ประชาธิปไตยเมียนมาในวัยเตาะแตะ

ในมุมของกองทัพแผนสร้างประชาธิปไตยเมียนมาคือรัฐบาลพลเรือนที่กองทัพมีบทบาทร่วมดูแลบริหารประเทศ แต่ความเป็นประชาธิปไตยมีมากกว่าการเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือเป็นรัฐบาลทหาร

            เลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2020 พรรค National League for Democracy (NLD) ของนางออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) ชนะถล่มทลายได้ 920 จาก 1,117 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล (พรรคทหารคงได้เป็นฝ่ายค้าน) ขณะที่ฝ่ายกองทัพชี้ว่าเลือกตั้งไม่สุจริต อย่างไรก็ตามนับจากวันเลือกตั้งจนข้ามปีความพยายามจัดตั้งรัฐบาลยังคงเดินหน้า กำหนดเปิดประชุมรัฐสภา 1 กุมภาพันธ์ทั้งๆ ที่ฝ่ายกองทัพขอให้เลื่อนการเปิดรัฐสภาไปก่อน และกลายเป็นวันที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ U Myint Swe รักษาการประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปีตามรัฐธรรมนูญปี 2008 โอนอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจฝ่ายบริการและอำนาจตุลาการมาอยู่ที่ ผบ.สส. พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน

            ย้อนหลังพฤศจิกายนปีก่อนมีข่าวผู้นำกองทัพขู่ขับประธานาธิบดีเมียนมาออกจากตำแหน่ง กองทัพชี้ว่าการเตรียมเลือกตั้งส่อผิดปกติ การยึดอำนาจรอบนี้เป็นไปได้ว่าฝ่ายซู จี รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรแต่ทั้งกองทัพกับซู จี ยังเลือกเดินหน้าเพื่อให้ปรากฏผลอย่างที่เห็น เป็นแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่ทั้ง 2 ฝ่ายเลือกเดิน

กองทัพเคยไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งมาแล้ว :

            การที่กองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เรื่องนี้เคยเกิดกับซู จี มาก่อนเมื่อพฤษภาคม 1990 ที่พรรค NLD ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

            หลายปีต่อมากองทัพปรับท่าทีเปิดทางให้พลเรือน พฤศจิกายน 2010 พรรคของกองทัพชนะเลือกตั้ง ซู จีเป็นฝ่ายค้านตามด้วยการปล่อยตัวซู จี และเธอได้เป็น ส.ส. จากการเลือกตั้งซ่อม

            พฤศจิกายน 2015 เลือกตั้งรอบนี้ NLD ชนะเลือกตั้งแต่ฝ่ายกองทัพยังกุมอำนาจหลายส่วนตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 ซู จี ในตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล

            การเลือกตั้งล่าสุดพฤศจิกายน 2020 ที่ล่วงเลยจนตอนนี้ซ้ำรอยเดิมตอกย้ำอำนาจ “กองทัพ”

ขอแก้รัฐธรรมนูญรอยแตกกองทัพกับซู จี :

            รัฐธรรมนูญ 2008 ฉบับปัจจุบันออกแบบมาเพื่อรักษาอำนาจอิทธิพลของผู้นำกองทัพ อีกทั้งบัญญัติว่า 25% ของที่นั่งในสภาฝ่ายกองทัพเป็นผู้แต่งตั้ง เพียงพอที่จะยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ (การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่า 75%) เป็นเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายกองทัพยอมให้จัดเลือกตั้ง NLD เป็นพรรคร่วมรัฐบาลให้ซู จี มีบทบาทสำคัญในรัฐบาล แต่ฝ่ายซู จี ไม่หยุดเท่านี้เริ่มเอ่ยขอแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายกองทัพแสดงท่าทีหลายครั้ง เช่น กุมภาพันธ์ 2019 เตือนว่าการปรับแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่ทำลายหลักสำคัญที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเดิม หนึ่งในนั้นคือปิดกั้นไม่ให้ซู จี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

            ตุลาคม 2019 ออง ซาน ซู จี กล่าวว่าฝ่ายกองทัพไม่กระตือรือร้นแก้รัฐธรรมนูญ แม้กองทัพพูดซ้ำหลายรอบว่าจำต้องแก้เพื่อได้ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เธอจะยื่นเรื่องขอแก้อีกครั้งหลังเลือกตั้ง 2020 (เลือกตั้งที่ผ่านมานั่นเอง)

            จะเห็นว่า กองทัพพยายามชี้ว่าห้ามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจพวกตน ดูเหมือนซู จี ก้าวข้ามเส้นต้องห้าม ผลการเลือกตั้งและการเดินหน้าเปิดสภาคือตัวชี้ขาดว่ากองทัพต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

            ในมุมมองกองทัพเป็นไปได้ว่าการตัดไฟแต่ต้นลมย่อมดีกว่า อย่างไรก็ตามเมียนมาคงไม่ถอยกลับสู่ยุคปิดประเทศอีก มีผู้อธิบายว่าการเปิดต้อนรับนักลงทุนสร้างผลกำไรมหาศาลจากการขายทรัพยากร ผลประโยชน์ก้อนใหญ่มักตกอยู่ในมือของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะเข้ากระเป๋ารัฐบาล การลงทุนหลายอย่างถูกควบคุมจากอำนาจที่มีอาวุธในมือ

            ทุกคนได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศต่างกันที่ใครได้มากกว่า และควรพูดด้วยว่าต่างชาติอยากให้เปิดเช่นกัน

การขับเคี่ยวของผู้นำการเมือง 2 กลุ่ม :

            ความกลัวสูญเสียอำนาจน่าจะเป็นเหตุให้กองทัพต้องกระทำการในครั้งนี้ พูดอีกอย่างคือเป็นปฏิบัติการรักษาอำนาจกองทัพเหมือนที่ทำเรื่อยมา

            จากนี้อีก 1 ปีหรือหลายปี ฝ่ายกองทัพน่าจะปล่อยให้จัดเลือกตั้งใหม่อีกรอบ อาจตีความว่าเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนส่วนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของแผนเปิดประเทศสู่ความทันสมัย หรืออาจตีความว่าคือวิธีการรักษาอำนาจกองทัพให้คงอยู่ตลอดไป

            การขับเคี่ยวระหว่างฝ่ายกองทัพกับฝ่ายซู จี จะดำเนินต่อไป ทั้งนี้ต้องดูว่าซู จี ในวัย 75 ยังสู้ได้อีกกี่ปี ในอนาคตมีผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งมากพอหรือไม่ ด้านกองทัพที่การส่งทอดอำนาจเป็นระบบต้องดูว่ามีเอกภาพเพียงใด เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อประชาธิปไตยวัยเตาะแตะของประเทศนี้

ประชาธิปไตยในกรอบที่กว้างขึ้น :

            ถ้าจะพูดถึงความเป็นประชาธิปไตยในกรอบที่กว้างขึ้น หนึ่งในประเด็นที่ควรเอ่ยถึงคือเรื่องโรฮีนจา (Rohingya) ธันวาคม 2019 ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา (State Counselor) เป็นตัวแทนรัฐบาลนำทีมกฎหมายต่อสู้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ว่ารัฐบาลเมียนมาไม่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา หลังคณะทำงานของสหประชาชาติมีข้อสรุปว่ามี เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocidal intent) โรฮีนจากว่า 730,000 คนหนีออกจากประเทศ

            ซู จี ชี้แจงว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อโรฮีนจาอย่างถูกต้อง เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งภายในประเทศ (internal conflict) ไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประเด็นนี้อาจมองว่าซู จี ซึ่งมักเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมงานระหว่างประเทศเป็นประจำ มีความรู้ความสามารถได้รับการยอมรับจากนานาชาติกำลังทำหน้าที่นี้อีกครั้ง ช่วยแก้ข้อกล่าวหาที่นานาชาติประณามผู้นำกองทัพ ในขณะเดียวกันต้องเข้าใจด้วยว่าพรรคของซู จี ต่อต้านโรฮีนจาเช่นกัน

            ในสายตาของหลายประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชน ประเด็นโรฮีนจาเป็นจุดอ่อนประชาธิปไตยเมียนมา แต่สำหรับฝ่ายกองทัพกับซู จี ไม่คิดเช่นนั้นเพราะยึดว่าโรฮีนจาไม่ใช่พลเมือง

            เมษายน 2012 ฮิลลารี คลินตันขณะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่า อนาคตของพม่าไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน ความจริงแล้วการปฏิรูปตอนนี้จำกัดอยู่ในเมืองหลวงกับเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ทหารรัฐบาลยังต่อสู้กับพวกคะฉิ่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนโรฮีนจายังดำเนินต่อไป

            ถ้าจะพูดว่ามีรัฐบาลพลเรือนเท่ากับมีประชาธิปไตย ความคิดเช่นนี้ดูเหมือนจะมองแคบเกินไป เหมือนจำกัดกรอบให้เลือกระหว่าง”ซู จี” กับ “กองทัพ” เลือกระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ความจริงแล้วมีอีกหลายประเด็นที่บ่งชี้อยู่แล้วว่าเมียนมาในยามนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากเพียงไร ทั่วโลกรับรู้กันทั่วไปอยู่แล้ว

สุดท้ายคือจุดยืนกองทัพ :

            มกราคม 2010 นายกรัฐมนตรี เต็ง เส่ง  (Thein Sein) ประกาศว่าจะมีเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนพร้อมกับกล่าวว่า รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลพลเรือนที่กองทัพมีบทบาทร่วมดูแลบริหารประเทศ ตามแผนสร้างประชาธิปไตยเมียนมา

            จะเห็นว่าหลักการนี้ยังไม่เปลี่ยน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นกุมภาพันธ์ตอกย้ำจุดยืนกองทัพ

            ถ้ายึดประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง เมียนมาเป็นอีกตัวอย่างที่การสร้างประชาธิปไตยต้องใช้เวลา ไม่มีสูตรสำเร็จ บางประเทศไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญขณะที่บางประเทศต้องฉีกหลายรอบ ยึดอำนาจหลายครั้ง และถ้าพูดประชาธิปไตยในกรอบที่ไกลกว่าใครเป็นผู้นำรัฐบาล เห็นได้ชัดว่าหนทางนั้นอีกยาวไกล และอาจเป็นการตั้งโจทย์ผิด

7 กุมภาพันธ์ 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8853 วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564)

--------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เป็นคำที่กดดันรัฐบาลเมียนมามากขึ้นทุกที หลายประเทศแสดงท่าทีให้รับคืนผู้อพยพทั้งหมด การกดดันรุนแรงมากขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เหตุความรุนแรงในปี 2012 นำสู่การตีแผ่เรื่องราวโรฮีนจาสู่สายตาชาวโลก สมัชชาสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาร์มอบความเป็นพลเมืองแก่คนเหล่านี้ โรฮีนจากลายเป็นโจทย์เชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตย กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อธิปไตยของเมียนมาร์ ในอนาคตเรื่องราวโรฮีนจาจะกลับมาฉายซ้ำอีก จนว่าพวกเขาจะได้ฐานะพลเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์กับรัฐบาลโอบามาขยับขึ้นอีกขั้น เมื่อประธานาธิบดีเต็ง เส่งเยือนทำเนียบขาวพบประธานาธิบดีโอบามา สองผู้นำยืนยันปฏิรูปเมียนมาร์สู่ประชาธิปไตย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์จากนักสิทธิมนุษยชน
บรรณานุกรม :

1. Amendments Should Not Harm Essence of Constitution, Military Warns. (2019, February 23). Irrawaddy. Retrieved from https://www.irrawaddy.com/news/burma/amendments-not-harm-essence-constitution-military-warns.html

2. Aung San Suu Kyi defends Myanmar against genocide allegations. (2019, December 11). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2019/12/myanmar-suu-kyi-stand-genocide-case-hague-191211054254397.html

3. Daw Aung San Suu Kyi Acknowledges Myanmar Military’s Unwillingness to Reform Charter. (2019, October 23). The Irrawaddy. Retrieved from https://www.irrawaddy.com/news/burma/daw-aung-san-suu-kyi-acknowledges-myanmar-militarys-unwillingness-reform-charter.html

4. Daw Aung San Suu Kyi to Contest Rohingya Genocide Case at World Court. (2019, November 21). The Irrawaddy. Retrieved from https://www.irrawaddy.com/news/burma/daw-aung-san-suu-kyi-contest-rohingya-genocide-case-world-court.html

5. Key events in Myanmar, long under military rule. (2020, February 2). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/key-events-timeline-myanmar-dee0f68fa82b5f7729191d1bf7beec84

6. Myanmar Military Seizes Power. (2020, February 1). The Irrawaddy. Retrieved from https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-military-seizes-power.html

7. U.S. Department of State. (2012, April 25). U.S. Policy Toward Burma, Statement Before the House Committee on Foreign Affairs Subcommittee on Asia and the Pacific. Retrieved from http://www.state.gov/p/eap/rls/rm/2012/188446.htm

8. U.S. Department of State. (2013, February28). Human Rights in Burma. Retrieved from http://www.state.gov/j/drl/rls/rm/2013/205475.htm

--------------------------