เกาหลีเหนือพลิกยุทธศาสตร์ ขอปลอดนิวเคลียร์

การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนืออาจนำสู่สันติภาพหรืออาจเป็นชนวนการเผชิญหน้ารอบใหม่เป็นเรื่องน่าติดตาม เป็นอีกครั้งที่เกาหลีเหนือใช้ประโยชน์จากโครงการนิวเคลียร์
            ต้นเดือนมีนาคมประธานาธิบดีทรัมป์ตกลงพบปะผู้นำเกาหลีเหนือ เป็นข่าวที่สร้างความตื่นตะลึงไม่น้อย เพราะนับจากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีความสัมพันธ์ทวิภาคีเลวร้ายลง เกาหลีเหนือยั่วยุหลายต่อหลายครั้งด้วยการยิงทดสอบขีปนาวุธถี่ยิบ รัฐบาลทรัมป์ตอบโต้ด้วยการเตือนว่าพร้อมทำสงคราม
            ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นสะเทือนถึงจีนอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลทรัมป์โทษจีนว่าไม่ห้ามปรามเกาหลีเหนือ เคยขู่ว่าจะคว่ำบาตรสินค้าจีนด้วยเหตุผลนี้ การพัฒนาอาวุธเกาหลีเหนือนำสู่การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ในเกาหลีใต้ เพิ่มระบบป้องกันขีปนาวุธในญี่ปุ่น ซึ่งจีนเห็นว่าสหรัฐกำลังปิดล้อมตนมากกว่า
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาคิม จ็องอึน (Kim Jong-un) ผู้นำเกาหลีเหนือเยือนจีน The Rodong Sinmun สื่อเกาหลีเหนือชี้ว่าสัมพันธ์จีนกับเกาหลีเหนือแน่นแฟ้น เช่นเดียวกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเอ่ยถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีอันยาวนานตั้งแต่ปฏิวัติสังคมนิยม ส่งเสริมความร่วมมือทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงประชาชนทั่วไป หารือสถานการณ์รอบด้าน ประธานาธิบดีสีย้ำคาบสมุทรเกาหลีจะต้องปลอดนิวเคลียร์ แก้ปัญหาด้วยการเจรจาหารือ
ด้านผู้นำคิมชี้ว่าสถานการณ์คาบสมุทรผ่อนคลายลงแล้ว ทั้งนี้เพราะเกาหลีเหนือเป็นฝ่ายลดระดับตึงเครียดก่อน ร้องขอเปิดเจรจาสันติภาพ “ยึดนโยบายให้คาบสมุทรปลอดอาวุธนิวเคลียร์” อันเป็นแนวทางที่ยึดถือมานานแล้ว หวังเจรจากับสหรัฐอเมริกาเพื่อสันติภาพและความมั่นคงของคาบสมุทรเกาหลี
            จีนหวังว่าการเมืองในเกาหลีเหนือจะมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจพัฒนา ประชาชนเป็นสุข
ชมคลิปสั้น 3 นาที
การเยือนจีนน่าจะต้องการยืนยันความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของรัฐบาล 2 ประเทศ คลายภาพความไม่ลงรอยกัน เกาหลีเหนือยังคงพึ่งพาจีนช่วยดูแลสวัสดิภาพคนเกาหลีเหนือและรัฐบาลให้มั่นคงปลอดภัย รวมทั้งเปิดเจรจากับฝ่ายสหรัฐเรื่องเกาหลีเหนือพร้อมละโครงการอาวุธนิวเคลียร์

การเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์ต่อไปคือหายนะ :
            ทุกครั้งที่มีเหตุยั่วยุ ปะทะคารม จะมีผู้เรียกร้องให้เปิดการเจรจา ทั้งแบบ 2 ฝ่ายหรือหลายฝ่าย การหารือคงมีเรื่อยมาแต่เป็นการลับ ส่วนการเจรจาอย่างเป็นทางการมักติดปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างวางข้อเรียกร้องที่อีกฝ่ายรับไม่ได้
            ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐเห็นว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือมักใช้ข้อตกลงเพื่อแลกความช่วยเหลือ แต่รักษาสัญญาได้ไม่นานก็ล้มเลิกข้อตกลง หันไปพัฒนาขีปนาวุธกับนิวเคลียร์อีกครั้ง รัฐบาลโอบามาจึงวางกรอบว่าจะยอมเจรจาบนเงื่อนไขว่าเกาหลีเหนือต้องล้มเลิกโครงการทั้งหมด
การพูดพร้อมกันของประธานาธิบดีสีกับผู้นำคิมจึงเป็นการแสดงออกว่าจริงจังกับการเจรจา

            ที่ผ่านมาเกาหลีเหนือชี้ว่าอาวุธเหล่านี้มีเพื่อป้องกันประเทศ รัฐบาลสหรัฐแสดงความเป็นปรปักษ์เรื่อยมา หากจะเลิกล้มโครงการ ละทิ้งอาวุธเหล่านั้น ฝ่ายสหรัฐจะต้องเลิกนโยบายคุกคามตนด้วย หนึ่งในมาตรการคือคาบสมุทรเกาหลีจะต้องปลอดอาวุธนิวเคลียร์
            ไม่ว่าเกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ เวลาที่เคลื่อนผ่านไป ขีดความสามารถทั้งด้านนิวเคลียร์กับขีปนาวุธเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ที่หนักกว่านั้นคือการเผชิญหน้าระหว่างเกาหลีเหนือกับฝ่ายสหรัฐที่รุนแรงมากขึ้น คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์พร้อมจะโจมตีแผ่นดินแม่สหรัฐไม่วันใดก็วันหนึ่ง รัฐบาลทรัมป์เตือนว่าอาจเป็นฝ่ายชิงลงมือก่อน และหากเกาหลีเหนือใช้นิวเคลียร์จะถูกตอบโต้รุนแรงชนิดที่จะไม่เหลือระบอบเกาหลีเหนืออีกต่อไป ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา Song Young-moo รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้พูดย้ำเรื่องนี้
            เป็นเวลานานแล้วที่เกาหลีเหนือใช้สิ่งนี้ยั่วยุข่มขู่ เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรอง แต่ยุทธศาสตร์นี้เหมือนถึงทางตันแล้ว ถ้าเดินหน้าอีกโอกาสเกิดสงครามจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าชนชั้นปกครองเกาหลีเหนือต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป จึงได้เวลาที่จะปรับยุทธศาสตร์

เป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐ :
            ประเด็นที่ลึกซึ้งกว่าคือ แท้จริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐไม่ได้มุ่งเป้าเกาหลีเหนือเท่านั้น ปรปักษ์ที่สำคัญกว่าคือจีน นโยบายต่อต้านเกาหลีเหนือแท้จริงแล้วแฝงด้วยยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน และผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าภายใต้ยุทธศาสตร์ความเป็นเจ้า ดังนั้น ตราบใดที่รัฐบาลสหรัฐคงนโยบายปิดล้อมจีน คงความเป็นเจ้า ย่อมต้องหาเรื่องเกาหลีเหนือต่อไป เพื่อมีเหตุผลเพิ่มงบประมาณกลาโหม สร้างกองทัพให้ใหญ่โตจนไม่มีประเทศใดทัดเทียมได้ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
            ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย (Pivot to Asia) ของโอบามาชี้ชัดว่าให้ความสำคัญกับการสร้างสมอาวุธในเอเชียแปซิฟิก

ยุทธศาสตร์ของจีน :
            ไม่ว่าใครจะมองประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยแง่ลบแง่บวก รัฐบาลทรัมป์ตัดทอนงบประมาณทางสังคม เพิ่มงบประมาณกลาโหม มีแผนสร้างกองทัพใหม่ เพิ่มอาวุธใหม่ๆ สวนทางนโยบายโอบามาที่พยายามลดทอนงบกลาโหม สร้างอาวุธใหม่แต่น้อยเพื่อทดแทนของเก่าที่ต้องปลดประจำการ
            นโยบายเพิ่มพลังอำนาจรบกระทบต่อจีนโดยตรง (รวมทั้งประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะรัสเซีย ย่านเอเชียแปซิฟิก) กดดันให้จีนต้องเพิ่มงบกลาโหมด้วย แน่นอนว่าจีนกำลังพัฒนากองทัพอยู่แล้ว มีโครงการพัฒนาและซื้ออาวุธทันสมัยเข้าประจำการ แต่เมื่อสหรัฐเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นย่อมกดดันให้จีนต้องทำตาม กลายเป็นว่าอาจต้องเบียดบังงบประมาณพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ
            เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจีนหวังลดทอนแรงกดดันจากสหรัฐ เป็นเงื่อนไขให้เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นต้องรื้อถอนระบบ THAAD และระบบอาวุธทันสมัย ขาดเหตุผลที่จะเพิ่มงบกลาโหม หากเกาหลีเหนือยอมที่จะละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ของตน
            ลองคิดดูแบบพ่อค้า หากจีนสามารถลดงบประมาณกลาโหม หรือไม่ต้องเพิ่มมากเกินจำเป็น แล้วนำงบประมาณส่วนนี้ไปช่วยเกาหลีเหนือ (เป็นข้อต่อรองให้เกาหลีเหนือยอมทิ้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์) เช่นนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของจีน รัฐบาลสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ขาดเหตุผลที่จะเพิ่มงบประมาณกลาโหม ขาดเหตุผลที่จะเพิ่มอาวุธใหม่ เพิ่มกำลังรบในย่านนี้
            ไม่รวมเหตุผลอื่นๆ เช่น ไม่เกิดสงคราม ระบอบเกาหลีเหนืออยู่รอดต่อไป

ทำไมต้องกดดันให้นาโตเพิ่มงบประมาณกลาโหม :
            เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่รัฐบาลสหรัฐกดดันให้ชาติสมาชิกนาโตอื่นๆ เพิ่มงบประมาณกลาโหมให้ถึงร้อยละ 2 ของจีดีพี
            รัฐบาลสหรัฐมักให้เหตุผลว่าเพื่อแบ่งเบาภาระของฝ่ายสหรัฐ พูดให้แรงขึ้นในสมัยทรัมป์ว่าประเทศเหล่านั้นเอาเปรียบ
            เป็นเรื่องจริงที่ว่านับจากสิ้นสงครามเย็น ชาติสมาชิกนาโตต่างทยอยลดกำลังพล เพราะไม่เห็นความจำเป็นอีกต่อไป หรืออาจพูดอีกมุมว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเผชิญหน้ารัสเซีย มาเป็นการผูกมิตรกับรัสเซีย เมื่อเป็นมิตรกันแล้วสงครามจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
            มองจากประเทศในยุโรป ถ้าไม่เกิดสงคราม ประเทศย่อมมั่นคงปลอดภัย เปิดโอกาสให้กับการพัฒนา แทนการเข้าร่วมสงครามโลก 2 ครั้งที่ต้องเสียหายอย่างหนัก จนสูญเสียความเป็นมหาอำนาจของตน และหากเกิดสงครามโลกอีกครั้ง คราวนี้อาจหมายถึงสงครามนิวเคลียร์ หากรัฐบาลสหรัฐทำสงครามนิวเคลียร์กับรัสเซียและจีนนั่นเป็นเรื่องของพวกเขา ทำไมต้องดึงยุโรปเป็นจุดหมายของหัวรบนิวเคลียร์ด้วย

            อีกประเด็นที่สำคัญพอกันคือ เพื่อครองความเป็นเจ้า รัฐบาลสหรัฐต้องครองความเหนือกว่าด้านทหาร ในการนี้ต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า การพัฒนาและประจำการอาวุธทันสมัยกว่าจึงเป็นเรื่องสำคัญต้องทำต่อเนื่อง แต่เนื่องจากนับวันการพัฒนาและผลิตอาวุธต้องใช้เงินทุน ใช้งบประมาณสูงมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดต้นทุนคือขายอาวุธ จะเห็นว่าชาติสมาชิกนาโต พันธมิตร หุ้นส่วนความมั่นคงของสหรัฐซื้ออาวุธ MADE IN USA จำนวนมาก ยิ่งซื้อมากเท่าไหร่ต้นทุนต่อหน่วยยิ่งลดลง ส่งเสริมการพัฒนาอาวุธใหม่ๆ ในทางตรงข้ามหากขายได้น้อยต้นทุนต่อหน่วยจะสูงขึ้น กระทบอุตสาหกรรมอาวุธและกระทบต่อความเป็นเจ้าด้านกองทัพของสหรัฐในที่สุด
            สรุปสั้นๆ คือ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐต้องคงกองทัพที่ดีที่สุด ใช้อาวุธทันสมัยที่สุด จึงต้องสร้างสถานการณ์ตึงเครียดเพื่อให้ประเทศตนและมิตรประเทศเพิ่มงบกลาโหมไปเรื่อยๆ หากจีนสามารถลดทอนความตึงเครียด ในระยะยาวจะช่วยสกัดขีดความสามารถของกองทัพสหรัฐ
            เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมจีนจึงพยายามลดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี สนับสนุนให้เกาหลีเหนือชูนโยบายปลอดอาวุธนิวเคลียร์ นอกเหนือจากประโยชน์อื่นๆ เช่น ไม่เกิดความวุ่นวายในเกาหลีเหนือ ทหารอเมริกันไม่มาจ่อชิดพรมแดน ทรัมป์ไม่สามารถอ้างเรื่องเกาหลีเหนือเป็นเหตุคว่ำบาตรจีน


วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ประเด็นนิวเคลียร์เกาหลีเหนือมีส่วนที่เป็นความลับมาก ที่สังคมโลกรับรู้คือส่วนที่ต้องการให้รับรู้ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับหลายประเทศที่ต่างมีจุดยืนและผลประโยชน์ของตัวเอง รัฐบาลเกาหลีใต้ใช่ว่าจะเดินตามสหรัฐทั้งหมด ทำนองเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ การจะอธิบายจึงมีการคาดเดาปะปนอยู่เสมอ การนำเสนอข้างต้นพยายามใช้ข้อมูลที่มีอยู่และความเข้าใจในอดีต ชี้ว่าเกมกระดานนี้กำลังเปลี่ยนเพราะฝ่ายจีนกับเกาหลีเหนือบรรลุแผนใหม่ จากนี้ไปคือรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น คำถามสำคัญคือรัฐบาลสหรัฐจะยอมปล่อยให้จีนก้าวขึ้นมาบั่นทอนผลประโยชน์สหรัฐหรือ
1 เมษายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7813 วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2561)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลสหรัฐพูดเรื่อยมาว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคาม ถ้ามองจากมุมเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือจำต้องป้องกันประเทศเช่นกัน
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือช่วงกรกฎาคมถึงก่อนกลางสิงหาคม สะท้อนเส้นต้องห้าม (red line) ของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้เข้าใจเป้าหมาย นโยบายที่แท้จริงของประเทศเหล่านี้ และช่วยวิเคราะห์อนาคต

บรรณานุกรม :
1. Defense Minister says N. Korea's use of nuke would be 'suicidal'. (2018, January 29). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2018/01/29/0301000000AEN20180129004700315.html
2. Kim Jong Un Has Talks with Xi Jinping. (2018, March 28). The Rodong Sinmun. Retrieved from http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_01&newsID=2018-03-28-0013
3. Xi Jinping, Kim Jong Un hold talks in Beijing. (2018, March 28). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-03/28/c_137070598.htm
-------------------------