เจรจาสุดยอดทรัมป์กับคิม ไม่ซับซ้อนแต่ซับซ้อน (1)

หากเกาหลีเหนือยกเลิกโครงการนิวเคลียร์กับขีปนาวุธ สหรัฐพร้อมเลิกคุกคามเกาหลีเหนือ เป็นเงื่อนไขตรงไปตรงมา แต่ความเป็นไปของโลกไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่เห็น
นับจากข่าวรัฐบาลเกาหลีใต้กับสหรัฐหารือสันติภาพระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 18 เมษายน จากนั้นมีรายงานข่าวต่อเนื่องเรื่อยมา ผู้นำ 6 ประเทศอันได้แก่ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่นและรัสเซียเดินทางไปมา มีการประชุมหารือต่อเนื่อง
            หลายคนคิดว่าจะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และหวังให้เป็นเช่นนั้น ตัวแปรสำคัญตามภาพที่ปรากฏคือผู้นำเกาหลีเหนือกับรัฐบาลสหรัฐ หากเกาหลีเหนือยกเลิกโครงการนิวเคลียร์กับขีปนาวุธ รัฐบาลสหรัฐพร้อมจะเลิกคุกคามเกาหลีเหนือ เป็นเงื่อนไขตรงไปตรงมา ไม่น่าจะใช้เวลานาน แต่กว่าจะตกลงกำหนดวันประชุมได้มีอุปสรรค เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจกลับไปกลับมา

ความร่วมมือ 2 เกาหลี ปรารถนาสันติภาพ :
ผลการประชุมสุดยอด 2 ผู้นำเกาหลีเมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมาเป็นภาพแสดงให้เห็นว่า 2 เกาหลีจริงจังกับสันติภาพ ยกเลิกการแบ่งแยกและเผชิญหน้าแบบยุคสงครามเย็น เริ่มยุคสมานฉันท์ ประกาศว่าจะให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง ยุติสงครามเกาหลีเหนือที่เริ่มต้นตั้งแต่ 1950
อันที่จริงแล้วรัฐบาลเกาหลีเหนือแสดงท่าทีพร้อมถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์มานาน ถ้าสหรัฐจะอยู่อย่างสันติด้วย
            ถ้ามองเหตุการณ์ระยะสั้นที่เกาหลีเหนือทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์ ทดลองยิงขีปนาวุธรุ่นใหม่ๆ วิวาทะระหว่างผู้นำคิม จ็องอึน (Kim Jong-un) กับรัฐบาลสหรัฐอาจทำให้คิดว่าเกาหลีเหนือก้าวร้าว ต้องการความรุนแรง ความจริงแล้วฝ่ายเกาหลีเหนือพยายามยื่นเสนอสันติภาพ
            ยกตัวอย่าง ในสมัยผู้นำคิม จอง อิล (Kim Jong-il ) บิดาผู้นำคนปัจจุบันเคยเข้ากระบวนการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลบิล คลินตัน (Bill Clinton) ในเดือนสุดท้ายก่อนสิ้นวาระประธานาธิบดีคลินตันดูเหมือนทุกอย่างไปด้วยดี กำลังจะบรรลุข้อตกลง แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช (George W. Bush) สถานการณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ บุชประกาศเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงเทียบเท่าอิหร่านกับอิรัก กระบวนการเจรจาสันติภาพเป็นอันยุติโดยปริยาย นับวันมีหลักฐานชี้ว่ารัฐบาลบุชต้องการล้มล้างระบอบเกาหลีเหนือหลังล้มระบอบซัดดัม ฝ่ายเกาหลีเหนือตอบโต้ด้วยการเดินหน้าพัฒนาอาวุธ
            ในกรณีนี้จะเห็นว่าสันติภาพจะเกิดหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ขึ้นกับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ รัฐบาลสหรัฐจะประกาศให้เป็นมิตรหรือศัตรูก็ได้ ส่วนเหตุผลสามารถ “สร้างขึ้น” ตามหลัง

            บุชมาจากพรรครีพับลิกัน ทรัมป์ก็เช่นกัน รีพับลิกันต้องการเป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือ ทรัมป์แสดงออกชัดเจน
            ในบรรดาประเทศที่เกี่ยวข้อง เกาหลีใต้น่าจะเป็นประเทศที่ต้องการสันติภาพที่สุด
            รัฐบาลเกาหลีใต้ทุกชุดมีนโยบายสร้างสันติภาพ รวม 2 เกาหลีเข้าด้วยกัน เป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของคนเกาหลี รัฐบาล Kim Dae-Jung เป็นตัวอย่างที่ดีประกาศนโยบาย Sunshine Policy แผนขั้นแรกคือเกาหลีเหนือต้องยุติการยั่วยุทางทหารทุกอย่าง ด้านเกาหลีใต้จะเลิกคิดรวบเกาหลีเหนือมาเป็นของเกาหลีใต้ ประกันความมั่นคงของเกาหลีเหนือ ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ
ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน (Moon Jae-in) กล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่ารัฐบาลสหรัฐตกลงกับเกาหลีใต้แล้วว่าหากคิดจะโจมตีเกาหลีเหนือต้องได้รับความเห็นชอบจากเกาหลีใต้ก่อน ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะใช้วิธีการใดต้องหารือกับเกาหลีใต้และได้รับความเห็นชอบก่อนลงมือ ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดสงคราม จะแก้ปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือด้วยการคว่ำบาตร กดดันและเจรจาหารือ
            หากความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เกาหลีใต้จะกลายเป็นสมรภูมิรบทันที และจะเป็นประเทศที่สูญเสียมาก (อาจเป็นรองแค่เกาหลีเหนือเท่านั้น) เกิดคำถามว่าสงครามที่เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของใคร ทำไมเกาหลีใต้ต้องเสียหายมหาศาล ทำไมต้องพาประเทศสู่ความตกต่ำและทุกข์ยาก
ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน จึงย้ำว่ารัฐบาลไม่ต้องการสงคราม และจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม พร้อมกับอธิบายว่าเหตุที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ถ้อยคำรุนแรงก้าวร้าวเพราะหวังกดดันเกาหลีเหนือ รัฐบาลเห็นชอบด้วย ขอเพียงแต่ต้องไม่บานปลายเป็นสงคราม

จุดแข็งและจุดอ่อนในตัว :
            การที่สหรัฐยื่นเงื่อนไขว่าเกาหลีเหนือจะต้องยกเลิกโครงการนิวเคลียร์กับขีปนาวุธพิสัยไกลโดยสิ้นเชิง มีจุดแข็งที่ “อาจ” ป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือใช้วิธีร่วมข้อตกลงระยะหนึ่งแล้วล้มเลิกข้อตกลง ข้อเสียคือ เมื่อเป็นการยุติโดยสมบูรณ์ถาวร เกาหลีเหนือใช้จุดนี้เรียกร้อง “สันติภาพถาวร” จากฝ่ายสหรัฐด้วย เช่น ยุติสงครามเกาหลีที่ยังไม่ประกาศยุติสงคราม สหรัฐต้องเลิกคิดโจมตีเกาหลีเหนือ ไม่ใช่แค่ผ่อนคลายการคว่ำบาตร ให้ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ
            ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกกว่านี้ แท้จริงแล้วเกาหลีเหนือไม่ได้เป็นภัยคุกคามรุนแรงดังที่รัฐบาลสหรัฐเอ่ยถึง แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายสหรัฐมักใช้เสมอเพื่อเหตุผลอื่นๆ เช่น เหตุผลที่สหรัฐต้องมีอำนาจทางทหารสูงสุด ต้องเพิ่มงบกลาโหม ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า ฯลฯ
            และดังที่เคยนำเสนอแล้ว หากเกาหลีเหนือใช้นิวเคลียร์จริง (สมมุติว่าเป็นเช่นนั้น) เท่ากับฆ่าตัวตาย สหรัฐจะต้องล้มล้างระบอบเกาหลีเหนืออย่างสิ้นซากรวมทั้งตัวผู้นำคิมและผู้นำสำคัญๆ เป็นเหตุผลว่าเกาหลีเหนือใช้ประเด็นนิวเคลียร์เพื่อขู่เท่านั้นแต่จะไม่ใช่จริง (และอาจไม่มีโอกาสใช้ด้วยซ้ำ)
            เมื่อผนวกกับที่รัฐบาลสหรัฐมักพูดว่าต้องการสันติภาพ ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ เมื่อเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย ร่วมกันประสานเสียงเจรจาปลอดนิวเคลียร์ รัฐบาลทรัมป์ได้แต่เดินหน้าเจรจาสุดยอดไปก่อน

ความทันสมัย แรงกดดันต่อรัฐบาลเกาหลีเหนือ :
ถ้าวิเคราะห์ปัจจัยภายใน รัฐบาลเกาหลีเหนือจะพูดอย่างไรก็ได้ เช่น สหรัฐต้องการทำลายล้างประเทศตน การปฏิวัติยังต้องดำเนินต่อไป แต่ทำไมตลอดเวลาเกือบ 7 ทศวรรษนับจากปฏิวัติยังต้องอยู่อย่างยากลำบาก ทำไมคนประเทศอื่นสุขสบายกว่า
รัฐบาลเกาหลีเหนือพยายามควบคุมสื่อและการรับรู้ของประชาชน แต่ไม่อาจห้ามการลักลอบขายซีดีเถื่อนจากจีน คนเกาหลีเหนือฟังเพลง K-pop นิยมดูซีรีย์ล่าสุดของจีนกับเกาหลีใต้ เห็นความก้าวหน้าของ 2 ประเทศนี้ที่นับวันจะทันสมัย จีนเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีถ้ายังมองว่าประเทศนี้เป็นสังคมนิยม
แม้รัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่อาจห้ามความอยากอยู่ดีกินดี คนที่อิ่มท้องจะแสวงหาความสุขอื่นๆ เช่น แต่งกายดี มีสิ่งที่แสดงออกว่ามีฐานะดีกว่า แม้ต้องระวังการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม

            ตลาดมืดเป็นตัวอย่างธุรกิจผิดกฎหมายที่ได้กำไรงาม เป็นโอกาสของบรรดาผู้ถืออำนาจได้ประโยชน์ เป็นธุรกิจผูกขาด ทุกคนรู้ว่ามีตลาดมืดและรู้ว่าผิดกฎหมายแต่ยังคงค้าขายกันต่อไป การที่ข้าราชการ กลุ่มผู้มีเส้นสาย ไม่ยึดแนวทางเรียบง่ายประหยัดตามค่านิยมการปกครอง เป็นหลักฐานความล้มเหลวของอุดมการณ์ ตัวอุดมการณ์เป็นเพียงเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของระบอบเท่านั้นเอง
สิ่งที่คนเกาหลีเหนือเห็นคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐและสังคมโลก กลายเป็นคำถามกลับมาสู่ตัวเองว่าแล้วทำไมเกาหลีเหนือไม่อาจเจริญก้าวหน้า ทำไมต้องทนลำบากมาหลายสิบปีและอาจต้องทนอยู่อย่างนี้ต่อไป แม้ประชาชนยังไม่ลุกฮือ ทุกคนต่างรู้ดีว่าการเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ความนิยมต่อรัฐบาลมีแต่ลดน้อยถอยลง ไม่แต่ไม่กล้าเปิดปากพูดตรงๆ
            มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ไหม ขอให้อยู่ดีกินดีได้สักครึ่งของจีนกับเกาหลีใต้ก็ยังดี
เกาหลีเหนือผู้อยู่กึ่งกลางสมรภูมิจีนกับสหรัฐ :
ถ้าเป็นไปได้ ชนชั้นปกครองเกาหลีเหนืออาจจะต้องการให้ประเทศตนเหมือนจีน คือ ชนชั้นปกครองควบคุมเบ็ดเสร็จ เปิดเสรีเศรษฐกิจเป็นขั้นๆ เป็นมิตรกับเกาหลีใต้และประเทศอื่นๆ พูดสั้นๆ คือ ชนชั้นปกครองยังอยู่ในอำนาจต่อไป ควบคู่กับประเทศเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี
แต่เกาหลีเหนืออยู่ในประวัติศาสตร์กับภูมิรัฐศาสตร์อันเป็นสมรภูมิของมหาอำนาจ เป็นแนวกันชนของจีน รัฐบาลจีนเกรงว่าทหารอเมริกันจะมาประชิดชายแดนจึงพยายามรักษาเกาหลีเหนือให้เป็นแนวกันชนต่อไป
เหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกาหลีเหนือเป็นอย่างที่เห็นอยู่ปัจจุบัน นอกเหนือจากความต้องการของชนชั้นปกครอง

ถ้าเทียบกับเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามเก่งกว่ามากเรื่องการทูต สามารถเป็นมิตรทั้งกับจีน สหรัฐ เพื่อนบ้านอาเซียนและนานาประเทศ (ส่วนหนึ่งต้องยกความดีให้อาเซียนที่ดึงเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย)
เวียดนามปัจจุบันจึงอยู่เย็นเป็นสุข ประเทศพัฒนาเหนือกว่าเกาหลีเหนือ
การเป็นปรปักษ์กับสหรัฐและหลายประเทศนำสู่การคว่ำบาตร เหลือไม่กี่ประเทศที่ติดต่อค้าขายด้วย จีนกลายเป็นคู่ขายสำคัญโดยอัตโนมัติ แม้จะบอกว่าประเทศยัง อยู่ได้แต่จะ อยู่ดีหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่อง
ถ้าเทียบกับเวียดนามที่ไม่อยู่ในภาวะทำสงครามกับใคร ความสงบสันติเปิดโอกาสสู่การพัฒนา ความก้าวหน้า
ผู้นำประเทศ ผู้บริหารบ้านเมืองจึงสำคัญ หากมีโอกาสเลือกควรใช้สิทธิเลือกให้ดี ส่งเสริมคนดีคนเก่งมีคุณธรรม
3 มิถุนายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7876 วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2561)

------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
เป็นเวลากว่า 100 ปีที่คนเกาหลีตกอยู่ในความทุกข์ยาก ผ่านสงครามหลายครั้งที่คร่าชีวิตหลายล้านคน ถูกรายล้อมด้วยมหาอำนาจ เป็นข้อคิดว่าสันติภาพไม่ได้หาได้โดยง่ายอย่างที่คิด
การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนืออาจนำสู่สันติภาพหรืออาจเป็นชนวนการเผชิญหน้ารอบใหม่เป็นเรื่องน่าติดตาม เป็นอีกครั้งที่เกาหลีเหนือใช้ประโยชน์จากโครงการนิวเคลียร์
รัฐบาลสหรัฐพูดเรื่อยมาว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคาม ถ้ามองจากมุมเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือจำต้องป้องกันประเทศเช่นกัน

บรรณานุกรม :
1. Beal, Tim. (2005). North Korea: The Struggle Against American Power. London: Pluto Press.
2. Jeppesen, Travis. (2018). See You Again in Pyongyang: A Journey into Kim Jong Un's North Korea. New York: Hachette Books.
3. Korean leaders set 'denuclearisation' goal, Trump says will maintain pressure. (2018, April 26). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2018/04/27/national/politics-diplomacy/full-text-panmunjom-declaration/#.WuO1Ry5ubZ4
4. N. Korea offers to give up nukes if U.S. vows not to attack. (2018, April 30). The Asahi Shimbum. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201804300016.html
5. N. Koreans secretly watching S. Korean drama 'Descendants of the Sun': report. (2016, Jul 4). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2016/07/04/0401000000AEN20160704007800315.html
6. Peace treaty with N. Korea possible following denuclearization: official. (2018, April 18). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2018/04/18/0301000000AEN20180418005000315.html
7. Poushter, Jacob., Manevich, Dorothy. (2017, August 1). Globally, People Point to ISIS and Climate Change as Leading Security Threats. Pew Research Center. Retrieved from http://www.pewglobal.org/2017/08/01/globally-people-point-to-isis-and-climate-change-as-leading-security-threats/?utm_source=AdaptiveMailer&utm_medium=email&utm_campaign=8-1-17%20Global%20Threats&org=982&lvl=100&ite=1568&lea=323345&ctr=0&par=1&trk=
8. South Korea Says Trump Will Seek Its Consent for Any Strike on North. (2017, August 16). The New York Times. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/opinion-trump-playing-with-fire-in-north-korea-crisis-a-1162505.html
9. Trump: Kim Jong Un “very open” and “very honorable”. (2018, April 24). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/trump-north-korea-wants-meeting-as-soon-as-possible/2018/04/24/cbff7c1a-47d5-11e8-8082-105a446d19b8_story.html?noredirect=on&utm_term=.8e55da6b2886
10. U.S. warns that time is running out for peaceful solution with North Korea. (2017, September 17). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/us-warns-that-time-is-running-out-for-peaceful-solution-with-north-korea/2017/09/17/101dcdea-9bd6-11e7-8ea1-ed975285475e_story.html?utm_term=.430e9e6fa220
-----------------------------