หลักนโยบายของ ‘ทรัมป์’ เหมือนหรือแตกต่าง

ในช่วงการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน (RNC) เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ในฐานะตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ปราศรัยและให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายของตน พร้อมกับกล่าวหาฮิลลารี คลินตันผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามว่า “บริษัทยักษ์ใหญ่ สื่อของชนชั้นนำ (elite media) และผู้บริจาครายใหญ่พากันต่อแถวอยู่เบื้องหลังการรณรงค์หาเสียง เพราะพวกเขารู้ว่าเธอสามารถรักษาระบบขี้ฉ้อนี้ พวกเขาโยนเงินให้เธอก็เพราะพวกเขาควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำ เธอจึงเป็นหุ่นเชิด พวกเขาคอยชักใยอยู่” เป็นเหตุผลว่าทำไมนโยบายของฮิลลารีไม่แตกต่างจากเดิม และทำไม FBI กับอัยการสูงสุดไม่เล่นงานกรณีใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวติดต่ออีเมล์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนตนเข้ามาเพื่อนำความเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศ
บทความนี้จะวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจนถึงล่าสุดนี้
“อเมริกาต้องการมาก่อน?:
ทรัมป์ให้คำมั่นว่าประเทศจะปลอดภัยกว่าเดิม หลายล้านคนมีงานทำ สร้างความมั่งคั่งเพิ่มอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ อเมริกาต้องมาก่อน (America First) เป็นลัทธิอเมริกานิยม (Americanism) ไม่ใช่โลกนิยม (globalism) ชาวอเมริกันต้องมาก่อนอีกครั้ง
            ในการนี้จะปรับนโยบายเป็นมิตรกับรัสเซีย ศัตรูที่สำคัญคือผู้ก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง (radical Islamic terrorism) ประธานาธิบดีอัสซาดอาจเป็นคนเลวพอกับซัดดัม ฮุสเซน แต่ถ้ามองลิเบีย อิรักอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การที่ซัดดัมกับกัดดาฟียังคงอยู่จะเป็นผลดีมากกว่า
            นโยบายของทรัมป์ต่อซีเรียสัมพันธ์กับนโยบายต่อรัสเซีย เพราะเมื่อเป็นมิตรกับรัสเซีย จะร่วมกันต่อต้าน IS/ISIL/ISIS ในซีเรียด้วย ยิ่งทรัมป์ไม่เห็นว่าระบอบอัสซาดเป็นอุปสรรค เท่ากับว่ายอมให้รัฐบาลอัสซาดคงอยู่ต่อไป (อย่างน้อยอีกช่วงหนึ่ง) และเท่ากับยอมรับว่าไม่อาจล้มรัฐบาลอัสซาดดังที่ตั้งใจ จึงต้องเปลี่ยนแผน

รัฐบาลโอบามาเป็นผู้ริเริ่มนโยบายล้มระบอบอัสซาด เรื่องน่าแปลกคือรีพรรคลิกันซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านพยายามกดดันให้รัฐบาลโอบามาเร่งจัดการ ใช้มาตรการรุนแรง เปิดฉากโจมตีกองทัพอัสซาดโดยตรง กล่าวหาว่าประธานาธิบดีโอบามาอ่อนแอ
มาบัดนี้ ทรัมป์ซึ่งเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันกลับทำสิ่งที่ตรงข้ามกับนโยบายพรรคที่ผ่านมา หรือไม่ก็คือยุทธศาสตร์เรื่องนี้เปลี่ยนไปแล้ว ให้เหตุผลว่า IS เป็นภัยต่อสหรัฐมากกว่าอัสซาด เรื่องสำคัญ ณ ขณะนี้คือต้องคิดกำจัด IS ก่อน

            กลับไปมองภาพกว้าง ความขัดแย้งในยูเครน รัสเซียยึดไครเมียเป็นประเด็นให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย พร้อมกับราคาน้ำมันดิบโลกที่ดิ่งหนักเคยเหลือเพียง 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่รัฐบาลปูตินสามารถประคองตัวและผ่านช่วงวิกฤตที่สุดมาแล้ว
การคว่ำบาตร ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัว ส่งผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย พวกยุโรปคิดจะเลิกคว่ำบาตร ส่วนพวกอาหรับต้องรัดเข็มขัด ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าฝ่ายที่ทนได้นานกว่าคือฝ่ายที่ชนะ หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งและฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซีย การคว่ำบาตรน่ายุติ ราคาน้ำมันคืนสู่เสถียรภาพในระดับที่สูงขึ้น (แต่คงไม่ถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจึงไม่ใช่สหรัฐ
ฮิลลารี คลินตันยังยึดมั่นนโยบายของประธานาธิบดีโอบามาที่พวกเดโมแครทบางส่วนไม่เห็นด้วย นโยบายของทรัมป์จึงโดนใจ “พวกเดโมแครท” มากกว่า อย่างน้อยทรัมป์ไม่เป็นศัตรูกับพวกเดโมแครทในประเด็นเหล่านี้
รวมความแล้ว กลยุทธ์หาเสียงของทรัมป์เป็นรูปแบบทั่วไป คือโจมตีฝ่ายตรงข้าม และอีกวิธีคือโหนกระแส

ในช่วงที่มีกระแสรายงานการไต่สวนกรณีอิรัก (The Iraq Inquiry) ที่นำโดยจอห์น ชิลคอต (John Chilcot) ให้ข้อสรุปว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะทำสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน การตัดสินใจส่วนตัวของนายกฯ โทนี แบลร์ (Tony Blair) ในขณะนั้นไม่ถูกต้อง
ทรัมป์ใช้โอกาสดังกล่าวรีบแสดงตัวชื่นชมซัดดัม ฮุสเซน กล่าวว่าแม้ซัดดัมจะเป็นคนเลว แต่ที่น่าชื่นชมคือซัดดัมกำจัดผู้ก่อการร้าย โลกจะน่าอยู่กว่านี้ถ้าซัดดัมยังคงมีชีวิตอยู่ การพูดเช่นนี้เพราะรายงานของชิลคอตตอกย้ำกระแสต่อต้านสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัมเมื่อปี 2003 แม้รายงานจะมุ่งพูดถึงรัฐบาลแบลร์ แต่ในสหรัฐหมายถึงประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชที่สังกัดพรรคเดียวกับตน
การพูดชมเชยซัดดัมจึงมีเป้าหมายเพื่อแสดงว่าตนแตกต่างจากแนวทางของบุช ที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยอมรับแล้วว่าผิดพลาด ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้เจบ บุช (Jeb Bush) น้องชายของอดีตประธานาธิบดีบุช ผู้สมัครอีกรายต้องถอนตัวหลังถูกมองว่ามีนโยบายตะวันออกกลางไม่แตกต่างพี่ชาย
นักการเมืองพรรครีพับลิกันหลายคนไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ในเรื่องนี้ ที่ผ่านมารีพับลิกันยังคงแสดงจุดยืนเห็นด้วยกับการโค่นล้มระบอบซัดดัม แต่อย่างที่ทรัมป์พูดว่า “อเมริกาต้องมาก่อน”

สหรัฐกำลังโดดเดี่ยวตัวเองหรือ :
            ทรัมป์เห็นว่านาโตเป็นเหตุให้ประเทศต้องใช้งบประมาณมหาศาลกับบทบาทตำรวจโลก ที่ไม่ก่อประโยชน์อันใดแก่ประเทศ สหรัฐไม่ได้ร่ำรวยอย่างแต่ก่อน เชื่อมโยงเรื่องกองทัพในต่างแดนกับปีนี้ที่ขาดดุลการค้า 800,000 ล้านดอลลาร์ ชาติสมาชิกนาโต เกาหลีใต้ จึงต้องช่วยแบกรับภาระงบประมาณให้มากกว่าเดิม ความร่วมมือเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อสหรัฐเท่านั้น แต่เป็น “ผลประโยชน์ร่วม” มิฉะนั้น “คุณต้องปกป้องตัวคุณเอง”
            หลักคิดง่ายๆ ต่อความมั่นคงคือ เน้นปกป้องประเทศในอาณาเขตตัวเอง ส่วนความร่วมมือกับพันธมิตรถือเป็นผลประโยชน์ร่วมที่ต่างต้องช่วยกันแบ่งเบาภาระ

ความจริงแล้วการต่อรองให้พันธมิตรร่วมแบกรับภาระไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายปีที่ผ่านรัฐบาลเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นช่วยแบกรับภาระงบประมาณกองทัพสหรัฐที่ประจำการใน 2 ประเทศนี้ เช่นเดียวกับกรณีนาโต
แต่จะแบ่งค่าใช้จ่ายกันอย่างไร ย่อมมีประเด็นว่ายุติธรรมหรือไม่ อย่างไรเรียกว่ายุติธรรม ต้องคิดลงรายละเอียดว่าใครได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด และถ้าจะพูดลงรายละเอียด อาวุธหลายรายการที่เคยอยู่ในแผนสั่งซื้อคืออาวุธ MADE IN USA แต่ถูกปรับลดหรือเลื่อนออกไป ข้อเรียกร้องของทรัมป์จึงไม่แตกต่างจากประเทศส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลกที่พยายามขายอาวุธของตน ซึ่งกรณีสหรัฐหมายถึง “บริษัทยักษ์ใหญ่” ไม่กี่แห่ง

ที่ผ่านมารัฐบาลโอบามาส่งเสริมให้ชาติสมาชิกนาโต ญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณกลาโหม เสริมสร้างกองทัพ หวังให้พันธมิตรแสดงบทบาทมากขึ้น เหตุผลสำคัญคือเพื่อต้านอิทธิพลของรัสเซียกับจีนที่กำลังขยายตัว แต่ชาติสมาชิกนาโตหลายประเทศไม่ได้คิดเช่นนั้น หวังใช้งบประมาณของตนเพื่อการอื่นมากกว่า
            ณ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป เป็นได้ว่าสหรัฐกำลังปรับยุทธศาสตร์ ระงับการปิดล้อมรัสเซียไว้ก่อน เพื่อยุติการคว่ำบาตร เรื่องราคาน้ำมัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพันธมิตรในยุโรปต้องการเช่นนั้น หวังคืนความสัมพันธ์ปกติกับรัสเซีย

นักวิชาการบางคนอธิบายว่าโดยรวมแล้วนโยบายต่างประเทศของทรัมป์เป็นแนวทางโดดเดี่ยวตัวเอง (Isolationism) ต่างจากรัฐบาลก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นรีพับลิกันหรือเดโมแครท
การมองกรณีโดดๆ หรือเฉพาะบางคำพูด เช่น  “คุณต้องปกป้องตัวคุณเอง” อาจชวนให้คิดเช่นนั้น แต่ต้องไม่ลืมทั้งหมดเป็นเงื่อนไข ไม่ใช่ข้อสรุป ในทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของการเจรจา ต่อให้ชาติสมาชิกนาโต เกาหลีใต้ไม่ช่วยแบกรับค่าใช้จ่ายใช่ว่าจะเป็น “ข้อสรุป” ว่าสหรัฐจะถอนกองทัพออกจากประเทศเหล่านั้น
            ถ้าจะวิพากษ์ จะเห็นว่าทรัมป์ไม่เอ่ยถึงยุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชีย ฐานทัพสหรัฐในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของการปิดล้อมจีน ถ้าทรัมป์ยกเลิกการปิดล้อมจีน ยกเลิกยุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชีย เพียงเท่านี้สหรัฐสามารถลดกำลังพล ลดขนาดกองทัพได้มากมาย (ตามยุทธศาสตร์ กองเรือทั้งหมดกว่าครึ่งจะมาประจำการที่เอเชียแปซิฟิก) ช่วยประหยัดงบประมาณมหาศาล มากกว่าที่พันธมิตรช่วยแบกรับค่าใช้จ่ายหลายสิบหลายร้อยเท่า น่าคิดหรือไม่ว่าทำไมทรัมป์ไม่เสนอเรื่องนี้
ที่สุดแล้วต้องตระหนักเสมอว่าในขณะนี้เป็นช่วงหาเสียง เป็นเรื่องเอาชนะการเลือกตั้ง เรื่องนี้ต่างหากที่ “ต้องมาก่อน”

ข้อตกลงการค้าเสรีต้องปรับแก้ :
ทรัมป์เห็นว่าข้อตกลง FTA ที่ทำร่วมกับเกาหลีใต้ทำลายตำแหน่งงานในประเทศ ประกาศจะเจรจาใหม่ โจมตีฮิลลารี คลินตันที่สนับสนุน NAFTA TPP ให้จีนเข้า WTO อันส่งผลเสียต่อสหรัฐ ข้อตกลงการค้าเหล่านี้ “ทำร้ายคนงานของเรา บั่นทอนเสรีภาพและอิสรภาพ เราจะไม่ลงนามข้อตกลงการค้าที่เสียเปรียบ ประเทศอเมริกาต้องมาก่อน” ไม่ปล่อยให้จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาอีกต่อไป รวมทั้งการทุ่มตลาด บิดเบือนค่าเงิน ข้อตกลงการค้ากับจีนต้องทบทวนทั้งหมดเช่นกัน
            นักวิชาการบางคนเห็นว่าทรัมป์กำลังเป็นพวกส่งเสริมลัทธิปกป้องการค้า (Protectionism) อาจเร็วเกินไปที่จะสรุปเช่นนี้ เพราะทรัมป์เพียงเอ่ยว่าคิดจะเจรจาใหม่ ให้ประเทศได้ประโยชน์มากกว่าเดิม ไม่ได้ประกันว่าจะได้ผล

            ถ้าวิเคราะห์อย่างเป็นกลาง แนวทางแก้ข้อตกลงของทรัมป์คือสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐอ้างว่าเป็นหลักการค้ายุติธรรม (fair trade) เป็นประเด็นที่พูดกันมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจีนทุ่มตลาด บิดเบือนค่าเงิน ปัญหาคือจะทำอย่างไรต่างหาก ทรัมป์ยังไม่ได้เผยวิธีการ และไม่มีใครประกันว่าจะสำเร็จหรือไม่ ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ายังเอื้อประโยชน์ต่อจีนมากกว่า

            ประเด็นที่ทรัมป์ลืมคิดหรือไม่พูดถึงคือ ถ้าสหรัฐใช้นโยบายกีดกันการค้า ประเทศอื่นๆ สามารถตอบโต้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน ถ้าสหรัฐมุ่งคิดแต่จะได้ฝ่ายเดียว ประเทศอื่นก็คิดเช่นกัน
            มุมมองที่ตรงข้าม Thomas Donohue ประธาน U.S. Chamber of Commerce ให้ข้อคิดว่าด้วยระบบเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศช่วยเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐ ขยายกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งเสริมการแข่งขัน สหรัฐต้องการการค้าเสรี ไม่ใช่ลดการค้าเสรี
เป็นความเห็นต่อคำถามที่ว่าทรัมป์กำลังพาประเทศสู่การกีดกันการค้าหรือไม่

            รวมความแล้วการที่ทรัมป์หยิบยกเรื่องปรับแก้ข้อตกลงการค้าเสรีก็เพื่อโจมตีโอบามา-ฮิลลารีเป็นหลัก ทรัมป์ไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะสำเร็จ สิ่งที่ต้องการในขณะนี้คือเพียงพูดให้ฮิลลารีเสียคะแนนเท่านั้นเอง

            ทั้งหมดคือคำมั่นที่ทรัมป์บอกว่าอเมริกาต้องมาก่อน เป็นลัทธิอเมริกานิยม ซึ่งเป็นคำมั่นคล้ายกับที่บารัก โอบามา (และผู้สมัคคนอื่นๆ) ให้ไว้ และคือการยึดหลักผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่ว่าจะใช้คำว่าลัทธิอเมริกานิยมหรือไม่ แต่เพื่อการนี้ทรัมป์ต้องชนะการเลือกตั้งก่อน
24 กรกฎาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7199 วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2559)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง  
ผู้ที่เข้าใจมาตรการป้องกันก่อการร้ายของสหรัฐจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าข้อเรียกร้องของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ให้ตรวจตราติดตามมุสลิมทุกคนเปล่าประโยชน์ เพราะตามกฎหมายแล้วใครก็ตามที่เข้าข่ายต้องสงสัยจะถูกตรวจสอบติดตามทันทีไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ ข้อเสนอของทรัมป์ช่วยให้เขาได้คะแนนนิยมทิ้งห่างผู้สมัครพรรคเดียวกัน ความจริงคือไม่ว่า “อิสลามหัวรุนแรง” เป็นภัยคุกคามจริงแท้เพียงไร ชาวอเมริกันที่ชื่นชอบพรรครีพับลิกันหลายคนเชื่อเช่นนั้น มุสลิมอเมริกัน 3 ล้านคนจึงกลายเป็นแพะรับบาปเพราะทรัมป์
บรรณานุกรม:
1. Electorate Tremors: The Era of the Angry Voter Is Upon Us. (2016, July 6). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/brexit-the-era-of-the-angry-voter-is-upon-us-a-1101438.html
2. Full text: Donald Trump RNC draft speech transcript. (2016, July 21). Politico. Retrieved from http://www.politico.com/story/2016/07/full-transcript-donald-trump-nomination-acceptance-speech-at-rnc-225974
3. Harding, Luke. (2016, July 6). Chilcot delivers crushing verdict on Blair and the Iraq war. The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/uk-news/2016/jul/06/chilcot-report-crushing-verdict-tony-blair-iraq-war
4. News Analysis: GOP, Trump reconcile views on trade to enlarge voter base. (2016, July 22). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-07/22/c_135532558.htm
5. Rusling, Matthew. (2016, July 22). News Analysis: Trump looks to Republican convention for bump in polling numbers. Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-07/22/c_135531197.htm
6. Transcript: Donald Trump on NATO, Turkey’s Coup Attempt and the World. (2016, July 20). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/07/22/us/politics/donald-trump-foreign-policy-interview.html
7. Trump denounces Korea-U.S. FTA as 'job-killing' deal, vows to renegotiate all 'horrible' trade pacts. (2016, July 22). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/07/22/63/0301000000AEN20160722005100315F.html
8. Trump Doctrine: Work with Russia, Draw Back NATO, Stop Arming Syrian Rebels. (2016, July 16). Sputnik News. Retrieved from http://sputniknews.com/politics/20160716/1043135284/trump-syria-nato-daesh-putin.html
9. Trump praises Saddam Hussein for killing terrorists without trials. (2016, July 6). Deutsche Welle. Retrieved from http://www.dw.com/en/trump-praises-saddam-hussein-for-killing-terrorists-without-trials/a-19380935
10. Trump promises ‘safety’ to fearful Americans. (2016, July 22). Gulf News/AFP. Retrieved from http://gulfnews.com/news/americas/usa/trump-promises-safety-to-fearful-americans-1.1866703
-----------------------------