อิสราเอลผู้โดดเดี่ยวที่ยังพออบอุ่น

ในยามนี้หากเทียบกับอิหร่าน-อาหรับอาจตีความว่าอิสราเอลถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเมื่อเทียบกับอิหร่าน ยากที่ซาอุฯ จะคืนความสัมพันธ์กับอิสราเอลตราบเท่าที่ลัทธิไซออนิสต์ยังเป็นที่นิยม

             ในอดีตอิสราเอลกับซาอุฯ คือ 2 ตัวแสดงหลักประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง เปรียบเสมือนนายอำเภอประจำภูมิภาคโดยมีสหรัฐเป็นแกนกลาง เกิดความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

            ทั้งซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลต่างเป็นพันธมิตรสหรัฐเนิ่นนาน 8 ทศวรรษ นับจากค.ศ.1945 เป็นต้นมารัฐบาลสหรัฐยึดมั่นข้อตกลงปกป้องราชวงศ์ซาอุฯ ภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแลกกับการที่สหรัฐได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์น้ำมันซาอุฯ

            ความสัมพันธ์กับอิสราเอลยิ่งล้ำลึก เริ่มตั้งแต่สถาปนารัฐอิสราเอลสมัยใหม่เมื่อค.ศ.1948 การเผชิญสงครามกับรัฐอาหรับ อียิปต์ หลายครั้งล้วนมีรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ รัฐบาลสหรัฐมีส่วนสำคัญทำให้นานาชาติยอมรับอิสราเอล สามารถกินดินแดนของปาเลสไตน์ท่ามกลางเสียงประณาม เมื่อไม่นานนี้ยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงอิสราเอล ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญอีกครั้งของอิสราเอลๆ ที่คงอยู่และเติบใหญ่คือความขมขื่นของอาหรับทั้งมวล

            สังเกตว่า หลายทศวรรษแล้วที่พวกซาอุฯ กับอิสราเอลขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นทำสงครามต่อกันหลายรอบ ปัจจุบันยังมีเรื่องที่เห็นต่างแต่ทั้งคู่เป็นพันธมิตรและอยู่ภายใต้การสนับสนุนดูแลของสหรัฐ

ไม่ทิ้งสัมพันธ์อาหรับ-อิสราเอลและอาจดีขึ้น :

            ฟังดูอาจแปลกๆ เพราะซาอุฯ จับมืออิหร่านแล้ว ทั้งมีความขัดแย้งกับอิสราเอลโดยเฉพาะเรื่องปาเลสไตน์ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีซาอุฯ อาหรับร่วมมือทั้งทางตรงทางอ้อมกับอิสราเอลและกำลังฟื้นสัมพันธ์

            ย้อนหลังปี 2018 มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวว่าอิสราเอลมี “สิทธิ” เหนือดินแดนมาตุภูมิของตน คนยิวมีสิทธิแห่งการเป็นรัฐชาติ (nation-state) ที่อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นโดยสันติ ซาอุฯ “ไม่มีปัญหาคนยิว” ทั้งยัง “มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง”

            คำพูดนี้เท่ากับยอมรับรัฐชาติอิสราเอลปัจจุบัน (ในเชิงหลักการ) ต่างจากอดีตที่ประกาศว่าอาหรับกับยิวอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้

            มกุฎราชกุมารอธิบายเพิ่มว่า “ประเทศของเราไม่มีปัญหากับคนยิว ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ของเราแต่งงานกับหญิงยิว ไม่ใช่เพียงเป็นเพื่อนแต่แต่งงานกัน เพื่อนบ้านของศาสดาก็เป็นพวกยิว ซาอุฯ ในปัจจุบันมีชาวยิวไม่น้อยทั้งจากอเมริกา ยุโรป”

             มีนาคม 2022 มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวว่าตนหวังว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะหมดไป ซาอุฯ ไม่มองว่าอิสราเอลเป็นศัตรู ตรงกันข้ามคาดหวังว่าจะเป็นพันธมิตรต่อกัน มีผลประโยชน์หลายอย่างที่ร่วมมือกันได้

            ไม่กี่ปีที่ผ่านมาชาติอาหรับบางประเทศปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล ที่โดดเด่นมากคือ Abraham Accords สิงหาคม 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติ เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ก้าวย่างสำคัญของสันติภาพตะวันออกกลาง เดือนถัดมาบาห์เรนประกาศสถาปนาการทูตกับอิสราเอลเช่นกัน

            เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accord ระบุชัดว่าทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ความจริงแล้วในภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์ และผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกัน (spirit of coexistence) ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

            สรุปแล้ว Abraham Accords คือการประกาศยอมรับรัฐอิสราเอล เริ่มติดต่อกันทุกด้านเหมือนประเทศทั่วไป ทั้งๆ ปัญหาปาเลสไตน์ยังคงอยู่ อิสราเอลยังคงลุกล้ำตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์มากขึ้นตามลำดับ พูดให้ชัดคือบรรดาประเทศที่เคยต่อต้านอิสราเอลเพราะปาเลสไตน์ (ส่วนใหญ่คือประเทศในตะวันออกกลาง นับถืออิสลามเป็นหลัก) ตอนนี้หันมาจับมือร่วมมือกัน นี่คือการทรยศหักหลังชาวปาเลสไตน์ใช่หรือไม่

            มองภาพรวมอาหรับกำลังเป็นมิตรกับอิสราเอลและอิหร่านไล่เลี่ยกัน ลดความขัดแย้งภูมิภาค ลดโอกาสทำสงครามใหญ่ที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐหวังและใช้มาตลอด ทำลายทีละประเทศ เช่น อิรัก ซีเรีย เยเมน คำถามคือใครเป็นรายต่อไป ทั้งหมดนี้มาจากการเปลี่ยนทัศนคติ หลักคิด จนนำสู่นโยบายปรับสัมพันธ์

ต้องมีเส้นทางสันติภาพกับชาวปาเลสไตน์ด้วย :

            ในอีกด้านซาอุฯ ไม่ยอมมีความสัมพันธ์ระดับปกติกับอิสราเอล ยอมรับว่าถ้าซาอุฯ กับอิสราเอลปรับสัมพันธ์สู่ระดับปกติจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค แต่ตั้งเงื่อนไขว่าต้องมีเส้นทาง (แผน) สันติภาพกับชาวปาเลสไตน์ด้วย ให้พวกเขาได้รับความยุติธรรมมีอนาคต มีเส้นทางนำสู่ทวิรัฐ หาไม่แล้วสัมพันธ์ระดับปกติจะไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่ คิดว่าสหรัฐจะเห็นด้วยว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ

            จุดยืนซาอุฯ คือความเป็นไปของปาเลสไตน์เป็นปัจจัยสำคัญต่อเสถียรภาพภูมิภาค ประณามการกระทำรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ ย้ำต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างครอบคลุม มองหาหนทางสู่สันติภาพตามแนวทางทวิรัฐ (two-state solution) อย่างที่นานาชาติเอ่ยถึง ตามข้อเสนอรัฐอาหรับ สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สร้างรัฐปาเลสไตน์อิสระโดยยึดเขตแดนเมื่อปี 1967 มีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง ยุติการยึดครองดินแดนจากการรุกรานของอิสราเอล ผู้บ่อนทำลายความพยายามสู่สันติภาพ ขอร่วมปกป้องเยรูซาเล็ม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รักษาสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ดังเดิม

            หากเทียบกับอิหร่าน-อาหรับอาจตีความว่า อิสราเอลถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเมื่อเทียบกับอิหร่าน (อาหรับเป็นมิตรกับทั้งอิสราเอลและอิหร่าน แต่อาหรับทุกประเทศเป็นมิตรอิหร่าน ต่างจากที่ซาอุฯ ยังไม่เป็นมิตรอิสราเอลอย่างเป็นทางการ เมื่อเทียบกันแล้วอิสราเอลจึงถูกโดดเดี่ยวมากกว่าในเชิงเปรียบเทียบ) ซึ่งเป็นสถานการณ์ใหม่ ผลจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเชื่อมความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเมื่อปี 2023 นี้เอง

            ไม่นานหลังซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ ต้นเดือนมิถุนายน 2023 Antony Blinken รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่าสหรัฐหวังช่วยให้อิสราเอลมีความสัมพันธ์ระดับปกติกับซาอุฯ หวังว่าจะเข้าร่วม Abraham Accords อันจะส่งเสริมให้ภูมิภาคมั่นคงยิ่งขึ้น ตระหนักว่าไม่ง่ายต้องใช้เวลาแต่หวังว่าจะสำเร็จในที่สุด ชี้ว่าการที่อิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์ การปรับแก้สถานศักดิ์สิทธิ์ส่งผลเสียต่อแนวทางทวิรัฐ

วิเคราะห์การปรับสัมพันธ์อิสราเอลไม่น่าจะเกิด :

          ประการแรก พื้นที่ของปาเลสไตน์

            ถ้าคิดให้ดียากที่อิสราเอลจะสามารถทำตามเงื่อนไขของซาอุฯ แค่กลับไปยึดแนวเขตแดนเมื่อปี 1967 ก็ยากแล้ว หลายสิบปีที่ผ่านมาอิสราเอลเข้าครองพื้นที่ของปาเลสไตน์จำนวนมาก คนอิสราเอลหลายแสนเข้าไปตั้งถิ่นฐานและไม่น่าจะย้ายออกเพราะไม่รู้ว่าจะไปไหนดี ทุกวันนี้ยังคงกินดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้น เห็นชัดว่าลำพังข้อนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว ดังนั้นตราบใดที่รัฐบาลซาอุฯ ไม่เปลี่ยนข้อเรียกร้อง จะคืนความสัมพันธ์ได้อย่างไร

          ประการที่ 2 Greater Israel

            แนวคิดไซออนิสต์ต่อปาเลสไตน์คือพื้นที่ของอิสราเอลแบ่งใครไม่ได้ ยึดว่าเขต Judea (พื้นที่อิสราเอลในขณะนี้) กับ Samaria (เวสต์แบงก์) เป็นของอิสราเอลตามประวัติศาสตร์แต่ดั้งเดิม ดังนั้นพื้นที่ประเทศอิสราเอลขณะนี้รวมกับเวสต์แบงก์จะต้องเป็นของอิสราเอลวันยังค่ำและผู้อาศัยส่วนใหญ่ต้องเป็นชาวยิว จึงชอบธรรมที่จะผนวกเวสต์แบงก์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล ด้วยเหตุนี้บางคนคิดว่าเพราะไซออนิสต์นี่แหละอิสราเอลจึงมุ่งมั่นขยายดินแดนตามแนวทาง Greater Israel (เป้าหมายขยายพื้นที่อิสราเอลในทุกทิศทางจนกว่าจะได้พื้นที่ครบซึ่งต้องขยายอีกมาก)

            ทุกวันนี้ลัทธิไซออนิสต์ยังเป็นที่นิยม เป็นลัทธินิกายหนึ่งที่ผู้คนศรัทธา Greater Israel เป็นเป้าหมายลัทธิ นอกจากไม่คืนพื้นที่ยึดครองปัจจุบันยังต้องจะกินดินแดนเพิ่มอีก

            การฟื้นฟูความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านกลายเป็นนโยบายเชิงรุก ส่วนสหรัฐกับอิสราเอลถอยร่น รัฐบาลไบเดนต้องรีบออกหน้าแสดงตัวขอปรับสัมพันธ์แทนอิสราเอล

18 มิถุนายน 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9712 วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2566)

--------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

การปรับสัมพันธ์อิหร่าน-ขั้วซาอุฯ ทำให้สถานการณ์ตะวันออกกลางเปลี่ยนครั้งใหญ่ ยากที่สหรัฐจะทำสงครามและดึงอาหรับรบอิหร่าน
แทนความขัดแย้งควรสร้างบรรยากาศการพัฒนา สันนิบาตรอาหรับยินดีร่วมมือกับทุกมหาอำนาจ ทุกศาสนาเชื้อชาติ นี่คือจุดยืนของชาติอาหรับที่คิดและทำเพื่อตัวเอง เป็นสิทธิที่พลเมืองอาหรับควรได้รับ
เป็นธรรมดาที่จะมีผู้แข็งแรงกับอ่อนแอกว่า รัฐบาลสหรัฐอาศัยอิสราเอลกับซาอุฯ ที่แข็งแรงและเป็นพันธมิตรของตนช่วยควบคุมกำกับภูมิภาคตะวันออกกลาง

บรรณานุกรม :

1. Abraham Accord signing: top quotes from the signing ceremony. (2020, September 16). The Jerusalem Post. Retrieved from https://www.jpost.com/middle-east/two-states-settlements-not-part-of-israel-deals-with-uae-bahrain-642424

2. Blinken takes aim at Israeli settlements; says US will press ahead with Israel-Saudi normalization. (2023, June 5). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/us-israel-palestinians-saudi-arabia-ccc8da5992301d9a95a4be29f1860808

3. Israel and the Kingdom of Bahrain to establish 'full diplomatic relations,' Trump says. (2020, September 11). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/09/11/politics/israel-bahrain-trump/index.html

4. Mohammed bin Salman on Iran, Israel, US and future of Saudi Arabia: Full transcript. (2022, March 3).

Al Arabiya. Retrieved fromhttps://english.alarabiya.net/News/gulf/2022/03/03/Mohammed-bin-Salman-on-Iran-Israel-US-and-future-of-Saudi-Arabia-Full-transcript

5. Political / "Jeddah Declaration": Leaders of Arab countries stress the importance of strengthening joint Arab action based on foundations, values, common interests and one destiny. (2023, May 19). Saudi Press Agency. Retrieved from https://www.spa.gov.sa/68a3f8bca6a

6. Saudi Crown Prince recognizes Israel's right to exist. (2018, April 3). FRANCE 24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20180403-saudi-arabia-israel-crown-prince-right-homeland-exist

7. Saudi Crown Prince: Iran's Supreme Leader 'Makes Hitler Look Good'. (2018, April 2). The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2018/04/mohammed-bin-salman-iran-israel/557036/

8. Saudi FM: Normalization with Israel would have benefits, but less without two states. (2023, June 8). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/saudi-fm-normalization-with-israel-would-have-benefits-but-less-without-two-states/

-----------------------