กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก

ในโลกปัจจุบัน ในบรรดาตัวแสดงทุกประเภท “รัฐ” เป็นตัวละครหลัก/ ตัวแสดงเอก (primary actor) ของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่แปลกที่รัฐจะปรากฏอยู่ในหน้าข่าวต่างประเทศทุกวันและมากที่สุด
            บทความนี้จะนำเสนอประวัติกำเนิด “รัฐสมัยใหม่” และข้อวิพากษ์
ประวัติที่มา :
            เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมสลาย ดินแดนในทวีปยุโรปแยกออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ที่เป็นอิสระต่อกัน เช่น อิตาลีแบ่งออกเป็นรัฐลอมบาร์ดี โรมานญา ทัสคานี เนเปิล ซีซีลี รัฐสันตะปาปา ฯลฯ เยอรมนีแยกออกเป็นรัฐแซกซอน ฟรังโกเนีย บาวาเรีย ชวาเบน ไมเซน ฯลฯ ฝรั่งเศสแยกออกเป็นรัฐบูร์กอญ กาสกอญ ตูลูส โพรวองส์ ฯลฯ เช่นเดียวกับสเปนและยุโรปตะวันออก เป็นสภาพที่อำนาจการเมืองกระจัดกระจายไม่รวมศูนย์ดังสมัยจักรวรรดิโรมัน
            จากนั้นการปกครองค่อยๆ พัฒนาเป็นระบบฟิลดัล (Feudal system) กับศาสนจักรโรมันคาทอลิก

            ศาสนจักรโรมันคาทอลิกเป็นองค์กรเดียวที่มีโครงสร้างทางอำนาจเข้มแข็ง บาทหลวงกระจายอยู่ทุกหนแห่ง ทุกแว่นแคว้น เป็นที่พึ่งของประชาชนท่ามกลางสภาวะสงคราม ความทุกข์ยากลำบากต่างๆ
            ในปี ค.ศ.800 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ หลังจากพระเจ้าชาร์เลอมาญแห่งชนชาติฟรังก์ชนะสงครามสามารถรวมดินแดนฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลีภาคเหนือและยุโรปตะวันตกทั้งหมด กลายเป็นอาณาจักรใหญ่ พระเจ้าชาร์เลอมาญได้ให้สันตะปาปาเลโอที่ 3 สวมมงกุฎจักรพรรดิ เป็นการยอมรับสิทธิอำนาจของประมุขศาสนาเหนือประมุขอาณาจักรฝ่ายโลก
            ค.ศ.962 สันตะปาปาโยอันเนสที่ 12 สวมมุงกุฎให้พระเจ้าออตโตที่ 1 และประกาศให้อาณาจักรของพระเจ้าออตโตที่ 1 เป็น “จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” อำนาจของศาสนจักรจึงครอบคลุมสูงสุดทั้งทางธรรมกับทางโลก ประมุขคนใดที่ไม่เชื่อฟังหรือไม่ยอมรับอำนาจของสันตะปาปา อาจถูกประกาศบัพพาชนียกรรม (excommunication) ไล่ออกจากการเป็นศาสนิกชน ทำให้ประมุขขาดความน่าเชื่อถือ ขุนนางอาจก่อการยึดอำนาจ
            ในระดับรากหญ้า บาทหลวงกระจายอยู่ในทุกเมือง มีอิทธิพลต่อประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย มีบทบาทด้านการศึกษา กิจกรรมทางสังคม โบสถ์และธรณีสงฆ์เป็นอิสระจากอำนาจเจ้าเมือง ได้รับการยกเว้นภาษี มีข้าพระหรือผู้ใช้แรงงานในบังคับบัญชาของโบสถ์ เมื่อเวลาผ่านไปโบสถ์ร่ำรวย มีอิทธิพลมากขึ้นทุกที
            ดังนั้น ในยุคกลาง (ค.ศ.500-1500) ศาสนจักรโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลอำนาจทั้งฝ่ายโลกและทางธรรม บาทหลวงทั้งหมดขึ้นตรงต่อสันตะปาปา กษัตริย์บางองค์เมื่อขึ้นครองราชย์ต้องได้รับการสวมมงกุฎจากสันตะปาปา ในบางแง่อาจตีความว่าเกิดสภาพอำนาจซ้อนอำนาจ

            แต่อำนาจของศาสนจักรโรมันคาทอลิกเริ่มเสื่อมด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ มีการซื้อขายใบไถ่บาป เป็นความเชื่อที่ว่าการซื้อใบไถ่บาปจะช่วยให้ผู้ตายได้ขึ้นสวรรค์ บาทหลวงเท่านั้นที่สามารถเป็นคนกลางเชื่อมระหว่างผู้เชื่อกับพระเจ้า ศาสนิกชนบางส่วนต้องการฟื้นฟูศาสนา เมื่อได้ศึกษาพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ (Bible) ก็ยิ่งรู้ว่าหลักข้อเชื่อ แนวประพฤติปฏิบัติหลายอย่างไม่ถูกต้อง ตีความพระคัมภีร์ผิดเพี้ยน การประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สมัยใหม่และแปลเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นอีกเหตุที่ทำให้หลายคนได้อ่านพระคัมภีร์โดยตรง (เดิมนั้นผู้เชื่อจะฟังคำสอนผ่านบาทหลวงเป็นหลัก) พระคริสต์ธรรมคัมภีร์แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง (ทุกวันนี้พระคัมภีร์ยังเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์มากที่สุดในโลก) บาทหลวงไม่เป็นผู้ผูกขาดตีความอีกต่อไป
            ความเจริญก้าวหน้าของศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ เป็นอีกเหตุผลสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักคิดหลายคนค้นพบความรู้และแนวคิดที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนจักร
            เช่น นักดาราศาสตร์ค้นพบว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างโลกให้เป็นศูนย์กลางจักรวาล โลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ
            นักปรัชญาการเมือง นิกโคโล มาเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli, 1469-1527) โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, 1588-1679) สนับสนุนให้เจ้าผู้ปกครองมีอำนาจเหนือทุกฝ่าย รวมทั้งศาสนจักร
            ความเจริญก้าวหน้าของศิลปะวิทยาการที่ขัดแย้งกับหลักศาสนา เป็นอีกเหตุที่สั่นคลอนสิทธิอำนาจของศาสนจักร

            ความขัดแย้งอันเนื่องจากความเชื่องทางศาสนา ความต้องการปฏิรูป ได้ขยายตัวและเชื่อมโยงกับอาณาจักรฝ่ายโลก เกิดสงครามระหว่างแว่นแคว้นที่ยังยึดมั่นศาสนาจักรกับฝ่ายต่อต้านหลายครั้ง สงครามครั้งสุดท้ายคือ สงคราม 30 ปี (Thirty Years War, 1618-1648) จบลงด้วยการลงนามสนธิสัญญาเวสฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ในปี 1648 พร้อมกับเกิด “รัฐสมัยใหม่” (modern state) ผู้ครองรัฐต่างๆ สามารถกำหนดนิกายศาสนาด้วยตนเอง ไม่จำต้องขึ้นกับศาสนจักรอีกต่อไป เป็นการยุติอำนาจฝ่ายโลกของคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่มีมาตั้งแต่ยุโรปสมัยกลาง
            ผู้ปกครองหรือศูนย์กลางอำนาจของรัฐ จึงมี/ใช้อำนาจสูงสุดภายในขอบเขตรัฐหรือดินแดนของอิทธิพลของตน คำว่าอธิปไตย (Sovereignty) ในสมัยนั้นจึงมีความมุ่งหมายสำคัญที่ว่าผู้ปกครองฝ่ายโลกหรือกษัตริย์ได้แยกตัวตนออกจากอำนาจของสันตะปาปา รัฐที่ยึดมั่นหลักการนี้จะไม่มีระบบ 2 ผู้นำ คือ ผู้นำศาสนากับผู้ปกครองฝ่ายโลกที่ทับซ้อนกัน ผู้ปกครองฝ่ายโลกมีอำนาจสูงสุดในขอบเขตอิทธิพลทางการเมืองของตน (หรือขอบเขตประเทศหรือดินแดนของตนนั่นเอง) เว้นแต่บางเมืองบางรัฐที่ยังคงอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนจักรต่ออีกระยะหนึ่ง
            ข้อตกลงสันติภาพเวสฟาเลียยังเป็นที่มาของหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอีกฝ่าย เขตแดนกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าอดีต เพราะผู้ปกครองแต่ละคนมีอำนาจสูงสุดเหนือดินแดน รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างในดินแดนนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นประชากร ทรัพยากรต่างๆ

            นักวิชาการบางคนอธิบายว่า เบื้องหลังของสงคราม 30 ปี คือการแข่งขันชิงอำนาจระหว่างฝ่ายศาสนจักรกับกษัตริย์ ผู้นำคาทอลิกพยายามเอาชนะรัฐโปรเตสแตนต์ เพื่อให้รัฐเหล่านี้กลับมาอยู่ใต้อำนาจศาสนจักรอีกครั้ง เพราะยึดมั่นว่าความเชื่อของคาทอลิกเท่านั้นที่ถูกต้อง อีกเหตุผลคือกษัตริย์บางองค์ต้องการขยายอำนาจของตน ต้องการครอบครองยุโรปทั้งหมดดังเช่นศาสนจักร กษัตริย์บางองค์อ้างเหตุผลศาสนาแต่เป้าหมายเบื้องหลังคือต้องการเพิ่มอำนาจของตน

            จากนั้น การแผ่ขยายอำนาจของยุโรปในยุคล่าอาณานิคม และการก่อตัวของลัทธิชาตินิยมในทวีปเอเชีย แอฟริกาและอเมริกา ทำให้แนวคิดรัฐสมัยใหม่กระจายไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก รัฐในปัจจุบันจึงกลายเป็น “รัฐสมัยใหม่” ทั้งหมด
            อนึ่ง ในยุคปัจจุบันรัฐบางแห่ง ผู้นำศาสนา/ผู้นำจิตวิญญาณมีอำนาจสูงสุดหรือมีอำนาจพิเศษบางอย่างเหนือรัฐ ได้แก่ นครรัฐวาติกัน ประเทศอิหร่าน (กรณีอิหร่านเป็นศาสนาอิสลาม มีประวัติที่มาของตนเอง)
            กว่า 366 ปีนับจากสนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเลีย ทุกวันนี้น้อยคนที่จะเข้าใจหรือเอ่ยหลักการผู้นำฝ่ายโลกกับผู้นำศาสนาที่ร่วมปกครองดูแลอาณาเขตเดียวกัน (ยกเว้นบางประเทศ เช่น อิหร่าน) เมื่อพูดถึงอธิปไตยจะมุ่งหมายถึงรัฐผู้มีสิทธิอำนาจสูงสุดเหนือเขตแดน เป็นการยึดโยงกับยุโรปในสมัยกลางที่ให้ความสำคัญกับ “พื้นที่” มากกว่า “คนในพื้นที่” ผู้ถืออำนาจรัฐหรือผู้ปกครองคือผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือพื้นที่ของตน
            ปัจจุบัน การพูดถึงความเป็นชาติของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงวิชาการหรือนอกวิชาการ จะไม่เอ่ยถึงที่มาของรัฐสมัยใหม่ บ่อยครั้งเป็นเรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอ้างการสร้างชาติแบบตะวันตกเพื่อปฏิวัติ ล้มล้างระบอบการปกครองเดิมหรืออำนาจต่างชาติ แล้วได้ระบอบประชาธิปไตย สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เผด็จการ ดังนั้นเมื่อเทียบกับหลักคิดเรื่องที่มาของของรัฐสมัยใหม่แล้ว จึงเป็นเรื่องราวของการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นปกครองฝ่ายโลก

 “รัฐคือสิ่งประดิษฐ์และปรับเปลี่ยน” :
            การเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มาของรัฐสมัยใหม่ให้ข้อคิดสำคัญว่าเดิมนั้นมนุษย์อยู่โดยปราศจากรัฐ รัฐสมัยใหม่หรือรัฐในปัจจุบันเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้น พัฒนาจากการเมืองการปกครองที่ผู้ปกครองฝ่ายโลกพยายามแยกตัวออกจากศาสนจักร แล้วตกทอดถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้มนุษย์ทุกคนจึงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ อันหมายถึงอยู่ภายใต้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ถืออำนาจหรือบริหารอำนาจ (ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนยังต้องมีตัวแทนเข้าไปร่วมปกครอง ประชาชนไม่ได้บริหารประเทศโดยตรง)

            แต่อธิปไตยของรัฐถูกสั่นคลอน ทั้งแบบยินยอมและไม่ยินยอม
            เช่น บางประเทศหยิบยกเหตุผลที่อ้างว่า “เหนือกว่า” อธิปไตยรัฐ เช่น หลักสิทธิมนุษยชนสากลเพื่อแทรกแซงประเทศอื่น หลายประเทศยอมสละอธิปไตยบางส่วนเพื่อเข้าองค์การค้าโลก ประเทศจีนต้องใช้ความพยายามกว่า 10 ปีเพื่อเป็นสมาชิก โลกาภิวัตน์ที่เชื่อมโยงทุกส่วนของโลกเข้าหากันมากขึ้น เกิดทั้งผลดีผลเสีย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเหลือเพียงสิ่งเดียวอย่างเดียว อธิปไตย ความเป็นชาติถูกลดทอน แต่ไม่ถึงกับสูญสิ้น
            อีกทั้งยังมีตัวแสดงที่มิใช่รัฐ (Nonstate Actor) เกิดขึ้นอย่างมากมาย พยายามมีบทบาทเทียบรัฐ เข้าควบคุมหรือทำให้รัฐดำเนินนโยบายตอบสนองความต้องการของกลุ่ม ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าลักษณะของรัฐหรือความเป็นรัฐมีพลวัต (dynamic) เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง

            หากมองในภาพกว้างจะเห็นว่ารัฐเป็นสิ่งประดิษฐ์ เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่สมมติขึ้น การจะคงอยู่หรือไม่จึงขึ้นกับการยอมรับหรือปฏิเสธ อีกทั้งน่าจะสามารถพัฒนาให้รัฐ (หรือเรียกชื่อใดก็ตาม) ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เป็นประเด็นที่น่าใคร่ครวญ
            John A. Jacobson ตั้งโจทย์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชน สังคมและรัฐควรจะเป็นอย่างไร
            อาจถึงเวลาแล้วที่จะให้กำเนิดแนวคิด “รัฐสมัยใหม่” อีกครั้ง
28 ธันวาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6627 วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2557)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
อธิบายความสำคัญของการเมือง การเมืองการปกครองเป็นเรื่องใกล้ตัว
บทความว่าด้วยรัฐแบ่งเป็น 3 ตอน ตอนแรกกล่าวถึงนิยามคำว่ารัฐ แนวคิด ทฤษฎีกำเนิดแห่งรัฐ (Origin of State)
พัฒนาการและรูปแบบรัฐ องค์ประกอบของรัฐสมัยใหม่ 
อำนาจอธิปไตย แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ลักษณะของอำนาจอธิปไตย การสั่นคลอนอำนาจอธิปไตย รัฐในอนาคต บทบาทหน้าที่แห่งรัฐ

บรรณานุกรม :
1.รุ่งพงษ์ ชัยนาม, รศ.ดร. (2554) สงครามกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสังคมโลก นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.
3. Haass, Richard N. (2005).  The Politics of Power: New Forces and New Challenges. Harvard International Review. Retrieved from http://hir.harvard.edu/articles/1340/1/>
4. Jacobson, John A.(1998). An Introduction to Political Science. CA: West/Wadsworth publication.
5. Kissinger, Henry. (2002). Does America Need a Foreign Policy?: toward a diplomacy for the 21st century. New York: Touchstone.
6. Scheve, Kenneth F., & Slaughter, Matthew J. (2007). A New Deal for Globalization.  Foreign Affairs, July/August 2007. Retrieved from http://www.foreignaffairs.org/20070701faessay86403/kenneth-f-scheve-matthew-j-slaughter/a-new-deal-for-globalization.html
7. Spencer, Philip., & Wollman, Howard. (2002). Nationalism: A Critical Introduction. London: SAGE Publications.
8. Viotti, Paul., & Kauppi, Mark. (2009). International Relations and World Politics (4th Ed.). USA.: Pearson Education.
-------------------------------