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ปรากฏว่ารัฐบาลมีอำนาจจริงในบางอาณาบริเวณเท่านั้น เช่น เมืองหลวงกับพื้นที่บางส่วน ทุกวันนี้รัฐบาลอัฟกานิสถานอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือด้านความมั่นคงจากนาโต และด้วยกำลังทหารที่อาศัยงบประมาณจากสหรัฐอีกทอด น่าสงสัยว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานขณะนี้เป็นมีความเป็นอิสระมากเพียงใด กลายเป็นอาณานิคมรูปแบบใหม่ชนิดหนึ่งหรือไม่
            แบบที่ 2 คือ แบบลิเบีย ที่กลายเป็นรัฐล้มเหลวอีกรูปแบบหนึ่งภายหลังอาหรับสปริงลิเบีย นาโตช่วยล้มรัฐบาลกัดดาฟี  กลุ่มถืออำนาจปัจจุบันไม่สามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีเอกภาพ แม้สหประชาชาติ ชาติตะวันตกจะพยายามมาแล้วหลายปี แถมยังสอดแทรกด้วยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างชาติ ผู้ก่อการร้าย IS
            แบบที่ 3 คือ แบบอิรัก ซีเรียในอนาคตจะแยกออกเป็นหลายส่วน เช่น ส่วนของฝ่ายต่อต้านสายกลาง พวกเคิร์ดซีเรีย และกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งหมายความว่าซีเรียจะเป็นรัฐล้มเหลวอีกนาน
            อย่างไรก็ตาม ที่นำเสนอข้างต้นเป็นเพียงการอธิบายจุดอ่อนของนโยบายล้มอัสซาดก่อน สถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่ารัฐบาลอัสซาดจะคงอยู่ต่อไป แต่จะแยกออกเป็นหลายส่วนหรือไม่ต้องติดตามต่อไป

            ตรงข้ามกับฝ่ายสหรัฐ รัสเซียยึดมั่นหลักอธิปไตย เห็นว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม ต่อต้านพวกติดอาวุธล้มรัฐบาล พวกคิดแบ่งแยกดินแดน จึงสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดเรื่อยมา
            รัฐบาลปูตินสนับสนุนในทุกด้าน ทั้งด้านการทูตซึ่งมีประโยชน์มากเพราะรัสเซียเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ช่วยยับยั้งข้อมติต่างๆ ที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม ขายอาวุธแก่ซีเรียอย่างต่อเนื่อง อ้างว่าเป็นการซื้อขายอาวุธตามปกติระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนเกิดวิกฤตซีเรีย
            อย่างไรก็ตามหลังการรบหลายปีกองทัพอัสซาดเหนื่อยล้า อ่อนแอ สูญเสียพื้นที่มากขึ้นๆ ปลายเดือนกันยายน 2015 ภายใต้การร้องขอจากประธานาธิบดีอัสซาดรัฐบาลปูตินตัดสินใจตั้งฐานทัพในซีเรีย เปิดปฏิบัติการโจมตีผู้ก่อการร้ายทางอากาศ ให้อาวุธทันสมัยแก่กองทัพซีเรีย เช่น รถถัง T-90
            ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของรัสเซียกลายเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญ ผู้ก่อการร้ายเสียหายหนัก ปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพอัสซาดกับรัสเซียทำให้กองทัพรัฐบาลรุกคืบยึดพื้นที่สำคัญๆ กลับคืนหลายจุด โอกาสที่จะล้มรัฐบาลอัสซาดด้วยกำลังทหารแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

ผู้ก่อการร้ายไม่มีวันหมดจากโลก :
            ถ้ามองโลกในภาพกว้าง IS/ISIL/ISIS เป็นเพียงผู้ก่อการร้ายกลุ่มเดียวของนับร้อยนับพันกลุ่มในปัจจุบัน สามารถเปลี่ยนชื่อกลุ่ม เปลี่ยนสังกัดเครือข่าย และเพิ่มจำนวนได้ไม่สิ้นสุด เหตุเนื่องจาก
            ประการแรก เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์
            เมื่อเอ่ยถึงสงครามอุดมการณ์ย่อมชวนให้คิดถึงสมัยสงครามเย็น ที่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลอเมริกาชูธงว่าคือสงครามระหว่างอุดมการณ์ รัฐบาลโลกเสรีนิยมชี้ว่าโซเวียตต้องการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย จึงต้องยับยั้งด้วยทุกวิถีทาง
นายเจฟฟรีย์ โรเบิร์ตส (Geoffrey Roberts) ชี้ว่าเวลาพูดถึงคำว่า “สงครามเย็น” จะเป็นการพูดในมุมมองของตะวันตกล้วนๆ หากมองจากมุมของสหภาพโซเวียต จะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่โซเวียตพยายามที่อยู่อย่างสงบ หวังความปลอดภัย รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับปรปักษ์
            บัดนี้สงครามเย็นสิ้นสุดแล้ว ภัยก่อการร้ายกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงตัวใหม่ รัฐบาลโอบามาชี้ว่าเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ เป็นการชูเรื่องการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์อีกครั้ง คราวนี้ระหว่างโลกเสรีประชาธิปไตยกับพวกมุสลิมสุดโต่ง
            ถ้ายึดว่า IS กำลังทำหน้าที่ตามอุดมการณ์ศาสนาและรัฐบาลสหรัฐต้องการต่อต้านอุดมการณ์อย่าง IS สงครามอุดมการณ์เช่นนี้คงยากจะสิ้นสุด เพราะแนวอุดมการณ์ของ IS ไม่ใช่ของใหม่ แนวคิดมุสลิมสุดโต่งต่อต้านตะวันตกไม่ใช่ของใหม่
            อัลกออิดะห์มาแล้วและอ่อนแรงลงไป IS กลายเป็นตัวแสดงน้องใหม่ที่ร้อนแรง หาก IS อ่อนแรงหรือจากไปในอนาคตคงมีกลุ่มใหม่ชื่อใหม่เกิดขึ้นทดแทน ร้อนถึงรัฐบาลสหรัฐต้องมียุทธศาสตร์ต่อต้านฉบับใหม่ทำสงครามที่นั่นที่โน่นเป็นระยะตามความเหมาะสม

            ประการที่ 2 ผู้ก่อการร้ายรัฐอุปถัมภ์
            การหยุดยิงชั่วคราวที่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2016 รัฐบาลรัสเซียชี้ว่าเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและกลุ่มติดอาวุธถึง 97 กลุ่ม (ไม่รวมกลุ่มที่สหประชาชาติประกาศว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย) ข้อมูลจากฝ่ายสหรัฐล่าสุดระบุว่าประกอบด้วยคนต่างสัญชาติกว่า 25,000 คน (รวมซีเรียกับอิรัก) จาก 120 ประเทศ
            มีข่าวหนาหูว่ากลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่างชาติ มีรัฐอุปถัมภ์ เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีความพร้อม มีศักยภาพ สามารถทำการรบต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนใครเป็นรัฐอุปถัมภ์ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ผลลัพธ์คือ องค์กรก่อการร้ายจะเกิดขึ้นและสูญสลายไป แต่ไม่มีใครสามารถเอาผิดต่อรัฐผู้บงการเบื้องหลัง ตราบเท่าที่ไม่มีหลักฐานหนักแน่นสามารถเชื่อมโยงผู้บงตัวจริงเหล่านั้น และเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

            ประการที่ 3 มีผู้ถูกชักจูงให้ร่วมกลุ่มก่อการร้าย
ถ้ามองในระดับปัจเจกบุคคล Saleh bin Ali Abu Arrad จาก Khaled University ประเทศซาอุดิอาระเบียชี้ว่าปัญหาวัยรุ่นมุสลิมเข้ากลุ่มก่อการร้ายกำลังรุนแรงขึ้น สาเหตุนั้นซับซ้อน มักเกี่ยวข้องกับวัยรุ่นที่ถูกทอดทิ้ง ขาดการดูแลเอาใจใส่ มีปัญหาการใช้ความรุนแรงจากบ้าน ชุมนุม ความยากจน ตกงาน ขาดการศึกษา
ความจริงอีกข้อคือมีผู้เข้าร่วมกลุ่มอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเรียกพวกเขาเป็นพวกญิฮาด กองกำลังติดอาวุธต่างชาติ ผู้ก่อการร้าย หรืออาจเรียกว่าเป็นนักรบรับจ้าง นักรบอาชีพ ขึ้นกับว่าแต่ละคนมาด้วยเหตุจูงใจใดเป็นหลัก เพียงแต่พวกเขาต่างจากกลุ่มอื่นๆ ตรงที่มีเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง
            บางคนอาจตีความทั้งหมดคือการรักษาอำนาจของประธานาธิบดีปูติน ไม่ว่าท่านจะทำเพื่อตัวเอง พวกพ้องหรือประเทศชาติ ศึกนี้เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่อีกครั้ง การทำสงครามกับ IS เป็นเพียงแนวรบเดียวของหลายแนวรบในขณะนี้ เป็นศึกที่รัสเซียแพ้ไม่ได้ ต้องชนะอย่างเดียวเพื่อจะได้เดินหน้าต่อไป
6 มีนาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7059 วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2559)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
            ความตึงเครียดจากสถานการณ์ยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2013 จนนำสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สหรัฐฯ กับพันธมิตรโดยเฉพาะอียูร่วมออกมาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายรอบ
            ข้อเขียนชิ้นนี้อธิบายนโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียเพื่ออธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบายปิดล้อมรัสเซีย การตอบโต้จากรัฐบาลปูติน นำสู่การวิเคราะห์องค์รวม ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์เชิงลึกของสหรัฐฯ ความพยายามจัดระเบียบโลกผ่านวิธีการต่างๆ จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ปิดล้อม พลังอำนาจที่ถดถอยของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์อนาคต

สนใจอีบุุ๊ค คลิกที่นี
บรรณานุกรม:
1. Brown, Archie. (2004). Gorbachev, Mikhail Sergeyevich. In Encyclopedia of Russian History. (4 vol. set, pp.577-583). USA: Macmillan Reference USA.
2. Davis, Julie Hirschfeld. (2015, November 17). Cease-Fire and Political Transition in Syria Crucial to Defeating ISIS, Kerry Says. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/11/18/world/europe/john-kerry-france-isis.html?_r=0
3. Fakiolas, Efstathios T. (2012). International Politics in Times of Change. Tzifakis, Nikolaos. (Ed.). Berlin: Springer-Verlag Berlin Heidelberg.
4. Katusa, Marin. (2015). The Colder War: How the Global Energy Trade Slipped from America's Grasp. USA: John Wiley & Sons.
5. Leffler, Melvyn P. (2007). For the Soul of Mankind: The United States, the Soviet Union, and the Cold War. New York: Hill and Wang.
6. Roberts, Geoffrey. (1999). The Soviet Union in World Politics: Coexistence, Revolution and Cold War, 1945-1991. London: Routledge.
7. Russia, U.S. exchange information to ensure Syrian ceasefire. (2016, February 27). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-02/28/c_135137070.htm
8. Russian planes start pinpoint strikes against IS positions in Syria — Defense Ministry. (2015, September 30). TASS. Retrieved from http://tass.ru/en/defense/824957
9. Syria accuses the west of pouring arms into the hands of terrorists. (2014, January 22). The Guardian. Retrieved from http://www.theguardian.com/world/2014/jan/22/syria-west-terror-montreux-talks
10. Terror groups ‘target poor and uneducated youth’. (2015, June 2). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/saudi-arabia/news/755591
11. The White House. (2013, September 24). Remarks by President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
12. The White House. (2014, September 24). Remarks by the President at U.N. Security Council Summit on Foreign Terrorist Fighters. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/24/remarks-president-un-security-council-summit-foreign-terrorist-fighters
13. The White House. (2015, July 6). President Obama Provides an Update on Our Strategy to Degrade and Destroy ISIL. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/blog/2015/07/06/president-obama-provides-update-our-strategy-degrade-and-destroy-isil
14. We Ask Experts: Has The Situation In Syria Become A Proxy War? (2015, October 17). NPR. Retrieved from http://www.npr.org/sections/thetwo-way/2015/10/16/449181764/we-ask-experts-has-the-situation-in-syria-become-a-proxy-war
-----------------------------