คู่สัญญา JCPOA กลับมาเจรจาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่านโยบายของไบเดนเหมือนโอบามาหรือทรัมป์ อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่เมื่อชาติตะวันตกขอให้อิหร่านเลิกโครงการนิวเคลียร์
ไม่กี่วันก่อนสหรัฐกับอิหร่านและคู่สัญญาข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) ทั้งหมดรวมจีน รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนีและอังกฤษเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง นัยว่าเพื่อนำสหรัฐกลับเข้าสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ เป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลไบเดน ผลการเจรจาเบื้องต้นจัดตั้งคณะทำงาน 2 ชุดๆ หนึ่งดูแลเรื่องนิวเคลียร์ อีกชุดดูแลการเลิกคว่ำบาตร ทั้ง 2 ชุดเริ่มงานทันที
ประวัติศาสตร์ :
อิหร่านมีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนมานานแล้ว
นักวิชาการตะวันตกหลายคนเตือนว่าอิหร่านจะเป็นบ่อเกิดสงครามล้างโลก ในระยะหลังอิหร่านยืนยันเรื่อยมาว่าเพื่อใช้ในทางสันติเหมือนหลายสิบประเทศทั่วโลกที่มีนิวเคลียร์เพื่อสันติ
เช่น โรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ใช้นิวเคลียร์ทางการแพทย์และประโยชน์ทางพลเรือนอื่นๆ
อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี กล่าวว่า “พวกเราได้ฟัตวา (fatwa)
ประกาศว่าศาสนาอิสลามห้ามครอบครองอาวุธนิวเคลียร์” วิจัยพัฒนาเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น
แต่บางประเทศไม่เชื่อคำพูดเหล่านี้
รัฐบาลเนทันยาฮูพูดเสมอว่าอิหร่านต้องการมี “อาวุธนิวเคลียร์”
เพื่อทำลายล้างอิสราเอล (ในขณะที่เป็นที่ยอมกันทั่วไปว่าอิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์หลายสิบลูก)
หลายประเทศพยายามเจรจายุติปัญหา
กรกฎาคม 2015 รัฐบาลโอบามากับอีก 5 ชาติบรรลุข้อตกนิวเคลียร์ Joint
Comprehensive Program of Action (JCPOA) สหรัฐจะเลิกคว่ำบาตรแลกกับที่อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลง
ซึ่งหมายถึงให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) หน่วยงานสหประชาชาติเข้าตรวจสอบว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านมีเพื่อสันติจริง
มาถึงบรรทัดนี้เท่ากับได้ข้อสรุปว่า
ณ ปี 2015 ที่ได้ข้อตกลง JCPOA อิหร่าน
“ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์”
ทรัมป์ผู้ฉีกสัญญา :
ข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมหลายประเทศ ที่เรียกว่า P5+1
หรือ E3+3 (ประกอบด้วยฝ่ายสหภาพยุโรป 3
ประเทศอันได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี กับสหรัฐ รัสเซียและจีน)
กับอีกฝ่ายคืออิหร่าน
เหตุการณ์พลิกผันเมื่อสหรัฐได้รัฐบาลใหม่ ตุลาคม 2018
ทรัมป์ประกาศว่าอิหร่านไม่ได้ทำตามข้อตกลงครบถ้วนจึงขอถอนตัว ที่น่าประหลาดใจคือสหรัฐเป็นประเทศเดียวในหมู่ประเทศคู่สัญญาที่ชี้ว่าอิหร่านไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง
ที่ผ่านมาประเทศคู่สัญญาอื่นๆ ทั้งหมดล้วนยอมรับว่าอิหร่านปฏิบัติตาม JCPOA
เกิดคำถามว่าใครเป็นฝ่ายผิด รัฐบาลสหรัฐผิดหรือรัฐบาลคู่สัญญาอื่นๆ
เป็นฝ่ายผิด รวมทั้ง IAEA ก็ผิดด้วย
บัดนี้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลทรัมป์พูดโกหกคำโตต่อโลก
รัฐบาลเสรีประชาธิปไตยทรัมป์ไม่สนใจว่าประชาคมโลกจะคิดอย่างไร และบัดนี้ไม่มีใครประหลาดใจกับพฤติกรรมทรัมป์ที่พูดจริงบ้างเท็จบ้างไปเรื่อยๆ
ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าทำไมทรัมป์ทำเช่นนี้ บอกได้แต่ว่ารัฐบาลอิสราเอล พวกซาอุฯ
ยินดีปรีดาอย่างยิ่ง ตามด้วยมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกหลายชุดที่ทรัมป์ใช้คำว่านโยบายกดดันสุดขีด
(maximum pressure)
ทุกวันนี้ทุกประเทศยังยึดสัญญาดังกล่าว เฉพาะสหรัฐเท่านั้นที่ฉีกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว
เรื่องที่น่าเจ็บใจ :
เมื่อตอนที่ได้ข้อตกลงนิวเคลียร์
รัฐบาลโอบามาคลายการคว่ำบาตร บริษัทเอกชนจากหลายประเทศพากันเดินทางไปอิหร่านเพื่อลงทุนโดยเฉพาะบริษัทจากยุโรป
รัฐบาลอิหร่านเปิดกว้างต้อนรับหวังให้เข้ามาลงทุนฟื้นฟูประเทศ แต่ในเวลาเพียงปีเดียวสหรัฐได้รัฐบาลใหม่เปลี่ยนนโยบายแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
รัฐบาลทรัมป์ประกาศ “ห้ามบริษัทเอกชนทุกประเทศ” ทำธุรกรรมกับอิหร่าน
หาไม่จะโดนคว่ำบาตร นี่คือคำประกาศจากสหรัฐผู้พยายามชี้ว่าตนเป็นผู้นำทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย
ที่ออกกฎด้วยตัวเองห้ามใครก็ตามไปลงทุนในอิหร่าน หลายบริษัทที่กำลังลงทุนในช่วงนั้นจึงถอนตัวแทบไม่ทัน
เสียหายมากมาย ไม่สามารถเรียกชดเชยจากใคร
นี่คือเรื่องน่าเจ็บใจข้อแรก
ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
รัฐบาลจีนทำสัญญาลงทุนในอิหร่าน 400,000 ล้านดอลลาร์ แลกกับที่จีนจะซื้อน้ำมันอิหร่านเป็นเวลา
25 ปี จีนจะลงทุนในหลายอุตสาหกรรม เช่น การธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร ท่าเรือ รถไฟ
สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ เห็นชัดว่าข้อตกลงดังกล่าวอิหร่านได้ประโยชน์เต็มๆ
ได้ทั้งการลงทุนของจีนและได้ขายน้ำมัน
ย้อนกลับไปที่บริษัทเอกชนหลายประเทศไปลงทุนแต่สุดท้ายถอนตัวแทบไม่ทัน
บัดนี้จีนคือไม่กี่ชาติที่ยังกล้าลงทุนในอิหร่าน ข้อตกลง 400,000 ล้านดอลลาร์ชี้ว่านักลงทุนจีนกำลังกินเค้กก้อนใหญ่โดยปราศจากคู่แข่งจากชาติตะวันตก
ไม่ใช่เพราะอิหร่านปิดกั้นทุนนิยมเสรีแต่เพราะนโยบายผู้นำทุนนิยมเสรีโลก
นี่คือเรื่องน่าเจ็บใจที่เจ็บกว่าข้อแรก
อันที่จริงแล้วประชาธิปไตยอเมริกันมีความงดงามในตัวเอง
แต่บางครั้งสร้างความเสียหายไม่น้อย ถ้าถามรัฐบาลจะบอกว่าเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ
แต่ควรคิดให้ลึกกว่านั้นว่าเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติจริงแท้แค่ไหน
ยิ่งถ้าถามประเทศอื่นๆ จะยิ่งหนักหนากว่านั้นอีก
กลับมาที่จีน
ถ้ามองให้ไกลกว่าผลประโยชน์เศรษฐกิจ เหตุที่รัฐบาลจีนทำสัญญากับอิหร่านเพื่อยืนยันว่าจีนทำตามสัญญาไม่เปลี่ยนกลางคัน
ประกาศความน่าเชื่อถือได้ของจีน และประกาศศักดาว่าจีนไม่กลัวอเมริกา
ทางออกนิวเคลียร์อิหร่าน :
ถ้าจะวิเคราะห์แบบห้วนๆ
ทางออกง่ายนิดเดียวคือรัฐบาลไบเดนกลับมารักษาสัญญาดังเดิม
ถ้ายังจำได้ในสมัยรัฐบาลโอบามา
ไบเดนคือรองประธานาธิบดีของโอบามาตลอด 2 สมัย (ปี 2009-2017) โดยส่วนตัวประธานาธิบดีไบเดนเข้าใจข้อตกลงดังกล่าวอย่างดี
ท่าทีของรัฐบาลไบเดนขณะนี้จึงดูแปลก ราวกับว่ารัฐบาลจากพรรคเดโมแครทชุดนี้ไม่ทำตามแนวทางเดโมแครทเดิม
(โอบามา) แต่คล้ายรัฐบาลรีพับลิกัน (ทรัมป์)
ไบเดนพูดจาอ่อนสุภาพเหมือนโอบามาแต่จะยึดแนวทางโอบามาหรือทรัมป์
อีกไม่นานจะได้คำตอบชัด เป็นข้อเตือนใจว่าแค่ดูวาจากริยาไม่พอ
ต้องเข้าใจเนื้อในด้วย ไปๆ มาๆ ไบเดนอาจเป็นพวก “อเมริกาต้องมาก่อน” (America
First) ก็เป็นได้
และควรย้ำว่าเป้าหมายข้อตกลงคือให้มั่นใจว่าอิหร่านปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
การที่รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวเป็นเหตุให้อิหร่านเริ่มละเมิดข้อตกลงบ้างเพื่อตอบโต้
เท่ากับว่ารัฐบาลสหรัฐคือผู้ทำให้โลกสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์
ตอนนี้ไบเดนกำลังจะเป็นเหมือนทรัมป์หรือไม่
เจรจาเพื่ออะไร :
ฝ่ายอิหร่านย้ำเสมอว่าต้องเลิกคว่ำบาตรอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น
ไม่ยอมรับการคลายคว่ำบาตรทีละขั้น แนวทางของอิหร่านถูกต้อง ต้องยึดว่า JCPOA เป็นข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว
แต่รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว หากรัฐบาลไบเดนยังยึดว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลงควรชี้แจงพร้อมหลักฐาน
ให้คู่สัญญาทุกประเทศยอมรับหลักฐาน แต่หากรัฐบาลไบเดนไม่แสดงหลักฐานเท่ากับยอมรับว่ารัฐบาลทรัมป์ทำผิดเอง
ตามสไตล์ของทรัมป์ที่พูดจริงบ้างเท็จบ้างไปเรื่อยๆ
ผลการเจรจารอบนี้ได้ตั้งคณะทำงาน
2 ชุด ไม่มีใครตอบได้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วทุกอย่างจบง่ายมากเพียงแค่รัฐบาลสหรัฐยึดข้อตกลงเดิม
อิหร่านทำตามข้อตกลงให้ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ IAEA ตรวจสอบยืนยันอีกครั้งว่าอิหร่านไม่ได้ละเมิดข้อตกลง
ในเวลา 2-3 เดือนทุกอย่างน่าจะจบ แต่อาจวิเคราะห์ว่าการเจรจากับอิหร่านในขณะนี้คือส่วนหนึ่งของแผนซื้อเวลา
ซึ่งหมายความว่าไบเดนยังคงคว่ำบาตรอิหร่านเหมือนที่ทรัมป์ทำ ไม่ช้าก็เร็วโลกจะได้คำตอบว่ารัฐบาลไบเดนที่มาจากพรรคเดโมแครทจะเหมือนกับทรัมป์ที่มาจากพรรครีพับลิกันหรือไม่
โลกสามารถเรียนรู้เข้าใจรัฐบาลสหรัฐผ่านข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านว่าทุกรัฐบาลทำเหมือนกันเพราะคือนโยบายแม่บทตั้งแต่ปี
1979 แล้ว
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
1. China holds the high cards in Iran nuclear negotiation. (2021, April 3). Asia Times.
Retrieved from https://asiatimes.com/2021/04/china-holds-the-high-cards-in-iran-nuclear-negotiation/
2. China, with $400 billion Iran deal,
could deepen influence in Mideast. (2021, March 27). Seattle Times. Retrieved from https://www.seattletimes.com/nation-world/china-with-400-billion-iran-deal-could-deepen-influence-in-mideast/
3. Iran rejects offer of direct US
nuclear talks, senior diplomats say. (2021, February 28). Fox News. Retrieved from
https://www.foxnews.com/world/iran-rejects-offer-of-direct-us-nuclear-talks-senior-diplomats-say
4. World powers seek to bring US back into Iran nuclear deal.
(2021, April 6). AP. Retrieved
from https://apnews.com/article/world-powers-seek-bring-back-us-iran-nuclear-deal-3228f009dd4748c59eac7af34c14b3cb
--------------------------