ความจริงที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรของทรัมป์ (3)

ประเด็นทบทวนซาอุฯ : ความคิดของทรัมป์ต่อซาอุดิอาระเบียใกล้เคียงกับที่คิดต่อญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นั่นคือ รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อป้องกันประเทศเหล่านี้ แต่สหรัฐได้ผลประโยชน์น้อย เดิมซาอุฯ ตะวันออกกลางมีความสำคัญที่เป็นแหล่งน้ำมัน แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแล้ว เมื่อสามารถผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil/tight oil)

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลซาอุฯ กับสหรัฐ :
            รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเริ่มสัมพันธ์ดีกับสหรัฐตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) กุมภาพันธ์ 1945 ไม่กี่เดือนก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กษัตริย์ Abdel-Aziz พบประธานาธิบดีรูสเวลท์ สองฝ่ายตกลงว่าสหรัฐจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์น้ำมันซาอุฯ แลกกับสหรัฐจะปกป้องราชวงศ์จากภัยคุกคาม
            ตลอดช่วงสงครามเย็น ซาอุฯ อยู่ฝ่ายอเมริกา ต่อเนื่องจนสิ้นสงครามเย็น สหรัฐยังคงให้ซาอุฯ เป็นหนึ่งในแกนนำดูแลภูมิภาคตะวันออกกลาง
1990 เมื่ออิรักบุกยึดคูเวต ซาอุฯ เกรงว่าอิรักจะบุกซาอุฯ ด้วย จึงร้องขอความช่วยเหลือ รัฐบาลสหรัฐส่งกองทัพ 230,000 นายพร้อมกองทัพอีกหลายประเทศ ปลดปล่อยคูเวต รัฐบาลซาอุฯ ตอบแทนด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่อเมริกา มีข้อมูลว่าซาอุฯ ใช้จ่ายเพื่อการนี้ถึง 64 พันล้านดอลลาร์ (ส่วนหนึ่งมอบให้ประเทศอื่นๆ ที่ร่วมรบด้วย)
            ความสัมพันธ์ทวิภาคีไม่ได้ราบรื่นเสียทุกเรื่อง เช่น ประเด็นอิสราเอล ปาเลสไตน์ ปี 1948 กองทัพซาอุฯ ร่วมทำสงครามอาหรับกับอิสราเอล สหรัฐอยู่ข้างอิสราเอล

            ทรัมป์พยายามหยิบยกความระหองระแหงระหว่างรัฐบาลโอบามากับฝ่ายซาอุฯ ชูประเด็นว่าพวกซาอุฯ ต่างหากที่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากอเมริกา ดังนั้น ซาอุฯ ควรให้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่า
            ความเข้าใจเช่นนี้มีส่วนถูก ข้อมูลที่ปรากฏจากสื่อบ่งบอกเช่นนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า 2 ฝ่ายคิดจากเลิกร้างความสัมพันธ์ ผลประโยชน์ของสหรัฐมีมากกว่าเม็ดเงินที่ซาอุฯ ให้โดยตรง

            ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ราชวงศ์ซาอุฯ ตอบแทนด้วยการผลิตน้ำมันป้อนสหรัฐและตลาดโลกอย่างเพียงพอ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเป็นราคาที่ “เหมาะสม” นั่นคือไม่ต่ำหรือสูงจนรับไม่ได้ ไม่ปล่อยให้ความเป็นไปของซาอุฯ กับภูมิภาคเป็นเหตุราคาน้ำมันผันผวน หาซื้อยาก จนกระทบต่อเศรษฐกิจโลก กระทบต่อสหรัฐ
การที่รัฐบาลสหรัฐพยายามมีอิทธิพลในภูมิภาคที่อุดมด้วยน้ำมัน ไม่ใช่เพราะหวังใช้น้ำมันจากภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบโลก ความเป็นมหาอำนาจ หากวันใดรัสเซียหรือจีนครอบงำตะวันออกกลาง สหรัฐจะสูญเสียพันธมิตร สูญเสียผลประโยชน์มหาศาลอย่างประเมินค่าไม่ได้ และอาจสูญเสียอิสราเอลด้วย
ถ้าจะเอ่ยเจาะจงเศรษฐกิจ สหรัฐได้ประโยชน์มหาศาลจากการค้าน้ำมันของตลาดโลก เพราะเชื่อมโยงกับสกุลเงินดอลลาร์

            เป็นอีกประเด็นที่ทรัมป์หาเสียงโดยย่อประเด็นให้สั้น ตัดรายละเอียด ให้คนฟังเข้าใจง่ายๆ อันตรายร้ายแรงที่ซ่อนอยู่คือ เข้าใจไม่ครบ ความจริงถูกบิดเบือน

ความจริงที่ทรัมป์ไม่พูด นโยบายลดการนำเข้า :
ทรัมป์พยายามลดทอนความสำคัญของซาอุฯ ด้วยการเอ่ยว่าสหรัฐไม่จำต้องพึ่งน้ำมันจากซาอุฯ เพราะปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil/tight oil)
ข้อมูลล่าสุด ปี 2015 สหรัฐนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนำเข้าจาก 88 ประเทศ (น้ำมันปิโตรเลียมประกอบด้วยน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์เหลวจากการกลั่นน้ำมัน) ในจำนวนนี้ร้อยละ 78 เป็นน้ำมันดิบ
ในช่วงเวลาเดียวกัน สหรัฐส่งออกปิโตรเลียม 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ตลาด 147 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน (เช่น น้ำมันเครื่อง) ปริมาณนำเข้าสุทธิเท่ากับ 4.7 ล้านบาร์เรลเช่นกัน
            สหรัฐนำเข้าปิโตรเลียมจากซาอุฯ เฉลี่ยวันละ 1.06 ล้านบาร์เรล เท่ากับร้อยละ 11 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด และนำเข้าจากแคนนาดา 3.76 ล้านบาร์เรลหรือเกือบ 4 เท่าของซาอุฯ ดังนั้น สหรัฐสามารถซื้อทดแทนจากประเทศอื่นๆ หรือจะแทนด้วยน้ำมันหินดินดานย่อมไม่ใช่เรื่องยาก

            ความจริงที่ทรัมป์ไม่เอ่ยถึงคือ รัฐบาลสหรัฐที่ผ่านมา (ทั้งรัฐบาลรีพับลิกันกับเดโมแครท) ดำเนินนโยบายลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยค่อยๆ ลดการนำเข้า เพิ่มการใช้แหล่งพลังงานภายในประเทศ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ประเมินว่าก่อนสิ้นปี 2020 สหรัฐจะกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกแซงหน้าซาอุดิอาระเบีย
หากการคาดการณ์ดังกล่าวถูกต้อง แนวโน้มคือสหรัฐจะพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในประเทศมากขึ้นๆ ซึ่งเท่ากับว่าจะลดการนำเข้าจากทุกประเทศ ไม่เฉพาะซาอุฯ

            หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีอาจดำเนินนโยบายลดการนำเข้าจากซาอุฯ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นเป็นมิตรหรือศัตรู แต่เป็นไปตามยุทธศาสตร์แม่บทของประเทศที่กำหนดเช่นนั้น ต้นทุนจากน้ำมันชั้นหินดินดาน พลังงานทางเลือกอื่นๆ ลดต่ำลงเรื่อยๆ และได้รับความนิยมมากขึ้น

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
หลักคิดรวบยอดของทรัมป์คือ สหรัฐเสียงบประมาณกับพันธมิตรมากเกินไป ผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มเสีย ทางออกคือชาติพันธมิตรต้องแบกรับภาระเพิ่มเติม อันจะช่วยลดปัญหาขาดดุลของสหรัฐ มิฉะนั้นจะพิจารณาถอนตัวจากความเป็นพันธมิตร ยืนยันว่านโยบายของตนไม่ใช่พวก isolationist แต่เป็นการนำอย่างชาญฉลาด เข้มแข็งกว่าเดิม ความตั้งใจของตนคือทำให้ชาวอเมริกันร่ำรวยกว่าเดิม เพราะด้วยสิ่งนี้ที่จะทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง
            จากตัวอย่างทั้ง 3 กรณี วิเคราะห์ได้ว่า
          ประการแรก “เรื่องเก่า เล่าใหม่”
            นโยบายต่างประเทศของทรัมป์เป็นที่น่าตกตะลึง เมื่อพูดถึงการทบทวนความสัมพันธ์กับพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นาโต ซาอุดิอาระเบีย เพราะทั้ง 4 ประเทศ/กลุ่มล้วนเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐมาช้านาน
            แต่ถ้าพิจารณาให้ดี จะพบว่าประเด็นที่พูดถึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เป็นประเด็นที่ดำเนินเรื่อยมา ย้อนหลังตั้งแต่สิ้นสมัยสงครามโลก เริ่มสงครามเย็น เป็นประเด็นที่ถกกันเรื่อยมาทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของเดโมแครทหรือรีพับลิกัน ต่างตรงที่ทรัมป์ “พูดตรง พูดแรง” พูดสั้นๆ ทำให้ผู้ที่ฟังเผินๆ จะหลงอยู่ในถ้อยคำ ความเข้าใจแคบๆ ที่ทรัมป์พยายามหยิบยื่นให้
            แท้จริงแล้วนโยบายของทรัมป์ต่อชาติพันธมิตรเหล่านี้ไม่มีอะไรพิเศษแปลกใหม่ พูดให้ชัดคือหาเสียงโดยใช้นโยบายที่มีอยู่แล้ว กำลังดำเนินการอยู่แล้ว เว้นแต่ประโยคที่ว่าอาจถอนตัวจากการเป็นพันธมิตร

            ถ้าจะพูดเรื่องประหยัดงบประมาณกลาโหม หากชาติพันธมิตรแบ่งเบาภาระเพิ่มเติม ย่อมต้องถือว่าได้บรรเทาภาระงบประมาณกลาโหมสหรัฐ ช่วยลดการขาดดุล เป็นไปตามแนวคิดของทรัมป์ แต่หากคิดลดงบประกลาโหมจริงๆ วิธีประหยัดที่ได้ผลมากกว่าหลายสิบหลายร้อยเท่าคือลดขนาดกองทัพ ลดจำนวนกองทัพในที่ต่างๆ ทั่วโลก (ดังที่ทรัมป์พูดว่าให้ประเทศต่างๆ ปกป้องตนเอง จะถอนกองทัพนับแสนนายที่ประจำการนอกประเทศกลับบ้าน)
            รัฐบาลสหรัฐทุกยุคทุกสมัยคิดถึงประเด็นภาระงบประมาณ แต่ที่ยังคงทหารจำนวนมากในต่างแดน มีฐานทัพตามที่ต่างๆ ทุกทั่วภูมิภาคของโลก เพราะเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ที่มองผลประโยชน์ภาพรวมทั้งหมด ไม่เฉพาะเรื่องขาดดุลมากหรือขาดดุลน้อยเท่านั้น
ดูเหมือนว่าทรัมป์จะไม่เข้าใจหรือไม่ยอมเข้าใจเรื่องนี้ หรือว่าเป็นเพียงกลยุทธหาเสียง

ประการที่ 2 การฉวยประโยชน์ของฮิลลารี
ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ย่อมรู้ดีว่าเรื่องที่ทรัมป์พูดไม่ใช่เรื่องอะไรแปลกประหลาด รู้ว่าประเด็นเหล่านั้นกำลังอยู่ระหว่างเจรจาเรื่อยมา แต่ด้วยวิธีนำเสนอของทรัมป์ทำให้บางคนคิดว่าเป็นประเด็นใหม่ จึงฉวยประโยชน์โจมตีทรัมป์ว่าอ่อนด้อยเรื่องการต่างประเทศ ไม่เข้าใจหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แนวทางของทรัมป์บั่นทอนความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตร
            จุดสุดยอดคือ ฮิลลารีฉวยโอกาสเชื่อมโยงนโยบายต่างประเทศกับการเป็นประธานาธิบดี กล่าวว่า “ในเดือนพฤศจิกายน ชาวอเมริกันไม่เพียงเลือกประธานาธิบดี แต่ยังเลือกผู้บัญชาการทหารสูงสุด (commander-in-chiefตำแหน่งทางทหารของประธานาธิบดี) คนต่อไป ผู้ที่จะตัดสินเลือกว่าควรทำสงครามหรือไม่ (ตัดสินเรื่อง) ชีวิตกับความตาย” คนอย่างทรัมป์ไม่เหมาะกับตำแหน่งดังกล่าว เพราะแนวคิดของทรัมป์ไม่เพียงแปลกประหลาด แต่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง สภาพอารมณ์ไม่เหมาะกับตำแหน่งที่ต้องอาศัยความรู้ ความมั่นคงทางจิตใจ และเต็มด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช่คนที่ควรถือรหัสนิวเคลียร์ (สั่งปล่อยอาวุธนิวเคลียร์)
          เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์หาเสียงด้วยการ “สร้างความกลัวแก่ชาวอเมริกัน” ด้วยสารพัดภัยคุกคาม ฮิลลารี คลินตันโต้กลับด้วยการ “สร้างความกลัวแก่ชาวอเมริกัน” เช่นกัน ด้วยการชี้ว่า “ทรัมป์” คือภัยคุกคามใกล้ตัวที่สุด ร้ายแรงที่สุด

            ถ้าไม่คิดอะไรมาก การหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาอาจเป็นเพียงวิวาทะของนักการเมือง แต่หากคิดอย่างจริงจัง คิดถึงคุณสมบัติของผู้ปกครองประเทศ อนาคตของชาติ ควรหรือที่ประเทศจะมีผู้นำที่คิดถึงแต่จะเอาชนะเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงว่าชาติบ้านเมืองจะเสียหายอย่างไร บุคคลเช่นนี้เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อประชาชน
            ถ้าเป็นผู้สมัครที่มีสติปัญญา กอปรด้วยความรู้ มีคุณธรรม น่าจะสามารถชี้จุดอ่อนฝ่ายตรงข้ามบนพื้นฐานข้อเท็จจริง เสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม นโยบายที่ดีกว่า บนพื้นฐานที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่ประชาชน แก่โลกอย่างยั่งยืน
            มีคำถามว่าระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาสามารถคัดสรรคนดีมีฝีมือเข้าบริหารประเทศหรือไม่
17 ตุลาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7283 วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.
2559)
-------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ทรัมป์ชูนโยบายทบทวนความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตร เห็นว่าการคงทหารหลายหมื่นนายในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ไม่ก่อประโยชน์ต่อสหรัฐฯ เท่าที่ควร ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ไม่คุ้มค่า ไม่สนใจว่าหากถอนการเป็นพันธมิตรจะส่งผลต่อระบบความมั่นคงภูมิภาคและโลกอย่างไร ความจริงที่ต้องเข้าใจคือประเทศเหล่านี้ช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณมานานแล้ว และยังคงเจรจาต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
ทรัมป์วิพากษ์นาโตว่าเก่าแก้ล้าสมัย ไม่ช่วยต่อต้านก่อการร้ายเท่าที่ควร สหรัฐต้องแบกรับภาระงบประมาณมากแต่ประโยชน์น้อย จึงคิดพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต ความจริงคือรัฐบาลสหรัฐทุกรัฐบาลพยายามปรับปรุงแก้ไขเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และไม่คิดถอนตัวออกจากนาโต เพราะการสูญเสียพันธมิตรยุโรปเป็นโทษมากกว่า พูดอีกอย่างคือทุกวันนี้ได้ประโยชน์มากอยู่แล้ว

บรรณานุกรม:
1. How the US Could be the World's Next Major Producer of Oil. (2013, January 13). CNBC. Retrieved from http://www.cnbc.com/id/100375838
2. Katusa, Marin. (2015). The Colder War: How the Global Energy Trade Slipped from America's Grasp. USA: John Wiley & Sons.
3. Phillips, Lela. (2003). Saudi Arabia. In Bankston III, Carl L. (Ed.), World Conflicts: Asia and the Middle East (Vol.2, pp. 460-474). California: Salem Press, Inc.
4. Rozen, Laura. (2016, June 2). Clinton dumps on Trump. Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2016/06/hillary-clinton-trump-unfit-commander-chief.html
5. Rubin, Jennifer. (2016, April 28). Donald Trump’s incoherent speech on foreign policy shows why he’s unfit to be president. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/us-election-2016-trump-s-incoherent-speech-on-foreign-policy-shows-why-he-s-unfit-to-be-president-a7004671.html
6. Saudi Arabian Army. (2013, October 23). Saudi Defence. Retrieved from http://www.saudidefence.com/saudi-arabian-army/
7. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
8. U.S. Energy Information Administration. (2016, October 4). How much petroleum does the United States import and export? Retrieved from http://www.eia.gov/tools/faqs/faq.cfm?id=727&t=6
-----------------------------