เรื่องโรฮีนจาเริ่มเข้าเขตอันตราย

“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เป็นคำที่กดดันรัฐบาลเมียนมามากขึ้นทุกที หลายประเทศแสดงท่าทีให้รับคืนผู้อพยพทั้งหมด การกดดันรุนแรงมากขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
            ความวุ่นวายรอบนี้เริ่มต้นจากข่าวเมื่อปลายสิงหาคม เจ้าหน้าที่เมียนมาราว 20 นายถูกโจมตีจากกองกำลังโรฮีนจา ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้กลับอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตทันทีหลายร้อยคน ตามมาด้วยการเผาหมู่บ้านนับร้อยแห่ง ผู้คนในรัฐยะไข่เริ่มอพยพหนีออกจากพื้นที่เข้าบังคลาเทศ คลื่นผู้อพยพหลั่งไหลออกมาเรื่อยๆ จากหลายหมื่น เป็นแสน และล่าสุดกว่า 600,000 คนแล้ว
            ไม่น่าเชื่อว่าการโจมตีเจ้าหน้าที่เพียงรอบเดียวจะเกิดผลตามมาถึงเพียงนี้ ทางการเมียนมาอธิบายว่าที่โรฮีนจาหลบหนีเพราะกลัวความผิด กลัวติดร่างแหร่วมกับกองกำลังติดอาวุธ ขณะที่หลายประเทศ องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่เมียนมากดขี่ข่มเหง ทำเกินกว่าเหตุ
            ผลจากการอพยพรอบใหม่ ผู้อพยพที่ส่วนใหญ่เป็นโรฮีนจากว่า 600,000 คนมากระจุกตัวตามชายแดนติดกับบังคลาเทศ แม้หลายหน่วยงานหลายประเทศให้ความช่วยเหลือ แต่การดูแล 600,000 ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย เพิ่มภาระต่อการดูแลผู้ลี้ภัยทั่วโลก
ชมคลิปสั้น 2 นาที
Tirana Hassan ผู้อำนวยการ Amnesty International กล่าวว่าหลักฐานมัดแน่นว่ากองกำลังเมียนมาเป็นผู้วางเพลิงเพื่อขับไล่โรฮีนจาออกจากประเทศ วิธีการที่ใช้คือเจ้าหน้าที่เข้าล้อมหมู่บ้าน จากนั้นเริ่มยิงปืน ทำให้ชาวบ้านแตกตื่นหนีตายออกจากหมู่บ้าน จากนั้นก็ลงมือเผา
            หลังเหตุการณ์วุ่นวาย อองซาน ซูจี ในนามรัฐบาลกล่าวว่า รัฐบาล ขอประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการกระทำผิดกฎหมายทุกอย่าง รัฐบาลยืนยันฟื้นฟูสันติภาพ ความมั่นคง และการยึดกฎหมายทั่วประเทศเสียใจอย่างยิ่งต่อประชาชนที่ต้องทุกข์ยากอันเนื่องจากความขัดแย้ง
            นางซูจียอมรับว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าผู้ใดทำผิด ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาชี้ว่าเจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้าย รัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับการขับไล่โรฮีนจา

จีนยืนเคียงข้างเมียนมา :
ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ประณามเมียนมา รัฐบาลจีนแสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างอย่างเปิดเผย
Guo Yezhouในฐานะ vice minister of the party’s International Department กล่าวว่ารัฐบาลจีนสนับสนุนให้เมียนมารักษาความสงบและเสถียรภาพ และจะไม่ร่วมกับชาติอื่นประณามการจัดการโรฮีนจา ขอประณามการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายโรฮีนจา 2 ประเทศมีพรมแดนติดกัน หากเมียนมาไม่สงบย่อมกระทบจีนด้วย
            ไม่นานนี้ด้วยความร่วมมือของ 2 ประเทศได้เปิดใช้งานท่อส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ท่อนี้เริ่มจากรัฐยะไข่เข้าสู่มณฑลยูนานความยาว 771 กิโลเมตร ความเจริญของยูนานจำต้องใช้น้ำมันเป็นเหมือนเลือดหล่อเลี้ยง ความเป็นไปของรัฐยะไข่มีผลต่อยูนานโดยตรง
            ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลท่อส่งน้ำมัน ทรัพยากรน้ำมันที่คาดว่ามีมากในยะไข่ รัฐบาลจีนประกาศชัดว่าอยู่ข้างเมียนมาที่พยายามรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ เป็นประโยชน์ต่อเมียนมาไม่มากก็น้อย

หลายประเทศเห็นว่าทางออกที่ดีคือกลับเมียนมา :
ตั้งแต่เริ่มมีการอพยพ Zeid Ra’ad Al-Hussein จาก UN High Commissioner for Human Rights เห็นว่าการขับไล่โรฮีนจานับแสนออกจากพื้นที่เป็นแผนที่วางไว้ล่วงหน้า และไม่ต้องการให้กลับเข้าประเทศอีก
ไม่ว่าโรฮีนจาจะอพยพด้วยเหตุใด บัดนี้คำถามคือเมียนมาจะรับกลับหรือไม่
Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทางการเมียนมาระงับปฏิบัติการทางทหาร ยุติความรุนแรง ปฏิบัติตามหลักกฎหมาย เคารพสิทธิที่ทุกคนจะกลับสู่บ้านเกิดตัวเอง ขอให้โรฮีนจาได้ฐานะพลเมืองหรือไม่ก็ได้รับฐานะทางกฎหมายเพื่ออนุญาตให้พวกเขาอยู่ในเมียนมาต่อไป
Sushma Swaraj รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอินเดียกล่าวว่า “เมียนมาจะต้องรับคนของตนกลับ” ผู้อพยพตอนนี้เป็นภาระแก่บังคลาเทศ บังคลาเทศจะต้องแบกรับอีกนานแค่ไหน ต้องหาทางแก้เรื่องนี้อย่างถาวร ทางออกคือต้องพัฒนารัฐยะไข่ให้เป็นเมืองน่าอยู่
เช่นเดียวกับ นายกฯ อาเบะเรียกร้องให้เมียนมารับผู้อพยพหลายแสนคนกลับประเทศ พร้อมกับให้เงินกู้ 1,100 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างทางรถไฟเชื่อมย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ ช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางเล็ก ช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยต่างๆ

            ทางการเมียนมาชี้ว่าสามารถรับผู้อพยพกลับวันละไม่เกิน 300 คนตามกำลังเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่พิสูจน์ได้ว่ามีสัญชาติเมียนมาหรือมีเอกสารที่ยอมรับคืนได้ ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับบังคลาเทศเมื่อปี 1993
            เงื่อนไขการรับคืนเป็นจุดยืนเดิมที่ว่าโรฮีนจาเป็นพวกเบงกาลี ไม่ใช่พม่า การรับคืนไม่ว่าจะมากหรือน้อยอยู่ภายใต้จุดยืนนี้

สหรัฐเพิ่มแรงกดดัน :
            กันยายน นิกกี ฮาลีย์ (Nikki Haley) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวว่าการกดขี่ข่มเหง ขับไล่โรฮีนจาเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน (brutal) กวาดล้างชนกลุ่มน้อยของประเทศอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่เมียนมาต้องรับผิดชอบ และกำลังหารือมาตรการคว่ำบาตรร่วมกับหลายประเทศ
กลางเดือนตุลาคม ส.ส.ทั้งจากพรรครีพับลิกันกับเดโมแครทกว่า 40 ท่านเรียกร้องให้คว่ำบาตรด้วยการไม่อนุมัติวีซาแก่ผู้นำทหารเมียนมาและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศประกาศแล้วว่ากองกำลังรัฐบาลเมียนมา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (ethnic cleansing) โรฮีนจา แถลงการณ์ระบุว่าชัดว่า กองกำลังพม่า กองกำลังความมั่นคง และคนท้องถิ่นที่เป็นชาวพม่าเป็นผู้กดขี่ข่มเหง ทำให้โรฮีนจาอพยพออกจากพื้นที่
บางคนเห็นว่าควรลงโทษผู้นำกองทัพเมียนมาเหมือนที่เคยทำกับบางประเทศ
รัฐบาลหลายประเทศ องค์กรระหว่างประเทศบางแห่งได้ประกาศไปล่วงหน้าแล้วว่าต้องคว่ำบาตร จากนี้ติดตามว่ารัฐบาลสหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่ การที่รัฐบาลทรัมป์ประกาศเช่นนี้ เท่ากับเตรียมมาตรการไว้แล้ว รอเวลาเท่านั้น

เมื่อมีดาบแรกย่อมง่ายที่จะมีดาบ 2 :
            ที่ผ่านมาหลายประเทศลงโทษเมียนมาด้วยการประณามเป็นหลัก อาจมองว่าทำตามขั้นตอน คือเริ่มจากการตักเตือนให้เวลาแก้ไข หรืออาจมองว่ายังร้ายแรงไม่พอ หรือยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง
            บัดนี้รัฐบาลทรัมป์ประกาศชัดว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีกระแสให้คว่ำบาตร อีกทั้งเป็นมาตรการที่มุ่งจัดการนายทหาร ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นอำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลชุดปัจจุบัน
แม้ว่าล่าสุดเมียนมากับบังคลาเทศได้ลงนาม MoU รับผู้อพยพลี้ภัยกลับแล้ว MoU ดังกล่าวคล้ายกับข้อตกลงปี 1993 จึงคาดเดาว่าจะมีผู้ลี้ภัยตกค้างจำนวนมาก กลับสู่คำถามเดิมว่าใครจะเป็นผู้แบกภาระดูแล
            หากทบทวนเรื่องราวย้อนหลังตั้งแต่ต้น การโจมตีเจ้าหน้าที่เพียงรอบเดียวส่งผลทำให้โรฮีนจาอพยพออกจากพื้นที่กว่า 600,000 คนเป็นเรื่องราวที่แปลกพิกล การอ้างว่าพวกเขาหลบหนีเพราะกลัวความผิด เกรงว่าจะถูกลงโทษในฐานะสมรู้ร่วมคิด ไม่น่าจะสมเหตุสมผลกับคนจำนวนถึง 6 แสน และเมื่อเริ่มกระบวนการรับคืน เกิดคำถามว่าควรรับคืนทั้งหมดหรือไม่ ไม่ใช่เพียงคนที่ผ่านเกณฑ์เท่านั้น ในระยะนี้รัฐบาลเมียนมาสามารถอ้าง MoU แต่แรงกดดันจากต่างชาติจะหยุดเพียงเท่านี้หรือ เสียงเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนจะดังขึ้นเรื่อยๆ
            เมื่อรัฐบาลทรัมป์ลง “ดาบแรก” ย่อมมีโอกาสที่จะใช้ “ดาบ 2” เรื่องโรฮีนจาจึงเริ่มเข้าเขตอันตราย มีผลต่อประเทศนี้อย่างเป็นรูปธรรม
          ยิ่งถ้าคิดว่าเป็นแผนผลักดันโรฮีนจาออกประเทศ ย่อมมีพวกที่ไม่ยอมแน่นอน
            ในอีกมุมหนึ่ง หากนานาชาติคว่ำบาตรอย่างจริงจัง ผู้รับผลกระทบก่อนคือประชาชน ไม่ใช่นายกองนายพล และจะกระทบต่อผลงานของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งหมายถึงนางอองซาน ซูจี การลงทุนหลายหมื่นล้านจากต่างชาติอาจต้องสิ้นสูญ สุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์อาจเป็นจีน นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดถึง

ข้อเท็จจริงกับการปฏิบัติ :
            ไม่ว่าโรฮีนจาเป็นพม่าหรือไม่ รัฐบาลเมียนมาจะไม่ยอมรับหากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ หลายคนปราศจากหลักฐานไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด
            ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ว่าโรฮีนจาเป็นพม่าหรือไม่ หลายประเทศกำลังกดดันให้รัฐบาลเมียนมารับคืน เพราะลดภาระต่อนานาชาติ หรือใช้เรื่องนี้เพื่อต่อรองขอผลประโยชน์เพิ่ม
            เป็นอีกกรณีศึกษาให้เห็นว่าในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น “ข้อเท็จจริง” เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วน “การปฏิบัติ” ดำเนินตามนโยบายเป็นอีกเรื่อง ไม่จำต้องสอดคล้องกัน
            การรับคืนส่วนหนึ่งสามารถคลายแรงกดดันจากนานาชาติ แต่จะเพียงพอหรือไม่
26 พฤศจิกายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7688 วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2560)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
นับแต่ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 50 ปีก่อน หลักไม่แทรกแซงกิจการภายในเป็นเสาหลักของกลุ่ม ประเด็นโรฮีนจาเป็นกรณีพิเศษที่อาเซียนละเมิดหลักการ แต่เพราะเมียนมาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน

บรรณานุกรม:
1. Abe urges Aung San Suu Kyi to let Rakhine’s displaced people return home. (2017, November 14). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2017/11/14/national/politics-diplomacy/abe-urges-aung-san-suu-kyi-let-rakhines-displaced-people-return-home/#.WgvPVluCzZ4
2. Aung San Suu Kyi says Myanmar does not fear global scrutiny over Rohingya crisis. (2017, September 19). The National/Reuters. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/asia/aung-san-suu-kyi-says-myanmar-does-not-fear-global-scrutiny-over-rohingya-crisis-1.629799
3. China supports Myanmar ‘safeguarding peace and stability’. (2017, October 21). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/china-supports-myanmar-safeguarding-peace-and-stability/2017/10/21/90205e4a-b625-11e7-9b93-b97043e57a22_story.html?utm_term=.c805e0954647
4. Govt Suggests Possible Daily Repatriation of 300 Rohingya Refugees. (2017, October 30). The Irrawaddy. Retrieved from https://www.irrawaddy.com/news/burma/govt-suggests-possible-daily-repatriation-300-rohingya-refugees.html
5. India says Myanmar must take back Rohingya Muslims. (2017, October 22). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1181971/world
6. Lawmakers urge US to craft targeted sanctions on Myanmar military. (2017, October 19). Channel NewsAsia. Retrieved from http://www.channelnewsasia.com/news/world/lawmakers-urge-us-to-craft-targeted-sanctions-on-myanmar-military-9322894
7. Myanmar army chief says Rohingya Muslims not native, refugee numbers exaggerated. (2017, October 12). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1176421/world
8. Myanmar, Bangladesh ink Rohingya return deal. (2017, November 23). Channel NewsAsia. Retrieved from http://www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/myanmar-bangladesh-ink-rohingya-return-deal-9432828
9. Rohingya Muslim crisis: Burma's security forces using scorched earth tactics to drive out minority, new evidence finds. (2017, September 14). The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/asia/rohingya-muslim-burma-myanmar-latest-ethnic-cleansing-claims-scorched-earth-tactics-a7947476.html
10. UN Security Council calls for 'immediate steps' to end Myanmar violence. (2017, September 14). Channel NewsAsia. Retrieved from http://www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/un-security-council-calls-for-immediate-steps-to-end-myanmar-9214136
11. U.S. declares attacks on Burmese Rohingya Muslims ‘ethnic cleansing’. (2017, November 22). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/us-declares-attacks-on-burmese-rohingya-muslims-ethnic-cleansing/2017/11/22/cfde1a32-cfd8-11e7-81bc-c55a220c8cbe_story.html?utm_term=.2833f6bcd963
12. U.S. Department of State. (2017, November 22). Efforts To Address Burma's Rakhine State Crisis. Retrieved from https://www.state.gov/secretary/remarks/2017/11/275848.htm
-----------------------------