ยูเครนกระตุ้นสงครามเย็นใหม่ในยุโรป

ยูเครนเป็นพื้นที่กันชนระหว่าง 2 มหาอำนาจ ตอนนี้กำลังถูกใช้โหมกระแสสงครามเย็นใหม่ในยุโรป เป็นวิธีกระชับอำนาจที่รัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดทำเช่นนี้เรื่อยมา

             สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับนาโตในขณะนี้เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามลำดับหลายเดือนแล้ว (หรือหลายปีแล้วขึ้นกับกำหนดจุดเริ่มต้น) การที่นาโตไม่ยอมรับข้อเรียกร้องรัสเซียเรื่องการรับสมาชิกนาโตทางฝั่งตะวันออก การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย การเจรจาหลายรอบที่ไม่ได้ข้อสรุป ทั้งหมดนำสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรงขึ้นและส่อแววยืดเยื้อ

            ที่ผ่านมาแม้บางฝ่ายจะตีความว่ารัสเซียเตรียมกองทัพแสนนายพร้อมบุกยูเครนหากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต ในอีกมุมหนึ่งฝ่ายสหรัฐเห็นว่าเรื่องนี้อาจเป็นเพียงข้ออ้างที่รัสเซียใช้เพื่อเตรียมกองทัพและเข้ารุกรานเหมือนกับที่รุกรานยูเครนและผนวกไครเมีย (Crimea) เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี 2014 แต่ไหนแต่ไรรัสเซียมองว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของตนที่เรียกว่า “Malorossiya” หรือ “Little Russia” ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลไบเดนจึงพูดซ้ำหลายรอบขอให้รัสเซียถอนกำลังกลับไป พร้อมกับขู่คว่ำบาตรอย่างรุนแรงหากรัสเซียบุกยูเครน

            สถานการณ์ล่าสุด Jens Stoltenberg เลขาธิการนาโตกล่าวว่ารัสเซียไม่เพียงเพิ่มกำลังตามแนวพรมแดนยูเครนเท่านั้น ยังเพิ่มในเบลารุสด้วย เครื่องบินรบนับร้อย ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ S-400 และอื่นๆ สถานการณ์จึงตึงเครียด

            ด้วยเหตุนี้เองสหรัฐกับพันธมิตรกำลังหารือส่งทหารเข้ายุโรปตะวันออกเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะเป็นประเทศโรมาเนีย บัลแกเรีย และฮังการี อย่างไรก็ตามบางประเทศเช่นเยอรมันเพราะจะยิ่งทำให้ตึงเครียดกว่าเดิม โอกาสที่เป็นไปได้คือรัฐบาลไบเดนอาจส่งทหารไปในนามความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งนี้ทหาร 8,500 นายอยู่ในขั้นเตรียมพร้อมสูงสุด พร้อมส่งออกไปทันที เรื่องที่ยูเครนกำลังส่งผลกระทบทั้งภูมิภาค ราวกับเป็นการเผชิญหน้าของทวีปยุโรป

            หลายปีมาแล้วที่รัสเซียอ้างว่าระบบปล่อยอาวุธที่สหรัฐติดตั้งในโปแลนด์กับโรมาเนียสามารถบรรจุจรวดร่อน Tomahawk ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งสหรัฐกับนาโตปฏิเสธเรื่อยมา ตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนมีความคิดที่จะทำเช่นนี้กับยูเครนด้วย สามารถยิงใส่เมืองหลวงมอสโกภายใน 4-5 นาที ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกเหตุผลที่รัฐบาลปูตินชี้ว่าไม่อาจปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ประธานาธิบดีปูตินถึงกับกล่าวว่าสหรัฐ ควรเข้าใจว่าไม่มีทางให้เราถอยอีกแล้ว

            อีกเรื่องที่น่าตกใจคือสื่อ Pravda ของรัสเซียเสนอข่าวเมื่อ 25 มกราคมว่าทางการรัสเซียกำลังพิจารณาติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเวเนซุเอลาและจะตัดสินใจภายใน 1 สัปดาห์

            ข่าวรายงานอีกว่ารัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ ฐานทัพและสิ่งอำนวยสะดวกในแถบลาตินอเมริกา หลังนาโตปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียเรื่องไม่ขยายสมาชิกนาโตทางฝั่งตะวันออกอีก

            ก่อนหน้านี้รัสเซียได้เจรจากับเวเนซุเอลาและคิวบาเรื่องตั้งฐานทัพของตนในประเทศเหล่านี้ มีข้อมูลว่าทางการเวเนซุเอลายินดีหากรัสเซียร้องขออย่างเป็นทางการ ในชั้นต้นรัสเซียอาจส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ไปประจำการนี่นั่น เรื่องการขนขีปนาวุธรัสเซียไปลาตินอเมริกายังต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

            ล่าสุดข้อเสนอของสหรัฐที่ส่งให้รัสเซียนั้นปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซีย ทั้งเรื่องการรับเพิ่มสมาชิกฝั่งยุโรปตะวันออก การประจำการอาวุธที่รัสเซียเห็นว่าเป็นข้อต้องห้าม ซึ่งรัสเซียให้เหตุผลว่าการทำเช่นนี้เป็นแนวทางประกันสันติภาพระหว่างรัสเซียกับนาโต ส่วนฝ่ายสหรัฐยังคงย้ำว่าเหตุตึงเครียดในขณะนี้เป็นเพราะทหารรัสเซียกว่าแสนนายประชิดพรมแดนยูเครน การซ้อมรบในเบลารุส ผลคือสถานการณ์ตึงเครียดต่อไปไม่มีทีท่าจะคลี่คลายในเร็ววัน ตราบใดที่นาโตไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของรัสเซียๆ อาจคงทหารเรือนแสนดังเดิม การเจรจาดำเนินต่อไป

โหมกระแสสงครามเย็นใหม่ (ฝั่งยุโรป) :

            แม้โอกาสเกิดสงครามร้อนจะน้อยเพราะชาติมหาอำนาจะไม่ปะทะกันเอง รัฐบาลสหรัฐจะไม่ก้าวล่วงเส้นต้องห้าม แต่หากมองในแง่การช่วงชิงแข่งขันที่มีเรื่อยมา สถานการณ์ยูเครนขณะนี้คือการโหมกระแสสงครามเย็นใหม่ในฝั่งยุโรป

            โดยทั่วไปหลายครั้งเมื่อเอ่ยถึงสงครามเย็นใหม่จะพูดถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ในกรณีจะหมายสหรัฐกับรัสเซีย ถ้าพูดเป็นภูมิภาคคือสงครามเย็นใหม่ในอินโด-แปซิฟิกกับยุโรปนั่นเอง

            ยุคสงครามเย็นเป็นช่วงเวลาตึงเครียดที่เกิดขึ้นทั่วไปเกือบทั้งโลก ความเป็นไปในยูเครนกำลังทำให้เกิดภาพสงครามเย็นใหม่ที่กินพื้นที่กว้างในแถบยุโรป

            ถ้าแนวคิดนี้ถูกต้อง สถานการณ์ยูเครนจะตึงเครียดยาวนาน จนกว่าจะหาทางลงและสร้างประเด็นใหม่ขึ้นมา

            ถ้าวิเคราะห์ตามแนวคิดการแบ่งขั้วที่รัฐบาลสหรัฐทุกยุคสมัยพยายามสร้างการแบ่งขั้ว ทำให้ความเป็นขั้วชัดเจนขึ้นมาใหม่ จะพบว่าเรื่องยูเครนไม่ใช่แค่ยูเครนหรือนาโตกับรัสเซียเท่านั้น ความตึงเครียดนี้สามารถขยายความรุนแรงและขยายพื้นที่ความขัดแย้งให้กว้างออกไป รัฐบาลสหรัฐจะกระตุ้นให้นานาชาติแสดงตัวว่าเลือกอยู่ฝ่ายใด

            และเรื่องนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งทางทหารกับการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้นแต่จะขยายออกไปสู่ระบบการค้าการเงินโลก ที่รัฐบาลสหรัฐพยายามกระชับอำนาจของตนในระบบการเงินโลก โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่ฐานะการเงินการคลังสหรัฐอ่อนแอลงเรื่อยๆ รัฐบาลไบเดนต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้ฐานะการเงินการคลังของตนกลับมาเข้มแข็ง อย่างน้อยต้องสามารถสกัดหรือลดความสูญเสียอันเนื่องจากการถดถอยฐานะทางการเงินการคลังครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีสองปีนี้

            ในมุมของรัฐบาลสหรัฐเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีผลต่ออนาคตประเทศอีกนาน

            ยากที่จะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างชาติมหาอำนาจแต่สงครามเย็นเคยเกิดแล้วและมีผู้เห็นว่า “สงครามเย็นใหม่” เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน และกำลังโหมกระพือรุนแรงขึ้นทุกที เรื่องนี้ส่งผลต่อการเมือง เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกแน่นอน

            โลกไม่เพียงถูกปกคลุมด้วยเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลกระทบจากโรคระบาด สงครามเย็นใหม่กำลังจะเข้าปกคลุมอย่างเข้มข้นขึ้นด้วย

อะไรคือเป้าหมายที่ซ่อนอยู่ :

            สิ่งที่รัฐบาลไบเดนทำไม่ใช่เพื่อนำสู่สงครามล้างโลก ดังนั้นต้องวิเคราะห์หาคำตอบว่าเป้าหมายที่ซ่อนอยู่คืออะไร อาจตอบว่านำยูเครนมาเป็นสมาชิกนาโต นำอาวุธร้ายแรงของนาโตจะประจำการในยูเครนที่มีพรมแดนติดรัสเซีย ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดขณะนี้นาโตทยอยส่งอาวุธเข้ายูเครนแล้ว (ทั้งๆ ที่ยูเครนยังไม่เป็นสมาชิก)

            อีกแง่มุมที่ควรพูดถึงคือเรื่องการเมือง รัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบันใกล้ชิดนาโตยิ่งขึ้น มีข่าวว่าหน่วยรบพิเศษของสหรัฐกับอังกฤษกำลังเข้าๆ ออกๆ ประเทศนี้ อาจตีความว่า “รัฐบาลยูเครน” อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกองทัพต่างชาติ พูดให้ชัดคืออยู่ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐบาลสหรัฐ นี่คือความจริงที่ไม่ควรมองข้าม มีความสำคัญต่อสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

            คำถามพื้นฐานคือเหล่านี้ที่เกิดขึ้นรัฐบาลสหรัฐทำเพื่อยูเครนหรือ รัฐบาลไบเดนกำลังใช้เงินภาษีคนอเมริกันจำนวนมากเพื่อคนยูเครนหรือ บทความนี้ให้คำอธิบายส่วนหนึ่งว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการโหมกระแสสงครามเย็นใหม่ เพื่อกระชับรักษาความเห็นอภิมหาอำนาจในขั้วของตน ซึ่งจะก่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองมากมายแก่ประเทศเขา ยูเครนเป็นแค่ตัวแสดง (actor) ที่ถูกลากเข้ามาเป็นพื้นที่หรือเวทีแสดงความเป็นอภิมหาอำนาจ แสดงเป็นตัวอย่างให้นานาชาติเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐทำอะไรหรือจะทำอะไร เป็นวิธีการเดิมๆ ที่รัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดทำซ้ำไปซ้ำมา นี่คือมุมมองภาพใหญ่ของความตึงเครียดที่ยูเครน เป็นการโหมกระพือกระแสสงครามเย็นใหม่ มากกว่าการที่เยอรมันหรือยุโรปจะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียหรือไม่

30 มกราคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9209 วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2565)

-----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ปอกเปลือกสุนทรพจน์ไบเดนต่อยูเอ็น 2021
ในที่ประชุมสมัชชาไบเดนย้ำว่าสหรัฐจะไม่ก่อสงครามเย็นใหม่ ในขณะที่ไม่กี่วันก่อนเลขาธิการยูเอ็นเตือนจีนกับสหรัฐให้หลีกเลี่ยงสงครามเย็นรอบใหม่ นี่คือคำพูดของผู้นำคนสำคัญๆ บนเวทีโลก
ข้อวิพากษ์ทั้งหมดนำสู่คำถามว่ายุทธศาสตร์นาโตขยายตัวมีไว้เพื่อสันติภาพ เคารพอธิปไตยของกันและกันหรือเป็นเครื่องมือที่บางประเทศใช้ขยายอำนาจอิทธิพล

บรรณานุกรม :

1. Putin blames West for tensions, demands security guarantees. (2021, December 22). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/europe-russia-ukraine-vladimir-putin-moscow-2a3c3d0bf3834fe2e566f8aca57b57a1

2. Russia to decide on the deployment of nuclear arms in Venezuela this week. (2022, January 25). Pravda.  Retrieved from https://english.pravda.ru/news/world/150123-russia_venezuela_nuclear/

3. Ukraine crisis updates: What to know as tensions rise. (2022, January 27). AP.  Retrieved from https://apnews.com/article/ukraine-russia-tensions-updates-today-e6817878cada4a2abf472e1e1e184bf5

4. US and allies discussing deploying more troops to Eastern Europe prior to any Russian invasion of Ukraine. (2022, January 26). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2022/01/26/politics/us-allies-discuss-deploying-more-troops/index.html

5. U.S. calls for ‘serious diplomatic path forward’ as Russia adds troops near Ukraine. (2022, January 26). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2022/01/26/russia-ukraine-us-calls-for-diplomacy-as-putin-adds-troops-to-border.html

6. U.S. officials prepare for escalation as NATO-Russia talks end with no resolution on Ukraine tension. (2022, January 13). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2022/01/13/us-prepares-for-escalation-as-nato-russia-talks-end-with-no-ukraine-resolution.html

7. Why Putin can’t and won’t accept Ukraine sovereignty. (2021, December 22). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2021/12/why-putin-cant-and-wont-accept-ukraine-sovereignty/

--------------------------