เกาหลีกับสงครามที่ยังไม่ยุติหรืออาจไม่มีวันยุติ (2)

เป็นเวลากว่า 100 ปีที่คนเกาหลีตกอยู่ในความทุกข์ยาก ผ่านสงครามหลายครั้งที่คร่าชีวิตหลายล้านคน ถูกรายล้อมด้วยมหาอำนาจ เป็นข้อคิดว่าสันติภาพไม่ได้หาได้โดยง่ายอย่างที่คิด
            มกราคม 1950 คิม อิล-ซุง (Kim Il-sung) ผู้นำเกาหลีเหนือขอการสนับสนุนจากสตาลินเพื่อบุกเกาหลีใต้ ตอนแรกสตาลินลังเลใจแต่สุดท้ายสนับสนุนเพราะเห็นว่าเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอย่างเป็นทางการ คิดว่าคงจะไม่ช่วยรัฐบาล Syngman Rhee ของเกาหลีใต้ที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน
            25 มิถุนายน 1950 กองทัพเกาหลีเหนือบุกโจมตีเกาหลีใต้ ปรากฏว่าสตาลินคิดผิด รัฐบาลทรูแมนอาศัยจังหวะที่ตัวแทนโซเวียตไม่เข้าประชุมคณะมนตรีความมั่นคงออกมติต่อต้านการรุกรานของเกาหลีเหนือ (ตัวแทนโซเวียตไม่เข้าประชุม เนื่องจากประท้วงที่สหประชาชาติไม่ยอมรับจีนคอมมิวนิสต์เป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่รับรองสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวันแทน)
            สงครามเกาหลีเป็นสงครามแรกของสงครามเย็น และเป็นสงครามแรกที่ทหารสหประชาชาติไปร่วมรบเพื่อปกป้องเกาหลีใต้ที่เป็นสมาชิก

            อะไรคือเหตุผลของสงครามนั้นไม่ชัดเจน ข้อมูลบางแหล่งบอกว่าก่อนเกิดสงครามใหญ่ทั้งเกาหลีเหนือกับใต้ต่างเป็นฝ่ายยิงก่อนตามแนวพรมแดน บางคนระบุว่าเกาหลีใต้กระทำบ่อยครั้งกว่า เหตุเพราะหวังเรียกความสนใจดึงความช่วยเหลือจากสหรัฐ
            ปลายปี 1950 กองกำลังสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐเป็นฝ่ายมีชัย สามารถตีโต้กองทัพเกาหลีเหนือถอยร่นไปอยู่หลังเส้นขนานที่ 38 ประธานาธิบดีทรูแมนเห็นด้วยกับการรบให้ได้ชัยชนะเบ็ดเสร็จรวมเกาหลีเป็นหนึ่ง จึงสั่งกองทัพบุกขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนใกล้แม่น้ำยาลู (Yalu River) แนวพรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ

เดิมรัฐบาลเหมายอมรับแนวคิดหยุดยิงตามเส้นขนาน 38 แต่เมื่องกองทัพสหรัฐบุกขึ้นเหนือเรื่อยๆ จีนเกรงว่าสหรัฐอาจยกกองทัพข้ามพรมแดนเพื่อรบกับจีน (แม้สหประชาชาติกับสหรัฐต่างให้คำมั่นว่าจะไม่บุกข้ามไปยังฝั่งจีน) จึงระดม “ทหารอาสา” เข้าเกาหลีเหนือ กลายเป็นการสู้รบระหว่างทหารจีนกับทหารอเมริกัน ผลที่ตามมาคือกองทัพสหประชาชาติถูกตีถอยร่น 200 ไมล์ กลับไปอยู่แนวเส้นขนานที่ 38 นายพลดักลาส แมกอาร์เธอร์ (Douglas MacArthur) ผู้บังคับบัญชาการรบ เสนอให้โจมตีจีนด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทรูแมนไม่เห็นชอบ
            สงครามเกาหลีเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐคิดจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หลายครั้ง ปี 1958 เริ่มประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ ในปี 1967 มีถึง 950 หัวรบ และประกาศว่าได้ถอนกลับไปในปี 1991 ในขณะที่บางแหล่งระบุว่าถอนทั้งหมดจริงเมื่อ1998

            ด้านรัฐบาลเหมาลงนามเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในปี 1950 จีนหวังความช่วยเหลือด้านอาวุธจากโซเวียต และการสนับสนุนในเวทีโลก ทศวรรษ 1950 เป็นช่วงที่ 2 คอมมิวนิสต์มีสัมพันธ์ชื่นมื่น สหรัฐเผชิญหน้ากับ 2 ประเทศคอมมิวนิสต์พร้อมๆ กัน
            มีนาคม 1953 เมื่อสตาลินเสียชีวิต เกออร์กี มาเลนคอฟ (Georgy Malenkov) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาเลนคอฟเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจภายในมีความสำคัญมากกว่า จึงทุ่มงบประมาณส่งเสริมการบริโภค ลดงบประมาณกลาโหม ชี้ว่าการทำสงครามนิวเคลียร์เท่ากับการฆ่าตัวตายทั้ง 2 ฝ่าย การเปลี่ยนโลกให้เป็นสังคมนิยมต้องใช้สันติวิธี อีกทั้งยังเห็นว่า 2 ค่ายควรผ่อนคลายความตึงเครียด
นายกฯ มาเลนคอฟเรียกร้องให้ประธานเหมาเจรจาหยุดยิง เหตุผลสำคัญอีกข้อคือการเมืองภายในรัสเซียกำลังวุ่นวาย มาเลนคอฟอยู่ในอำนาจเพียง 2 สัปดาห์
ในเวลาต่อมาประธานเหมาเริ่มเห็นด้วย และเมื่อมีกระแสข่าวว่าประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (Eisenhower) จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ 2 ฝ่ายจึงประกาศหยุดยิง สงครามลงเอยไม่มีใครแพ้ชนะ เกาหลีเหนือ-ใต้ยังคงแบ่งด้วยเส้นขนานที่ 38 พร้อมกับผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3 ล้านคน ส่วนใหญ่คือชาวเกาหลี ทหารสหรัฐเสียชีวิต 37,000 นาย

สัมพันธ์ 2 เกาหลีในยุคสงครามเย็น :
            เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าเกาหลีเหนือพยายามบ่อนทำลายเกาหลีใต้ทุกรูปแบบ ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าเกาหลีใต้ทำอย่างนี้เช่นกัน มีข้อมูลว่าในช่วง 1953-72 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ราว 10,000 นายเข้าไปในเกาหลีเหนือ ทั้งเก็บข้อมูลและบ่อนทำลายสถานที่ต่างๆ
เกาหลีเหนือพยายามลอบสังหารประธานาธิบดี ปัก ชอง-ฮี (Park Chung-hee) เช่นเดียวกับที่ประธานาธิบดีปักตั้งหน่วยลับ 684 เพื่อล่าสังหารผู้นำคิม อิล-ซุง (Kim Il-sung) 

4 กรกฎาคม 1972 รัฐบาลปัก ชอง-ฮี ประสบความสำเร็จในการเจรจากับฝ่ายเหนือ ออกแถลงการณ์ว่า 2 ฝ่ายบรรลุหลักการรวมชาติ สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น (ตรงกับช่วงสงครามเย็นที่ลดความตึงเครียด ปี 1972 ยังเป็นปีที่ประธานาธิบดีนิกสันเยือนจีน) การรวมชาติจะต้องดำเนินอย่างอิสระ ไร้การแทรกแซงจากต่างชาติ ด้วยสันติวิธี
แต่แถลงการณ์ปี 1972 ไม่ได้สานต่ออย่างเป็นรูปธรรม จนถึงการประชุมสุดยอดปี 2000

            การสิ้นสุดสงครามเย็นส่งผลต่อเกาหลีเหนือมาก บริบทเปลี่ยนแปลงกะทันหัน หลายประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย เกาหลีเหนือไม่อาจพึ่งพาบริบทสงครามเย็นอีกต่อไป ขั้วสหรัฐนับวันจะยิ่งแข็งแกร่ง
ด้านเกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกป้องภัยนิวเคลียร์จากสหรัฐ และคงฐานทัพอเมริกันในเกาหลีใต้ต่อเนื่อง การปกป้องนี้หมายถึงความมั่นคงเกาหลีใต้ผูกอยู่กับระบบของสหรัฐ ช่วยต้านจีน รัสเซีย

เกาหลีเหนือกับสหรัฐหลังสงครามเย็น :
            เรื่องที่หลายคนอาจประหลาดใจคือแม้สิ้นสงครามเย็นแต่สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลียังคงตึงเครียด ภาพที่ปรากฏคือเกาหลีเหนือขาดความโปร่งใสเรื่องนิวเคลียร์ ปี 1993-94 เริ่มเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง อ้างว่าเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากสหรัฐ ชี้ว่าสหรัฐพยายามคุกคามตน เดินหน้าคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เป็นที่มาของการเจรจาสันติภาพหลายต่อหลายครั้งทั้งกับสหรัฐกับเกาหลีใต้และอีกหลายประเทศ
2005 รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศว่าเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว
กรกฎาคม 2006 เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยไกล และทดสอบเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ในเดือนตุลาคม 2006 ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐกับญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในญี่ปุ่นเมื่อปี 2007 จีนกับรัสเซียประท้วงแต่ไม่เป็นผล
            ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีรายงาน งานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์
รายงาน North Korea’s Nuclear Futures: Technology and Strategy เมื่อปี 2015 ระบุว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด 10-16 ลูก เป็นระเบิดพลูโตเนียม 6-8 ลูก นิวเคลียร์ยูเรเนียมอีก 4-8 ลูก (weapons-grade uranium) อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวไม่ยืนยันข้อมูลนี้ ทั้งยังตั้งคำถามถึงการทำงานของเตาปฏิกรณ์ว่ายังทำงานเป็นปกติหรือไม่ เครื่องเสริมสมรรถนะยังทำงานเป็นปกติเพียงใด
ข้อมูลของ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ปี 2017 ประเมินว่าเกาหลีเหนือมี 10-20 หัวรบ
ด้านรัฐบาลรัสเซียไม่ยอมรับว่าเกาหลีเหนือเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์
            ไม่ว่าจะมีอาวุธนิวเคลียร์จริงหรือไม่ ท่าทีของรัฐบาลทรัมป์คือยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว แต่ยังไม่สามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์เข้ากับขีปนาวุธพิสัยไกลที่ยิงถึงแผ่นดินใหญ่อเมริกา และเพราะท่าทีของรัฐบาลเกาหลีเหนือที่พูดย้ำพูดซ้ำว่ามีอาวุธนิวเคลียร์เป็นเหตุผลดีแก่รัฐบาลสหรัฐที่จะคว่ำบาตรหรือลงมือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

สงครามที่ยังไม่ยุติหรือไม่มีวันยุติ :
ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับใต้เป็นผลพวงที่ย้อนหลังไปไกลตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 สงครามโลกครั้งที่ 2 แบ่งเกาหลีออกเป็นเหนือกับใต้ ตามด้วยสงครามเกาหลีเมื่อต้นทศวรรษ 1950 ที่สุดของสงครามครั้งนั้นเป็นแค่ประกาศ “หยุดยิง” ไม่ได้สงบศึกถาวร จากนั้นอยู่ภายใต้ความตึงเครียดของสงครามเย็นมาตลอด
แม้สิ้นสงครามเย็นแต่การเผชิญหน้าไม่จบสิ้น คราวนี้กลายเป็นการปิดล้อมจีนกับรัสเซียยุคใหม่ ยิ่งจีนเติบใหญ่ก้าวขึ้นมา ยิ่งเพิ่มการเผชิญหน้า ทหารอเมริกันเกือบ 3 หมื่นนายยังคงประจำการในฐานทัพถาวรในเกาหลีใต้
ทั้งหมดเป็นเวลากว่า 100 ปี (นับจากปี 1910 ที่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ) ที่คนเกาหลีตกอยู่ในความทุกข์ยาก ความกังวลต่อสงคราม ผ่านสงครามที่คร่าชีวิตหลายล้านคน อยู่ในความตึงเครียดทั้งระหว่าง 2 เกาหลีกับการถูกรายล้อมด้วยมหาอำนาจ
ข้อคิดสำคัญคือประวัติศาสตร์เกาหลีหนีไม่พ้นการเผชิญภัยจากมหาอำนาจ ทั้งมหาอำนาจยุคโบราณจากจีน เป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในยุคล่าอาณานิคม สู่ 2 อภิมหาอำนาจในสมัยสงครามเย็น และยังถูกคุกคามอยู่ในวังวนของหลายมหาอำนาจในขณะนี้
นี่คือโลกแห่งความจริง สถานการณ์ที่เกาหลีได้เผชิญและกำลังเผชิญ
            หากเราอยู่ในประเทศที่มีโอกาสดีกว่า มีสันติสุขมากกว่า ควรใช้โอกาสที่มีเพื่อขยายสันติภาพ ขยายความร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น ส่งเสริมสันติภาพโลก ไม่เปิดโอกาสให้ต่างชาติรุกรานจนบ้านแตกสาแหรกขาด ตระหนักว่าสันติภาพไม่ได้มาโดยง่ายอย่างที่คิด
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับใต้เป็นความขัดแย้งกรอบแคบในกรอบใหญ่ เกี่ยวพันประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีก่อน ส่งผลสืบเนื่องผ่านยุคสมัยต่างๆ จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ชาวเกาหลีโหยหาสันติภาพ

บรรณานุกรม :
1. รุ่งพงษ์ ชัยนาม, รศ.ดร. (2554) สงครามกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสังคมโลก นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2. Beal, Tim. (2005). North Korea: The Struggle Against American Power. London: Pluto Press.
3. Blackwill, Robert D., Tellis, Ashley J. (2015, March). Revising US Grand Strategy Toward China. Council on Foreign Relations. Retrieved from http://carnegieendowment.org/files/Tellis_Blackwill.pdf
4. Dockrill, Michael L., & Hopkins, Michael F. (2006). The Cold War 1945-91 (2nd Ed.). New York: Palgrave Macmillan.
5. If Trump can achieve North Korea peace, he would be Nobel-worthy: Carter. (2018, May 23). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2018/05/23/asia-pacific/politics-diplomacy-asia-pacific/trump-can-achieve-north-korea-peace-nobel-worthy-carter/#.WwTbGO6FPZ4
6. Jentzen, Nicole. (Ed.). (2006). China and U.S. Policy. In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.199-121). California: Sage Publications.
7. Michishita, Narushige. (2010). North Korea's Military-Diplomatic Campaigns, 1966-2008. Oxon: Routledge.
8. N. Korea ‘years and years away’ from viable nuclear device – Russian Deputy FM. (2017, July 30). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/398024-north-korea-years-nuclear-device/
9. Nye. Joseph S. Jr. (2015). Is the American Century Over? UK: Polity Press.
10. Putin: Russia Does Not Recognize North Korea's Nuclear Status. (2017, September 6). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/world/201709061057127671-russia-korea-nuclear-status-putin/
11. Stockholm International Peace Research Institute. (2017). TRENDS IN WORLD NUCLEAR
FORCES, 2017. Retrieved from https://www.sipri.org/sites/default/files/2017-06/fs_1707_wnf.pdf
12. Wirtz, James J., Larsen, Jeffrey A. (2005). Nuclear Transformation: The New Nuclear U.S. Doctrine. New York: PALGRAVE MACMILLAN.
13. Wit, Joel S., & Sun, Young Ahn. (2015, April 8). North Korea’s Nuclear Futures: Technology and Strategy. US-Korea Institute at SAIS. Retrieved from http://38north.org/wp-content/uploads/2015/02/NKNF-NK-Nuclear-Futures-Wit-0215.pdf
14. Yuan, Jingdong. (2014). Nuclear Politics in Asia. In The Oxford Handbook of the International Relations of Asia. NY: Oxford University Press.
-----------------------------