ติดอาวุธพวกเคิร์ด ต่อต้านผู้ก่อการร้าย ป้องกัน IS ปะทะอิหร่าน (ตอนแรก)

กระแสข่าวชาติตะวันตกวางยุทธศาสตร์ต่อต้านกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) มุ่งชี้ไปที่ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายต่อชาติตะวันตก แต่ส่งผลต่อพวกเคิร์ดและภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างมีนัยสำคัญ บทความนี้ (แบ่งออกเป็น 2 ตอน) จะวิเคราะห์ผลทั้ง 2 ประการ และในตอนแรกนี้จะอธิบายผลต่อพวกเคิร์ด พร้อมข้อวิพากษ์ ดังนี้
สถานการณ์ล่าสุด :
            การจะเข้าใจสถานการณ์ในอิรักอย่างลึกซึ้งครอบคลุม จำต้องรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อน ในส่วนนี้จะประมวลเหตุการณ์สำคัญๆ ดังนี้
            ประการแรก ชาติตะวันตกพร้อมใจประกาศย้ำภัยคุกคามจาก IS
            ย้อนหลังไม่ถึง 2 ปีที่รัฐอิสลาม (IS) หรือชื่อเดิมคือ ISIL/ISIS เริ่มปรากฏตัว ณ ขณะนั้นมีผู้ประเมินว่ามีกำลังเพียงไม่กี่พันนาย จากนั้นก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เป็นกว่า 10,000 นาย และล่าสุดเป็น 50,000 นาย โดยเฉพาะภายหลังการประกาศสถาปนารัฐอิสลาม ทำให้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นชาวต่างชาติถึง 20,000 นาย
            รัฐบาลชาติตะวันตกหลายประเทศต่างออกมาพูดแสดงความกังวลว่า พลเมืองของตนที่เข้าขบวนการ IS และผ่านการรบในซีเรียกับอิรัก เมื่อกลับประเทศแล้วจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตน รัฐบาลกำลังติดตามคนเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างหามาตรการป้องกันต่างๆ

            นายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) นายกฯ อังกฤษประกาศยกระดับการเตือนภัยให้อยู่ในขั้นร้ายแรง (severe) เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เตือนว่า “มีความเป็นไปได้สูง” (highly likely) ที่ผู้ก่อการร้ายจะก่อการ และกำลังอยู่ระหว่างหารือเพื่อเพิ่มมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย สาเหตุหลักมาจากการที่ชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งเข้าร่วมขบวนการ IS โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่นิยมความสุดโต่ง ปัจจุบันเชื่อว่ามีชาวอังกฤษกว่า 500 คนที่เดินไปอิรักกับซีเรีย และราวครึ่งหนึ่งได้เดินทางกลับอังกฤษแล้ว สื่อ The Telegraph ของอังกฤษรายงานว่าทางการสามารถป้องกันการก่อเหตุครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง
            ในระหว่างที่สหรัฐกำลังหารือร่วมกับมิตรประเทศในขณะนี้ ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวถึง IS ว่า “พวกเขาลักพาตัวสตรีและเด็ก เพื่อนำมาทรมาน ข่มขืนและใช้เป็นทาส พวกเขาสังหารมุสลิม ทั้งซุนนีกับชีอะห์นับพันๆ คน พวกเขามุ่งเป้าต่อคริสเตียนและชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นๆ” พร้อมกับเรียกร้องว่า “บรรดารัฐบาลและประชาชนทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกลางจะต้องร่วมกันกำจัดมะเร็งร้ายนี้ เพื่อไม่ให้ลุกลามออกไปอีก” ในศตวรรษที่ 21 นี้จะต้องไม่มีที่อยู่สำหรับ ISIL

           ประการที่สอง การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีอิรักชุดใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ พวกซุนนีสนับสนุน IS
            หลังจากถูกกดดันอยู่นาน นายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) ก็ประกาศตัวไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เปิดทางให้นายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider Abadi) เป็นนายกฯ คนใหม่ ชาติตะวันตกกับอิหร่านต่างเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่จนบัดนี้ซึ่งใกล้จะครบกำหนด 30 วัน ยังไม่มีวี่แววว่านายกฯ อาบาดีจะสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยตัวแทนจากทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพวกชีอะห์ ซุนนี และพวกเคิร์ดในอิรัก
            สื่อ The New York Times รายงานว่า นักการเมืองฝ่ายซุนนีตั้งเงื่อนไขการตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลายประการ เช่น กองทัพรัฐบาลต้องหยุดยิงถล่มกองกำลัง IS ที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตพื้นที่ซุนนี ทั้งการยิงจากทางบกทางอากาศ ขอให้กองกำลังชีอะห์ถอนตัวออกจากพื้นที่ยึดครองของซุนนี ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองซุนนีที่ถูกกักตัวไม่ว่าจะมีข้อหาหรือไม่ และยอมให้อดีตพลพรรคของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนมีตำแหน่งในรัฐบาลชุดใหม่
            ไม่แน่ใจว่านายกฯ อาบาดีจะสามารถยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดของฝ่ายซุนนีหรือไม่ ความเข้าใจที่สำคัญคือ ต้องยอมรับว่าพวกซุนนีบางกลุ่มบางเผ่าในอิรักสนับสนุนการดำรงอยู่ของกองกำลัง IS สอดคล้องกับข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่า IS ไม่ได้ก่อการยึดอิรักโดยลำพัง แต่ร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของพวกซุนนี และอดีตสมาชิกพรรคบาธบางส่วน หากนายกฯ อาบาดีไม่ยอมรับเงื่อนไขอาจเป็นเหตุให้การจัดตั้งรัฐบาลอิรักชุดใหม่ยืดเยื้อออกไป ซึ่งหมายถึงการคงอยู่ของ IS ในอิรัก

            ประการที่สาม อิหร่านกับชาติตะวันตกติดอาวุธพวกเคิร์ด
            อิรักในขณะนี้สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือ พื้นที่ยึดครองโดย IS ร่วมกับพวกซุนนี ส่วนที่ 2 คือ พื้นที่ของรัฐบาลแบกแดดซึ่งมักเป็นถิ่นอาศัยของพวกชีอะห์ และส่วนที่ 3 คือดินแดนของพวกเคิร์ดในอิรัก ที่ผ่านมากองกำลัง IS กับพวกยังไม่ได้ปะทะกับพวกเคิร์ดอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม พวกเคิร์ดเรียกร้องขอการสนับสนุนทางทหารจากนานาชาติเรื่อยมา และอิหร่านเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้การสนับสนุน (อย่างเปิดเผย)
            นายมัสซูด บาร์ซานิ (Massoud Barzani) ประธานาธิบดีของรัฐบาลภูมิภาคเคิร์ด (Kurdish Regional Government) กล่าวชื่นชมรัฐบาลอิหร่านว่าได้ช่วยอิรัก “ในสถานการณ์ยากลำบาก” อีกครั้ง “เราร้องขออาวุธและอิหร่านเป็นประเทศแรกที่ให้อาวุธและกระสุนแก่เรา” พร้อมกับกล่าวว่า “เราสนับสนุนเอกภาพแห่งชาติของอิรัก ความเป็นหนึ่งเดียวและนายกรัฐมนตรีอิรักคนใหม่”
            รัฐบาลชาติตะวันตกหลายประเทศพูดถึงการติดอาวุธแก่พวกเคิร์ดเช่นกัน ประเทศแรกที่ดำเนินการแล้ว คือ เยอรมนี โดยได้ส่งอาวุธจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วยปืนเล็กยาว 16,000 กระบอก ปืนกล 40 กระบอก ระบบขีปนาวุธต่อต้านรถถัง 240 ชุด พร้อมขีปนาวุธ 500 ลูก ระเบิดมือ 10,000 ลูก ปืนพก 8,000 กระบอก และช่วยสอนให้ทหารเคิร์ดใช้อาวุธเหล่านี้

            ประการที่สี่ พร้อมโจมตีทางอากาศ
            สหรัฐเป็นประเทศแรกที่โจมตีพวก IS ทางอากาศและยังคงโจมตีเป็นระยะๆ และในช่วงนี้รัฐบาลชาติตะวันตกหลายประเทศเอ่ยถึงการโจมตี IS อังกฤษเป็นอีกประเทศที่ประกาศว่าพร้อมโจมตี IS ทางอากาศ นายกฯ คาเมรอนกล่าวว่าพร้อมจะทำทุกอย่างที่เป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ”
            จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้คือ ชาติตะวันตกร่วมใจกันประกาศว่าจะโจมตี IS โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศ นัยสำคัญคือเพื่อสนับสนุนสหรัฐซึ่งจะเป็นผู้ใช้กำลังหลัก และจำต้องระลึกว่าการโจมตีทางอากาศไม่สามารถจำกัด IS อย่างถอนรากถอนโคน แต่ช่วยปิดล้อม บั่นทอนกำลัง จำกัดขอบเขตอิทธิพลของ IS ให้ไม่เกินพื้นที่ยึดครองในปัจจุบัน

ส่งเสริมอธิปไตยเคิร์ด ละเมิดอธิปไตยอิรัก :
            ไม่มีใครปฏิเสธว่า IS เป็นภัยคุกคามต่อโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งจำต้องพิจารณาสถานการณ์ทั้งหมดอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะผลข้างเคียง ผลกระทบอื่นๆ จากการดำเนินนโยบายต่อต้าน IS ซึ่งอาจกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ต่อความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง และส่งผลต่อโลกในอนาคต
            ผลกระทบเรื่องแรกที่ชัดเจน คือ การติดอาวุธพวกเคิร์ดเท่ากับยอมรับ “การมีตัวตน” ของพวกเคิร์ด แม้ว่าประเทศที่ให้อาวุธจะพยายามอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกฯ เยอรมนีอธิบายว่าจำต้องส่งอาวุธแก่พวกเคิร์ด เนื่องจาก IS เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเยอรมนีและยุโรป ช่วย “ปกป้องชีวิตและการสังหารหมู่ในอิรัก” และ “เป็นโอกาสที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายสร้างฐานที่มั่นอันปลอดภัยของพวกเขา”
            การส่งอาวุธให้พวกเคิร์ดนับเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาเยอรมนีมีนโยบายไม่ส่งอาวุธแก่กลุ่มใดๆ ที่กำลังรบกันอยู่ การส่งมอบจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลเจ้าของประเทศ และอาจเป็นเหตุสนับสนุนให้พวกเคิร์ดแบ่งแยกดินแดนออกจากอิรัก ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายของเยอรมนี แต่ที่สุดแล้วรัฐบาลแมร์เคิลปรับเปลี่ยนนโยบาย (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ละเมิด ล้มล้างนโยบายเดิม) ติดอาวุธให้กับพวกเคิร์ด เพราะอ้างว่า ภัยคุกคามจาก IS นั้นรุนแรงกว่า

            ด้านผู้นำจิตวิญญาณอิหร่าน อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Hosseini Khamenei) เคยกล่าวว่าไม่เห็นด้วยหาก “สหรัฐหรือประเทศใดๆ จะเข้าแทรกแซงกิจการภายในอิรัก” ผ่านการต่อต้านพวกผู้ก่อการร้าย จึงเกิดคำถามว่าการที่อิหร่านมอบอาวุธแก่พวกเคิร์ด ถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของอิรักหรือไม่ แม้จะมีท่าทีเห็นว่ากองกำลังอิรักทั้งหมดมีศัตรูร่วมคือผู้ก่อการร้าย ลัทธิก่อการร้าย ลัทธิสุดโต่งในอิรักเป็นภัยคุกคามต่อทั้งพวกชีอะห์ ซุนนีและพวกเคิร์ด แต่การให้อาวุธขัดแย้งกับนโยบายสนับสนุนความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐบาลแบกแดดกับรัฐบาลภูมิภาคเคิร์ด
            เรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธคือ พวกเคิร์ดพยายามปกครองตนเองมานานแล้ว ดังที่เคยวิเคราะห์ในครั้งก่อนว่า ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของพวกเคิร์ดเต็มไปด้วยการเรียกร้องอิสรภาพ  การปกครองตนเอง สามารถย้อนหลังตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ยิ่งเมื่อสิ้นสุดระบอบซัดดัม ฮุสเซน ทำให้พวกเขาเห็นโอกาสที่จะสร้างเขตปกครองตนเอง พูดถึงการให้อิรักเป็นสหพันธรัฐ (federalism)

            แม้ว่าในทางนิตินัย ดินแดนเคิร์ดยังเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก แต่โดยพฤตินัยแล้ว มีคุณสมบัติการเป็นรัฐอธิปไตยหลายข้อ เช่น มีรัฐบาลของตนเอง มีเขตพื้นที่ปกครองชัดเจน มีประชากร มีกองกำลังของตนเอง และเรียกร้องส่งออกน้ำมันด้วยตนเองเพื่อนำรายได้เข้าเคิร์ด
            และล่าสุด คือการยอมรับ “การมีตัวตน” จากหลายประเทศ ทั้งอิหร่านและชาติตะวันตกสำคัญๆ

            ประเด็นข้อวิพากษ์ต่อพวกเคิร์ดทั้งหมด นำสู่คำถามที่ว่า การต่อต้าน IS ส่งผลสนับสนุน “ชนกลุ่มน้อยแบ่งแยกดินแดน” หรือไม่ และเพื่อผลประโยชน์ของหลายประเทศ อิรักต้องเสียสละอธิปไตยตนเอง ใช่หรือไม่

            ความพยายามต่อต้านกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) ที่ชาติตะวันตกกำลังปรึกษาหารือกันอยู่มุ่งชี้ไปที่ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายต่อชาติตะวันตก ดำเนินการหลายอย่างเพื่อต่อต้าน IS และส่งผลทำให้พวกเคิร์ดมีความเป็นรัฐอธิปไตยมากขึ้นอย่างชัดเจน สถานภาพของเคิร์ดในอิรักจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เท่ากับว่าประเทศอิรักไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปด้วย
            บทความตอนหน้าจะวิเคราะห์มุมมองระดับภูมิภาค ว่าแนวทางการต่อต้าน IS ของชาติตะวันตกกำลังเปลี่ยนแปลงระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างไร จะเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญอีกครั้งของภูมิภาคนี้
7 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
 (ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6515 วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ.2557)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ในมุมหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาชี้ว่า IS เป็นภัยคุกคาม ต้องกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน ในอีกมุมหนึ่งชี้ว่าการปราบปราม IS ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทันที ที่สำคัญคือต้องรอความร่วมมือจากประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะพวกซุนนี เมื่อวิเคราะห์แล้วนำสู่คำถามว่ารัฐบาลโอบามามีความตั้งใจปราบปรามกองกำลัง IS มากน้อยเพียงใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 
ร้อยปีเต็มแล้วที่ชาวเคิร์ดอิรักต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ  การปกครองตนเอง น่าสนใจที่พวกเคิร์ดเป็นซุนนีแต่ไม่ปรารถนาอยู่ร่วมกับพวกอาหรับอิรักที่เป็นมุสลิมด้วยกัน รัฐบาลอังกฤษเคยเชื่อว่าพวกเคิร์ดเป็นเพียงแค่ชนเผ่าต่างๆ ไม่สามารถรวมตัวปกครองตนเอง แต่จากประวัติศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน พวกเคิร์ดพิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถรวมตัวกันได้ ตรงข้ามกับพวกอาหรับอิรักที่กำลังแตกแยกอยู่ในขณะนี้
3. อิรักกำลังตามอย่างซีเรียด้วยสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ
วิกฤตอิรักรอบใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมิถุนายน ในตอนแรกนั้นสื่อมุ่งกล่าวถึงกองกำลัง ISIL/ISIS ที่สามารถยึดครองหลายเมืองได้อย่างรวดเร็ว แต่ล่าสุดการบรรยายเหตุการณ์ในอิรักให้ความสำคัญกับการลุกฮือของพวกซุนนีอิรัก ภาพวิกฤตอิรักจึงกลายเป็นสงครามระหว่างรัฐบาลชีอะห์ผู้กดขี่ข่มเหงประชาชน (โดยเฉพาะพวกซุนนี) กับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งส่วนใหญ่คือประชาชนอิรักผู้นับถือนิกายซุนนี กองกำลัง ISIL สถานการณ์ในอิรักจึงคล้ายสงครามกลางเมืองซีเรียมากขึ้นทุกที
4. ISIL/ISIS หวังโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกี เสริมไฟสงครามกลางเมืองอิรัก
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ

บรรณานุกรม:
1. Arming of Kurds aids European security, says Merkel. (2014, September 1). Gulf Time/Reuters/AFP. Retrieved from http://www.gulf-times.com/uk-europe/183/details/406542/arming-of-kurds-aids-european-security%2c-says-merkel
2. Dominiczak, Peter. (2014, September 3). Army may return to Iraq as David Cameron wins backing for air strikes. The Telegraph. Retrieved from http://www.telegraph.co.uk/travel/destinations/middleeast/iraq/11074114/Army-may-return-to-Iraq-as-David-Cameron-wins-backing-for-air-strikes.html
3. Iran proved it backs Iraq in tough times: Barzani. (2014, August 27). Tehran Times. Retrieved from http://tehrantimes.com/politics/117981-iran-proved-it-backs-iraq-in-tough-times-barzani
4. Georgy, Michael., & Rasheed, Andahmed. (2014, August 13). U.S. ready to help new Iraq leader, Iran welcomes choice. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2014/08/13/us-iraq-security-idUSKBN0GC0Z220140813
5. Hubbard, Ben. (2014, August 23). Response to Attack Reflects Iraq’s Sectarian Divide. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/08/24/world/middleeast/response-to-attack-reflects-iraqs-sectarian-divide.html?_r=0
6. Iran and Islam not associated with violence: Rouhani. (2014, September 2). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/118114-iran-and-islam-not-associated-with-violence-rouhani
7. Iraq conflict not a war between Shias and Sunnis: Leader. (2014, June 22). Tehran Times. Retrieved from http://tehrantimes.com/component/content/article/94-headline/116482-iraq-conflict-not-a-war-between-shias-and-sunnis-leader
8. Islamist Influx: Several Radicalized Ex-German Soldiers in Iraq. (2014, September 1). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/german-weapons-for-kurds-may-be-used-on-radicalized-german-soldiers-a-989194.html
9. Islamic State 'has 50,000 fighters in Syria'. (2014, August 19). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/08/islamic-state-50000-fighters-syria-2014819184258421392.html
10. McDowall, David. (2004). A Modern History of the Kurds, (3rd ed.). New York: I.B. Tauris.
11. Sawer, Patrick., & Whitehead, Tom. (2014, August 30). Coalition talks over increased measures against extremists. The Telegraph. Retrieved from http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/terrorism-in-the-uk/11065424/Coalition-talks-over-increased-measures-against-extremists.html
12. Statement by the President. (2014, August 20). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/08/20/statement-president
-----------------------------