รัสเซียหนุนหลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยูเครนหรือไม่

สถานการณ์ยูเครนตึงเครียดอีกครั้ง หลังสื่อ The New York Times รายงานว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามากำลังพิจารณาส่งอาวุธหนักให้รัฐบาลยูเครนเพื่อรบกับฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซียไม่ได้ผล
            แต่ไหนแต่ไรฝ่ายตะวันตกกล่าวหารัสเซียหนุนหลังกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ให้ทั้งเงินและอาวุธ ทำให้ฝ่ายต่อต้านเป็นฝ่ายได้เปรียบในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธมาโดยตลอด
            รายงานของสหรัฐชิ้นหนึ่งระบุว่าหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียได้ส่งอาวุธหนักจำนวนมากให้ฝ่ายต่อต้าน รวมทั้งรถถัง T-80, T-72 เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง ปืนใหญ่ แนะว่าอาวุธที่ควรให้กองทัพยูเครนควรเป็นอาวุธที่สามารถต่อกรกับอาวุธรัสเซีย เช่น เรดาร์ชี้เป้าตำแหน่งอาวุธหนักของฝ่ายตรงข้าม เครื่องบินไร้พลขับ ระบบสื่อสารที่รัสเซียตรวจจับไม่ได้
            เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อน อียูเกรงว่ายุโรปกำลังจะเกิดศึกใหญ่ จึงพยายามเจรจาก่อนจะไม่ทันการ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟร็องซัว ออล็องด์ (Francois Hollande) ได้บินด่วนไปกรุงมอสโคว์หารือกับนายวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย การเดินทางครั้งนี้ปราศจากพิธีการทูต ไม่มีภาพข่าว 3 ผู้นำจับมือ
            หลังการประชุมไม่มีฝ่ายใดแถลงผลการประชุม ชี้ว่ายังตกลงกันไม่ได้ อาจต้องนำเสนอของรัสเซียไปพิจารณาให้รอบคอบ ฟังความเห็นของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐ
            ข้อมูลล่าสุด รัฐบาลโอบามายังไม่ตัดสินใจว่าจะส่งอาวุธหนักให้หรือไม่
มีกองกำลังรัสเซียในยูเครนตะวันออกหรือไม่ :
            คำถามแรกที่สุดคือการหาคำตอบว่ามีกองกำลังรัสเซียในยูเครนฝั่งตะวันออกหรือไม่ จากข้อมูลที่ปรากฎ พอจะสรุปได้ดังนี้
เหตุผลว่ามี :
          ประการแรก รัสเซียเคยใช้กองกำลังไร้สังกัดเข้าควบคุมไครเมีย
            ย้อนหลังเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2014 รัสเซียส่งทหารราว 6,000 นายเข้าเขตปกครองตนเองไครเมีย (ในตอนนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูเครน) กองกำลังเหล่านี้ ไม่ได้ติดแถบเครื่องหมายใดๆ ที่แสดงว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ยังสับสนอยู่นั้น นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่ากองกำลังเหล่านั้นเป็นกองกำลังท้องถิ่นไครเมีย
            ในที่สุดเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า กองกำลังเหล่านั้นคือกองกำลังรัสเซีย มีภาพข่าวจากหลายสำนักข่าวอย่างชัดเจน ทั้งภาพหน้าตากองกำลัง อาวุธยุทโธปกรณ์
            จึงมีความเป็นไปได้ว่ารัสเซียกำลังใช้วิธีเดียวกันนี้กับยูเครนตะวันออก

            ประการที่ 2 ประธานาธิบดีโปโรเชนโกประกาศว่ามี
            รัฐบาลยูเครนพูดเรื่องนี้ซ้ำหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมาในที่ประชุมดาวอส (Davos) นายเปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่ามีทหารรัสเซียกว่า 9,000 นายในยูเครนตะวันออก ส่วนนายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค (Arseny Yatsenyuk) นายกรัฐมนตรียูเครน เรียกร้องให้รัสเซีย “ถอนปืนใหญ่และหยุดส่งอาวุธแก่ผู้ก่อการร้าย”

            ประการที่ 3 ข้อมูลจากสหประชาชาติ นาโต และประเทศต่างๆ
            เจ้าหน้าที่นาโตคิดว่าปัจจุบันมีกองกำลังสังกัดรัสเซียราว 1,000 นาย ประเทศในกลุ่มอียูบางประเทศ เช่น นายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) นายกฯ อังกฤษยืนยันว่ามีกองกำลังรัสเซียในยูเครน เตือนว่าจะคว่ำบาตรรัสเซียต่อไป “จนกว่าทหารรัสเซียจะออกจากยูเครน
            ส่วนรายงานของสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2014 ชี้ว่ามี “ทหารรับจ้างต่างชาติ” มากขึ้นในกลุ่มกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ส่วนหนึ่งเป็นพลเมืองรัสเซีย แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียด
            จากข้อมูลที่ปรากฎ หลายฝ่ายยืนยันว่ามีกองกำลังรัสเซียในยูเครน แต่จำนวนนั้นไม่ชัดเจน มีตั้งแต่ 1,000 – 9,000 นาย

ไม่มีกองกำลังรัสเซีย เพราะ :
            ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลปูตินปฏิเสธเรื่อยมา ยืนยันว่าไม่มีกองกำลังรัสเซียในยูเครน นอกจากคำกล่าวอ้างนี้ ข้อมูลอื่นๆ ที่ชี้ว่าไม่มี เช่น
            ประการแรก OSCE ยอมรับว่าไม่มี
            องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe : OSCE) ซึ่งเป็นหน่วยงานของยุโรปยอมรับว่าไม่มีกองกำลังรัสเซียในยูเครน
            ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ OSCE ได้ตั้งสถานีตรวจสอบจุดผ่านแดนระหว่างรัสเซียกับยูเครน 2 จุด เพื่อตรวจสอบการเข้าออก เจ้าหน้าที่ของ OSCE ยอมรับว่าไม่มีประเทศใดสามารถซ่อนกองกำลังของตนในเขตพื้นที่สู้รบ เนื่องจากเขตพื้นที่สู้รบอยู่ในพื้นที่เปิดและเป็นบริเวณเล็กๆ เท่านั้น

            ประการที่ 2 สื่อไม่สามารถแสดงหลักฐาน
            นับจากยูเครนเริ่มเกิดความตึงเครียด นักข่าวจากหลายสำนักทั่วโลกต่างไปทำข่าวที่นั่น น่าแปลกใจที่สื่อตะวันตกหลายสำนักเสนอข่าวว่ามีกองกำลังรัสเซีย รัสเซียส่งอาวุธให้ฝ่ายต่อต้าน แต่ไม่มีหลักฐานภาพถ่ายใดๆ
            กรณีการปรากฏตัวของกองกำลังต่างชาติในยูเครน แตกต่างจากกรณีไครเมียกับซีเรียอย่างชัดเจน ดังที่นำเสนอแล้วว่า ในกรณีไครเมียสื่อสามารถนำเสนอภาพข่าวกองกำลังติดอาวุธไร้สังกัด
            ส่วนกรณีซีเรียประธานาธิบดีอัสซาดระบุว่ารัฐบาลกำลังสู้กับผู้ก่อการร้ายต่างชาติ หลายประเทศสนับสนุนผู้ก่อการร้ายให้เข้ามาก่อเหตุในซีเรีย ให้เงินและอาวุธแก่องค์กรก่อการร้าย มีหลักฐานแสดงการปรากฏตัวของกองกำลังต่างชาติมากมาย ทั้งภาพถ่ายและศพทหาร มีการคืนศพจำนวนหนึ่งแก่รัฐบาลเจ้าของประเทศ องค์กรระหว่างประเทศอย่าง Syrian Observatory for Human Rights ประเมินเมื่อกันยายน 2014 ว่ามีกองกำลังรัฐอิสลาม (IS) ในซีเรีย 50,000 นาย ในจำนวนนี้ราว 20,000 นายเป็นชาวต่างชาติ (ไม่ใช่ซีเรีย)
            แม้กระทั่งรายงานของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence) ของสหรัฐเมื่อต้นปี 2014 ก็ยอมรับว่าฝ่ายต่อต้านมีกำลังรบทั้งหมด 75,000 ถึง 110,000 นาย ในจำนวนนี้ 7,000 นายเป็นชาวต่างประเทศกว่า 50 สัญชาติ
            กรณียูเครนจึงต่างจากไครเมียกับซีเรียอย่างชัดเจน

            ประการที่ 3 ไม่มีหลักฐานจากระบบข่าวของฝ่ายตะวันตก
            ใครๆ ก็ยอมรับว่าสหรัฐมีระบบจารกรรม สอดแนมที่ทันสมัยและครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด จนรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องหวาดผวา เพราะแม้กระทั่งรัฐบาลแมร์เคิลของเยอรมัน ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรนาโต แต่โทรศัพท์ผู้นำเยอรมันถูกดักฟัง
            สหรัฐมีระบบดาวเทียม เครื่องบินสอดแนมที่ปฏิบัติภารกิจเป็นประจำทั่วโลก แต่น่าแปลกใจที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานว่ามีกองกำลังรัสเซียในยูเครนตะวันออก
            แม้กระทั่งยูเครนก็มีดาวเทียมของตนเอง (เช่น ดาวเทียม Sich-1 กับ Sich-2) และเคยแสดงหลักฐานการตกของเครื่องบินโบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH17 ที่ถูกยิงตกเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
            น่าแปลกใจที่การสู้รบในยูเครนดำเนินมาแล้วหลายเดือน มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 ราย แต่ฝ่ายตะวันตกไม่สามารถแสดงหลักฐานใดๆ จากระบบข่าวกรองของตน

วิเคราะห์องค์รวม :
            ตอนที่กองกำลังไร้สังกัดเข้าควบคุมไครเมีย สื่อนานาชาติหลายสำนักแสดงภาพถ่ายอย่างชัดเจนถึงการมีตัวตน อาวุธต่างๆ ดังนั้น แม้รัฐบาลรัสเซียจะปฏิเสธแต่เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่านั่นคือกองกำลังรัสเซีย แต่สถานการณ์ยูเครนตะวันออกในขณะนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เกิดข้อสงสัยว่ามีกองกำลังรัสเซียอยู่จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในเชิงทฤษฎี มีความเป็นไปได้ว่ารัสเซียให้การสนับสนุน โดยเฉพาะด้านกระสุน กำลังบำรุง กลยุทธ์การรบ และการข่าวแก่ฝ่ายต่อต้านอย่างลับๆ ช่วยไห้ฝ่ายต่อต้านรบอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถต้านทานกองทัพรัฐบาล

ข้อกล่าวอ้างบางครั้งส่งผลเสียมากกว่าผลดี เช่น รัฐบาลยูเครนพูดซ้ำหลายรอบว่ามีกองกำลังรัสเซีย ชี้ว่ามีถึง 9,000 นาย แต่ไม่เคยแสดงหลักฐานที่เชื่อถือได้ เกิดคำถามว่าเป็นการพูดเท็จหรือไม่ ทำไมจึงพูดเท็จ และขณะนี้รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรกำลังคิดดำเนินนโยบายตามคำเท็จเหล่านั้น
            ในหลักความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” หากคนที่ติดต่อด้วยพูดเท็จ อีกฝ่ายคงต้องมองแง่ลบต่อผู้พูด อย่างน้อยต้องระวังตัวไว้ก่อน ในกรณีรัฐบาล “พูดเท็จ” ย่อมสมควรถูกมองแง่ลบ ถูกตั้งข้อสงสัยถึงเจตนาแอบแฝงของรัฐบาลประเภทนี้
            และถ้ามีรัฐบาลใดเชื่อถือ “คำพูดเท็จ” ก็สมควรถูกมองแง่ลบและถูกตั้งข้อสงสัยเช่นกัน

            นอกจากเรื่องการให้อาวุธ Ursula von der Leyen รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมันตั้งคำถามว่า “มั่นใจได้หรือที่การให้อาวุธจะช่วยให้ชาวยูเครนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มั่นใจได้หรือที่ [กองทัพรัฐบาล] ยูเครนจะสามารถเอาชนะอาวุธสงครามของรัสเซีย”
            รัฐมนตรี Leyen พาให้คิดทบทวนภาพรวมว่าการให้อาวุธหนักจะเป็นประโยชน์มากเพียงใด หากสามารถเอาชนะฝ่ายต่อต้านจะเป็นหลักประกันว่ายูเครนตะวันออกจะสงบหรือไม่ เพราะชาวยูเครนตะวันออกที่พูดภาษารัสเซียมีความใกล้ชิดรัสเซียมากกว่า ระบบเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงมากกว่า
            ในอีกมุมหนึ่ง การส่งอาวุธหนักให้กองทัพรัฐบาลจะยิ่งทำให้การรบยืดเยื้อ จะมีคนบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น สถานการณ์จะเหมือนกับซีเรียในขณะนี้ที่สงครามกลางเมืองดำเนินมาแล้วเกือบ 4 ปีเต็ม มีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน เพราะต่างฝ่ายต่างมีอาวุธกระสุนเต็มคลัง มีชาติผู้สนับสนุนมาเติมให้อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสงครามที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
            ที่ผ่านมาทุกฝ่ายเห็นว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ด้วยสันติวิธี แต่ดูเหมือนว่าบางประเทศไม่คิดปฏิบัติตามนั้นจริง ไปๆ มาๆ ยูเครนกำลังจะเป็นเหมือนซีเรียอีกประเทศหรือไม่ หรือมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น

8 กุมภาพันธ์ 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6668 วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2088288)
----------------------------------
ทความที่เกี่ยวข้อง :
สถานการณ์ในยูเครนสงบเรียบร้อยขึ้น แต่กลายเป็นต้นเหตุทำให้รัสเซียเผชิญหน้ากับสหรัฐและพันธมิตร รัฐบาลปูตินเชื่อว่าหากเดินเกมยืดเยื้อ ประชาชนยูเครนจะออกมาประท้วงคว่ำรัฐบาลโปโรเชนโก ฝ่ายตนจะเป็นผู้ได้ชัย ด้านสหรัฐกับพันธมิตรตอบโต้ด้วยการกดดันคว่ำบาตรรัสเซีย จนค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าอย่างรุนแรง กระทบเศรษฐกิจรัสเซีย
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียเข้าแทรกแซงการเมืองการเลือกตั้งยูเครน เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายใกล้ชิดรัสเซีย แต่ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล การก่อการของขั้วฝ่ายตรงข้าม ทำให้การเมืองยูเครนผันผวน ได้รัฐบาลที่อิงชาติตะวันตกสลับกับที่อิงรัสเซีย เป้าหมายของยุทธศาสตร์ใหม่ของประธานาธิบดีปูติน คือหวังแก้ความผันผวนทางการเมือง ด้วยการแยกยูเครนออกเป็น 3 ส่วน
แม้ว่าทุกวันนี้จะผ่านพ้นสงครามเย็นมานานแล้ว สิ่งหนึ่งที่สื่อชาติตะวันตกทำอย่างต่อเนื่องนับจากสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน คือ การโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หลอกหลวงประชาคมโลกอย่างเป็นระบบ ไม่ต่างจากทางการรัสเซียที่ยังใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือดังที่กระทำเรื่อยมา วิกฤตยูเครนในขณะนี้เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงความได้เปรียบ โดยพยายามเปรียบเปรยให้นึกถึงสงครามเย็น ยุคที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน และพยายามดึงให้ประเทศอื่นๆ อยู่กับฝ่ายของตน
โฆษณาอีบุ๊คของผม (คลิกที่รูป)
บรรณานุกรม:
1. Alastair Macdonald and Jan Strupczewski. (2014, December 19). EU leaders prepare for long confrontation with Russia. Euronews/Reuters. Retrieved from http://www.euronews.com/newswires/2849952-eu-leaders-ready-long-confrontation-with-russia/
2. Bashar al-Assad Interview: The Fight against Terrorists in Syria. (2014, January 21). Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/bashar-al-assad-interview-the-fight-against-terrorists-in-syria/5365613
3. Charbonneau, Louis. (2014, September 25). Exclusive: Ukraine prime minister says Russians 'want us to freeze'. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2014/09/25/us-un-assembly-ukraine-idUSKCN0HK2LC20140925
4. Garanich, Gleb., & Baczynska, Gabriela. (2015, February 6). Kremlin talks on Ukraine yield little but agreement to keep talking. Reuters. Retrieved from http://uk.reuters.com/article/2015/02/06/uk-ukraine-crisis-idUKKBN0LA13N20150206
5. Gordon, Michael R., & Schmitt, Gordon. (2015, February 1). U.S. Considers Supplying Arms to Ukraine Forces, Officials Say. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/02/02/world/us-taking-a-fresh-look-at-arming-kiev-forces.html?_r=0
6. Islamic State 'has 50,000 fighters in Syria'. (2014, August 19). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/08/islamic-state-50000-fighters-syria-2014819184258421392.html
 7. Lerma, Xavier. (2015, February 2). No Russian Troops in Ukraine/Obama Admits to Coup. Pravda. Retrieved from http://english.pravda.ru/opinion/columnists/02-02-2015/129672-obama_admits_ukraine_coup-0/
8. Russia tightens grip on Crimea as West scrambles to respond. (2014, March 3). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/03/russia-tightens-grip-on-crimea-as-west-scrambles-to-respond/
9. Standoffs persist in Crimea as Kerry prepares to meet Russian counterpart. (2014, March 5). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/europe/standoffs-persist-in-crimea-as-kerry-prepares-to-meet-russian-counterpart/2014/03/05/6677625e-a45f-11e3-8466-d34c451760b9_story.html
10. Syria Al Qaida group ‘wants to attack US’. (2014, January 30). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/news/region/syria/syria-al-qaida-group-wants-to-attack-us-1.1284269
11. Ukraine crisis: President Putin gets Russian parliament's nod to send military into Crimea. (2014, March 1). Hindustan Times. Retrieved from http://www.hindustantimes.com/world-news/russian-parliament-allows-putin-to-use-military-in-ukraine/article1-1189678.aspx
12. Ukraine did not make satellite images that security service revealed July 30. (2014, August 1). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/743240
13. UN: 3,660 killed, 8,756 wounded in Ukraine conflict since April. (2014, October 8). RT. Retrieved from http://rt.com/news/194052-ukraine-human-rights-violations/
14. Zamyatina, Tamara. (2015, January 16). New spate of drafting to Ukrainian Armed Forces fraught with full-scale war in Europe. TASS. Retrieved from http://itar-tass.com/en/opinions/771633
กุมภาพันธ์ 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6668 วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558)
---------------------------------