อิรักกำลังตามอย่างซีเรีย ด้วยสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ

ความรุนแรงรอบใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมิถุนายน จากเดิมข่าวที่ปรากฏคือการก่อการของ Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือ Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) สามารถยึดหลายเมืองหลายจังหวัดในเขตภาคตะวันตกกับภาคเหนือ มาบัดนี้ข่าวหลายสำนักนำเสนอใหม่ในภาพเน้นการลุกฮือของประชาชนอิรักผู้ไม่พอใจนายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) นายกรัฐมนตรีอิรัก ผู้นำชีอะห์ ผู้กดขี่ข่มเหงประชาชน โดยเฉพาะพวกซุนนี สร้างความแตกแยกทางศาสนา
            การนำเสนอบทบาทของพวกซุนนี ส่งผลให้ ISIL/ISIS ที่เป็นตัวแสดงหลัก ตอนนี้ลดฐานะกลายเป็นส่วนหนึ่งในฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัลมาลิกีเท่านั้น ISIL/ISIS กลายเป็นกองกำลังส่วนน้อยเมื่อเทียบกับชาวซุนนี ชาวอิรักทั้งหมดที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล ความขัดแย้งกำลังกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างประชาชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งกับรัฐบาลที่มีประชาชนอีกส่วนสนับสนุน อีกทั้งยังนำเรื่องศาสนา ประเทศเพื่อนบ้าน ชาติมหาอำนาจเข้ามาพัวพันด้วย
พวกซุนนีเป็นแกนหลักต่อต้านรัฐบาล :
            นาย Ahmed al-Jubouri ผู้นำกองกำลังคนหนึ่งของ Islamic Army อธิบายว่ากลุ่มก่อการในขณะนี้ ประกอบด้วยกลุ่ม Islamic Army กลุ่ม Naqshbandi ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกพรรคบาธ เผ่าซุนนีหลายเผ่าที่ต่อต้านรัฐบาลอัลมาลิกี พวก ISIL และกลุ่มอื่นๆ กลุ่มทั้งหลายมีเป้าหมายเดียวกันคือโค่นล้มรัฐบาล
            นาย Abu Abed al-Naimi โฆษกฝ่ายต่อต้านซุนนีอิรัก กล่าวว่า อัลมาลิกีกำลังทำลายภาพพจน์ของการปฏิวัติอิรักโดยมุ่งชูบทบาทของ ISIL ปิดบังบทบาทของกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ “ทั้งๆ ที่กองกำลังส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชนเผ่าต่างๆ ในอิรัก” เป็นการพยายามบิดเบือนข้อเท็จริง ด้วยการอ้างว่าเป็นการก่อการร้าย ทั้งๆ ที่ความจริงคือประชาชนอิรักลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลที่ฝักใฝ่การแบ่งแยกทางศาสนา
            Sheikh Ali Hatem al-Suleimani หัวหน้าเผ่า Dulaimi ของซุนนี กล่าวว่า กองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลอัลมาลิกีขณะนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ พวกซุนนี ISIL และอดีตสมาชิกพรรคบาธ (Baath Party) ของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ทั้ง 3 กลุ่มมีเป้าหมายร่วม แต่ไม่ได้เป็นพันธมิตรต่อกัน ชาติตะวันตกจะต้องมองสถานการณ์ในอิรักขณะนี้ว่าเป็นเรื่องที่พวกซุนนีต่อต้านรัฐบาลอัลมาลิกีผู้กดขี่ข่มเหงประชาชน แทนที่จะมองว่ามีเป็นเพียงการก่อการของ ISIL พร้อมกับอ้างว่ากองกำลังทั้งหมดที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นพวกซุนนี พวก ISIL เป็นกองกำลังส่วนน้อย มีเพียงร้อยละ 7-10 เท่านั้น ประกาศว่าเป้าหมาย คือ นายกฯ อัลมาลิกีต้องพ้นจากอำนาจ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้อิรักกลายเป็นสหพันธรัฐ (federal state) ประกอบด้วยเขตกึ่งปกครองตนเองของซุนนี ชีอะห์ และพวกเคิร์ด ประเทศอิรักในรูปสหพันธรัฐจะใช้ระบอบประชาธิปไตย กระจายอำนาจทั้งแก่พวกซุนนีกับชีอะห์อย่างสมดุล ตราบใดที่นายกฯ อัลมาลิกีไม่พ้นจากอำนาจ ก็จะทำการรบต่อไป เป้าหมายข้างหน้าคือกรุงแบกแดด

            มีข้อมูลว่าในปี 2008 เผ่า Dulaimi เป็นแกนนำการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอัลมาลิกี ที่เรียกกันว่า “Sunni Awakening” ประวัติการลุกฮือของเผ่า Dulaimi ย้อนหลังได้ตั้งแต่สมัยที่กองกำลังสหรัฐควบคุมอิรัก ในตอนแรกนั้นเผ่า Dulaimi ต่อต้านสหรัฐก่อน แต่ต่อมาหันกลับมาต่อต้านพวกอัลกออิดะห์เนื่องจากเห็นว่าเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่า จนพวกอัลกออิดะห์ในอิรักอ่อนแรง
            ภายใต้มุมองของ Sheikh Ali Hatem al-Suleimani ณ ขณะนี้ เป็นสงครามระหว่าง 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือพวกของนายกฯ อัลมาลิกี ซึ่ง Sheikh al-Suleimani ตีตราว่าคือพวกชีอะห์ กับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ พวกซุนนีอาหรับ กองกำลัง ISIL และพวกคนของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน
            สรุปสั้นๆ คือ ความขัดแย้งภายในอิรักปัจจุบัน คือ สงครามระหว่างรัฐบาลชีอะห์ผู้กดขี่ข่มเหงประชาชน (โดยเฉพาะพวกซุนนี) กับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งส่วนใหญ่คือประชาชนอิรักผู้นับถือนิกายซุนนี กองกำลัง ISIL

ต้องมุ่งกำจัดรัฐบาลอัลมาลิกีก่อน :
            Sheikh al-Suleimani ตระหนักว่า กองกำลัง ISIL เป็นกลุ่มที่ต้องกำจัดให้พ้นจากแผ่นดินอิรัก แต่ ณ ขณะนี้ ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการรัฐบาลอัลมาลิกีก่อน ทันทีที่สำเร็จเป้าหมายดังกล่าวพวกเขาจะหันมาปราบปราม ISIL ISIL ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับเรา ... ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะต้องสู้กับ ISIL (แต่) เป็นเวลาที่ต้องสู้กับอัลมาลิกี”
            ในแง่หนึ่งมองได้ว่า การร่วมมือกับ ISIL เพื่อโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกีเป็นแนวทางหนึ่ง หากมองว่าเป้าหมายเฉพาะหน้าคือเพื่อการนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องมองอนาคตถึงความสัมพันธ์ของ ISIL กับชาวอิรักแท้ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร
            ถ้าคิดในแง่ร้าย การทำสงครามกลางเมือง อาจเป็นเหตุให้ ISIL เติบใหญ่และเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงไม่แพ้รัฐบาลอัลมาลิกี สงครามกลางเมืองอิรักกับซีเรียไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง แต่ต้องไม่ประมาทว่ากลุ่ม ISIL คือหนึ่งในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียที่เข้มแข็งที่สุด

            อีกประการหนึ่งคือ ISIL ย่อมไม่ตั้งอยู่ในความประมาท รู้ว่าในที่สุดตนเองต้องถูกปราบปราม ดังนั้น จึงต้องเร่งลงหลักปักฐานมั่นคงในอิรัก (รวมทั้งในซีเรีย) ล่าสุด ISIL ประกาศสถาปนารัฐอิสลามอย่างเป็นทางการ และเปลี่ยนจากชื่อเดิมเป็น “Islamic State(IS) ประกาศระดมนักรบจากทั่วโลก เป็นคำถามว่ากลุ่มจะเติบโตได้มากเพียงใด ประเทศอิรักในอนาคตจะปลอดจากกองกำลังสุดโต่งเหล่านี้หรือไม่

            เมื่อพิจารณาในแง่ ISIL เป็นองค์กรผิดกฎหมาย คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ได้ประกาศแล้วว่า ISIL เป็นผู้ก่อการร้ายตามนิยามของสหประชาชาติ เป็นอีกประเด็นให้เห็นจุดอ่อนของการยืมมือ ISIL เกิดคำถามว่า เป็นการถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ที่สนับสนุนหรือใช้ผู้ก่อการร้าย หรือนักรบรับจ้าง ปราบประชาชนชีอะห์
            หากกลุ่มใดหรือรัฐบาลใดสนับสนุน ISIL จะมีคำถามว่า เป็นการสนับสนุน “ผู้ก่อการร้าย” โค่นล้มรัฐบาลอธิปไตย ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางการเมืองหรือไม่

 อิรักกำลังจะเป็นซีเรีย :
            จากข้อมูลทั้งหมด สถานการณ์ในอิรักกำลังจะเป็นเหมือนซีเรีย คือ ประเทศกำลังแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายต่อต้านประกอบด้วยหลายกลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นประชาชนเจ้าของประเทศแท้ๆ กับนักรบต่างชาติภายใต้กลุ่มสุดโต่งหลายกลุ่ม
            ขั้นต่อไป คือ ฝ่ายต่อต้านจะร้องขอความช่วยเหลือทั้งด้านอาวุธ เงินทุน และอื่นๆ จากนานาชาติ เพื่อช่วยโค่นล้มรัฐบาล
            ในกรณีของซีเรีย ชาติตะวันตกหลายประเทศ กับเพื่อนบ้านซีเรียหลายประเทศ ให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผย ทั้งเงินทุน อาวุธ และอื่นๆ ซึ่งหากฝ่ายต่อต้านอิรักกระทำการสำเร็จ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนดังกล่าว ยังจะได้ความสำเร็จที่สำคัญอีกอย่าง นั่นคือ การสนับสนุนทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งหมายถึง รัฐบาลโอบามากับเพื่อนบ้านอาหรับให้การสนับสนุนฝ่ายซุนนี และในอีกด้านคือต่อต้านรัฐบาลอัลมาลิกี และยกความผิดทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการก่อการของ ISIL ความสูญเสียของชีวิตนับหมื่นนับแสนที่กำลังจะตามมาแก่นายกฯ อัลมาลิกี
            การสนับสนุนจากรัฐบาลต่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เป็นหนึ่งในปัจจัยชี้เป็นชี้ตายว่าฝ่ายใดจะชนะในทางการเมืองระหว่างประเทศ กรณีของอิรักมีลักษณะต่างจากซีเรียในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลโอบามาประกาศจุดยืนให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจแต่แรก ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุนรัฐบาลอัลมาลิกีมาโดยตลอด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลโอบามาจะสนับสนุนตลอดไป หรือสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
            เมื่อถึงตอนนั้น กองทัพอิรักจะถูกตีตราว่าเป็น “ผู้เข่นฆ่าประชาชน” ส่วนกองกำลังฝ่ายต่อต้านจะเป็น “ผู้ปลดปล่อยประชาชน”

            ล่าสุด นายชัค เฮเกล (Chuck Hagel) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กับพลเอกมาร์ติน เดมซีย์ (Martin Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกา ร่วมกันแถลงว่า กองทัพอิรักเน้นการสร้างแนวป้องกันการรุกคืบจากกองกำลังพวกซุนนีและ ISIL กองกำลังรัฐบาล “มีขีดความสามารถป้องกันกรุงแบกแดด” แต่ยากจะขับไล่ฝ่ายต่อต้านให้ออกจากพื้นที่ยึดครอง ย้ำว่าปัญหาอิรักต้องแก้ไขด้วยความสมานฉันท์ทางการเมือง ทั้งยังเห็นว่ากองทัพสหรัฐยังไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
            การประเมินของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเป็นข้อมูลอีกชิ้น สนับสนุนว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ หรือยังเร็วเกินไปที่จะชี้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะชนะขาดได้โดยง่าย

            และถ้าจะคิดให้ไกลกว่านั้น หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งควบคุมอีกฝ่าย ก็ใช่ว่าความขัดแย้งจะยุติ สภาพที่คล้ายกับสมัยที่กองทัพสหรัฐสามารถล้มรัฐบาลซัดดัม แต่กองทัพสหรัฐต้องเผชิญการถูกซุ่มยิง ซุ่มโจมตีอยู่ตลอดเวลา
            หลายปีที่ผ่านมาอิรักก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ คือ ทั้งฝ่ายชีอะห์กับซุนนีต่างถูกโจมตีด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งวิธีการแบบก่อการร้าย เช่น ระเบิดพลีชีพ
            และควรวิพากษ์ด้วยว่า จริงหรือที่ Sheikh al-Suleimani กับผู้นำเผ่าบางเผ่า เป็นตัวแทนเจตนารมณ์พวกซุนนีทั้งหมด จริงหรือที่นายกฯ อัลมาลิกีกับพวก เป็นตัวแทนเจตนารมณ์พวกชีอะห์ทั้งหมด
            ชาวอิรักทุกหมู่เหล่าส่วนใหญ่ ต้องการแก้ปัญหาด้วยการทำสงครามกลางเมืองหรือ
            การทำสงครามกลางเมืองตอบสนองความต้องการใคร หรือของผู้ใดกันแน่

            เหตุการณ์ที่เมืองหลายเมืองทางภาคตะวันตกกับภาคเหนือที่ถูกฝ่ายต่อต้านยึดครองอย่างรวดเร็วยังสับสน มีทั้งผู้ที่พูดถึงความสามารถของกองกำลัง ISIL ที่มีเพียงไม่กี่พันคน ความอ่อนแอของกองกำลังรัฐบาลหลายหมื่นนายที่ถอยหนีแบบไม่ต่อสู้ทั้งๆ ที่มีจำนวนเหนือกว่า และการชูบทบาทของพวกซุนนีอิรัก ฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่มที่ร่วมกันลุกฮือ ความจริงที่เกิดขึ้นนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง การใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างหากที่สำคัญกว่า ทั้งหมดมุ่งสู่เป้าหมายเดียวคือการได้รัฐบาลใหม่ ด้วยเหตุผลที่นายกฯ อัลมาลิกีกดขี่ข่มเหงประชาชน โดยเฉพาะพวกซุนนีอิรัก
6 กรกฎาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6452 วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2557) 
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
อิรักกำลังมาสู่ทางสองแพร่งอีกครั้ง ขึ้นกับการตัดสินใจของสังคมว่าต้องการให้ประเทศเป็นอย่างไร ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ปรองดอง หรือต้องการทำสงครามกลางเมืองยืดเยื้อไปเรื่อยๆ การก่อการของ ISIL จะกลายเป็นผลดีหากเป็นต้นเหตุให้เกิดการเจรจาอย่างจริงจัง ช่วยยุติความขัดแย้งภายในประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วหลายปี แต่ถ้ามองในแง่ลบ การปรากฏตัวของ ISIL จะซ้ำเติมความแตกแยกในอิรัก
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ
การเลือกตั้งเป็นประเด็นที่พูดหนาหูมาสองสามปีแล้ว ที่ผ่านมาประธานาธิบดีอัสซาดรอดูสถานการณ์ว่าเหมาะสมที่จะจัดเลือกตั้งหรือไม่ ผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่มีอะไรแปลกประหลาดเหนือความคาดหมาย ท่าทีการตอบสนองของกลุ่ม Friends of Syria และประเทศผู้สนับสนุนระบอบอัสซาดไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม สงครามกลางเมืองซีเรียดำเนินต่อไปโดยที่ระบอบอัสซาดเป็นฝ่ายได้เปรียบมากขึ้นทุกที

บรรณานุกรม:
1. Al-Mansuri, Omar. (2014, June 28). Sunni Militants: ‘Popular Revolution’ is Against Maliki. RUDAW. Retrieved from http://rudaw.net/english/middleeast/iraq/28062014
2. MacKinnon, Mark. (2014, June 28). Iraq's Sunni leader vows to fight ISIL, after al-Maliki is gone. The Globe and Mail. Retrieved from http://www.theglobeandmail.com/news/world/iraq-launches-operation-against-sunni-insurgents-in-tikrit/article19384082/
3. Nordland Rod. (2014, June 30). Russian Jets And Experts Sent to Iraq To Aid Army. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/06/30/world/middleeast/iraq.html?_r=0
4. Whitlock, Craig. (2014, July 3). Pentagon leaders: Iraq probably needs outside help to retake seized territory. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/national-security/pentagon-leaders-iraq-probably-needs-outside-help-to-retake-seized-territory/2014/07/03/c28e34a8-02d0-11e4-8572-4b1b969b6322_story.html
------------------------------