รัฐ (2)

พัฒนาการ และรูปแบบรัฐ
            คำว่า รัฐ ในที่นี้ไม่ได้มีนิยามตามนิยามคำว่ารัฐดังที่ได้กล่าวข้างต้น แต่เป็นคำศัพท์เพื่ออ้างถึงหน่วยปกครองที่ต้องการพูดถึงเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพียงชนเผ่าเล็กๆ หรือหมายถึงอาณาจักรจีนโบราณที่กว้างใหญ่ไพศาล ในตำรารัฐศาสตร์มีวิธีการแบ่งออกแตกต่างกันหลายวิธี และมีหลากหลายรูปแบบ  ในที่นี้จะกล่าวรัฐบางรูปแบบโดยเรียงลำดับพัฒนาการตามเวลาที่เราได้ศึกษาจากประวัติศาสตร์ ซึ่งบางรูปแบบอาจจะยังคงอยู่หรือไม่มีแล้วในปัจจุบัน

·       รัฐชนเผ่าหรือรัฐเผ่าชน (Tribal State)
นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า รัฐชนเผ่าน่าจะเป็นรัฐในรูปแบบยุคต้น เกิดจากการรวมตัวของครอบครัวหลายครอบครัว จึงมักมีความผูกพันใกล้ชิดทางสายโลหิต เรียกได้ว่าเป็นตระกูลด้วยกัน และบางเผ่าอาจเป็นการรวมตัวของหลายตระกูลที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน หรือมารวมตัวกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จนพัฒนาการปกครองเป็นเผ่าเดียวกันในที่สุด เกิดหัวหน้าเผ่า มีภาษา หรือขนมธรรมเนียม วิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง

·       รัฐอาณาจักรโบราณ และ จักรรวรรดิโรมัน (Roman Empire)
ประเทศที่เคยเป็นลักษณะนี้ เช่น อียิปต์โบราณ อาณาจักรโรมัน อัสซีเรีย จีน อินเดีย รวมทั้งสยามโดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาณาจักรเหล่านี้มักมีพื้นที่กว้างใหญ่ ประกอบด้วยหลายหัวเมืองที่มีเมืองเล็กๆ เป็นเมืองบริวาร มีประชากรมากประกอบด้วยชนเผ่าย่อยๆหลายชนเผ่า อาจมีหลายภาษาภายใต้อาณาจักรเดียวกันนี้ การปกครองมักขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจสูงสุดเพียงคนเดียว อาจเรียกว่ากษัตริย์ หรือราชา การบริหารประเทศมักต้องอาศัยกำลังทหารควบคู่ด้วยเสมอ มักมีประวัติศาสตร์ที่สามารถศึกษาได้อย่างละเอียด แต่ละอาณาจักรครอบคลุมประวัติศาสตร์นับร้อยๆปี

ยกตัวอย่าง เช่น จักรวรรดิโรมัน ได้ขยายอำนาจรวบรวมดินแดนที่ปัจจุบันเป็นยุโรปในปัจจุบันไว้เกือบทั้งหมด และบริหารปกครองด้วยใช้กฎหมายฉบับเดียวกันที่ตราขึ้นโดยโรมัน ในระบบเศรษฐกิจใช้เงินตราสกุลเดียวกันทั่วทั้งจักรวรรดิ การบริหารราชการใช้ภาษาเดียวกันคือภาษาลาติน ทั้งยังส่งเสริมให้นับถือศาสนาเดียวกันด้วยคือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก อย่างไรก็ตามจักรวรรดิโรมันยังยินยอมให้รัฐที่พ่ายแพ้แก่โรมันสามารถปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมของตน

·       รัฐนครรัฐกรีก (Greek-city State)
นครรัฐกรีกประกอบด้วยหลายร้อยนครรัฐ (polis) เข้ารวมด้วยกัน
ลักษณะเด่นคือ แต่ละรัฐมีขนาดไม่ใหญ่ ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองอย่างชัดเจน ในกรณีของรัฐอื่นๆที่อยู่นอกยุโรปอาจไม่จำต้องหมายถึงการที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างนครรัฐกรีก แต่หมายถึง ประชาชนกับผู้ปกครองอยู่อย่างใกล้ชิดกัน เช่น สมัยกรุงสุโขทัยที่มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ประชาชนสามารถมาร้องทุกข์กับพ่อเมืองได้โดยตรง

·       รัฐเจ้าขุนมูลนายหรือรัฐศักดิดาหรือรัฐฟิวดัล (Feudal State)
รัฐเจ้าขุนมูลนายที่กำลังพูดถึงมุ่งกล่าวถึงแบบรัฐที่เกิดกับยุโรปในยุคกลาง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5-15 ซึ่งเป็นการกล่าวถึงรัฐในแถบยุโรปหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในราว ค.ศ. 500 ก่อนที่จะเกิดรัฐยุคสมัยใหม่ บางคนเรียกรัฐยุคนี้ว่ารัฐยุคกลาง
รัฐเจ้าขุนมูลนายนี้เป็นผลจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน เมื่อขาดศูนย์อำนาจกลางที่สามารถปกครองอาณาจักรทั้งหมดที่กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้บรรดาขุนศึกและขุนนางต่างๆ บริหารหรือปกครองพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของตนเอง ในยุคนี้พื้นที่เพาะปลูกกับความปลอดภัยจากการรุกรานของผู้มีอำนาจมีความสำคัญมาก ดังนั้น บรรดาขุนศึกขุนนางจึงพยายามรวบรวมกำลังทหารของตนเองเพื่อปกครองและให้ความคุ้มครองแก่ไพร่ของตน แลกกับการที่ไพร่ต้องทำงานเพาะปลูกในพื้นที่ของขุนศึกขุนนางและการที่ไพร่ต้องยอมอยู่ภายใต้การปกครอง

เมื่อเวลาผ่านไปเกิดการรวมตัวกันหรือเกิดการรวบอำนาจระหว่างขุนศึกขุนนางเหล่านี้ เกิดเป็นกลุ่มๆ เป็นแว่นแค้นขนาดใหญ่ขึ้นมา บรรดาขุนศึกขุนนางมีลำดับชั้น ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นชนชั้นปกครองตามลำดับขั้น มีการให้สิ่งตอบแทนเป็นทรัพย์สินรูปแบบต่างๆ เพื่อแลกกับการได้รับการดูแลและอยู่ในชนชั้นปกครองตามแว่นแค้นของตน
และที่สุดพัฒนาจนมีกษัตริย์ (King) เป็นผู้ปกครองสูงสุดของระบบรัฐเจ้าขุนมูลนาย มีศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก เพราะฝ่ายศาสนาก็มีผู้นำศาสนจักรคือ สันตะปาปาที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ ดังนั้น ในทางปฏิบัติกษัตริย์ในรัฐแบบนี้มักไม่ค่อยมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีความตึงเครียดและการช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นปกครองระดับสูงอยู่เสมอ รวมทั้งฝ่ายศาสนจักรก็มีส่วนอย่างมากด้วยเช่นกัน เพราะประชาชนที่เคร่งในศาสนาเหมือนคนที่อยู่ในสองอาณาจักร คือ อาณาจักรฝ่ายโลก กับอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ กษัตริย์มีอำนาจในฝ่ายโลกเท่านั้นและต้องดำเนินชีวิตภายใต้กรอบศีลธรรมอันดีงามที่ศาสนจักรดูแลอยู่

·       รัฐสมัยใหม่ (Modern State)
รัฐสมัยใหม่คือรัฐที่เราพูดถึงทุกวันนี้ เป็นรัฐที่พัฒนาจาก Feudal System ในยุโรปตะวันตก การก่อกำเนิดเริ่มจากสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) ในปี 1648 ภายหลังสงครามสามสิบปี

สนธิสัญญาสงบศึกเวสต์ฟาเลียฉบับนี้ นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเมืองการปกครอง
1.      ทำให้ความสำคัญของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หมดลงไปเพราะได้ถูกลดฐานะลงให้เท่าๆ กับดินแดนที่มีกษัตริย์ปกครอง ตัวสันตะปาปาเองซึ่งมีอำนาจมากมายในสมัยรัฐฟิวดัลเพราะเป็นศูนย์รวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีฐานะเป็นเพียงเจ้าผู้ครองรัฐๆหนึ่งเท่านั้น
2.      เป็นการชี้ให้เห็นว่าสัมพันธภาพระหว่างประเทศในอนาคตจะต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละชาติมากกว่ายึดความสัมพันธ์ทางศาสนา
3.      ก่อให้เกิดกลุ่มสังคมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่ารัฐชาติ (Nation State) การประกาศเขตแดนที่มีอธิปไตยของตัวเองกลายเป็นรัฐอธิปไตย รัฐสมัยใหม่เหล่านี้ไม่ยอมรับอำนาจทางการเมืองของสันตะปาปาและศาสนจักรโรมันคาทอลิกดังเดิมอีกต่อไป

ผู้นำรัฐเหล่านี้ซึ่งอาจเป็นกษัตริย์หรือจักรพรรดิเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เช่น Louis XIV แห่งฝรั่งเศส (1643-1715) Frederick II แห่งปรัสเซีย (1740-1786) Peter the Great แห่งรัสเซีย (1682-1725) แต่แนวคิดรัฐสมัยใหม่ยุคนี้กษัตริย์หรือจักรพรรดิเป็นเจ้าของทุกอย่างของรัฐ ดังที่ Louis XVI แห่งฝรั่งเศส ประกาศในปี 1793 ว่า “I am the state.”
            ในสมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย เมื่อกล่าวถึงคำว่า รัฐ หรือ รัฐชาติ มีความหมายในลักษณะที่ว่า พระองค์เป็นเจ้าของรัฐ

องค์ประกอบของรัฐสมัยใหม่

คำถามเพื่อการอภิปราย รัฐ (สมัยใหม่) ต้องมีอะไรเป็นองค์ประกอบ หรืออย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นรัฐ

องค์ประกอบของรัฐสมัยใหม่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากในแวดวงวิชาการ มีการอธิบายที่แตกต่างกันออกไป
แต่โดยทั่วไป องค์ประกอบของรัฐประกอบด้วย
1.      ดินแดนหรืออาณาเขต (Territory)
1.         ดินแดนดังกล่าวรัฐจะต้องมีอธิปไตยเหนือดินแดนและต่างชาติรับรองด้วย ประกอบด้วยพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน ที่อยู่ใต้แผ่นดิน พท.เหนือน่านฟ้า รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นพื้นน้ำ
2.         การมีดินแดนเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการเป็นรัฐ เพราะยังไม่มีรัฐบาลใดที่เป็นรัฐบาลเสมือนจริงที่ได้รับการรับรองจากประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศใดๆ
o  ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในประเทศพม่าไม่อาจประกาศตัวเป็นรัฐได้ เพราะนานาชาติให้การยอมรับดินแดนพม่าในปัจจุบันมานานแล้ว
o  ชาวเคิร์ดซึ่งกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศโดยเฉพาะอิรัก อิหร่าน ตุรกี แม้ในประวัติศาสตร์ ในทางมานุษยวิทยา ให้การยอมรับว่ามีชนชาวเคิร์ดที่เคยเป็นอาณาจักรในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบัน พท.ที่คนเหล่านี้อาศัยอยู่ได้แยกออกเป็นหลายประเทศ ทำให้ชาวเคิร์ดกลายเป็นพลเมืองของประเทศเหล่านี้แทนที่จะเป็นรัฐของตนเอง หรือชาวมอญตามแนวชายแดนไทยพม่า
3.         ในกรณีนี้ ไม่รวมถึงรัฐบาลพลัดถิ่น (Government in Exile) ซึ่งมักเป็นสภาพชั่วคราวไม่ถาวร โดยการจัดตั้งรัฐบาลหรือย้ายที่ทำการรัฐบาลไปตั้งอยู่ในดินแดนรัฐอื่นที่ไม่ใช่ของตนเอง เนื่องจากสูญเสียอำนาจควบคุมดินแดนให้กับกลุ่มก่อการที่ได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา
4.         แม้ว่าตัวรัฐอาจรับรองดินแดนที่ตัวเองยึดถือว่าเป็นของตนนั่นเป็นแง่มุมหนึ่ง แต่หากต่างชาติไม่รับรอง ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง
ยกตัวอย่าง เช่น เมื่ออิรักภายใต้การนำของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน สามารถบุกยึดประเทศคูเวต ได้ประกาศว่าคูเวตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน แต่สหประชาชาติไม่ให้การรับรอง
ยกตัวอย่าง เกาะไต้หวัน ซึ่งมีรัฐบาลไต้หวันปกครองอยู่ ในขณะที่รัฐบาลจีนถือว่าเกาะไต้หวันเป็นจังหวัดหนึ่งของตน เป็นดินแดนของตนที่กลุ่มก่อการ (รัฐบาลไต้หวัน) เข้าถือครองโดยมิชอบ และสหประชาชาติให้การยอมรับว่าจีนมีหนึ่งเดียว ทำให้ในเวทีระหว่างประเทศรัฐบาลไต้หวันไม่ค่อยได้รับการยอมรับว่าเป็น รัฐ การดำเนินติดต่อทางการทูตของรัฐบาลไต้หวันกับต่างประเทศจึงยากลำบาก ปัจจุบัน มีประเทศเล็๋กๆ ไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลไต้หวันอย่างเป็นทางการ
5.         ความสำคัญของดินแดนนอกจากอยู่ที่เรื่องอธิปไตยแล้ว ยังมีความสำคัญในเชิงทรัพยากรที่ได้จากดินแดนเหล่านั้นด้วย ประเทศย่อมหวังมีดินแดนอุดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย เหมาะแก่การเพาะปลูกมีอาหารพอแก่การเลี้ยงดูประชากร มีทรัพยกรต่างๆ ที่จำเป็นแก่การพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างประเทศได้ เช่น ทรัพยกรใต้มหาสมุทร

2.      มีประชากรอาศัยอยู่ (Population)
o   ประชากร (population) หมายถึงคนทั้งหมด ซึ่งยังแบ่งออกเป็นประเภทอีก เช่น พลเมือง (citizen) คนต่างด้าว (alien)
o   ไม่มีการระบุชัดว่าจำนวนเกี่ยวข้องกับการสถาปนารัฐสมัยใหม่
o   รัฐที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ Vatican มี 860 คน ส่วนจีนมีถึง 1.3 พันล้านคน
o   มีลักษณะพิเศษในบางรัฐ เช่น พลเมืองของรัฐหนึ่งในสหภาพยุโรปมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นของอีกรัฐหนึ่งที่ตนเองกำลังอาศัยอยู่ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ นับแต่ปี 1996 ชาวเม็กซิโกที่ย้ายถิ่นฐานถาวร (emigrate) ไปอยู่ในสหรัฐฯยังสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีเม็กซิโก

3.      มีองค์กรภายในรัฐ (Internal organization) หรือมีรัฐบาล (government) บริหารประเทศ
o  ความเป็นรัฐอยู่คู่กับการมีระบบบริหาร มีอำนาจและโครงสร้างการบริหารภายในรัฐ
คำถาม หากรัฐบาลของรัฐหนึ่งๆ มีอำนาจในการบริหารจัดการภายในประเทศ (อย่างน้อยในระดับหนึ่ง) แต่ไม่ได้รับการรับรองจากต่างชาติ ยังถือว่ารัฐดังกล่าวมีองค์ประกอบแห่งรัฐครบหรือไม่

คำถามเพื่อการวิพากษ์ ในกรณีรัฐบาลพลัดถิ่นถือว่าเป็นรัฐที่ครบองค์ประกอบหรือไม่

4.      มีอธิปไตย (sovereignty) ไม่มีประเทศใดที่มีอำนาจเหนืออาณาเขตของประเทศนั้น
o  รัฐ San Marino ตั้งอยู่ล้อมรอบด้วยดินแดนของประเทศอิตาลี ดินแดน 24 ตร.ไมล์ ประชากรราว 2.5 หมื่นคน เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) มีสิทธิออกเสียงในสมัชชาสหประชาชาติเท่ากับชาติอื่นๆ

5.      ต่างชาติรับรู้ในความเป็นรัฐ (diplomatic recognition)
หากย้อนดูประวัติศาสตร์จะพบว่า รัฐหรืออาณาจักรในสมัยโบราณ การที่ต่างชาติจะรับรู้ความเป็นรัฐหรือไม่นั้นไม่ช่วยหรือไม่ทำให้ความเป็นรัฐหรืออาณาจักรของตนดำรงอยู่หรือไม่ เพราะแต่ละรัฐหรืออาณาจักรก็สร้างและดำรงอยู่ด้วยตัวของตัวเอง แต่ในความเป็นรัฐสมัยใหม่ มีคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต่างชาติต้องรับรู้ในความเป็นรัฐของตน

ยกตัวอย่าง เมื่ออิสราเอลประกาศความเป็นรัฐในปี 1948 สหรัฐฯกับสหภาพโซเวียตยอมรับทันที แต่ชาติอาหรับใกล้เคียงเห็นว่ารัฐอิสราเอลที่ประกาศนั้นเป็นดินแดนที่ชาวยิวรุกราน จึงถือสิทธิความชอบธรรมที่จะส่งทหารเพื่อบุกยึดอิสราเอล
ปัจจุบัน รัฐต่างๆ ส่วนใหญ่รวมทั้งสหประชาชาติ ไม่ยอมรับไต้หวันว่าเป็นรัฐ ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่หลายรัฐติดต่อกับไต้หวันโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ มีเพียงราว 20 รัฐเท่านั้นที่ยอมรับไต้หวันในฐานะรัฐอธิปไตย แม้ว่าไต้หวันจะประกาศว่าตัวเองเป็นประเทศอธิปไตยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นประเด็นถกเถียง มีนักวิชาการบางท่านแย้งงว่า แม้ว่าต่างชาติไม่ให้การยอมรับ แต่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มี 4 ข้อแรกนั้น สามารถทำให้รัฐนั้นมีความเป็นรัฐในตัวมันเอง แม้ทุกประเทศทั่วโลกไม่ติดต่อไม่คบค้าด้วย รัฐนั้นก็สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง (แม้อาจไม่ดีเท่าการที่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับนอกประเทศ) ส่วนที่รัฐหรือประเทศอื่นจะรุกรานนั้นถือว่าเป็นการทำสงครามแย่งชิงดินแดนทั่วไป และการไม่ยอมรับจากต่างชาติหรือองค์การระหว่างประเทศถือว่าเป็นกลไกการเมืองระหว่างประเทศ เช่น ในสมัยสงครามเย็น ฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตยโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกตั้งองค์การนาโต้ ส่วนกลุ่มประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอร์ ต่างฝ่ายต่างจับกลุ่มของตนและทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

6.      พลเมืองในชาติยอมรับ (domestic support)
คือการที่พลเมืองในชาติยอมรับผู้ปกครอง ระบอบการปกครอง เพราะที่สุดแล้วรัฐนั้นอาจไม่ดำรงอยู่ต่อไป เช่น อดีตสหภาพโซเวียต อดีตยูโกสลาเวีย
เมื่ออดีตสหภาพโซเวียตยกเลิกระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ทำให้หลายรัฐขอแยกตัวออก เหตุผลหนึ่งคือเนื่องจากพลเมืองเหล่านี้ไม่ยอมรับอีกต่อไปว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย
ประเด็นนี้น่าสนใจว่า ความเป็นรัฐสามารถสูญสิ้นหรือถูกคุกคามด้วยปัจจัยภายในรัฐ โดยเฉพาะจากประชาชนของตนเอง ในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยการใช้ความรุนแรง ทำการปฏิวัติรัฐประหาร แต่หมายถึงการแยกประเทศออกจากประเทศแม่
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120
ชาญชัย คุ้มปัญญา
--------------------------