รัฐ (1)

นิยามคำว่ารัฐ
            ชีวิตของเราผูกพันกับรัฐอย่างมากตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เมื่อเกิดมาก็ต้องแจ้งเกิด และมีผลผูกพันกับรัฐในอีกหลายทาง จนสุดท้ายเมื่อเสียชีวิตก็ต้องให้ญาติพี่น้องแจ้งตายกับสำนักงานเขตหรืออำเภอด้วย
            อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงคำว่า รัฐ นักวิชาการในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปเป็นนิยามที่เห็นร่วมกันได้ แม้รัฐนั้นมีอยู่จริงและทุกคนเข้าใจได้เมื่อพูดถึงคำว่ารัฐ
            ดังนั้น เพื่อให้ง่ายที่จะทำความเข้าใจ จึงเริ่มด้วยการให้นิยามรัฐที่เข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อน

มีคำสามคำที่มักจะพูดในความหมายเดียวกัน คือ คำว่า รัฐ (state) ชาติ (nation) ประเทศ (country) ทั้งสามคำมักใช้แทนกันได้ แต่แท้จริงมีความหมายต่างกัน
รัฐ (state) หมายถึง เขตหรืออาณาบริเวณที่มีการปกครองด้วยตัวเอง มีอธิปไตย
รัฐที่กำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นรัฐสมัยใหม่ ที่เริ่มเกิดขึ้นจากทวีปยุโรป
ส่วนรัฐ (State-สังเกตุว่าเป็น ‘S’ ไม่ใช่ ‘s’) หมายถึงรัฐย่อยในรัฐใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ประกอบด้วยหลายรัฐ (State)
ประเทศ (country) เน้นในความหมาย อาณาบริเวณที่คนอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ละประเทศมีที่ตั้ง ลักษณะภูมิศาสตร์เฉพาะ
เช่นประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาติ (nation) เน้นในความหมาย มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เชื้อสาย มีภาษา มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วม ทั้งหมดก่อให้มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มักจะแสดงออกให้เป็นชัดผ่านเอกลักษณ์ต่างทั้งรูปร่างหน้าตา ภาษา พฤติกรรม
นิยามคำว่า ชาติ จะเกี่ยวข้องกับ อุดมการณ์ชาตินิยม (Nationalism) เป็นอุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญกับชาติหรือความเป็นชาติอย่างมาก ผลประโยชน์ของชาติมีความสำคัญยิ่งกว่าผลประโยชน์ของส่วนบุคคล เรียกร้องให้ประชาชนเสียสละผลประโยชน์ตนเองเพื่อชาติ
ทั้งสามคำ จำง่ายๆว่า รัฐ เน้นมีอำนาจอธิปไตย ประเทศเน้นอาณาบริเวณ ส่วนชาติเน้นมีวัฒนธรรมร่วม ความรู้สึกถึงผลประโยชน์ร่วมกัน

ยกตัวอย่าง ในอดีตมีคนจีน (ชาติจีน) เดินทางมาอาศัยประเทศไทย และต่อมาแต่งงานมีลูกหลานเกิดในไทย ลูกหลานเหล่านี้เป็นคนชาติไทยโดยที่ยังมีความเป็นชาติจีน (เชื้อสายจีน) ผสมอยู่ อาศัยอยู่ในประเทศไทย ภายใต้การปกครองของรัฐไทย
คนชาติไทยมีสัญชาติ (Nationality) ไทย

ส่วนคำว่า รัฐชาติ (Nation-state) หมายถึง
หมายถึง รัฐอธิปไตยที่พลเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้ความเป็นชาติ มีความสัมพันธ์หรือพฤติกรรมบางอย่างร่วม เช่น ภาษาหรือความการสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์
หมายถึง คนของชาติที่ก่อตั้งเป็นรัฐหรือประเทศ
ตัวอย่างที่เด่นชัด เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ซึ่งประกอบด้วยคนเผ่าพันธุ์ญี่ปุ่นหรือเยอรมันที่ก่อตั้งเป็นประเทศ
แต่รัฐชาติส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักประกอบด้วยคนหลายเชื้อสาย (หลายชาติมารวมกัน) เช่น ประเทศไทยก็ประกอบด้วยคนหลายเชื้อสาย
คนบางชาติไม่มีรัฐ เช่น พวกเคิร์ด ที่กระจายอยู่ในหลายประเทศโดยเฉพาะตุรกี อิรัก อิหร่าน หรือพวกมอญ ที่กระจายอาศัยอยู่ในพม่ากับไทย

 แนวคิด ทฤษฎีกำเนิดแห่งรัฐ (Origin of State)

·       เกริ่น
รัฐในที่นี้หมายถึงรัฐในความหมายทั่วไป อาจเป็นประเทศ อาณาจักรโบราณก็ได้
·        การหาคำตองเรื่องกำเนิดแห่งรัฐมีทั้งที่เป็นแนวคิดกับทฤษฎี มีแนวคิด ตัวอย่างทฤษฎีกับแนวคิดที่สำคัญ เช่น ...

·       ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (divine right theory)
หลักสำคัญของทฤษฎีนี้คือรัฐมีกำเนิดจากพระประสงค์ของพระเจ้าหรือเทพ ทฤษฎีนี้ยังแบ่งออกไปอีกหลากหลายตามความเชื่อของแต่ละพื้นที่แต่ละศาสนา
โดยรวมแล้ว ทฤษฎีนี้เชื่อว่าพระเจ้าส่งผู้ปกครองหรือแต่งตั้งผู้ปกครองมาปกครองประชาชน ดังนั้น ประชาชนต้องยอมรับอำนาจการปกครองจากคนเหล่านี้ เช่น ฮ่องเต้ของอาณาจักรจีนโบราณเป็นโอรสแห่งสวรรค์ที่ถูกส่งลงมาปกครองโลกมนุษย์ ได้รับอำนาจอันชอบธรรมจากสวรรค์
            เซนต์ ออกัสติน มีความเห็นว่า รัฐหรือสถาบันการปกครองเกิดขึ้นเพราะผลของบาปที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นไว้ สถาบันการปกครองทั้หลายนั้นเกิดขึ้นตามความประสงค์ของพระเจ้า บรรดาผู้ปกครองทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นตามความประสงค์ของพระเจ้า บรรดาผู้ปกครองทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่ได้รับอำนาจหน้าที่มาจากพระเจ้าทั้งสิ้นเพื่อที่จะสร้างสรรค์สันติภาพและความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในโลกมนุษย์
            ความเชื่อแบบคริสต์ถือว่าพระเจ้าแต่งตั้งหรือให้อำนาจแก่บางคนเพื่อเป็นผู้ปกครอง และชาวยุโรปโบราณถือความเชื่อนี้ที่แม้ในยุคกลาง (Middle Age) ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ต้องได้รับการประกอบพิธีกรรมรับมอบอำนาจจากประมุขศาสนาเสียก่อน
            ทฤษฎีเทวสิทธิ์นี้แม้จะต่างกันว่าพระเจ้าใดเป็นผู้สร้างรัฐ แต่ได้รับการยอมรับในแถบทุกศาสนา ทุกภูมิภาคทั่วโลก และใช้อยู่นานนับพันปีจนเสื่อมความนิยมมาสมัยเมื่อมนุษย์มีความรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นและลดความเชื่อเรื่องศาสนา
            ดังนั้น คนที่เชื่อทฤษฎีเทวสิทธิ์นี้จึงเป็นผู้ที่ยึดหลักศาสนาหรือความเชื่อของตนเป็นสำคัญ

·       แนวคิด การตอบสนองความต้องการของกันและกัน
เพลโต้ (Plato) ถือว่า รัฐเกิดขึ้นในเบื้องแรกเพื่อสนองความต้องการอันจำเป็นซึ่งกันและกันของคนเรา ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าคนเรานั้นมีความจำเป็นมากมายหลายอย่างและเขาก็ไม่สามารถที่จะสนองความต้องการทุกอย่างของเขาด้วยตัวเขาเองได้ ในที่สุดคนเราก็จะเรียกร้องความช่วยเหลือจากคนอื่นๆเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของเขา และเมื่อเราสามารถที่จะรวบรวมจำนวนคนที่จะช่วยเราในเรื่องความต้องการแต่ละอย่างเข้ามาอยู่ร่วมกันในสถานที่เดียวกัน เราเรียกสถานที่นั้นว่ารัฐหรือ Polis”
ตามทรรศนะของเพลโต้นี้การเกิดขึ้นของรัฐเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รัฐเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะตอบสนองความต้องการทั้งหลายของคนเรา ดังนั้นคนเราจะมีความสมบูรณ์พูนสุขได้ก็แต่โดยอาศัยอยู่ในรัฐเท่านั้น ปราศจากรัฐเมื่อไรคนอาจจะพบกับความหายนะหรือความเสื่อมทรามของชีวิตในที่สุด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขาเชื่อว่าธรรมชาติของคนนั้นเป็นสัตว์สังคม จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคม (การมือง) เท่านั้นจึงจะมีความเป็นคนที่สมบูรณ์นั่นเอง

คำถามชวนคิด การเมืองในปัจจุบันช่วยให้มีชีวิตดีขึ้นหรือแย่ลง ควรที่จะแยกอยู่คนเดียวในโลกหรือไม่

            ทรรศนะของอริสโตเติลสอดคล้องกับเพลโต เขาเห็นว่าคนนั้นมีสัญชาติญาณที่จะแสวงหาอำนาจและสิ่งที่จะสนองความต้องการของคน ทั้งหลายเหล่านี้ไม่สามารถที่จะหาได้จากที่อื่นนอกจากภายในรัฐเท่านั้น ดังนั้นรัฐจึงเป็นประชาคมซึ่งทำให้ชีวิตของคนเราดีขึ้นและสมบูรณ์ขึ้นกว่าที่ไม่มีรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีชีวิตมนุษย์ที่แท้จริงอยู่ภายนอกรัฐ

            คำถามอภิปราย นักวิชาการบางท่านตั้งคำถามว่ารัฐไทยมีขนาดใหญ่ไปหรือไม่ จากการที่คนไทยปัจจุบันจำนวนมากขาดความรู้สึกความเป็นคนของรัฐ มีเพียงความรู้สึกหลวมๆ อาจยึดโยงกับบางสถาบันโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ คนชนบทผูกพันกับสังคมเล็กๆ ของตัวเองเป็นหลัก รัฐที่คนชนบทต้องการจึงเป็นรัฐเล็กๆไม่ใช่รัฐไทย

·       แนวคิด ความจำเป็นเพื่อการรักษาความยุติธรรมในสังคม
โธมัส มอร์ (Thomas Moore) เห็นว่า รัฐเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการที่จะประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม แม้ว่าพื้นฐานของสังคมนั้นจะประกอบด้วยครอบครัวต่างๆ อำนาจดำเนินการใดๆ ทั้งหลายจะอยู่ที่หัวหน้าครอบครัว การสร้างความยุติธรรมพื้นฐานทั่วๆไปนั้นสามารถพบได้ในครอบครัว แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่โตโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญาแล้วจำเป็นที่จะต้องเรียกหารัฐเป็นผู้ชี้ขาด เพราะสิ่งนี้อยู่นอกเหนือความสามารถของแต่ละครอบครัวแล้ว เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของรัฐก็คือความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยและธำรงค์ไว้ซึ่งความยุติธรรมนั่นเอง

·       ทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contact theory)
 โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ.1588-1679) พูดถึงทฤษฎีสัญญาประชาคม ในทรรศนะของฮอบส์ ความต้องการความั่นคงปลอดภัยในชีวิตของคนเราคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐขึ้นมา ... และทำสัญญาต่อกัน ยอมสละอำนาจส่วนตัวและสร้างอำนาจร่วมขึ้นมาเพื่อที่จะบังคับไม่ให้คนประพฤติตนไปในทางเป็นภัยอันตรายหรือละเมิดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของผู้อื่น ทุกคนรู้ดีว่าจำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจร่วมนี้เพื่อรักษาชีวิตของตนเองหลีกหนีความตาย การเกิดขึ้นของอำนาจร่วมนี้เองก็คือการเกิดขึ้นของรัฐหรือสังคมการเมืองซึ่งฮอบส์เรียกว่าจักรภพ (Commonwealth) อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเจตจำนงร่วมของผู้ที่เข้ามาอยู่ร่วมกันในสังคมในลักษณะของสัญญาประชาคม ซึ่งต้องอยู่บนรากฐานของศีลธรรมและสมมติฐานที่ว่าถ้าคนหนึ่งสัญญาว่าจะกระทำการหรืองดเว้นไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว บุคคลอื่นที่ร่วมเป็นคู่สัญญาจะต้องถือปฏิบัติอย่างเดียวกันด้วย เมื่อมีการทำสัญญาจัดตั้งอำนาจร่วมขึ้นมาแล้ว ซึ่งถือเป็นอำนาจสูงสุดในจักรภพนั้น ย่อมต้องมีการจัดตั้งองค์กรที่ใช้อำนาจร่วมดังกล่าวด้วย องค์กรที่ว่านี้ก็คือองค์อธิปัตย์ (Sovereign) หรือผู้ปกครองนั่นเอง

จอห์น ล็อค (John Locke, ค.ศ.1632-1714) มองว่าธรรมชาติมนุษย์มีเหตุผลและศีลธรรม สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ แต่ด้วยการมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตย่อมทำให้เกิดเหตุการณ์การอ้างเสรีภาพของตนละเมิดเสรีภาพคนอื่น เกิดความขัดแย้งกันในการใช้เสรีภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเสรีภาพของทุกคนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จึงเห็นว่าควรมีองค์กรที่ดูแลการใช้เสรีภาพของทุกคน
ล็อคเห็นว่าสัญญาประชาคม เกิดขึ้นจากความยินยอมของทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพยสิน ความมั่นคงในการดำรงชีพ ความสะดวก ตลอดจนสันติภาพระหว่างกัน ทุกคนพร้อมที่จะสละสิทธิที่จะลงโทษการละเมิดกฎธรรมชาติด้วยตัวของเอง และรับรู้อำนาจบังคับที่เป็นอิสระต่อพวกเขาและอยู่เหนือพวกเขา ดังนั้นรัฐจึงเกิดจากการสละสิทธิดังกล่าวของมนุษย์จำนวนหนึ่งซึ่งเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมพื่อจัดตั้งองค์คณะการเมืองขึ้น หลังจากนั้นเมื่อมนุษย์คนอื่นๆเข้ามาอยู่รวมเป็นสังคมการเมือง (รัฐ) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นแล้วเขาก็ต้องยอมรับกฎข้อบังคับต่างๆของสังคม

ฌ็อง ฌาก รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) เป็นนักเขียนและนักปรัชญาฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1712-1778 งานสำคัญของท่านคือ หนังสือสัญญาประชาคม (Social Contract) พิมพ์ในปี ค.ศ. 1762 หนังสือเล่มนี้เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์กันของคนในสังคม ต้องการสร้างเอกภาพขององค์คณะสังคม และที่สำคัญก็คือต้องการให้ผลประโยชน์ส่วนตัวของคนเรานั้นอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ส่วนรวมหรือที่เรียกว่าเจตจำนงทั่วไป อย่างไรก็ตามเมื่อคนเราจะต้องถูกปกครองแล้ว การจะลดความทุกข์อันเกิดจากกรณีดังกล่าวนี้ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนพร้อมใจกันเข้ามามีส่วนร่วมในการออกระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม ซึ่งนั่นก็หมายความว่าทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจอธิปไตยนั่นเอง ความชอบธรรมทั้งหลายจึงจะเกิดขึ้น และนี่เองคือจุดเริ่มต้นแนวคิดเสรีนิยมของรุสโซซึ่งเป็นเจ้าของความคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
            ชุมชนทางการเมืองหรือรัฐตามแนวคิดของรุสโซจึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยที่ยึดหลักเจตจำนงทั่วไป (General Will) อันเป็นเจตจำนงที่มีเหตุผลเป็นพื้นฐาน ทำให้รัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงตามเจตจำนงของประชาชนและเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงเป็นเพียงองค์กรที่มีหน้าที่ดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่และให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนส่วนรวม

·       แนวคิด แสวงหาผู้ปกป้อง
 นิโคโล มาเคียเวลลี่ (Niccolo Machiavelli, 1469-1527) มองธรรมชาติของคนในแง่ลบ เห็นแก่ตัว ก้าวร้าว ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา ชอบต่อสู้แข่งขัน แสวงหาอำนาจ โลภ ฯลฯ จากลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้คนที่แข็งแกร่งกว่าได้เปรียบคน คนอ่อนแอจะถูกทำลาย ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกข่มเหงรังแก สังคมในลักษณะนี้จึงมีแต่ความวุ่นวาย ขาดความมั่นคง เมื่อเป็นเช่นนี้บรรดาพวกที่อ่อนแอจึงยอมมอบตัวอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของผู้ที่แข็งแรงกว่า และบุคคลผู้นี้องที่จะเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ทางสังคมเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย สวัสดิภาพและสันติภาพขึ้นในสังคม และนี่ก็คือบ่อเกิดของรัฐนั่นเอง

·       ทฤษฎีการใช้กำลังบังคับ (force theory)
ทฤษฎีนี้มุ่งอธิบายว่ามนุษย์หากอยู่ลำพังย่อมถูกผู้มีกำลังเหนือกว่ากดขี่ข่มเหง จึงต้องอยู่รวมกันเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรวมถึงการไปรุกรานผู้อื่นด้วย การอยู่รอดจากภัยคุกคามด้วยกำลังจากภายนอกและการสร้างความยิ่งใหญ่ให้มีอำนาจมากขึ้นกับกลุ่มตัวเองจึงเป็นเหตุจำเป็นให้เกิดการรวมตัวกัน เกิดเป็นรัฐที่มีอำนาจอันชอบธรรมในการใช้กำลังทั้งเพื่อการปกป้องตัวเองและเพื่อรุกรานคนอื่น ลัทธินาซีสนับสนุนทฤษฎี

·       ทฤษฎีธรรมชาติ (Natural Theory) หรือทฤษฎีสัญชาตญาณ (Instinctive Theory)
ทฤษฎีนี้อธิบายว่าเป็นธรรมชาติหรือสัญชาตญาณของมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัว เป็นตระกูล เป็นเผ่า เหมือนสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดที่อยู่เป็นสังคมขนาดใหญ่ เช่น สังคมมด สังคมผึ้ง สังคมลิง ซึ่งภายในสังคมหรือกลุ่มก้อนเหล่านี้มีระบบระเบียบ มีการแบ่งหน้าที่การทำงาน มีการบริหารจัดการ มีผู้นำ การอยู่เป็นกลุ่มสังคมแบบนี้ทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้ดีกว่าการอยู่คนเดียว มนุษย์เองก็ได้เรียนรู้ประโยชน์จากการอยู่ร่วมกันด้วย และเกิดการพัฒนาการบริหารจัดการ การปกครองในกลุ่มของตนเองว่าควรเป็นอย่างไรจึงจะดีที่สุด
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120
ชาญชัย คุ้มปัญญา
--------------------------