เมื่อสงครามยูเครนกำลังลามมาที่อิหร่าน

ด้วยความที่รัฐบาลสหรัฐต้องการเข้าควบคุมการซื้อขายน้ำมันก๊าซธรรมชาติของชาติพันธมิตรกับพวก จึงหวังใช้อิหร่านเป็นเครื่องมือ ดึงอิหร่านเข้าสู่สงครามเย็นใหม่

        บทความนี้นำเสนอแนวคิดลากอิหร่านเข้าสงครามเย็นใหม่ เท้าความตั้งแต่ข้อตกลงนิวเคลียร์ ตัวแปรรัสเซีย

ประวัติความเป็นมาของ JCOPA :

        ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) เป็นข้อตกลงพหุภาคี อิหร่านกับ P5+1 (หรือ E3+3) ได้แก่ สหรัฐสมัยโอบามา รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน เป้าหมายคือนำโครงการนิวเคลียร์อิหร่านเข้าสู่การตรวจสอบของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) หน่วยงานสังกัดสหประชาชาติ ให้มั่นใจว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านใช้ในทางสันติเท่านั้น

        ปี 2018 รัฐบาลทรัมป์ฉีกข้อตกลง JCOPA เพียงฝ่ายเดียวทั้งๆ ที่อิหร่านไม่ได้ละเมิดข้อตกลง IAEA กับประเทศคู่สัญญาอื่นๆ ยืนยันเรื่องนี้ เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐกระทำตามอำเภอใจ เป้าหมายคือต้องการคว่ำบาตรอิหร่าน จึงเป็นเรื่องแปลกเมื่อรัฐบาลไบเดนย้ำว่าจุดยืนคืออิหร่านต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งๆ ที่ข้อตกลง JCPOA คือเครื่องประกันว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะอยู่ภายใต้การตรวจสอบของ IAEA ดังเช่นนานาประเทศทั้งหลาย

กระแสข่าวหมดเวลาเจรจาแล้ว :

        เมื่อเข้าสู่รัฐบาลไบเดนมีการเจรจาเรื่อยมาแต่ไม่สำเร็จ ล่าสุดรัสเซียเพิ่มเงื่อนไขว่าสัญญาฉบับใหม่จะต้องไม่กระทบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอิหร่านกับรัสเซีย ดังที่ตอนนี้รัสเซียถูกหลายประเทศคว่ำบาตร ด้านรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมันประกาศว่าไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เตือนว่าอาจเป็นเหตุให้การเจรจาล้มเหลวแต่ข้อมูลเรื่องนี้ยังสนอยู่

        จากเหตุสงครามยูเครน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากกระทบคนทั้งโลกไม่เว้นคนอเมริกันกับอียู รัฐบาลไบเดนมีแผนปรับสัมพันธ์กับอิหร่าน ยอมให้อิหร่านขายน้ำมันได้มากขึ้น (เพื่อให้นานาชาติซื้อแทนน้ำมันรัสเซีย) และลดแรงกดดันจากราคาน้ำมัน

        แผนรัฐบาลไบเดนฟื้นสัมพันธ์อิหร่านผ่านข้อตกลง JCPOA กลายเป็นจุดสนใจอีกครั้ง เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่รัฐบาลไบเดนอาจตัดสินใจทิ้งการเจรจา (หรือลากยาวไปถึงรัฐบาลหน้า) อิหร่านต้องคิดหนักเพราะดับฝันที่จะได้ขายน้ำมันเต็มที่

        มองในแง่ร้ายถ้าการเจรจาล่ม รัฐบาลไบเดนจะคว่ำบาตรอิหร่านต่อไปอีกทั้งอาจเพิ่มมาตรการให้รุนแรงกว่าสมัยทรัมป์อีก เช่น ไม่อนุญาตให้ประเทศใดๆ ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ไม่เว้นแม้แต่บางประเทศที่ได้รับการผ่อนผัน เช่น เกาหลีใต้ยังสามารถนำเข้าน้ำมันอิหร่านโดยต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐ ตามแผนควบคุมการซื้อขายน้ำมันโลกของอเมริกา

        ตามยุทธศาสตร์จัดระเบียบโลกของอเมริกาหรือสงครามเย็นใหม่ เป้าหมายเฉพาะหน้าคือให้พันธมิตรกับมิตรประเทศของสหรัฐเลิกซื้อน้ำมันก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย จึงจำต้องหาแหล่งทดแทนซึ่งมีไม่กี่ทางเลือก อิหร่านเป็นหนึ่งในไม่กี่ทางเลือกดังกล่าว

       เป็นทาง 2 แพร่งที่อิหร่านต้องตัดสินใจว่าจะตัดความสัมพันธ์กับรัสเซียหรือไม่ เป็นแผนที่รัฐบาลตะวันตกวางไว้

        กรณีที่เลวร้ายกว่านี้คือการปะทะทางทหารระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างเข้มข้น เป็นสงครามที่ไม่ประกาศ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงภูมิภาคตะวันออกกกลางจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เป็นการดึงภูมิภาคตะวันออกกลางเข้าสู่สงครามเย็นใหม่ พูดให้ชัดคืออิหร่านถูกลากเข้ามาอยู่ในสงครามเย็นใหม่

สงครามเย็นใหม่ในตะวันออกกลาง? :

        ดังที่ได้นำเสนอแล้วว่าสงครามยูเครนมองได้หลายกรอบ กรอบใหญ่ที่สุดคือโหมกระพือสงครามเย็นใหม่ในภูมิภาคยุโรป หรือพูดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างนาโตกับรัสเซีย เป็นการแข่งขันช่วงชิงระหว่าง 2 มหาอำนาจ

         บัดนี้อิหร่านกำลังถูกลากเข้ามาในความขัดแย้งนี้ และอาจจะไม่ใช่แค่อิหร่าน-นาโต-รัสเซีย แต่เป็นขั้วอเมริกากับรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลาง ฝ่ายรัสเซียจะมีอิหร่าน ซีเรีย (รัฐบาลอัสซาด) ดังที่ประธานาธิบดีปูตินเปิดทางให้นักรบอาสาตะวันออกกลางซึ่งรวมซีเรียเข้ารบในยูเครน

        ฝ่ายสหรัฐจะมีรัฐอาหรับกับอิสราเอล โดยเฉพาะอิสราเอลที่จ้อง “ชิงลงมือก่อน” (preemption) ต่ออิหร่านอยู่แล้ว การปะทะทางทหารมีความเป็นไปได้สูง ทุกวันนี้เครื่องบิน ขีปนาวุธอิสราเอลโจมตีกองกำลังอาสาอิหร่านในซีเรียเป็นระยะ เมื่อวันอาทิตย์ก่อน (13) อิหร่านยิงขีปนาวุธกว่า 10 ลูกใส่เป้าหมายที่เมืองเออร์บิล (Erbil) ของอิรัก มีข้อมูลว่าเป็นฐานที่ตั้งของมอสสาด (Mossad) เบื้องต้นรายงานผู้เสียชีวิต 9 ราย

        เป็นการตอบโต้การโจมตีด้วยเครื่องบินไร้พลขับของอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่โจมตีคลังเก็บของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) ในจังหวัด Kermanshah ทางภาคตะวันตกของอิหร่าน โดยอิสราเอลปล่อยเครื่องโดรนจากเขตเคอร์ดิสถานที่เมืองเออร์บิลตั้งอยู่

        หลายปีแล้วที่อิสราเอลกับอิหร่านใช้อาวุธสงครามต่อกัน ยอดผู้บาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นทุกที สมัยรัฐบาลทรัมป์เคยเตรียมเปิดศึกกับอิหร่าน เหล่านี้เป็นหลักฐานความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการปะทะทางทหารครั้งใหญ่ ซึ่งหากเกิดเช่นนั้นจริงเรื่องอาจบานปลาย รัสเซียอาจส่งทหารเครื่องบินรบของตนสู่อิหร่าน เหมือนตอนนี้ที่มีฐานทัพอากาศรัสเซียในซีเรียเพื่อคุ้มครองรัฐบาลอัสซาด

        ไม่ว่าจะเกิดการปะทะทางทหารครั้งใหญ่หรือเป็นแค่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าอิหร่านจะถูกลากเข้ามาในสงครามยูเครน พูดให้ถูกกว่านี้คืออิหร่านอาจถูกลากเข้ามาในความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ สงครามเย็นใหม่กำลังขยายตัวสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง

        ไม่ช้าไม่นานสงครามยูเครนจะยุติหรือคลายความรุนแรง แต่ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ ไม่ได้หมายความว่าสงครามเย็นใหม่จะยุติด้วย รัฐบาลสหรัฐกับพวกจะคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรงต่อไป และรัสเซียจะโต้กลับสมน้ำสมเนื้อ (ต้องไม่ลืมว่าผลกระทบสำคัญต่อโลกคือผลจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ)

        หนึ่งในเป้าหมายสำคัญตอนนี้คือรัฐบาลสหรัฐต้องการเข้าควบคุมการซื้อขายน้ำมันก๊าซธรรมชาติของชาติพันธมิตรดังกล่าวข้างต้น นี่คือเครื่องมือควบคุมให้ประเทศทั้งหลายไม่แตกแถว เงินดอลลาร์ยังเป็นสกุลหลักของโลก

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

        หลักความขัดแย้งข้อหนึ่งคือความขัดแย้งหนึ่งสร้างอีกความขัดแย้งและบานปลายมากขึ้น จนกว่าคู่กรณีจะยอมยุติหรือฝ่ายหนึ่งถูกทำให้หยุด

        หากย้อนกลับตั้งแต่ต้นจะเห็นว่าประเด็นยูเครนทวีความขัดแย้งมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างระดมกองกำลังอาสา คว่ำบาตรต่อกันมากขึ้นทุกที และลามสู่ประเทศอื่นๆ เช่น รัฐบาลไบเดนหวังดึงโปแลนด์เข้าสู่สนามรบด้วยข้อเสนอให้โปแลนด์มอบเครื่องบิน MiG-29 แก่ยูเครน ดีที่รัฐบาลโปแลนด์หาทางออกด้วยเงื่อนไขว่าจะส่งมอบเครื่องบินแก่สหรัฐ จนรัฐบาลไบเดนต้องยกเลิกแผนนี้

        ตอนนี้อิหร่านเป็นอีกประเทศที่กำลังถูกดึงเข้ามา น่าติดตามว่าสถานการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร ถ้ามองเฉพาะกรอบโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน รัฐบาลไบเดนสามารถยกเลิกการเจรจาอย่างสิ้นเชิง สามารถห้ามทุกประเทศซื้อน้ำมันจากอิหร่านโดยไม่ผ่อนผันให้ประเทศใดๆ อีก (อย่างน้อยอาจใช้วิธีนี้ชั่วระยะหนึ่ง) ที่ร้ายแรงและอาจบานปลายคือการปะทะด้วยอาวุธอย่างเข้มข้นที่มีอิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงเท่านี้ก็ไม่อยากจินตนาการต่อไปแล้ว

        เรื่องนี้เป็นข้อเตือนใจนานาประเทศให้ระวังไม่ถูกลากเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งจนถึงขั้นประเทศตัวเองเป็น “พื้นที่ทำสงคราม” ดังที่ได้นำเสนอแล้วว่า “นักการเมืองพยายามแบ่งแยกประชาชน เกิดความเป็นขั้วอย่างรุนแรง นำสู่สงครามกลางเมืองกลายเป็นยูเครนตะวันตกกับตะวันออก ทั้งนี้ชาติมหาอำนาจร่วมผสมโรงได้ประโยชน์จากการแตกแยกของคนยูเครน สามารถดึงฝ่ายการเมืองให้อยู่กับตนเป็นรัฐบาลที่อิงตะวันตกหรืออิงรัสเซีย กล่าวได้ว่าชาติมหาอำนาจมั่นคงมั่งคั่งขึ้นบนความสูญเสียของยูเครน เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศ เป็นอุทาหรณ์แก่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือ”

20 มีนาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9258 วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565)

-----------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :
คู่สัญญา JCPOA กลับมาเจรจาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่านโยบายของไบเดนเหมือนโอบามาหรือทรัมป์ อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่เมื่อชาติตะวันตกขอให้อิหร่านเลิกโครงการนิวเคลียร์
ยูเครนเป็นพื้นที่กันชนระหว่าง 2 มหาอำนาจ ตอนนี้กำลังถูกใช้โหมกระแสสงครามเย็นใหม่ในยุโรป เป็นวิธีกระชับอำนาจที่รัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดทำเช่นนี้เรื่อยมา
ชาติมหาอำนาจมั่นคงมั่งคั่งขึ้นบนความสูญเสียของยูเครน เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศ เป็นอุทาหรณ์แก่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือ
บรรณานุกรม :

1. ‘Impossible to imagine’ nuclear deal if Iran doesn’t release Americans: Sherman. (2022, March 18). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/News/middle-east/2022/03/18/-Impossible-to-imagine-nuclear-deal-if-Iran-doesn-t-release-Americans-Sherman

2. Iran won’t remain silent in face of Israeli actions. (2022, March 14). Tehran Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/471010/Israeli-center-hit-with-Iranian-ballistic-missiles

3. US has to make decision on reviving N-deal: Iran. (2022, March 15). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/711780/US-has-to-make-decision-on-reviving-N-deal-Iran

--------------------------