ความจริงที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรของทรัมป์ (1)

สำหรับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา นโยบายต่างประเทศเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เส้นแบ่งระหว่างเรื่องต่างประเทศกับเรื่องในประเทศนับว่าจะจางหายไป เป็นโลกไร้พรมแดน โลกเชื่อมโยงมากขึ้นทุกวัน
            ในบางปี ประเด็นต่างประเทศมีความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น สมัยสงครามเวียดนาม การเลือกตั้งปี 2008 เมื่อทหารอเมริกันจำนวนมากอยู่ในอิรักกับอัฟกานิสถาน บารัก โอบามาตัวแทนจากเดโมแครทชูนโยบายถอนทหารกลับประเทศ การเลือกตั้งรอบนี้มีความสำคัญเช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวนโยบายของผู้สมัครโดยตรง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เสนอเจรจาทบทวนความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรเก่าแก่อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นาโต ซาอุดิอาระเบีย
หลักคิดรวบยอดของทรัมป์คือ เห็นว่าสหรัฐเสียงบประมาณแก่พันธมิตรเหล่านี้มากเกินไป ผลประโยชน์ที่ได้ในปัจจุบันน้อยเกินไป ทางออกคือชาติพันธมิตรต้องแบกรับภาระเพิ่มเติม อันจะช่วยลดปัญหาขาดดุลของสหรัฐ มิฉะนั้นจะพิจารณาถอนตัวจากความเป็นพันธมิตร
            ทรัมป์ยืนยันว่าแนวทางของตนไม่ใช่พวก isolationist แต่เป็นการนำอย่างชาญฉลาด เข้มแข็งกว่าเดิม เป้าหมายคือทำให้ชาวอเมริกันร่ำรวยกว่าเดิม เพราะด้วยสิ่งนี้จะทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง
บทความนี้จะวิเคราะห์วิพากษ์นโยบายของทรัมป์ต่อชาติพันธมิตรดังกล่าว
ประเด็นทบทวนความสัมพันธ์ต่อญี่ปุ่น เกาหลีใต้ :
โดนัลด์ ทรัมป์เห็นว่าน่าจะเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง 2 ประเทศนี้อยากมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่แล้ว จะถอนทหารอเมริกันที่ประจำการในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ลดแรงต้านในประเทศที่ต้องคอยปกป้อง 2 ประเทศนี้จากเกาหลีเหนือกับจีน สหรัฐ “ไม่สามารถเป็นตำรวจโลก” นับวันศักยภาพการเป็นตำรวจโลกมีแต่จะเสื่อมถอย ทั้งยังเชื่อว่าหากสหรัฐถูกโจมตี 2 ประเทศจะไม่ช่วยอย่างเต็มกำลัง
ปัจจุบัน ทหารอเมริกันราว 50,000 นายประจำการตามฐานทัพต่างๆ ในญี่ปุ่น 28,500 นายในเกาหลีใต้ ไม่นับเรือรบ เครื่องบินรบ ระบบอาวุธทันสมัยมากมาย บางคนเชื่อว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ล่าสุดสหรัฐส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ B-1 ไปประจำการเกาหลีใต้ และอยู่ระหว่างการหารือติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ที่ทั้งจีนกับรัสเซียคัดค้านอย่างรุนแรง
แต่ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะเพิ่มงบประมาณสนับสนุนเพื่อคงกองทัพสหรัฐที่ประจำการใน 2 ประเทศนี้ จะยอมคงทหารประจำการต่อไป แม้ไม่ค่อยเต็มใจนัก

การที่ทรัมป์เอ่ยเรื่องให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง สหรัฐถอนกำลังกลับ เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังพูดว่า 2 ประเทศนี้ต้องหาทางป้องกันตัวเอง รวมถึงภัยจากนิวเคลียร์ เท่ากับลบล้างสนธิสัญญาป้องกันประเทศทวิภาคีที่มีต่อกัน ลบล้างความเป็นพันธมิตรที่ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2
แนวทางของทรัมป์สร้างความตื่นตระหนักแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น วงการทหาร นักวิชาการ นักวิเคราะห์ รวมทั้งสื่อมวลชน หากสหรัฐถอนกำลัง 2 ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง ภูมิรัฐศาสตร์ของทั้งคาบสมุทรเกาหลีจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อต่อเอเชียแปซิฟิกและโลก
ถ้าพิจารณาเฉพาะญี่ปุ่น หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่เคยถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกรานในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงต่อต้านการพัฒนากองทัพญี่ปุ่นในปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่าทั้งๆ ที่ถูกจำกัดด้วยกรอบรัฐธรรมนูญ  ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีกองทัพทันสมัย ทรงอานุภาพอยู่แล้ว นักวิชาการบางคนเชื่อว่าญี่ปุ่นมีความรู้ มีเทคโนโลยี สามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วถ้าต้องการ ขาดแต่เพียงยังไม่ลงมือผลิตเท่านั้น
ความคิดให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ป้องกันตนเอง มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง จึงไม่ใช่เรื่องของสหรัฐ เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับหลายสิบประเทศ เกี่ยวข้องกับระบบความมั่นคงภูมิภาคและโลก
ประธานาธิบดีโอบามาวิพากษ์ทรัมป์ว่า “ไม่ค่อยรู้เรื่องนโยบายต่างประเทศ นโยบายนิวเคลียร์ เรื่องคาบสมุทรเกาหลี หรือเรื่องอื่นๆ ของโลก” เตือนชาวอเมริกันให้สนใจนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เพราะจะส่งผลใหญ่หลวงต่อทั้งสหรัฐและโลก

วิพากษ์นโยบายทรัมป์ต่อญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ :
            ทรัมป์อธิบายว่าสนธิสัญญาป้องกันประเทศที่ทำกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกิดในช่วงฐานะการคลังประเทศแข็งแกร่ง แต่บัดนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป สหรัฐมีปัญหาขาดดุลการค้า ศักยภาพกองทัพลดลงมาก
            เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าสหรัฐมีปัญหาเรื่องขาดดุลรุนแรง แต่กองทัพสหรัฐยังแข็งแกร่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก แม้ศักยภาพลดลงในบางจุด แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้แผน อยู่ในความควบคุม ที่สำคัญคือไม่มีประเทศใดคิดทำสงครามโดยตรงกับสหรัฐ และไม่เป็นผลดีต่อทุกประเทศ ถ้าโลกเกิดสงครามใหญ่
            การชี้ว่าศักยภาพกองทัพลดลงมาก เป็นปัญหาใหญ่ จึงเป็นการให้น้ำหนักเกินจริง

            ทรัมป์อธิบายอีกว่าด้วยข้อตกลงปัจจุบัน หากญี่ปุ่นโดนโจมตี สหรัฐต้องเข้าช่วยเต็มกำลัง ในทางกลับกันถ้าสหรัฐโดนโจมตี ญี่ปุ่นจะไม่ช่วยขนาดนั้น ถ้อยคำนี้กำลังพูดว่าสหรัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เรื่องที่ทรัมป์ไม่เข้าใจหรือไม่พูดถึงคือ ที่มาที่ไปของสนธิสัญญา ส่วนถ้าจะพูดเจาะจงสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐใช้ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อผลประโยชน์อื่นๆ ที่ใหญ่กว่า เช่น เข้ามาพัวพันในเอเชียแปซิฟิก ต้องการพันธมิตรช่วยปิดล้อมจีน การแสดงตัวเป็นมหาอำนาจโลก
ทรัมป์พูดเรื่องนี้เรื่องนั้นมากมาย เช่น เสนอให้ 2 ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง โยงถึงความเป็นตำรวจโลกของอเมริกา แท้จริงแล้วประเด็นของทรัมป์ต่อญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ สรุปสั้นๆ มีเรื่องเดียวคือ ต้องการให้ 2 ประเทศแบ่งเบาภาระงบประมาณส่วนนี้มากขึ้นเท่านั้นเอง

ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ช่วยแบ่งรับค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว :
เรื่องที่สาธารณชนควรเข้าใจคือ ฝ่ายญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ช่วยแบ่งรับค่าใช้จ่าย (cost sharing) มานานหลายสิบปีแล้ว ข้อเท็จจริงคือสหรัฐมีฐานทัพของตนตามที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ในการนี้มีข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับเจ้าของประเทศว่าจะแบ่งรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างไร ในช่วงสงครามเกาหลี ช่วงที่ประเทศเกาหลีใต้เริ่มตั้งตัว สหรัฐแบกรับภาระทั้งหมด เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1980 ความตึงเครียดจากสงครามเย็นเริ่มกลายตัว  สหรัฐขาดดุลมหาศาล กลายเป็นแรงกดดันให้ประเทศต่างๆ ต้องช่วยแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รัฐบาลเกาหลีใต้ยอมช่วยบางส่วน
การเจรจามักยืดเยื้อยาวนาน เพราะต่างเห็นว่าการคงอยู่ของกองทัพอเมริกันเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย ยากจะได้ข้อสรุปร่วมว่าแต่ละฝ่ายควรออกค่าใช้จ่ายเท่าใด ทางการเกาหลีใต้อ้างว่ายังไม่ได้นำค่าเช่าที่ ตัวอาคาร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มาคำนวณ ด้านหลักการของสหรัฐคือเกาหลีใต้จะต้องรับภาระมากขึ้นๆ เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองทั้งในเกาหลีใต้กับสหรัฐ บางคนถึงกับเสนอลดจำนวนทหารที่ประจำการในเกาหลีใต้
            ในอดีตที่ผ่านมา มีข้อมูลมากมายที่ชี้ว่าญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เพิ่มการแบกรับภาระงบประมาณ เช่น ในสมัยนายกฯ Fukuda Takeo (1976–1978) ช่วยแบ่งเบาภาระเพิ่มเติม ทำให้ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นดีขึ้น

            เมื่อรัฐบาลโอบามาประกาศยุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิก ประเด็นงบประมาณคืออีกเรื่องที่ฝ่ายการเมืองให้ความสนใจ จะต้องดำเนินการอย่างไรจึงไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่พอ เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องกินเวลาหลายปี (ต้องใช้จ่ายต่อเนื่องหลายปี)
แนวทางของรัฐบาลโอบามานอกจากเรียกร้องให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณเพิ่มเติม ยังสนับสนุนให้ 2 ประเทศเพิ่มงบกลาโหมของตนเอง เพิ่มศักยภาพกองทัพ (ทำนองเดียวกับที่ให้ประเทศยุโรปตะวันตกเพิ่มงบประมาณกลาโหมรับมือสงครามเย็น) เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมรัฐบาลอาเบะจึงประกาศเพิ่มงบประมาณกลาโหม ทำนองเดียวกับรัฐบาลเกาหลีใต้ เพราะทั้งหมดอยู่ในแผนที่คิดล่วงหน้ามาแล้วหลายปี เช่น ในระยะ 5 ปีข้างหน้าญี่ปุ่นจะซื้ออาวุธเพิ่ม 240,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.4 ล้านล้านบาท)
            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า ภายใต้การบริหารของรัฐบาลอาเบะ ญี่ปุ่นจะมีส่วนเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงโลกมากขึ้น สหรัฐยินดีกับบทบาทดังกล่าว กองทัพสหรัฐในภูมิภาคและญี่ปุ่นจะเป็นกองกำลังที่มีขีดความสามารถ ทันสมัยมากที่สุด
ข้อมูลทั้งหมดให้ข้อสรุปว่า การเรียกร้องให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณทหารสหรัฐที่ประจำการใน 2 ประเทศดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เป็นประเด็นที่หารือเรื่อยมา และทั้ง 2 ประเทศเพิ่มงบประมาณสนับสนุนมากขึ้นๆ มีข้อมูลว่าปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นช่วยจ่ายถึงปีละ 1.6 พันล้านดอลลาร์ (190 พันล้านเยน) รัฐบาลเกาหลีใต้ช่วยจ่ายปีละ 867 ล้านดอลลาร์ ไม่นับค่าใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวฐานทัพโดยตรง ที่เจ้าของประเทศเป็นผู้แบกรับ

สมมุติว่าทรัมป์ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี ขอเพียงรัฐบาล 2 ประเทศนี้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยละ เช่น 3-5 เปอร์เซ็นต์ เพียงเท่านี้ทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิม ทรัมป์สามารถพูดว่าได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงแล้ว
เนื้อหาสาระนโยบายของทรัมป์ต่อญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีเพียงเท่านี้เอง ที่เหลือทั้งหมดมากมายคือวาทกรรม
เป็นกลเม็ดหาเสียงของทรัมป์ที่พยายามสร้างความแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ ให้ผู้ฟังเห็นว่าแตกต่าง ทั้งที่โดยความจริงแล้วไม่มีสาระสำคัญประการใด

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของทรัมป์ ปลายเดือนมีนาคม 2016 นายโยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Suga) หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลอาเบะคงนโยบายเช่นเดิม คือ ไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ “ไม่ว่าใครเป็นประธานาธิบดี ความเป็นพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐ คือเสาหลักของนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น” “เราจะร่วมงานกับสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อความมั่งคั่งและความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและของโลก”
            ถ้อยคำของหัวหน้าเลขาธิการซูกะ อาจเป็นถ้อยคำของผู้มีความเข้าใจมากที่สุด นั่นคือทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอย่างที่เข้าใจ
2 ตุลาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7269 วันอาทิตย์ที่ ตุลาคม พ.ศ.
2559)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
นโยบายปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ให้ความสำคัญกับการจัดการผู้ก่อการร้าย IS มากกว่าล้มระบอบประธานาธิบดีอัสซาด เป็นประเด็นที่แตกต่างจากท่าทีเดิมของรีพับลิกัน นโยบายให้พันธมิตรนาโต เกาหลีใต้ช่วยแบกรับค่าใช้จ่าย นโยบายการค้ายุติธรรม (fair trade) เป็นเรื่องเก่าดำเนินมาแล้วหลายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าหรือใหม่ การหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์มีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งทำลายคะแนนของฮิลลารี คลินตัน เป็นส่วนหนึ่งของหลัก “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์
2. ความจริงที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรของทรัมป์(2)
ทรัมป์วิพากษ์นาโตว่าเก่าแก้ล้าสมัย ไม่ช่วยต่อต้านก่อการร้ายเท่าที่ควร สหรัฐต้องแบกรับภาระงบประมาณมากแต่ประโยชน์น้อย จึงคิดพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต ความจริงคือรัฐบาลสหรัฐทุกรัฐบาลพยายามปรับปรุงแก้ไขเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และไม่คิดถอนตัวออกจากนาโต เพราะการสูญเสียพันธมิตรยุโรปเป็นโทษมากกว่า พูดอีกอย่างคือทุกวันนี้ได้ประโยชน์มากอยู่แล้ว
3. ความจริงที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรของทรัมป์(3)
ความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียเป็นอีกกรณีที่ทรัมป์ชี้ว่าต้องทบทวนความสัมพันธ์เพราะประเทศเสียงบประมาณกลาโหมแก่ซาอุฯ มากเกินไป โดยไม่เอ่ยถึงผลประโยชน์อื่นๆ ที่สหรัฐฯ ได้จากภูมิภาค ลดทอนความสำคัญการนำเข้าน้ำมันจากซาอุฯ ทั้งๆ ที่ทุกรัฐบาลมีนโยบายลดการนำเข้าจากทุกประเทศอยู่แล้ว ฮิลลารี คลินตันใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของทรัมป์ “สร้างความกลัวแก่ชาวอเมริกัน” ด้วยการชี้ว่า “ทรัมป์” คือภัยคุกคามใกล้ตัวที่สุด ร้ายแรงที่สุด

บรรณานุกรม:
1. Akira, Iikura., Braddick, Christopher. (2008). Fukuda Takeo (1905–1995). In The Encyclopedia of the Cold War: A Student Encyclopedia. (pp.761-762). USA: ABC-CLIO.
2. Comments by Donald Trump Draw Fears of an Arms Race in Asia. (2016, April 2). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2016/04/02/world/politics-diplomacy-world/obama-bashes-trump-lack-knowledge-foreign-policy-world-events/#.VwCHUJx97IV
3. Joint Press Conference with President Obama and Prime Minister Abe of Japan. (2014, April 24). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/24/joint-press-conference-president-obama-and-prime-minister-abe-japan
4. Kerry says U.S. backs Japan's military buildup. (2013, December 18). Japan Today/AFP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/kerry-says-u-s-backs-japans-military-buildup
5. Kim, Young C. (2015). The US Policy of Rebalance: Japanese and South Korean Perspectives. In Origins and Evolution of the US Rebalance toward Asia: Diplomatic, Military, and Economic Dimensions. (Pp.147-170). New York: Palgrave Macmillan. Manning, Robert A. (2016, March 29). Trump’s ‘Sopranos’ Worldview Would Undo Asian Alliances. Atlantic Council. Retrieved from http://www.atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/trump-s-sopranos-worldview-would-undo-asian-alliances
7. Ramzy, Austine. (2016, March 28). Comments by Donald Trump Draw Fears of an Arms Race in Asia. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/29/world/asia/donald-trump-arms-race.html?_r=0
8. Rubin, Jennifer. (2016, April 28). Donald Trump’s incoherent speech on foreign policy shows why he’s unfit to be president. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/us-election-2016-trump-s-incoherent-speech-on-foreign-policy-shows-why-he-s-unfit-to-be-president-a7004671.html
9. Sutter, Robert. (2014). The United States in Asia Durable Leadership. In David Shambaugh and Michael Yahuda (Eds.), International Relations of Asia (2nd ed.). Maryland: Rowman & Littlefield.
10. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
11. Trump details ‘America first’ foreign policy views, threatening to withdraw troops from Japan, South Korea. (2016, March 27). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2016/03/27/world/politics-diplomacy-world/trump-details-america-first-foreign-policy-views-threatening-withdraw-troops-japan-south-korea/#.Vvh-wtJ97IV
12. Young, James V. (2003). Eye on Korea: An Insider Account of Korean-American Relations. USA: Texas A&M University.
-----------------------------