ยูเครนเหยื่อการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ

ชาติมหาอำนาจมั่นคงมั่งคั่งขึ้นบนความสูญเสียของยูเครน เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศ เป็นอุทาหรณ์แก่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือ

        ในสมัยสงครามเย็นยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เมื่อสิ้นสุดระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในปี 1991 หลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตแยกตัวออกเป็นรัฐอธิปไตย ยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศนั้น ประเทศเหล่านี้รวมทั้งรัสเซียต่างรับการปกครองแบบประชาธิปไตย

        ยูเครนเหมือนประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่หลายแห่ง การเมืองอ่อนแอ ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมือง อำนาจปกครองกระจุกตัวอยู่ในคนส่วนน้อยไม่กี่กลุ่ม คนเหล่านี้ไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชน คนยูเครนเบื่อหน่ายนักการเมือง

จุดเริ่มความสูญเสียของยูเครน :

        วิกฤตยูเครนที่กำลังพูดถึงในขณะนี้สามารถย้อนรอยการเมืองในรัฐสภาเมื่อพฤศจิกายน 2013 วิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ประธานาธิบดียูเครนสมัยนั้นปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างยูเครนกับสหภาพยุโรปที่ชื่อว่า “Ukraine-EU association agreement” ข้อตกลงนี้ยูเครนจะเปิดสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป นำสู่การเป็นสมาชิกอียู นาโตในอนาคต

        เป็นเหตุผลว่าทำไมประธานาธิบดียานูโควิชที่อิงรัสเซียปฏิเสธลงนาม

        ผลที่ตามมาคือเกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและเกิดความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ประธานาธิบดียานูโควิชหนีออกจากประเทศ ฝ่ายค้านเข้าควบคุมรัฐสภาจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล

        25 พฤษภาคมมีการเลือกตั้งใหม่ เปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) นักธุรกิจพันล้านชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ดำเนินนโยบายอิงชาติตะวันตก ประกาศขอเป็นสมาชิกอียูทันที นับจากนั้นเป็นต้นมายูเครนได้รัฐบาลที่อิงชาติตะวันตกเสมอมา มีนโยบายขอเป็นสมาชิกอียูหรือนาโต

        ปี 2014 ในช่วงที่กำลังสับสนวุ่นวาย รัสเซียส่งกองกำลังเข้ายึดครองไครเมีย (ไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน เป็นเขตปกครองตนเอง มีนายกรัฐมนตรีของตนเอง) ในเวลาต่อมารัสเซียผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของตน ด้วยหลายเหตุผลเช่นเดิมพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ประวัติศาสตร์ยูเครนต้องบันทึกว่าได้สูญเสียดินแดนส่วนหนึ่งไปแล้ว

        การสลับขั้วสู่รัฐบาลที่นิยมตะวันตกเกิดขึ้นพร้อมกับสงครามกลางเมืองจากการแบ่งแยกทางการเมืองภายในประเทศ ยูเครนแยกออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่อยู่ทางภาคตะวันตกกับภาคตะวันออก (ขอเรียกว่ายูเครนตะวันตกกับยูเครนตะวันออก)

        ฝ่ายที่อยู่ทางตะวันออกเริ่มก่อการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 เข้าควบคุมเขตโดเนตสค์ (Donetsk) กับลูกันสก์ (Lugansk) ต้องการแยกตัวออกจากประเทศ ขอให้รัฐบาลรัสเซียช่วยรับรอง และอาจหมายถึงต้องการรวมกับประเทศรัสเซียเหมือนไครเมีย ไม่ว่าเรื่องนี้เป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่หรือเป็นความต้องการของใครบางคน ปฏิบัติการฝั่งตะวันออกแยกตัวออกจากประเทศเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

        ในสมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต ยูเครนเป็นรัฐที่เจริญและอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตขนมปังของโซเวียต เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก (ไทยเคยซื้อใช้รถถัง Oplot-T ที่ผลิตโดยยูเครน) แต่ความรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ค่อยๆ หายไปหลังยูเครนประกาศเป็นอิสระเมื่อสิ้นสหภาพโซเวียต ต้องขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจาก IMF การเมืองที่เต็มด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกลายเป็นยูเครนตะวันตกกับตะวันออก ยูเครนไม่ใช่ความเจริญไม่ใช่อู่ข้าวอู่น้ำอีกต่อไปและน่าจะมืดมนไปอีกนาน

        ล่าสุดรัสเซียเปิดฉากทำสงครามเต็มรูปแบบรุกเข้าไปในยูเครนสู่เมืองหลวงกรุงเคียฟ ทหารยูเครนต้องรบกับกองทัพรัสเซียตามลำพัง ความ​จริง​ทุก​อย่าง​ชัดเจน​ตั้งแต่​ต้น​คือ​นาโต​จะ​ไม่​ช่วย​รบ ยูเครน​ต้อง​สู้​เอง​ซึ่ง​แพ้​แน่นอน​ รัสเซีย​จะช่วย​ให้​ 2 ประเทศ​รัฐกันชนที่เกิดขึ้นใหม่​มี​พื้นที่​มาก​พอ​ ส่วนยูเครนที่เหลือจะเป็นกลางหรืออิงตะวันตกน่าจะกำลังเจรจา หากเจรจาไม่สำเร็จรัสเซียอาจตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลปกครองยูเครน

        ถ้าการเจรจาเป็นไปด้วยดี สถานการณ์ยูเครนจะเข้าสู่ปกติในไม่ช้า ในอีกทางคือการเจรจายืดเยื้อ หรือหากรัสเซียตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลสถานการณ์จะฮึมครึมอีกนาน

          ไม่ว่าอย่างไรประวัติศาสตร์จะจารึกว่าอาณาเขตยูเครนถูกตัดออกไปอีก

สิ่งที่รัสเซียได้บนความสูญเสียของยูเครน :

        ในประวัติศาสตร์รัสเซียเคยถูกรุกรานเข้าลึกถึงใจกลางประเทศหลายครั้ง แต่ละรอบตายนับสิบล้านคน บ้านเมืองถูกทำลายย่อยยับ เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และจดจำ เกิดยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศด้วยการสร้างแนวรัฐกันชน (buffer state) และยึดหลักการนี้เรื่อยมา เป็นที่มาของเส้นต้องห้าม (red line) ที่รัสเซียย้ำแล้วย้ำอีกห้ามยูเครนเป็นสมาชิกนาโต

        ตอนนี้ยูเครนตะวันออกประกาศตัวเองเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ "Donetsk People's Republic" (DPR) กับสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ "Luhansk People's Republic" (LPR) คือรัฐกันชนที่ปรับใหม่ล่าสุด แลกกับการที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร อยู่ในบรรยากาศไม่เป็นมิตร คุ้มหรือไม่คุ้มเป็นเรื่องที่วิพากษ์ได้ รัฐบาลปูตินย่อมคำนวณผลดีผลเสียอย่างรอบคอบแล้ว

        ทางการรัสเซียประกาศว่าจะปกป้องคุ้มครองประเทศเกิดใหม่ทั้ง 2 ซึ่งอาจตีความว่าประเทศทั้ง 2 ต้องอยู่ใต้การคุ้มครองของรัสเซียไปอีกนาน

        ข้อสำคัญที่สุดคือสงครามยูเครนจะเป็นคำเตือนแก่นานาชาติว่ารัสเซียจะทำอย่างไรหากถูกข่มขู่คุกคาม ข้อนี้อาจมีค่ามากกว่าสิ่งที่ต้องสูญเสียไปทั้งหมด

สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐได้บนความสูญเสียของยูเครน :

       ประการแรก ปิดล้อมรัสเซียเข้มข้นกว่าเดิม

        รัฐบาสหรัฐไม่ว่ามาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทดำเนินนโยบายปิดล้อมเรื่อยมา ตอนนี้รัฐบาลไบเดนมีเหตุผลความชอบธรรมที่จะคว่ำบาตรรัสเซียเข้มข้นกว่าเดิม ส่วนใหญ่คือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การทูต เป็นไปตามยุทธศาสตร์ปิดล้อม

       ประการที่ 2 กระชับอำนาจในยุโรป

        นับวันสมาชิกนาโตฝั่งยุโรปตะวันตกต้องการเป็นอิสระจากสหรัฐ เหตุการณ์นี้ช่วยให้รัฐบาลสหรัฐกระชับอำนาจของตน แสดงบทบาทผู้นำนาโต เพิ่มทหารกับเครื่องบินรบเข้ายุโรปหลายประเทศ รวมทั้งเยอรมัน

       ประการที่ 3 อาจได้ขายน้ำมันก๊าซธรรมชาติ

        ที่แน่นอนคือเยอรมันประกาศไม่ใช้ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ตามเงื่อนไขที่ทำไว้กับรัฐบาลสหรัฐ เป็นไปได้ว่ายุโรปจะซื้อใช้ก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐเพิ่มเติม เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จับต้องได้จริง

        และอาจวิพากษ์ว่า ความตึงเครียดขณะนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันแพงทั้งโลก ผู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือบรรดาประเทศผู้ส่งออกพลังงานกับบรรษัทน้ำมันทั้งหลาย ยิ่งตึงเครียดยาวนานโลกต้องซื้อใช้พลังงานในราคาแพง ทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตเท่าเดิม ปริมาณการผลิตคงที่ ข้อนี้ส่งผลให้สินค้าบริการต่างๆ แพงขึ้นอีก ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อปีนี้ให้หนักกว่าเดิม เป็นอีกเรื่องที่ต้องระลึกถึงเสมอ

       ประการที่ 4 โหมกระแสสงครามเย็นใหม่

        รัฐบาลไบเดนไม่ยอมรับว่าโลกเข้าสู่สงครามเย็นใหม่ แต่ความเป็นปรปักษ์ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐกับรัสเซียและจีนเพิ่มขึ้นเด่นชัด สหรัฐกระชับการปิดล้อมแม้ยังไม่สมบูรณ์เหมือนยุคสงครามเย็นในอดีต แต่ความเป็นสงครามเย็นใหม่ชัดเจนขึ้น ข้อนี้เป็นยุทธศาสตร์แม่บท (Grand Strategy) ที่สำคัญควรติดตามอย่างมาก

        หรืออีกมุมมองคือ มหาอำนาจทั้งหลายกำลังต่อสู้ช่วงชิงจัดระเบียบโลกที่เป็นประโยชน์ต่อตน เรื่องนี้จะส่งผลทั้งโลกเป็นเวลานานหลายทศวรรษ อาจเกิดสงครามตัวแทน  (proxy war) ในอีกหลายพื้นที่ เกิดเหตุการณ์ดังเช่นยูเครนขณะนี้ เป็นมุมมองกว้างสุดของสถานการณ์อันเนื่องจากยูเครนในขณะนี้

        3 ทศวรรษนับจากยูเครนแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตกลายเป็นรัฐประชาธิปไตย ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนย่ำแย่ลงทุกที นักการเมืองพยายามแบ่งแยกประชาชน เกิดความเป็นขั้วอย่างรุนแรง นำสู่สงครามกลางเมืองกลายเป็นยูเครนตะวันตกกับตะวันออก ทั้งนี้ชาติมหาอำนาจร่วมผสมโรงได้ประโยชน์จากการแตกแยกของคนยูเครน สามารถดึงฝ่ายการเมืองให้อยู่กับตนเป็นรัฐบาลที่อิงตะวันตกหรืออิงรัสเซีย กล่าวได้ว่าชาติมหาอำนาจมั่นคงมั่งคั่งขึ้นบนความสูญเสียของยูเครนและอาจเป็นเช่นนี้อีกนาน เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศ เป็นอุทาหรณ์แก่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือ

27 กุมภาพันธ์ 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9237 วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565)

---------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ขณะที่ชาติมหาอำนาจไม่ปะทะกันเอง แต่อาจสู้กันในพื้นที่อื่นๆ เป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ดังนั้นประเทศทั้งหลายต้องระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งดังกล่าว
สิ่งหนึ่งที่โลกไม่เปลี่ยนแปลงคือ โลกแก่งแย่งแข่งขันเรื่อยมา ทางออกสำหรับประเทศไทยคือ ต้องไม่ตกเป้าทำลายของมหาอำนาจ มีสัมพันธ์รอบทิศ สร้างมิตร และสร้างชาติเหมือนสร้างครอบครัว
ยูเครนเป็นพื้นที่กันชนระหว่าง 2 มหาอำนาจ ตอนนี้กำลังถูกใช้โหมกระแสสงครามเย็นใหม่ในยุโรป เป็นวิธีกระชับอำนาจที่รัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดทำเช่นนี้เรื่อยมา

บรรณานุกรม :

1. Day 2 of Russian Special Op Live Updates: Two Killed by Ukrainian Shelling in Donetsk, DPR Says. (2022, February 24). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/20220225/day-2-of-russian-special-op-live-updates-donetsk-resident-wounded-by-ukrainian-shelling-dpr-says-1093353535.html

2. Lavrov: Russia has no desire to continue sanctions war. (2014, September 28). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/751720

3. Ukraine crisis: President Putin gets Russian parliament's nod to send military into Crimea. (2014, March 1). Hindustan Times. Retrieved from http://www.hindustantimes.com/world-news/russian-parliament-allows-putin-to-use-military-in-ukraine/article1-1189678.aspx

4. Ukraine: pro-Russia activists proclaim independent republic in Donetsk. (2014, April 7). The Guardian. Retrieved from http://www.theguardian.com/world/2014/apr/07/ukraine-officer-shot-dead-russian-soldier-crimea

5. Ukraine: The waiting game. (2014, May 13). Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/Central_Asia/CEN-01-130514.html

--------------------------