รัฐ (3)

อำนาจอธิปไตย (sovereignty) หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ
“อำนาจอธิปไตย ความหมาย”
            Stanford Encyclopedia of Philosophy ชี้ว่าความหมายของอำนาจอธิปไตยเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามยุคสมัย แต่ทั้งหมดมีแก่นความหมายตรงกันว่า คือ สิทธิอำนาจสูงสุดในเขตแดน หรือ “supreme authority within a territory”
New Columbia Encyclopedia ให้นิยามว่า สิทธิอำนาจสูงสุดของชุมชนการเมือง หรือ “the supreme authority in a political community”
โดยรวมแล้วสรุปได้ว่า อำนาจอธิปไตย (sovereignty) หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ

รัฐอธิปไตย (sovereign state) บางทีเรียกว่า รัฐเอกราช (independent state) คือรัฐที่การตัดสินใจว่าจะกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐหรือหน่วยการเมืองอื่น
เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นก็คือสูญเสียเอกราช สูญเสียอธิปไตย ไม่มีอิสระในการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า รัฐเอกราช เน้นใช้ถึงการยอมรับจากรัฐอื่นๆ

            คำถาม รัฐที่ปกครองโดยรัฐบาลหุ่น หรือรัฐบาลหุ่นเชิดจากประเทศอื่น เช่นอาจเป็นเจ้าอาณานิคมเดิม โดยที่รัฐบาลหุ่นซึ่งเป็นคนในชาตินั้นแต่บริหารประเทศด้วยการถูกบังคับควบคุมจากเจ้าอาณานิคม ถือว่าประเทศรัฐบาลหุ่นเป็นประเทศที่มีอธิปไตยหรือไม่

“แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย”
·       ประวัติการก่อกำเนิด
แนวคิดอำนาจอธิปไตยก่อตัวในสมัยกลางของยุโรป (Middle Ages) ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 500-1350 เมื่อผู้ปกครองยุโรปพยายามแยกตัวจากอำนาจของ Holy Roman Empire และอำนาจของสันตะปาปา อีกทั้งกษัตริย์สามารถรวบรวมอำนาจที่กระจายตัวอยู่กับผู้นำระดับท้องถิ่น ทำให้กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของดินแดนที่ตนเองครอบครอง

·       เหตุแห่งการถกเถียง
            อำนาจอธิปไตยจะกลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญเมื่อสังคมไม่ชัดว่าใครหรือสถาบันใดเป็นผู้มีสิทธิอำนาจอันชอบธรรมที่จะครอบครองอำนาจปกครองสูงสุด
            กษัตริย์สยามในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีอำนาจอธิปไตย พระดำรัสเป็นกฎหมาย มีอำนาจเหนือประชาชนทุกคนในแผ่นดิน สามารถกระทำการใดๆต่อประชาชนแม้กระทั่งสั่งประหารชีวิตโดยไม่มีการไต่สวน

·       แนวคิดจากคัมภีร์ไบเบิ้ล
ด้วยความเชื่อว่าพระเจ้าคือผู้มีอำนาจสูงสุด เป็นเจ้าของทุกอำนาจในสวรรค์และโลก พระเจ้าคือผู้ปกครองเหนือบรรดาประชาชาติ หรือ The Governor among the nations (Ps. 22:28) พระองค์เป็นผู้ตั้งอาณาจักรและล้มอาณาจักร ดังนั้นอำนาจอธิปไตยจึงอยู่ที่พระเจ้าของศาสนาคริสต์
อำนาจอธิปไตยจากพระเจ้านี้เป็นอำนาจสูงสุด ไม่มีอะไรต้านทานได้ และไม่จำกัด
อำนาจของทุกรัฐบาล ทุกอาณาจักรในโลกได้มาจากพระเจ้าทั้งสิ้น พระเจ้ามอบอำนาจให้แก่สถาบันหรืออาณาจักรเหล่านี้ และสามารถถอดถอนเมื่อใดก็ได้
            แต่แนวคิดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน

            ตัวอย่าง การปกครองแบบรัฐศักดิดาของยุโรปสมัยกลางเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องอำนาจของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ ในยุคนั้นนิกายคาธอลิคมีอำนาจในการปกครอง สันตะปาปาได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้าที่มีอำนาจทั้งด้านการปกครองโลกฝ่ายจิตวิญญาณ (spiritual world) กับด้านโลกฝ่ายกายภาพ (secular world) ซึ่งในยุคนั้นกษัตริย์บางองค์ยอมรับแต่บางองค์ไม่ยอมรับ เกิดการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างกัน

·       แนวคิดจากทฤษฎีเทวสิทธิ์ (divine right) ของ ฌอง โบแดง
ฌอง โบแดง (Jean Bodin) เป็นชาวฝรั่งเศส ต้องการสร้างความชอบธรรมให้แก่กษัตริย์เพื่อลดอำนาจปกครองของพระสันตะปาปาแห่งศาสนจักร จึงเสนอทฤษฎีว่าแท้จริงแล้วพระเจ้ามอบอำนาจการปกครองสูงสุดแก่กษัตริย์ไม่ใช่ศาสนจักร อำนาจอธิปไตยอยู่ในตัวคนเดียวและอยู่เหนือกฎหมาย

·       แนวคิดจากทฤษฎีสัญญาประชาคม (popular sovereign)
ทฤษฎีนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่ามนุษย์ที่อยู่ร่วมกันทำสัญญาประชาคม (social contact) เพื่อมอบอำนาจให้แก่ผู้ปกครองที่จะดูแลพวกเขาทั้งหมด มนุษย์จึงเป็นผู้สร้างรัฐ

·       แนวคิด รัฐสมัยใหม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของอีกรัฐหนึ่ง
การทำสนธิสัญญาสันติภาพที่เวสฟาเลีย (Peace of Westphalia) เมื่อปี 1648 รัฐสมัยใหม่ที่เข้าร่วมสันธิสัญญายอมรับการดำรงอยู่รัฐสมัยใหม่อื่น และรัฐสมัยใหม่กลายเป็นเขตแดนของอำนาจอธิปไตย การแทรกแซงจากรัฐอื่นเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อำนาจอธิปไตยของไทยในปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ระบุไว้ในมาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุไว้ในมาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

ข้อคิดที่ได้จากแนวคิดอำนาจอธิปไตย
1)      แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเท่าที่ศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะพูดถึงที่มาแห่งอำนาจและการใช้อำนาจดังกล่าว ใครเป็นผู้ถืออำนาจ
2)      ยังไม่มีความชัดเจนถึงที่มาของอำนาจอธิปไตย หรือยังถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร
3)      แต่เราไม่อาจปฏิเสธว่าอำนาจอธิปไตยนั้นมีอยู่จริงในการเมืองการปกครองในปัจจุบัน และประชาชนส่วนใหญ่เคยชินกับการอยู่ภายใต้อำนาจนี้
4)      ในระบอบอการเมืองการปกครอง อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยมอบให้รัฐไปใช้ รัฐกลายเป็นตัวแสดงหลักของเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นตัวแทนของประชาชนแห่งรัฐนั้น

“ลักษณะของอำนาจอธิปไตย”
1.      เป็นอำนาจสูงสุด
ไม่มีอำนาจที่สูงกว่าอำนาจอธิปไตยอีกแล้ว
2.      ครอบคลุมไปทั่วอย่างบริบูรณ์ คือมีอำนาจตกทุกคน ทุกองค์กรในรัฐ
3.      มั่นคงถาวร ไม่สูญสลาย อำนาจอธิปไตยอยู่คู่กับความเป็นเอกราชของรัฐ
4.      แบ่งแยกไม่ได้
5.      แต่ละรัฐมีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย (legal equality among states)

“การสั่นคลอนอำนาจอธิปไตย”
มีในหลายรูปแบบ
รูปแบบ 1 การแทรกแซงกิจการของอีกประเทศหนึ่ง
·       ปัจจุบัน มีแนวคิดบางอย่างที่ทำให้แทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศหนึ่ง (เท่ากับว่ารุกล้ำอธิปไตย) เช่น หลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือหลักยุติธรรมสากล (universal humanitarian intervention or universal jurisdiction) ประเทศที่แทรกแซงมากคือสหรัฐฯ นอกนั้นคือประเทศอื่นๆในยุโรปตะวันตก
o   เฉพาะในทศวรรษ 1990 สหรัฐฯมีปฏิบัติการทางทหารด้วยเหตุมนุษยธรรม ถึง 4 ครั้ง คือ ในประเทศ โซมาเลีย ไฮติ บอสเนีย และโคโซโว

รูปแบบ 2 การรวมตัวเป็นสหภาพหรือองค์การที่ใหญ่กว่ารัฐของตัว
·       การรวมตัวของหลายประเทศในยุโรปตะวันตกกับตะวันออกเป็นสหภาพยุโรป เป็นอีกลักษณะที่สำคัญของการสั่นคลอนอธิปไตยของรัฐชาติเก่าๆ
o   รัฐชาติเดิมได้สละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้กับองค์การหรือสหภาพที่ใหญ่กว่ารัฐของตัว
o   อย่างไรก็ตาม เป็นอธิปไตยแบบใหม่ในรูปสหภาพ และอาจกลายเป็นรัฐหนึ่งเดียวในอนาคต
o   การรวมกลุ่มในบ้างด้านก็เป็นการสั่นคลอนอธิปไตยในลักษณะเดียวกันนี้ คือ การเกิดเขตการค้าเสรีต่างๆ อย่าง North American Free Trade Agreement (NAFTA), Mercosur in South America, the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)
o   ยกตัวอย่าง สหภาพยุโรป (European Union) มีอำนาจปกครองเหนือรัฐสมาชิกในด้านเงินตรา นโยบายการค้าและนโยบายสวัสดิการสังคมบางเรื่อง แต่รัฐสมาชิกยังมีอำนาจอธิปไตยในด้านการป้องกันตัวเอง ดังนั้นรัฐอธิปไตยที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจึงไม่มีอำนาจอธิปไตยทุกด้าน หรือในทางกลับกัน อำนาจอธิปไตยของสหภาพยุโรปไม่ครอบคลุมทุกด้าน

·       การสั่นคลอนอำนาจอธิปไตยที่เป็นประโยชน์ด้วยใจสมัคร
      เมื่อเราพูดถึงอำนาจอธิปไตยที่ถูกลดทอนหรือสั่นคลอน เราต้องเข้าใจด้วยว่าบางครั้งเกิดขึ้นเพราะรัฐเจ้าของอำนาจนี้สมัครใจและเกิดประโยชน์ต่อรัฐ
            Haass ยกตัวอย่างว่า การค้าขาย (trade) คือตัวอย่างที่สมบูรณ์ บรรดารัฐบาลย้ายสิทธิอำนาจ (บางส่วนของตน) ให้แก่องค์กรการค้าเช่นองค์การค้าโลก สาเหตุที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นว่าการสร้างเป็นระบบการค้าโลกจำเป็นต้องมีองค์กรรองรับเพื่อเป็นกลไกแก้ไขความขัดแย้ง
            ตัวอย่างการยอมสิทธิทางการค้า เช่น การลดกำแพงภาษีตามกรอบขององค์การค้าโลก

รูปแบบ 3 โลกาภิวัตน์
·       นิยาม โลกาภิวัตน์ (globalization) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง "การแพร่กระจายไปทั่วโลก; การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น"
·       โลกาภิวัตน์ (globalization) หมายถึง สภาพที่ส่วนต่างๆ (ไม่ได้หมายถึงทุกส่วน) ของโลกติดต่อถึงกันได้โดยง่าย ทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ทำให้ได้รับผลกระทบต่อกันและกันทั้งทางบวกและทางลบ ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางการติดต่อสื่อสาร

·       ตัวอย่างทาง สังคม วัฒนธรรม
o   เด็กนักเรียนประเทศแอฟริกาผู้ยากไร้สามารถเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนยุโรป ญี่ปุ่น ผ่านทางอินเตอร์เน็ตของโรงเรียนที่ได้รับบริจาคจากองค์กรช่วยเหลือจากต่างประเทศ เกิดการลอกเลี่ยนแบบวัฒนธรรม การกล่อมเกลาทางสังคมโดยอีกสังคมหนึ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

·       ตัวอย่างทาง เศรษฐกิจ
o   คนอินเดียที่กำลังอาศัยอยู่ในอินเดียเป็นพนักงานบัญชีให้กับบริษัทอเมริกันที่ตั้งอยู่ในอเมริกา บริษัทอเมริกันสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้แม้แรงงานนั้นอยู่นอกเขตแดนอเมริกา
o   หุ้นไทยสามารถถูกซื้อโดยโบรกเกอร์หรือนักลงทุนต่างชาติในรูปแบบต่างๆ  เงินบาทไทยถูกซื้อขายแบบเก็งกำไรจากนักเก็งกำไรทั่วโลก
o   วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เริ่มจากสหรัฐฯ ในปี 2008 กระทบไปหลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

·       ตัวอย่างทาง การเมือง
o   ภาพความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองภายในของประเทศหนึ่งที่แพร่ภาพผ่านเวบไซด์อินเตอร์เน็ตโดยที่เจ้าของประเทศไม่สามารถปิดหรือห้ามได้ทั้งหมด
·       ผลจากโลภาภิวัตน์จึงกระทบต่ออธิปไตยของชาติ เพราะรัฐไม่อาจควบคุมวิถีดำเนินชีวิตของคนไทยประเทศตามต้องการ แต่ถูกสั่นคลอนด้วยวัฒนธรรมต่างชาติ  ในทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของประเทศที่รัฐหรือทุกรัฐบาลต้องมุ่งรักษาไว้อยู่ภายใต้การคุกคามจากใครก็ได้ที่อยู่ต่างแดน ความเป็นไปทางเศรษฐกิจไม่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของตนเองเท่านั้นอีกต่อไป และในทางการเมืองรัฐยากที่จะปกปิดพฤติกรรมของตนเองและเกิดมาตรฐานใหม่ในการทำงานการเมืองว่าสื่อหรือคนต่างชาติจะคิดเห็นอย่างไร ยอมรับได้มากน้อยเพียงใด

“รัฐในอนาคต”
·       รูปแบบรัฐในอนาคตย่อมจะแตกต่างจากปัจจุบัน ดังเช่น สหภาพยุโรปได้รวมเอาหลายประเทศในยุโรปมารวมเข้าด้วยกัน ใช้สกุลเงินเดียวกัน ฯลฯ
·       แนวคิด universal state ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในปี ค.ศ.476 อำนาจการเมืองที่ครอบคลุมดินแดนยุโรปมี 2 แบบ คืออำนาจปกครองโดยผู้ปกครอง กับอำนาจของศาสนจักรโรมันคาทอลิก อำนาจหลังนี้มีสันตะปาปา (Pope) เป็นผู้นำสูงสุด และเป็นเหตุให้ภาษาลาตินเป็นภาษากลางหรืออย่างน้อยในหมู่ปัญญาชน หลักศาสนาคริสต์เป็นองค์ประกอบของแนวคิดการปกครองในสมัยนั้น และพัฒนาไปเรื่อยๆ จนในปี ค.ศ. 936 กษัตริย์ Otto I ได้รับการสถาปนาให้เป็นกษัตริย์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)

“บทบาทหน้าที่แห่งรัฐ”
            ดังกล่าวแล้วว่าทุกวันนี้มนุษย์ทุกคนในโลกล้วนอยู่ภายในรัฐใดรัฐหนึ่ง ไม่มีใครสามารถอยู่แยกโดดเดี่ยวได้
            แต่รัฐจะมีบทบาทหน้าที่ใดขึ้นอยู่กับรูปแบบรัฐ รูปแบบการปกครอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะกำหนดบทบาทหน้าที่แห่งรัฐ ซึ่งอาจจะตราเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ เช่น อาจเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ
            อุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างรัฐมีเพื่อประชาชน บางอุดมการณ์นั้นรัฐสำคัญกว่าปัจเจกบุคคล

            คำถามเพื่อการอภิปราย ประชาชนควรอยู่เพื่อรัฐ หรือรัฐควรมีเพื่อประชาชน เพราะเหตุใด จงอธิบาย

            คำถามเพื่อการอภิปราย ประชาชนชาวไทยอยู่เพื่อรัฐไทย กับ ประชาชนชาวไทยอยู่เพื่อรัฐบาลไทย แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120
ชาญชัย คุ้มปัญญา
--------------------------