รัฐบาลโอบามาคิดโจมตีกองกำลัง IS ในซีเรียและอิรัก

หลังจากที่นายนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) ยอมเปิดทางให้นายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) เป็นนายกรัฐมนตรีอิรักคนใหม่และกำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายอย่างลงตัว เป็นรัฐบาลแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกภายในประเทศที่กินเวลาเกือบทศวรรษ ก็มีข่าวว่ารัฐบาลโอบามากำลังพิจารณาปราบปรามกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) อย่างจริงจัง สอดคล้องกับสุนทรพจน์ของท่านก่อนหน้านี้ที่ย้ำว่าการแก้ปัญหา IS ต้องแก้ที่ตัวรัฐบาลอิรักก่อน
            ผู้ที่ติดตามเรื่องราวของ IS ย่อมทราบว่า ที่มาที่ไปของกลุ่มดังกล่าวไม่ธรรมดา เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่ากลุ่มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ทรงอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง เป็นไปได้ว่า IS เป็นเพียง “หมาก” ตัวหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายบางอย่างเท่านั้นเอง
            บทความนี้จะวิเคราะห์วิพากษ์นโยบายของรัฐบาลโอบามาต่อการปราบปราม IS
การปราบปรามจำต้องอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศ :
            เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวว่า ISIL “เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนอิรักและประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค” แต่การถอนรากถอนโคน ISIL เหมือนการกำจัดมะเร็งที่ไม่อาจทำอย่างรวดเร็วง่ายดาย สหรัฐต้องการปราบ ISIL และสามารถทำได้ ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพวกซุนนี ให้พวกเขามั่นใจว่าจะได้รัฐบาลที่ปกป้องพวกเขา นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับประเทศซุนนีอื่นๆ ในภูมิภาค และให้ผู้นำซุนนีตระหนักภัยจากมะเร็งร้ายนี้
            สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ การปกป้องเจ้าหน้าที่ บุคลากรชาวอเมริกันในอิรัก ปกป้องสถานทูตสถานกงสุล ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายใต้สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงน้อยดังเช่นกรณีการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย Yazidi ที่ติดอยู่ในภูเขาซินจาร์ (Sinjar Mountain) และเสริมขีดความสามารถแก่อิรักและพวกเคิร์ด
            คำกล่าวของประธานาธิบดีโอบายืนยันอีกครั้งว่า IS เป็นภัยคุกคามและจำต้องปราบปราม แต่ ณ ขณะนี้ ได้วางเงื่อนไขใหม่ว่า ต้องรอความร่วมมือจากประเทศในภูมิภาคก่อน เป็นเหตุผลว่าตอนนี้สหรัฐยังทำอะไรไม่ได้มาก
            คำพูดของประธานาธิบดีโอบามาให้ภาพ 2 ภาพ ภาพแรกคือชี้ว่า IS เป็นภัยคุกคาม ต้องกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน ในอีกภาพหนึ่งชี้ว่าการปราบปราม IS ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทันที ที่สำคัญคือต้องรอความร่วมมือจากประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะพวกซุนนี
            รวมความแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ประกาศหรือด้วยเหตุผลลับข้อใด จนถึงขณะนี้รัฐบาลโอบามายังไม่คิดว่าเป็นเวลาที่ต้องลงมือปราบปราม IS อย่างจริงจัง ถ้อยแถลง คำชี้แจงทั้งหมดเป็นเพียงวาจาเท่านั้น ต้องรอความร่วมมือจากหลายฝ่าย
            ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางที่ประธานาธิบดีโอบามาพูด คาดว่าสหรัฐกับมิตรประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ (พวกซุนนี) กำลังวางแผนร่วมกันว่าจะปราบปรามกองกำลัง IS อย่างไร ประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนก็ต่อเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกับทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง และในระหว่างนี้กองทัพสหรัฐจะยังไม่ลงมืออย่างเต็มกำลัง

ผลจากหลักคิด “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” :
            ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโอบามายอมหลับตาหนึ่งข้าง ปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่มกระทำทารุณต่อพลเรือนซีเรีย ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยเป็นข่าว ข่าวความโหดเหี้ยมของ IS เพิ่งถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางเมื่อพวกเขาก่อการในอิรักเมื่อไม่กี่เดือนนี้ ดังที่รับทราบกันทั่วไป
            นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า เหตุที่รัฐบาลโอบามายอมให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น เนื่องจากให้ความสำคัญกับการโค่นล้มระบอบประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) มากกว่า ดังนั้น กองกำลัง IS จึงอยู่ในฐานะเป็น “ศัตรูของศัตรู”

            ประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นปริศนาคือ รัฐบาลโอบามารู้ล่วงหน้าหรือไม่ว่า IS จะบุกอิรักและสถาปนารัฐอิสลาม แต่การไม่ต่อต้าน IS ในซีเรีย เอื้อให้ IS ยึดครองพื้นที่บางส่วนในซีเรีย มีผลงานการบ สามารถรวบรวมกองกำลัง จัดแจงโครงสร้างขบวนการ และบุกอิรักในเวลาต่อมา และประกาศสถาปนารัฐอิสลามในพื้นที่ 2 ประเทศ คือ ซีเรียกับอิรัก บรรลุวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้ เป็นครั้งแรกของโลกที่ผู้ก่อการร้ายสถาปนารัฐอธิปไตยของตน พลเรือนหลายล้านคนกำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้
            ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ การสถาปนารัฐอิสลาม ทำให้นาย Abu Bakr al-Baghdadi ผู้นำกลุ่มกลายเป็นผู้นำรัฐอิสลามโลก (caliph) ประกาศให้นักรบญิฮาดทุกคนทุกกลุ่มทั่วโลกเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของตน เป็นไปตามแนวคิดรัฐอิสลาม (caliphate) ของมุสลิมทั่วโลก
            ไม่ว่ามุสลิมกระแสหลัก (มุสลิมทั่วไปทั้งซุนนี ชีอะห์) จะต่อต้านหรือคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือ มีพี่น้องมุสลิมหลายคนจากหลายประเทศเข้าร่วมขบวนการ IS เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลก่อนหน้านี้ประเมินว่า ISIL มีกองกำลังราว 12,000 นาย ในจำนวนนี้ 3,000 นายเป็นคนสัญชาติตะวันตก ในขณะที่ข้อมูลล่าสุดบางชิ้นประเมินว่า ปัจจุบันมีกว่า 50,000 นายแล้ว (บางแหล่งอ้างว่ามีจำนวนเป็นแสน) นาย Rami Abdel Rahman ผู้อำนวยการ Syrian Observatory for Human Rights ยืนยันว่ากองกำลัง IS ในซีเรียมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพียงเดือนเดียวสามารถระดมเพิ่มอีก 6,000 นาย “กรกฎาคมเป็นเดือนที่สามารถระดมเพิ่มมากที่สุด นับตั้งแต่กองกำลัง IS เริ่มปรากฏตัวในซีเรียเมื่อปี 2013” ในจำนวน 50,000 นายนี้ ราว 20,000 นายเป็นชาวต่างชาติ (ไม่ใช่ชาวซีเรียหรืออิรัก) บางคนเป็นพวกที่ย้ายสังกัด เช่น ย้ายจากกลุ่ม Nusra Front
            จำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าว อธิบายได้ไม่ยากว่าเป็นผลจากการประกาศสถาปนารัฐอิสลามเมื่อปลายเดือนมิถุนายน
           จำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่า IS เข้มแข็งขึ้น ก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวก็ยอมรับว่า ISIL แข็งกล้าขึ้นจากการเข้าทำสงครามกลางเมืองในซีเรีย มีผู้คนจากหลายประเทศเข้าร่วม กองกำลังอยู่ในภาวะพร้อมรบอย่างเต็มที่
            รวมความแล้ว ถ้ามองย้อนหลังตั้งแต่เริ่มเกิด ISIL/ISIS เมื่อปีก่อน (2013) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การปล่อยปละละเลย การไม่ปราบปรามตั้งแต่ต้น ทำให้ขบวนการ ISIL/ISIS ที่เริ่มต้นด้วยการรวมของกลุ่มเก่าๆ เพียงไม่กี่พันนาย สามารถยึดครองพื้นที่บางส่วนในซีเรีย จากนั้นก็ขยายเข้ามารบในอิรัก และสามารถยึดครองหลายเมืองหลายจังหวัด สถาปนารัฐอิสลาม และมีผู้เข้ามาร่วมขบวนการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีกำลังกว่า 50,000 นายแล้ว

จุดอ่อนของมุมมองที่คับแคบ :
            ถ้อยแถลงล่าสุดของประธานาธิบดีโอบามา ยังยืนยันนโยบายเดิมว่า รัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญกับการปกป้องเจ้าหน้าที่ บุคลากรชาวอเมริกันในอิรัก ปกป้องสถานทูตสถานกงสุล การเน้นปกป้องผลประโยชน์ของประเทศเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ คำถามสำคัญคืออย่างไรจึงเป็นวิธีปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติที่ดีที่สุด

            ณ ขณะนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลโอบามายังมองว่า IS เป็นภัยคุกคามที่ไกลตัว จริงอยู่ที่ IS ในปัจจุบันมุ่งปฏิบัติการในอิรักกับซีเรีย แต่ใครจะประกันได้ว่าจะไม่โจมตีสหรัฐในอนาคต
            การมอง IS ควรมองว่าเป็นเพียงชื่อกลุ่ม หรือ “ยี่ห้อ” เฉพาะกิจ รากฐานหลักของกลุ่มมาจากกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มที่ใกล้ชิดกับพวกอัลกออิดะห์ ณ วันนี้รวมตัวเป็น IS วันหน้าอาจเปลี่ยนชื่อ หรือแตกออกขยายกิ่งก้านสาขาอีกหลายชื่อหลายกลุ่ม ไม่มีอะไรเป็นเครื่องประกันว่า ผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งที่ปัจจุบันสังกัด IS จะต้องอยู่กับ IS ตลอดไปแม้จะอ้างตัวเป็นรัฐอิสลามก็ตาม ในอนาคตบางคนอาจ “มีเป้าหมายของตนเอง” แยกตัวออกจาก IS เพื่อสร้างขบวนการของตนเอง

            มุมมองที่สำคัญอีกข้อคือ ไม่จำต้องมีชื่อกลุ่มหรือสังกัดกลุ่มก็ปฏิบัติการได้ ข้อเท็จจริงที่ทุกคนยอมรับคือ กองกำลัง IS ในขณะนี้ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติหลายสัญชาติ คนเหล่านี้ที่กำลังปฏิบัติการก็เหมือนกับกำลังได้รับการฝึกและปฏิบัติจริงในพื้นที่ วันใดวันหนึ่งพวกเขาส่วนหนึ่งจะกลับประเทศแม่ (บางคนกลับแล้ว) และกำลังเป็น “บุคคลอันตราย” ในสายตาของรัฐบาลแต่ละประเทศ
            ข้อมูลทำนองนี้มีปรากฏมากขึ้นทุกที เช่น นายวัน จูไนดี ตวนกู จาฟาร์ (Wan Junaidi Tuanku Jaafar) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย แจ้งว่าทางการมาเลย์ได้จับกุมคนเหล่านี้หลายคนแล้ว สื่อมาเลย์รายงานว่าบางคนเป็นระเบิดพลีชีพในอิรัก ก่อนหน้านี้รัฐบาลซีเรียแจ้งผ่านสหประชาชาติว่า มีชาวมาเลย์ 15 คนเป็นสมาชิก ISIL คนเหล่านี้เสียชีวิตในการสู้รบ
            ด้านรัฐบาลออสเตรเลีย ออกมาตรการระงับหนังสือเดินทางแก่ชาวออสเตรเลียที่เกี่ยวข้องกับ IS คุณจูลี บิช็อป (Julie Bishop) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “เป็นเรื่องอันตรายแน่นอนถ้าพวกสุดโต่งที่ได้รับการฝึก กลายเป็นผู้ก่อการร้ายต่อประเทศ (ออสเตรเลีย)” เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง
            ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวรายงานว่าชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ต่อสู้ให้กับ IS ในซีเรียได้เสียชีวิตจากการรบ รัฐบาลสหรัฐกำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะขัดขวางไม่ให้พลเมืองเดินทางไปเป็นนักรบญิฮาด และจะติดตามคนเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเมื่อพวกเขาเดินทางกลับประเทศ
            ก่อนหน้านี้ ชาวอเมริกันคนหนึ่งที่เดิมเป็นพยาบาลหญิงได้เสียชีวิตในสมรภูมิซีเรีย และชายหนุ่มอายุ 22 ปีอีกคนจบชีวิตด้วยการเป็นระเบิดพลีชีพ คาดว่าปัจจุบันมีพลเมืองอเมริกันที่ไปเป็นนักรบ IS หลายสิบคน
            คนเหล่านี้ที่กลับประเทศตน อาจลงมือก่อเหตุวินาศกรรมด้วยตนเอง หรือกับเพื่อนร่วมกลุ่มเพียงไม่กี่คน นี่คือความสามารถของผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการฝึกฝน มีประสบการณ์ผ่านสนามรบมาแล้ว ในอนาคตจะไม่จะเรื่องแปลกประหลาดถ้าจะมีเหตุระเบิดพลีชีพในดินแดนของพวกชาติตะวันตก

ข้อเสนอ ผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ:
            ถ้ายังจำกันได้ สหรัฐเป็นผู้ชูประเด็นลัทธิการก่อการร้ายสากล หลังเกิดเหตุ 9/11 นักวิชาการบางคนอธิบายว่า เป็นครั้งแรกที่อเมริกาประกาศสงครามกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Nonstate actor) นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ และเป็นครั้งแรกในรอบ 500 ปีตั้งแต่มีรัฐสมัยใหม่ ที่รัฐทำสงครามกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ในสมัยนั้นรัฐบาลสหรัฐกระตือรือร้นในการทำสงครามกับพวกผู้ก่อการร้าย ตรงข้ามกับรัฐบาลโอบามาในปัจจุบันที่ไม่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามใกล้ตัว

            ชาติมหาอำนาจที่มีพลังอำนาจรบสูงสุดน่าจะใช้พลังอำนาจของตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลก มีส่วนช่วยปราบปรามการก่อการร้ายสากล โดยเฉพาะ IS ซึ่งมีภาพของผู้ก่อการร้ายที่คนทั่วโลกประณามอยู่แล้ว การใช้คำว่ากลัวทหารอเมริกันจะเสียชีวิตในสนามรบนั้นไม่ควรใช้กับทหารหาญ ถ้าพวกเขารบเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติอย่างแท้จริง เพื่อเป้าหมายที่ดีงาม อีกทั้งไม่จำต้องส่งกองทัพนับแสนไปปักหลักที่ประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างยาวนานหลายปี หลักการที่ควรยึดมั่นคือชาติมหาอำนาจควรเป็นผู้นำต่อต้านก่อการร้ายสากล ภัยร้ายที่คุกคามทุกประเทศ ไม่แบ่งแยกทหารหรือพลเรือน ซึ่งที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของสหรัฐและมิตรประเทศมากมาย

            ถ้าวิเคราะห์อย่างซับซ้อน จะเกิดคำถามดังที่นายยูจีน โรบินสัน (Eugene Robinson) นักวิเคราะห์คนหนึ่งได้ตั้งคำถามว่า อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลโอบามา ต้องการ “ทำลาย” หรือเพียงแค่ “ปิดล้อม”
            ถ้าจะถามให้ตรงกว่านี้คือ รัฐบาลโอบามามีความตั้งใจปราบปรามกองกำลัง IS มากน้อยเพียงใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อะไรเป็นเหตุผลของรัฐบาลของบรรดาประเทศที่ต่อต้านหรือไม่เห็นดีเห็นงามกับการปราบปรามผู้ก่อการร้าย
            และอีกคำถามคือ อะไรคือผลประโยชน์ที่สำคัญมากกว่า ระหว่างการโค่นล้มระบอบอัสซาดกับ การที่กองกำลัง IS ของแต่ละชาติจะกลับไปก่อเหตุวินาศกรรมที่ประเทศแม่ของตน

            นี่เป็นเวลาที่รัฐบาลทั้งหลายควรทบทวนนโยบาย จุดยืนของตน หรือจะปล่อยให้ IS เติบใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ในวันข้างหน้าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้อาจรับการสนับสนุนการเงินจากใครก็ได้ มีองค์กรอาชญากรรมมากมายที่ต้องการเรียกใช้คนเหล่านี้
            สองสามเดือนก่อน เมื่อกองกำลัง IS รุกคืบในอิรักอย่างรวดเร็ว นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวประณามอย่างรุนแรงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอิรัก อันเนื่องจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIL และกลุ่มอื่นๆ พร้อมกับเรียกร้องให้ “ประชาคมโลกผนึกกำลังเป็นหนึ่งเพื่อแสดงความเป็นพี่น้องกับประเทศอิรักในยามเผชิญหน้าภัยคุกคามนี้” เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมต่อต้านการก่อการร้ายและการก่อความรุนแรงในอิรัก
31 สิงหาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6508 วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2557)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
การปรากฏตัวของกำลังอากาศสหรัฐ ไม่ใช่เพื่อการปราบปรามกองกำลัง IS แต่ใช้เหตุช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยเพื่อเป็นข้ออ้างให้กองกำลังอากาศสหรัฐเข้าควบคุมน่านฟ้าอิรักทั้งหมด แสดงถึงพลังอำนาจ “การมีอยู่” ของสหรัฐ ในช่วงจังหวะที่อิรักกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่นายกฯ มาลิกีเปรียบเปรยว่าคือ “รัฐประหาร”
รัฐบาลโอบามาตั้งเงื่อนไขจะสนับสนุนรัฐบาลอิรักอย่างเต็มกำลังในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIL/ISIS ก็ต่อเมื่ออิรักได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งหมายถึงนายกฯ อัลมาลิกีต้องพ้นจากอำนาจ นายกฯ อัลมาลิกีปฏิเสธข้อเรียกร้องและเห็นว่าเท่ากับเป็นการรัฐประหารรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลต่อตัวแสดงสำคัญๆ เช่น การคงอยู่ของ ISIL ความสัมพันธ์ระหว่าง ISIL กับพวกซุนนีกลุ่มต่างๆ 
แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศว่าอนาคตของอิรัก ชาวอิรักต้องตัดสินใจเองในฐานะรัฐอธิปไตย งานศึกษาบางชิ้นให้ข้อสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐคือผู้อยู่เบื้องหลังให้นายอัลมาลิกีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทั้งๆ ที่รู้ซึ้งพฤติกรรมของนายกฯ อัลมาลิกี รัฐบาลโอบามายังสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 และขณะนี้มีข่าวว่ากำลังกดดันให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออก เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ แก้ปัญหาการก่อการของ ISIL/ISIS ในขณะนี้
ความรุนแรงในซีเรียเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมือง กลายเป็นสมรภูมิที่มีกองกำลังนอกประเทศเข้ามาร่วมรบ เป็นอุทาหรณ์ว่าการป้องกันปัญหาง่ายกว่าและดีกว่าการแก้ปัญหา คนในชาติต้องไม่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัว หรือคิดแต่เพียงปกป้องครอบครัวคนใกล้ชิดเท่านั้น 

บรรณานุกรม:
1. CONDEMNING VIOLENCE IN IRAQ, SECRETARY-GENERAL SAYS TERRORISM MUST NOT BE ALLOWED TO UNDO ‘PATH TOWARDS DEMOCRACY’. (2014, June 11). UN Press Release. Retrieved from http://www.un.org/News/Press/docs//2014/sgsm15935.doc.htm
2. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.
3. Islamic State 'has 50,000 fighters in Syria'. (2014, August 19). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/08/islamic-state-50000-fighters-syria-2014819184258421392.html
4. Mccoy, Terrence. (2014, June 11). How ISIS leader Abu Bakr al-Baghdadi became the world’s most powerful jihadi leader. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2014/06/11/how-isis-leader-abu-bakr-al-baghdadi-became-the-worlds-most-powerful-jihadi-leader/?tid=hp_mm
5. Nordland Rod. (2014, June 30). Russian Jets And Experts Sent to Iraq To Aid Army. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/06/30/world/middleeast/iraq.html?_r=0
6. Perry, Tony., & Bennett, Brian. (2014, August 26). White House confirms death of American jihadist fighting in Syria. Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/local/lanow/la-me-ln-american-isis-20140826-story.html
7. Press Briefing by Principal Deputy Press Secretary Josh Earnest, 6/10/2014. (2014, June 10). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/06/10/press-briefing-principal-deputy-press-secretary-josh-earnest-6102014
8. Robinson, Eugene. (2014, August 28). Obama must answer: Are we at war with the Islamic State? The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/opinions/eugene-robinson-is-the-us-at-war-with-the-islamic-state/2014/08/28/257c8772-2ef0-11e4-994d-202962a9150c_story.html
9. Southeast Asia fears fallout of Mideast chaos. (2014, July 2). Japan Times/Reuters. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2014/07/02/world/southeast-asia-fears-fallout-mideast-chaos/#.U7PEvJSSzck
10. Statement by the President. (2014, August 28). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/08/28/statement-president
---------------------------