ชาวเคิร์ดผู้โหยหาอิสรภาพ ผู้กำหนดอนาคตอิรัก

เมื่อตอนที่กองกำลัง ISIL/ISIL หรือล่าสุดคือรัฐอิสลาม (Islamic State) กับกองกำลังติดอาวุธซุนนีที่ลุกฮือ ยึดครองภาคตะวันตกและส่วนหนึ่งของภาคเหนือ แต่เว้นพื้นที่ของพวกเคิร์ด (Kurds) จากนั้นก็มุ่งลงใต้ประชิดกรุงแบกแดด น่าจะสนใจที่กองกำลังที่ลุกฮือตั้งใจไม่แตะต้องพวกเคิร์ด เช่นเดียวกับที่พวกเคิร์ดซึ่งถือว่าเป็นพลเมืองอิรัก แต่กลับแสดงท่าทีนิ่งเฉย ทั้งยังสนับสนุนให้นายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) นายกรัฐมนตรีถอนตัวออกจากอำนาจ พร้อมกับเรียกร้องขออำนาจการปกครองตนเองเพิ่มเติม
            ชาวเคิร์ดเป็นตัวแสดงสำคัญอีกตัวหนึ่งในความขัดแย้งอิรักล่าสุด

ใครคือชาวเคิร์ด :
            ชาวเคิร์ดเป็นชนเชื้อสายหนึ่งอาศัยอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางมาแต่โบราณ แต่พวกเขาไม่ถือว่าตนเองอยู่ในกลุ่มอาหรับ ทำนองเดียวกับพวกเปอร์เซีย (อาศัยในประเทศอิหร่าน) พวกเติร์ก (ตุรกี) และชาวอิสราเอล (อิสราเอล)
            ปัจจุบัน ผู้ที่ถือว่าเป็นชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ในประเทศตุรกีมากที่สุด รองลงมาคืออิรัก อิหร่าน ซีเรีย และบางประเทศในยุโรป ทั้งหมดกว่าร้อยละ 70 นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี รองมาคือชีอะห์ (ส่วนใหญ่เป็นพวกที่อาศัยในประเทศอิหร่าน) มีบางคนที่เป็นยิว คริสเตียน
            ชาวเคิร์ดที่จะพูดถึงต่อไป จะหมายถึงชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ประเทศอิรัก ปัจจุบันประเทศอิรักมีประชากรทั้งสิ้นราว 32.5 ล้านคน เป็นชาวอาหรับราวร้อยละ 75-80 ชาวเคิร์ดร้อยละ 15-20 ที่เหลือเป็นคนกลุ่มอื่นๆ  ชาวเคิร์ดส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนี
            สังคมอิรักจึงแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ พวกชีอะห์ พวกซุนนี (2 กลุ่มแรกหมายถึงชาวอาหรับอิรัก) และพวกเคิร์ด

ประวัติศาสตร์แห่งการเรียกร้องอิสรภาพ :
            ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของพวกเคิร์ดเต็มไปด้วยการเรียกร้องอิสรภาพ  การปกครองตนเอง สามารถย้อนอดีตเริ่มจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ในภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนั้น อังกฤษกำลังทำสงครามกับอาณาจักรออตโตมัน ด้วยความที่รัฐบาลอังกฤษต้องการให้พวกเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในแถบอิรักปัจจุบัน หรือในบริเวณที่เรียกว่า Southern Kurdish มาเป็นพวกกับตน จึงสัญญาว่าจะให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองแก่พวกเคิร์ดกลุ่มนี้ แต่ความจริงแล้ว รัฐบาลอังกฤษไม่เคยคิดจะให้เอกราชแก่พวกเคิร์ดจริงๆ มองว่าการปกครองตนเองของเคิร์ดคือการอยู่ใต้อังกฤษในสภาพกึ่งอาณานิคม ส่วนผู้นำเคิร์ดปรารถนาจะมีอิสรภาพพ้นจากอำนาจของออตโตมัน หรืออย่างน้อยการอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษก็ยังดีกว่า
            เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 มีประเด็นว่าพวกเคิร์ดควรอยู่ใต้ผู้ปกครองอาหรับ หรือควรอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษ ที่สุดแล้ว รัฐบาลอังกฤษให้ชาวเคิร์ดใน Southern Kurdish อยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้นำอาหรับในกรุงแบกแดด เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่อังกฤษต้องการลดค่าใช้จ่ายการบริหาร ทั้งๆ ที่ตระหนักว่าพวกเคิร์ดจะไม่พอใจ ผู้นำเคิร์ดประกาศว่าการอยู่ใต้อำนาจอาหรับจะเป็นเพียงชั่วคราว

            ผู้นำที่ขึ้นปกครองอิรักคือกษัตริย์ Amir Faysal (ขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 1921) ปรากฏว่ากษัตริย์ Faysal ประกาศไม่ยอมให้พวกเคิร์ดแบ่งแยกออกไป ข้อมูลบางชิ้นชี้ว่า กษัตริย์ Faysal ต้องการให้พวกเคิร์ดร่วมมือกับพวกซุนนีอาหรับ ถ่วงดุลอำนาจพวกชีอะห์อาหรับซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอิรัก
            พวกเคิร์ดได้เจรจากับรัฐบาลแบกแดดและรัฐบาลอังกฤษ มีข้อสรุปร่วมกันในธันวาคม 1922 ว่า รัฐบาลอิรักยอมรับสิทธิ์ของพวกชาวเคิร์ดในการจัดตั้งรัฐบาลเคิร์ด (Kurdish Government) ภายในเขตแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่ ฝ่ายอังกฤษปลอบใจกษัตริย์ Faysal ว่า ไม่มีวันที่ความฝันของชาวเคิร์ดจะกลายเป็นความจริง เนื่องจากพวกเขามีหลากหลายกลุ่ม และแตกแยกกันเองอย่างหนัก

            ต่อมากษัตริย์ Faysal เกรงว่าพวกเคิร์ดจะก่อการแยกประเทศและเกรงว่าตุรกีจะเข้ามาแทรกแซงเอาพื้นที่แถบนั้นคืน จึงเชิญผู้นำเคิร์ดมาปรึกษาหารือ เพื่อให้พวกเคิร์ดปกครองตนเอง “ภายใต้อำนาจของอิรักอย่างหลวมๆ”
            แต่เมื่อฝ่ายอังกฤษเห็นว่าการปล่อยให้มีประเด็นเคิร์ดแยกตัว เป็นอุปสรรคต่อการเจรจากับตุรกี รัฐบาลอังกฤษกับอิรักจึงร่วมกันยกเลิกนโยบายให้พวกเคิร์ดปกครองตนเอง ถือว่าอาณาเขตของอิรักเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่อาจแยกได้ พวกเคิร์ดในอิรักจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของรัฐบาลแบกแดดโดยสมบูรณ์ รัฐบาลอังกฤษกลายเป็นผู้ทรยศต่อพวกเคิร์ด

            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษกลับเข้ามาดูแลอิรักอีกรอบ ในระยะนี้เองพวกเคิร์ดพยายามจะแยกตัวเป็นเอกราช เกิดการปะทะรุนแรง ในปี 1945 เกิดประเทศ Kurdish Republic เป็นเวลาสั้นๆ แต่ถูกปราบปรามอย่างรวดเร็ว
            ในปี 1962 รัฐบาลอิรักซึ่งนำโดย Abdul Karim Kassim ต้องสู้กับพวกเคิร์ดที่ลุกขึ้นก่อการ ทหารรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ กลายเป็นศึกกองโจรแบบยืดเยื้อ
            รัฐบาลต่อมาของนาย Ahmad Hassan al-Bakr ต้องทำสงครามกลางเมืองถึง 2 ครั้งอันเนื่องจากการก่อการของพวกเคิร์ด ครั้งแรกเริ่มเดือนมีนาคม 1969 พวกเคิร์ดที่นำโดย Kurdish Democratic Party
 พยายามต่อสู้เพื่อปกครองตนเองอีกครั้ง การรบยุติเมื่อรัฐบาลยอมให้พวกเคิร์ดได้ปกครองตนเองบางส่วน เกิดพื้นที่ที่ชื่อว่า Kurdistan Autonomous Region
            ในปี 1974 พวกเคิร์ดพยายามก่อการอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องเอกราช ครั้งนี้รัฐบาลอิหร่านซึ่งนำโดยกษัตริย์ Shah ให้การสนับสนุนพวกเคิร์ด เพื่อเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลอิรัก ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลอิหร่านต้องการเปลี่ยนข้อตกลงชายแดน Shatt al-Arab กับอิรัก ฝ่ายรัฐบาลอิรักเห็นว่ากองทัพของตนไม่อาจปราบปรามกองกำลัง 45,000 นายของเคิร์ด จึงยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับอิหร่าน ภายใต้เงื่อนไขที่อิรักยอมรับการอ้างเขตแดนของอิหร่าน แลกกับที่อิหร่านจะไม่สนับสนุนพวกเคิร์ดอีก ด้วยข้อตกลงนี้ทำให้อิรักสงบสุขอีกครั้ง

ทำไมเคิร์ดจึงสามารปกครองตนเองในปัจจุบัน :
            เมื่อกองทัพอิรักภายใต้การนำของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนบุกเข้ายึดครองคูเวต ตามมาด้วยสงครามอ่าวเปอร์เซีย กองกำลังสหประชาชาติภายใต้การนำของสหรัฐประสบชัยชนะอย่างง่ายดาย อิรักยอมรับการหยุดยิงในวันที่ 6 เมษายน 1991 แต่ปัญหาไม่จบเพียงเท่านั้น สหประชาชาติประกาศเขตห้ามบิน (No-fly zone) เพื่อปกป้องมิให้อิรักโจมตีประชาชนของตน โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย” เช่น ชาวเคิร์ดทางตอนเหนือ และพวกชีอะห์ทางตอนใต้
            การรุกรานคูเวต กลายเป็นต้นเหตุนำหายนะสู่ประเทศอิรัก ประเทศกำลังถูกแบ่งแยก

            เมื่อชาวเคิร์ดอุ่นใจเห็นว่าได้รับการคุ้มครอง จึงจัดเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลภูมิภาคเคิร์ด (Kurdish Regional Government) กล่าวได้ว่า นับจากการจัดตั้งเขตห้ามบินในปี 1991 เป็นต้นมา พวกเคิร์ดก็อยู่ในฐานะปกครองตนเองอีกครั้ง
            ต่อมาในปี 2003 หลังจากกองทัพสหรัฐกับพันธมิตรบุกโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน จัดตั้งรัฐบาลอิรักชั่วคราว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่สหรัฐมีอิทธิพลโดยตรง) ให้อิสรภาพแก่พวกเคิร์ดมากขึ้น ถึงขนาดมีกองกำลังป้องกันตนเอง และปูทางสู่การจัดตั้งสหพันธรัฐ
            พวกเคิร์ดในปัจจุบันแม้ว่ายังเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก จึงมีกองทัพ มีรัฐสภาและฝ่ายบริหารควบคุมกิจการภายในของตนเอง นายมัสซูด บาร์ซานิ (Massoud Barzani) เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันของรัฐบาลภูมิภาคเคิร์ด พื้นที่ในเขตปกครองตนเองได้แก่ จังหวัด Erbil, Dohuk และ Sulaymaniyah พวกเขาหวังว่าจะได้พื้นที่เมืองเคอร์คุก (Kirkuk) ทั้งหมด และจะให้เมืองดังกล่าวเป็นเมืองหลวงของตน
            ชาวเคิร์ดในปัจจุบันที่ตั้งมั่นคงอยู่ได้ จึงเกิดจากความผิดพลาดของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน และจากการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐ

วิเคราะห์องค์รวม ข้อคิด :
            ประการแรก พลังเชื้อชาติแรงกว่าศาสนา
            กรณีชาวเคิร์ดเป็นกรณีตัวอย่างที่เชื้อชาติมีพลังแรงกว่าศาสนา แม้ว่าจะเป็นมุสลิมนิกายซุนนี ชาวเคิร์ดไม่มองว่าพวกตนเป็นส่วนหนึ่งของอาหรับ และไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของพวกอาหรับ ด้วยความคิดที่ว่าพวกอาหรับไม่คู่ควรที่จะปกครองพวกตน เป็นเหตุให้พวกเขาต่อสู้ดิ้นรนจนครบ 1 ศตวรรษแล้ว มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
            เมื่อกองทัพสหรัฐกับพันธมิตรสามารถโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนในปี 2003 รัฐบาลบุชก็ตระหนักว่าพวกตนกำลังเผชิญแนวรบใหม่ พวกซุนนีกับชีอะห์อิรักปะทะกับกองทัพสหรัฐอย่างดุเดือด คนเหล่านี้ไม่ได้ต่อสู้เพื่อระบอบซัดดัม แต่ด้วยเห็นว่ากองทัพสหรัฐเป็นผู้รุกรานมากกว่าผู้ปลดปล่อย กำลังต่อสู้ด้วยศรัทธาในศาสนา ปกป้องอิสลามให้พ้นจากการทำลายของพวกต่างชาติต่างศาสนา แต่ในช่วงนั้น พวกเคิร์ดกลับเข้าข้างฝ่ายสหรัฐ สนับสนุนให้กองกำลังสหรัฐคงอยู่ในอิรักต่อไป เพราะเชื่อว่าจะช่วยประกันสิทธิและความปลอดภัยของพวกตน
            จึงเป็นข้อสรุปที่ว่า แม้พวกเคิร์ดจะมีวัฒนธรรมร่วมกับชาวอาหรับในด้านศาสนา แต่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ความต้องการที่จะเพื่อปกครองตนเอง เป็นแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่กว่า

            ประการที่สอง พวกเคิร์ดเป็นอีกตัวแปรกำหนดอนาคตอิรัก
            การก่อการของ ISIL/ISIS กลายเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งของพวกเคิร์ด ผู้นำเคิร์ดปัจจุบันอาศัยสถานการณ์วุ่นวายภายในประเทศ เป็นข้อต่อรองเรียกร้องที่จะได้ดินแดนและอำนาจปกครองตนเองเพิ่มเติม เพื่อแลกกับการที่พวกเขาจะสนับสนุนรัฐบาลกลาง
            หากรัฐบาลอัลมาลิกียินยอมตามข้อเรียกร้อง นั่นหมายความว่า อำนาจของรัฐบาลกลางในอนาคตจะลดน้อยลง แต่หากนายกฯ อัลมาลิกีดึงดันที่จะรักษาอำนาจในกรุงแบกแดด จะเป็นโอกาสให้พวกเคิร์ดสร้างฐานเพื่อการปกครองตนเองได้เช่นกัน ดังที่พยายามส่งออกน้ำมันด้วยตนเองในขณะนี้

            ที่สุดแล้ว ไม่ว่าความขัดแย้งในอิรักจะลงเอยเช่นไร รัฐบาลอัลมาลิกีสามารถปราบปรามฝ่ายต่อต้าน หรือจะแบ่งประเทศเป็นหลายเขตปกครอง พวกเคิร์ดคือตัวแสดงหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการดังกล่าว และเห็นได้ชัดว่าพวกเขาคือผู้ที่จะได้ประโยชน์จากความวุ่นวายในขณะนี้

            สังคมพื้นฐานของชาวเคิร์ดเป็นระบบชนเผ่าและปัจจุบันยังเป็นเช่นนั้น แต่สามารถรวมตัวกันได้ อย่างน้อยก็เพื่อผลประโยชน์ร่วม ลบล้างทัศนคติของรัฐบาลอังกฤษในอดีตที่เห็นว่าพวกเคิร์ดแบ่งแยกกันมากเกินกว่าจะรวมตัวเองปกครองตนเอง ในทางกลับกัน ความแตกแยกของพวกอาหรับอิรัก กลายเป็นต้นเหตุสำคัญให้กองกำลัง ISIL/ISIS และรัฐบาลต่างชาติเข้าแทรกแซง บางคนอาจให้เหตุผลว่าจำต้องยืมมือต่างชาติเพื่อกำจัดรัฐบาลอัลมาลิกี แต่ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรนั้น ได้แต่ติดตามต่อไป
13 กรกฎาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6459 วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2557)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลโอบามาตั้งเงื่อนไขจะสนับสนุนรัฐบาลอิรักอย่างเต็มกำลังในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIL/ISIS ก็ต่อเมื่ออิรักได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งหมายถึงนายกฯ อัลมาลิกีต้องพ้นจากอำนาจ นายกฯ อัลมาลิกีปฏิเสธข้อเรียกร้องและเห็นว่าเท่ากับเป็นการรัฐประหารรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลต่อตัวแสดงสำคัญๆ เช่น การคงอยู่ของ ISIL ความสัมพันธ์ระหว่าง ISIL กับพวกซุนนีกลุ่มต่างๆ 
อิรักกำลังมาสู่ทางสองแพร่งอีกครั้ง ขึ้นกับการตัดสินใจของสังคมว่าต้องการให้ประเทศเป็นอย่างไร ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ปรองดอง หรือต้องการทำสงครามกลางเมืองยืดเยื้อไปเรื่อยๆ การก่อการของ ISIL จะกลายเป็นผลดีหากเป็นต้นเหตุให้เกิดการเจรจาอย่างจริงจัง ช่วยยุติความขัดแย้งภายในประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วหลายปี แต่ถ้ามองในแง่ลบ การปรากฏตัวของ ISIL จะซ้ำเติมความแตกแยกในอิรัก
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ

บรรณานุกรม :
1. Asher-Schapiro, Avi. (2014, June 28). The Kurds May Seize the Moment to Break Free of Iraq. National Geographic. Retrieved from http://news.nationalgeographic.com/news/2014/06/140628-iraq-kurds-independence-kurdistan-sunni-baghdad/
2. Bankston III, Carl L. (Ed.). (2003). Iraq. In World Conflicts: Asia and the Middle East. (Vol.1, pp. 229-252). California: Salem Press, Inc.
3. Central Intelligence Agency. (2014, May 29). Iraq. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/iz.html
4. Cipkowski, Peter. (1992). Understanding The Crisis in The Persian Gulf. New York: John Wiley & Sons.
5. Iraqi Kurds ramp up calls for independence. (2014, April 27). Ahram Online. Retrieved from http://english.ahram.org.eg/NewsContent/2/8/99926/World/Region/Iraqi-Kurds-ramp-up-calls-for-independence.aspx
6. Kozaryn, Linda D. (1999, January 12). Air Force sends more planes to Persian Gulf.  American Forces Press Service. Retrieved from http://www.af.mil./news/Jan1999/n19990112_990037.html
7. McDowall, David. (2004). A Modern History of the Kurds, (3rd ed.). New York: I.B. Tauris.
8. The New Face of Terror: ISIS' Rise Pushes Iraq to Brink. (2014, June 25). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/the-rise-of-the-jihadist-group-isis-threatens-iraq-a-977388.html
9. Whitcomb, Alexander. (2014, July 3). President Barzani asks Parliament to Proceed With Independence Vote. RUDAW. Retrieved from http://rudaw.net/english/kurdistan/030720141
------------------------