เป็นธรรมดาที่จะมีผู้แข็งแรงกับอ่อนแอกว่า รัฐบาลสหรัฐอาศัยอิสราเอลกับซาอุฯ ที่แข็งแรงและเป็นพันธมิตรของตนช่วยควบคุมกำกับภูมิภาคตะวันออกกลาง
นับแต่โบราณกาลแต่ละอาณาจักรมีพลังอำนาจไม่เท่ากันกัน มีผู้เหนือกว่ากับด้อยกว่า บางประเทศมีอิทธิพลเหนือประเทศรอบข้าง ในยุคปัจจุบันบางประเทศเป็นอภิมหาอำนาจ มหาอำนาจระดับภูมิภาคลดหลั่นกันไป
ยุทธศาสตร์สหรัฐมักเอ่ยถึงความร่วมมือจากพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีความคิดคล้ายกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ปิดล้อม การครองระบบการเงินโลก การกำกับกติกาต่างๆ จำต้องอาศัยพันธมิตรหุ้นส่วน สหรัฐไม่อาจกระทำได้โดยลำพัง ในภูมิภาคตะวันออกกลางรัฐบาลสหรัฐใช้วิธีสนับสนุนบางประเทศเพื่อช่วยกำกับดูแลภูมิภาค
อิสราเอลกับซาอุดีอาระเบียคือ 2 ประเทศดังกล่าว เปรียบเสมือนนายอำเภอประจำภูมิภาค
เกิดความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนโดยมีสหรัฐเป็นแกนกลาง
การปรับสัมพันธ์และการถ่วงดุล :
ประการแรก ทั้งคู่ต่างเป็นพันธมิตรสหรัฐ
ทั้งซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลต่างเป็นพันธมิตรสหรัฐเนิ่นนาน 8 ทศวรรษ นับจากจากค.ศ.1945
เป็นต้นมารัฐบาลสหรัฐยึดมั่นข้อตกลงปกป้องราชวงศ์ซาอุฯ ภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแลกกับการที่สหรัฐจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์น้ำมันซาอุฯ
ทุกวันนี้รัฐบาลซาอุฯ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อภูมิภาคและโลกมุสลิม เป็นแกนนำองค์กรระหว่างประเทศสำคัญๆ
ของโลกอาหรับอย่างคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) สันนิบาตอาหรับ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)
ความสัมพันธ์กับอิสราเอลยิ่งล้ำลึก อาจกล่าวว่าเริ่มตั้งแต่สถาปนารัฐอิสราเอลสมัยใหม่เมื่อค.ศ.1948 การเผชิญสงครามกับรัฐอาหรับในภูมิภาคหลายครั้งล้วนมีรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่
รัฐบาลสหรัฐมีส่วนสำคัญทำให้นานาชาติยอมรับอิสราเอล สามารถกินดินแดนของปาเลสไตน์ท่ามกลางเสียงประณาม
เมื่อไม่นานนี้ยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงประเทศอิสราเอลซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญอีกครั้งของอิสราเอลๆ
ที่คงอยู่และเติบใหญ่คือความขมขื่นของชาวอาหรับ
สังเกตว่า ซาอุฯ กับอิสราเอลมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในอดีตถึงขั้นทำสงครามต่อกันหลายรอบ ปัจจุบันยังมีเรื่องที่เห็นต่างแต่ทั้งคู่เป็นพันธมิตรและอยู่ภายใต้การสนับสนุนดูแลของสหรัฐ
ประการที่ 2 ต่างซื้อใช้อาวุธของสหรัฐเป็นหลัก
การซื้อขายอาวุธเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยตรง
แสดงถึงการเป็นพันธมิตรเป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน ทั้งอิสราเอลกับซาอุฯ ต่างซื้อใช้อาวุธสหรัฐเป็นหลัก โดยรวมแล้วอาวุธของอิสราเอลมักเหนือกว่า
1 ขั้น เช่น มี F-35 เป็นประเทศแรกในภูมิภาค ส่วนซาอุฯ ยังไม่มี
รัฐบาลอิสราเอลไม่เห็นด้วย
หลายปีแล้วที่ GCC ต้องการสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธของตน
(The GCC’s anti-missile shield) มีข้อมูลว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นผู้เสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ปี
1990 เมื่ออิรักรุกรานคูเวต
ปี 2012 แนวคิดนี้เป็นจริงเป็นจังอีกครั้งเมื่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านคืบหน้า กระแสหวาดกลัวนิวเคลียร์อิหร่านแผ่ขยาย แผนคือให้เชื่อมโยงกับระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐ
ล่าสุดการเยือนซาอุฯ ของประธานาธิบดีไบเดนเมื่อสัปดาห์ก่อนมีการเอ่ยถึงเรื่องนี้อีกครั้ง
ระบบป้องกันขีปนาวุธดังกล่าวมีข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายแบบ
บ้างว่าใช้ป้องกันขีปนาวุธอิหร่าน บ้างว่าเพื่อป้องกันอาหรับจากขีปนาวุธอิสราเอล
บ้างว่าระบบดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับของกองทัพสหรัฐและจะทำหน้าที่ป้องกันอิสราเอลไปในตัว
คงเป็นเรื่องที่วิพากษ์ได้อีกนาน
ด้านอิสราเอลใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐมานานแล้ว
ต่อมาทั้งคู่ร่วมกันพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธและอิสราเอลพัฒนาระบบของตนเองจนสำเร็จ
มีประสิทธิภาพสูงเป็นที่ยอมรับ
เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์มีประเด็นที่ควรตระหนักว่าอาวุธสมัยนี้เป็นเครื่องจักรไฮเทคขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเครื่องบินรบ F-35A มีความยาว 15.7 เมตร กว้าง 11 เมตร สูง 4.4
เมตร น้ำหนักสูงสุด 31 ตัน ประกอบด้วยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงมากมาย หลายส่วนเป็นความลับทางทหาร ไม่สามารถซื้อหาตามท้องตลาด หากซ่อมบำรุงไม่ได้เท่ากับเป็นแค่เศษเหล็ก
ญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการเจรจาได้สิทธิสร้างทั้งลำหรือสร้างชิ้นส่วนอะไหล่บางส่วน ทั้งนี้ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้ญี่ปุ่นทำเช่นนั้นได้
ดังนั้น การใช้อาวุธประเทศใดคือการที่ประเทศนั้นถูกควบคุมด้วยอาวุธจากประเทศเจ้าของผู้ผลิต ไม่แปลกใจที่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายจะพยายามส่งออกอาวุธให้มากที่สุด ทั้งเพื่อผลกำไร
การเมืองระหว่างประเทศและอื่นๆ
ยุทธศาสตร์
2 นายอำเภอ :
ยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคตะวันออกกลางใช้
2 ประเทศที่เป็นพันธมิตรของตนคอยกำกับดูแลภูมิภาค รวมถึงการที่อิสราเอลกับซาอุฯ ถ่วงดุลกันและกัน
ปัจจุบันมีอิหร่านเป็นความท้าทายสำคัญ
ย้อนหลังพิจารณาผลจากอาหรับสปริง
(เริ่มเมื่อปี 2011) คือการจากไปของผู้นำหลายประเทศที่มีปากมีเสียง โดยเฉพาะฮอสนี่
มูบารัคแห่งอียิปต์ กัดดาฟีแห่งลิเบีย ซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก (อาจไม่เกี่ยวกับอาหรับสปริง)
ตระกูลอัสซาดแห่งซีเรียยังต้องลุ้นต่อไป จะเห็นว่าผู้นำคนสำคัญเหล่านี้จากไปพร้อมกับที่ลิเบียกับอิรักกลายเป็นรัฐล้มเหลวแตกแยกไม่สิ้นสุด
ซีเรียยังไม่จบแต่กลายเป็นซากปรักหักพังผู้คนล้มตายกว่า 200,000 คน อียิปต์ในวันนี้อยู่ได้เพราะพึ่งเงินช่วยเหลือจาก
GCC กับองค์กรระหว่างประเทศ
รวมความแล้ว GCC รอดพ้นจากอาหรับสปริง
สมดุลอำนาจตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลง (ในที่นี้รวมอียิปต์ ลิเบีย) ประเทศที่ยังอยู่ดีเป็นปกติสุขคือผู้ได้ประโยชน์
บัดนี้เหลือเพียงอิหร่านประเทศเดียวที่ต้องจัดการ (อาจรวมตุรเคียหรือตุรกีเดิม)
นาโตแห่งตะวันออกกลาง? :
ช่วงนี้มีการเอ่ยถึงพันธมิตรทางทหารในภูมิภาคตะวันออกกลาง
“Middle East NATO” “Arab NATO”
ที่รวมอิสราเอลด้วย สัปดาห์ก่อนกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 (King Abdullah
II) แห่งจอร์แดนกล่าวว่าตนจะเป็นคนแรกที่ขอเข้าร่วม
ถ้ามองในกรอบสมาชิก
ผู้เป็นสมาชิกมั่นใจมากขึ้นว่าจะไม่ถูกเพื่อนบ้านชาติสมาชิกด้วยกันรุกราน
(จอร์แดนเป็นตัวอย่าง) เป็นข้อตกลงสันติภาพที่ยกระดับอีกขั้นระหว่างหมู่ชาติอาหรับด้วยกันและกับอิสราเอล
พัฒนาจาก Abraham Accords ที่ลงนามเมื่อปี 2020
และหมายถึงรัฐบาลสหรัฐยกระดับกระชับอำนาจภูมิภาคโดยมีอิสราเอลกับซาอุฯ
เป็นผู้ช่วย คำถามน่าคิดคืออิหร่านจะคิดเห็นอย่างไร จะตอบโต้อย่างไร จะยิ่งนำสู่การเผชิญหน้ามากขึ้นหรือไม่
สมาชิก GCC
บางประเทศอาจยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ประชาชนแต่ละประเทศคิดเห็นอย่างไร
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป
:
จะเห็นว่าภูมิภาคตะวันออกกลางในยามนี้เหลือตัวแสดงสำคัญคือ
อิสราเอล ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ในภาพที่ใหญ่ขึ้นสหรัฐ
จีนและรัสเซียยังคงให้ความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้น สามารถวิเคราะห์โดยแยกภูมิภาคนี้เป็น
2 ขั้วคือฝ่ายสหรัฐกับอิหร่าน (ที่รัสเซียสนับสนุน)
ยังเป็นภูมิภาคการแข่งขันของมหาอำนาจดังเช่นอดีต และอาจเผชิญหน้ารุนแรงทั้งจากประเด็นซีเรีย
โครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
ไม่ว่าจะเกิดนาโตตะวันออกกลางหรือไม่ แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอาหรับดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งคู่เหลือปรปักษ์สำคัญคืออิหร่าน แต่การจัดการอิหร่านไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีมหาอำนาจหนุนหลัง
เป็นการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจโลกในภูมิภาคนี้ที่ดำเนินต่อเนื่องเนิ่นนานตราบเท่าที่พลังงานฟอสซิลยังเป็นที่ต้องการของโลก
-------------------
1. A 'Middle East NATO'? Why
Iran is closely watching Biden's regional trip. (2022, July 15). CNN. Retrieved
from
https://edition.cnn.com/2022/07/15/middleeast/biden-saudi-iran-mime-intl/index.html
2. A 'NATO' for the Middle
East? (2022, June 15). DW. Retrieved from
https://www.dw.com/en/a-nato-for-the-middle-east/a-62305810
3. Gulf Military Cooperation: Tangible Gains
or Limited Results? (2015, March 31). Al
Jazeera. Retrieved from
http://studies.aljazeera.net/en/dossiers/2015/03/201533164429153675.html
-----------------------