เกาะติดประเด็นร้อน “ความขัดแย้งในประเทศซีเรีย” (5)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 24 ก.ค. 8.30 น.) ความขัดแย้งในประเทศซีเรียที่กินเวลากว่าสองปีครึ่ง แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ หลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลโอบามาแสดงท่าทีต้องการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอาจจัดการขั้นเด็ดขาดหากมีหลักฐานชัดเจนว่ากองทัพของรัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมี แต่จนถึงบัดนี้ประธานาธิบดีบารัก โอบามายังไม่ตัดสินใจเข้าแทรกแซงทางทหารอย่างชัดเจน และยังรักษาช่องทางเจรจาอยู่เสมอ
            ที่ผ่านมาอังกฤษกับฝรั่งเศสแสดงท่าทีเรียกร้องให้สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหาร เช่นเดียวกับสมาชิกสภาครองเกรสบางคน เช่น วุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน เห็นว่าต้องสนับสนนุฝ่ายต่อต้านด้วยอาวุธหนัก รวมถึงการจัดตั้งเขตห้ามบิน
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 24 ก.ค. 8.30 น.)
            ล่าสุดพลเอก Martin Dempsey ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสหรัฐฯ เสนอแนวทางช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน 5 แนวทาง เพื่อให้ฝ่ายบริหารประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
            แนวทางแรก ฝึกอบรม ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือกองกำลังฝ่ายต่อต้าน
            สอนการใช้อาวุธ ยุทธวิธีการรบ ให้ความช่วยเหลือเรื่องการข่าวและการขนส่ง การฝึกอบรมจะกระทำนอกเขตประเทศซีเรีย แนวทางนี้รัฐบาลอเมริกันจะใช้งบประมาณราว 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ขึ้นกับจำนวนกองกำลังที่เข้ารับการฝึกด้วย)
            แนวทางที่สอง โจมตีเป้าหมายสำคัญ
            สหรัฐฯ จะโจมตีเป้าหมายทางทหารที่สำคัญ เช่น ระบบต่อต้านอากาศยาน ขีปนาวุธต่างๆ รวมทั้งกองกำลังนาวีซีเรีย ศูนย์บัญชาการ แนวทางนี้ต้องอาศัยเครื่องบินรบหลายร้อยลำ เรือรบ เรือดำน้ำ และอื่นๆ ใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ และอาจทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิต
            แนวทางที่สาม ตั้งเขตห้ามบิน (No-Fly Zone)
            เป้าหมายคือป้องกันไม่ให้รัฐบาลซีเรียใช้กำลังทางอากาศโจมตีฝ่ายต่อต้าน หรือใช้เพื่อการขนส่งลำเลียง ในการนี้จะต้องทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรีย ยิงทำลายเครื่องบินข้าศึก ใช้งบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม แม้กำลังทางอากาศซีเรียจะถูกทำลายราบแต่ไม่ได้หมายความว่าการปะทะระหว่างกองทัพซีเรียกับฝ่ายต่อต้านจะยุติ เนื่องจากสองฝ่ายปะทะกันด้วยปืน ปืนครก ปืนใหญ่เป็นหลัก
            แนวทางที่สี่ ตั้งเขตปลอดภัย/เขตกันชน (buffer zones)
            โดยอาจจัดตั้งเขตปลอดภัยระหว่างพรมแดนซีเรียที่ติดกับตุรกีกับจอร์แดน สหรัฐฯ จะส่งกองกำลังภาคพื้นดินหลายพันนายเพื่อช่วยให้ความคุ้มครองเขตดังกล่าว ทำให้ฝ่ายต่อต้านสามารถจัดตั้งฐานทัพในพื้นที่ และยังสามารถเป็นเขตลี้ภัยของผู้อพยพ ใช้งบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน ข้อเสียคือกองทัพซีเรียอาจยิงกระสุนใส่เขตปลอดภัย
            แนวทางที่ห้า ควบคุมอาวุธเคมี
            เป้าหมายคือทำลายคลังอาวุธเคมีทั้งหมดของซีเรีย รวมทั้งป้องกันไม่ให้อาวุธเคมีตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย ใช้งบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน

            นอกจากนี้ พลเอก Martin Dempsey ยังชี้ว่าจากประสบการณ์รอบ 10 ปีที่ผ่านมากำลังทหารเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ และสหรัฐฯ ต้องพร้อมรับผลที่จะตามมาหากเข้าแทรกแซง เช่น อาจเป็นการกระตุ้นเร้าพวกสุดโต่ง ทำให้อาวุธเคมีแพร่กระจายออกไป มีโอกาสที่สถานการณ์จะดึงให้ประเทศต้องเข้าพัวพันมากขึ้น และควรดำเนินการร่วมกับมิตรประเทศ

วิเคราะห์: (อัพเดท 24 ก.ค. 8.30 น.)
          กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสนอแผนการรบ 5 แนวทางอย่างครอบคลุมทุกวิธีการ ตั้งแต่เพียงแค่ฝึกกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ช่วยโจมตีเป้าหมายทางทหารที่สำคัญ ตลอดจนถึงขั้นจัดตั้งเขตห้ามบิน เขตปลอดภัยที่อาจกินดินแดนของซีเรีย ภายใต้แผนการรบทั้งหมดกระทรวงกลาโหมชี้ว่าชัยชนะในการรบอาจไม่ช่วยซีเรียได้รัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ และอาจดึงให้อเมริกาต้องถลำลึกในความขัดแย้งของประเทศนี้
            การเสนอแผนอย่างชัดเจนสอดคล้องกับระยะนี้ที่มีแรงกดดันทั้งจากบางประเทศกับแรงกดดันจากนักการเมืองภายในประเทศที่เรียกร้องให้รัฐบาลโอบามาเข้าแทรกแซงช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านอย่างเต็มที่
            ดังที่ทราบกันดีว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบามายังแสดงท่าทีลังเลใจมากตลอด ในขณะที่สองเดือนที่ผ่านมาฝ่ายต่อต้านเพลี่ยงพล้ำ กองทัพรัฐบาลยึดคืนพื้นที่ได้เรื่อยๆ
            จากนี้ไปคงเป็นเวลาสำคัญว่ารัฐบาลโอบามาจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างการเข้าแทรกแซงทางทหารกับการยืนหยัดหาทางออกด้วยการเจรจา
            ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะเจรจา และ/หรือได้เจรจาทางลับหลายรอบ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนความพยายามจัดการเจรจารอบล่าสุดหรือที่เรียกว่าประชุมเจรจาสันติภาพเจนีวา 2 ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก (ล่าสุดมีข่าวว่าจะเลื่อนไปถึงเดือนกันยายน)
            การแก้ไขความขัดแย้งในซีเรียจึงดูมืดมน ไม่ว่าจะด้วยการแทรกแซงด้วยกำลังทหารหรือด้วยการเจรจา
24 กรกฎาคม 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
ข่าวการใช้อาวุธเคมีซารินในซีเรียกลายเป็นเรื่องจริง แต่ยังสับสนว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ ที่ผ่านมาซารินทำให้ผู้คนเสียชีวิตบาดเจ็บไม่มาก แต่กลับมีผลทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างมากทั้งต่อซีเรียและชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกา
(อัพเดท 5 มิ.ย. 10.30 น.) สถานการณ์ซีเรียยังมีเหตุให้ต้องจับตาต่อเนื่อง สัปดาห์ที่แล้วมีประเด็นว่ารัฐบาลซีเรียได้รับขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-300 หรือไม่ วันนี้ประเด็นการใช้อาวุธเคมีกลับมามีความสำคัญอีก เพราะเจ้าหน้าที่สหประชาชาติรายงานว่าค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่ามีการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย ด้านฝรั่งเศสยืนยันว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้
สมาชิกสหภาพยุโรปมีทั้งประเทศที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการเสริมเขี้ยวเล็บแก่ฝ่ายต่อต้าน และมติยกเลิกคว่ำบาตรขายอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านไม่น่าจะมีผลใดๆ ทั้งด้านการรบกับการเมืองของซีเรีย เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องและอาจไม่ตรงความต้องการของฝ่ายต่อต้าน
(อัพเดท 14 มิ.ย. 13.30 น.) สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียเริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญแล้ว เนื่องจากประธานาธิบดีบารัก โอบามาอนุมัติสนับสนุนอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน หลังจากมีข้อสรุปแล้วว่ารัฐบาลอัสซาดได้ใช้อาวุธเคมีโจมตีฝ่ายต่อต้าน

บรรณานุกรม:
1. Top US general details five options for Syria, Al Jazeera, 23 July 2013, http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/07/2013723101314130114.html
2. Gen. Dempsey Responds to Levin's Request for Assessment of Options for Use of U.S. Military Force in Syria, http://www.levin.senate.gov/newsroom/press/release/gen-dempsey-responds-to-levins-request-for-assessment-of-options-for-use-of-us-military-force-in-syria, accessed 24 July 2013.
------------------