รูเบิลอ่อนค่า สัมพันธ์ตะวันตกตึงเครียด และการแก้เกมของปูติน (1)

ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา นายวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้แสดงสุนทรพจน์สำคัญทั้งในงานประชุมเอเปกเมื่อเดือนพฤศจิกายนและการประชุมประจำปีของรัฐสภาแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Federal Assembly) ประจำปี 2014 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 สุนทรพจน์และในที่อื่นๆ สะท้อนปัญหาสำคัญและแนวทางแก้ไขของรัฐบาล บทความนี้จะหยิบยกบางประเด็นที่เกี่ยวข้องนโยบายต่างประเทศ เริ่มจากปัญหายูเครนไครเมีย ค่าเงินรูเบิล และความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ทั้ง 3 ประเด็นสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
ปัญหายูเครนไครเมียที่ยังค้างคา :
            2-3 เดือนที่ผ่านมาความขัดแย้งในยูเครนฝั่งตะวันออกค่อยบรรเทาลง ในขณะนี้เหลือเพียงการปะทะเพียงประปราย สถานการณ์โดยทั่วไปสงบเรียบร้อย ประชาชนยูเครนตะวันออกที่ต้องการแยกตัวสามารถตกลงกับรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง พร้อมกับที่รัสเซีย ยูเครนและอียูลงนามข้อตกลงซื้อขายก๊าซฉบับใหม่เป็นที่เรียบร้อย เป็นสัญญาณที่ดีว่ายูเครนกำลังเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
            ท่ามกลางสถานการณ์โดยรวมที่ดีขึ้นแต่รากปัญหายังคงอยู่ คาดว่าการเจรจายังไม่บรรลุข้อตกลงสุดท้าย รัสเซียกับฝ่ายสหรัฐและพันธมิตรยังคงเผชิญหน้ากดดันซึ่งกันและกัน

            ประธานาธิบดีปูตินยืนยันความชอบธรรมในการผนวกสาธารณรัฐไครเมีย (Republic of Crimea) เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย เอ่ยถึงประวัติศาสตร์ความผูกพันว่าไครเมียเดิมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ในสมัยโบราณเมืองนี้ชื่อว่า Chersonesus หรือ Korsun เป็นสถานที่ Grand Prince Vladimir ได้บัพติศมาก่อนนำศาสนาคริสต์สู่รัสเซีย ชาวไครเมียมีภาษาวัฒนธรรมเหมือนรัสเซีย
            ถ้าย้อนกลับไปที่เดือนมีนาคม ในตอนนั้นประธานาธิบดีปูตินอ้างว่าจำต้องปกป้องฐานทัพรัสเซียในไครเมีย และ “มีมือปืนจากองค์กรชาตินิยมเดินทางเข้ามาในไครเมีย” เราจึงต้องดำเนินการ และ “เราได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและทันเวลา” เพื่อปกป้องคนท้องถิ่นที่พูดรัสเซีย เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากได้รับการร้องขออย่างเป็นทางการจากนายวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ประธานาธิบดีในขณะนั้น
            ข้อวิพากษ์คือ การอ้างเรื่องความปลอดภัยของคนท้องถิ่นในเขตไครเมียไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน บัดนี้ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าเป้าหมายที่รัฐบาลปูติต้องการคือยึดครองไครเมีย

            ประธานาธิบดีปูตินพยายามอ้างความชอบธรรมด้วยการใช้เหตุผลความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์ แต่หากทุกประเทศต่างอ้างประวัติศาสตร์ในอดีตและพยายามยึดครองดินแดน โลกจะเต็มด้วยไฟสงครามอย่างไม่จบสิ้น เพราะต่างก็จะอ้างประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง หลายประเทศจะต้องสิ้นชาติเพราะเป็นประเทศเกิดใหม่ ดินแดนที่ตั้งอยู่ ณ ปัจจุบันเป็นดินแดนของอาณาจักรโบราณอื่นๆ

            นักวิชาการบางคนเกรงว่าหากไม่ตอบโต้เท่ากับเป็นการยอมรับว่ารัสเซียสามารถยึดและผนวกดินแดนของประเทศอื่นๆ โดยอ้างว่าความชอบธรรมด้านประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ และจะทำให้ประเทศอื่นๆ เลียนแบบ เช่น จีนจะใช้กำลังยึดไต้หวัน
            การยึดประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้เป็นข้ออ้างของผู้ที่ต้องการรุกรานมากกว่า ที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับในปัจจุบันคือ การยึดกฎหมายระหว่างประเทศ อธิปไตย และบูรณาภาพแห่งดินแดนของแต่ละประเทศตามที่เป็นอยู่
            รัฐบาลรัสเซียประกาศเรื่อยมาว่าเคารพอธิปไตยประเทศอื่น และเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ เคารพอธิปไตยตนเอง แต่การยึดครองและผนวกไครเมียเป็นหลักฐานชี้ว่ารัสเซียในปัจจุบันได้ละเมิดอธิปไตยประเทศอื่นอย่างชัดเจน

ทางที่จำต้องเดิน :
            ดังที่เคยวิเคราะห์แล้วว่าการที่รัสเซียต้องยึดไครเมียมาจากเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นหลัก เนื่องจากไครเมียเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นที่ตั้งของกองเรือทะเลดำ (Black Sea Fleet) ที่เซวาสโตโพล (Sevastopol) เป็นท่าเรือน้ำอุ่นเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในฝั่งยุโรป
            ประเด็นการรวมตัวเป็นสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) โดยรัสเซียเป็นแกนนำและจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2015 น่าจะเป็นอีกเหตุผลที่อียูต้องการสกัดกั้น เกิดความวุ่นวายในยูเครนจนได้นายเปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ประธานาธิบดีคนล่าสุดที่อิงชาติตะวันตก ทำให้สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียจะประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย โดยปราศจากชื่อยูเครน
            อีกเหตุผลที่ควรเอ่ยถึงคือการวิเคราะห์ในเชิงเกียรติภูมิแห่งชาติ
            เมื่อพูดถึงประเทศรัสเซีย ต้องตระหนักว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจชาติหนึ่ง แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เป็นอภิมหาอำนาจดังเช่นยุคสงครามเย็น ยังคงเป็นที่ประเทศที่ยิ่งใหญ่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีความหยิ่งในความเป็นชาติของตน ไม่ยอมก้มหัวให้กับชาติตะวันตก
            ที่สำคัญคือในปัจจุบันมีบางประเทศที่ดำเนินนโยบายอิงรัสเซีย หวังพึ่งความช่วยเหลือจากรัสเซีย เสมือนเป็นอีกทางเลือก (alternative way) หากประเทศนั้นไม่ดำเนินนโยบายที่สอดรับกับสหรัฐเสียทุกเรื่อง รัฐบาลซีเรียกับอิหร่านในปัจจุบันคือตัวอย่าง หากรัสเซียไม่แสดงท่าทีความเป็นผู้นำ ยอมก้มหัวให้กับสหรัฐ บรรดาประเทศเหล่านี้ก็จะตีตัวออกห่าง เป็นเหตุทำให้รัสเซียยิ่งปราศจากมิตร ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น สูญเสียผลประโยชน์อันเนื่องจากความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ (ภายใต้มุมมองว่าสหรัฐยังคงดำเนินนโยบายเป็นปรปักษ์กับรัสเซียอย่างต่อเนื่อง)
            หรือไม่ก็ยอมจำนนอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐ อาจได้ชื่อว่าเป็น “พันธมิตร” แต่ไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม
            การไม่ยอมก้มหัวให้สหรัฐคือนโยบายของรัฐบาลปูติน ดังที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวย้ำว่าสหรัฐต้องการกำราบรัสเซียให้อยู่ใต้อำนาจ แต่จะไม่มีวันสำเร็จ “ตลอดประวัติศาสตร์ไม่มีใครสามารถจัดการรัสเซีย และจะไม่มีวันทำได้”

รัสเซียกับนาโตต่างต้องการมีอิทธิพล :
            ถ้ามองในกรอบยูเครน ประเด็นสำคัญในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องไครเมีย แต่อยู่ที่ตัวยูเครนส่วนที่เหลือ
            จากข้อมูลที่ปรากฏ รัสเซียเสนอ 2 ทางเลือก ข้อแรกคือ ให้ยูเครนเป็นกลางซึ่งรัฐบาลโอบามาไม่ยอมรับ เห็นว่ายูเครนจะสัมพันธ์กับประเทศใดอย่างไร ขึ้นกับการตัดสินใจของยูเครน
            ข้อเสนอที่ 2 คือ ให้ยูเครนเป็นสหพันธรัฐ เห็นว่ารัฐบาลกลางต้องกระจายอำนาจมากขึ้น ไม่อาจใช้รูปแบบรัฐเดี่ยวได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวตั้งแต่ได้เอกราชจากอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อ 23 ปีก่อน เบื้องหลังของข้อเสนอนี้คือรัสเซียต้องการคงอิทธิพลแถบตะวันออก โดยอ้างว่ามีชาวยูเครนพูดภาษารัสเซียจำนวนมาก (ทำนองเดียวกับไครเมีย) สนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงที่นิยมชมชอบรัสเซีย ในเมืองโดเนตสค์ (Donetsk) กับเมืองลูกันสก์ (Lugansk)

            ฝ่ายสหรัฐกับพันธมิตรอียูไม่พยายามพูดอะไรที่ชัดเจน ให้การตัดสินใจใดๆ มาจากการตัดสินใจของรัฐบาลยูเครน พร้อมกับยืนยันว่านาโตยังเปิดรับสมาชิกที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานของนาโต
            เมื่อพิจารณาท่าทีของขั้วการเมืองยูเครนตะวันตก ล้วนเป็นท่าทีที่ต้องการใกล้ชิดตะวันตก เช่น หวังเป็นสมาชิกอียู เข้าร่วมนาโต
            ขณะที่รัสเซียไม่ยอมให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโตโดยเด็ดขาด การขยายตัวของนาโตเข้าใกล้พรมแดน ส่อท่าทีคุกคามทางทหาร เป็นเรื่องที่รัสเซียยอมให้ไม่ได้ ถือว่าเป็น “เส้นต้องห้าม”
            โดยสรุปแล้ว ยูเครนฝั่งตะวันออกในขณะนี้สงบเรียบร้อยกว่าเมื่อหลายเดือนก่อน แต่รากปัญหายังไม่มีข้อยุติ นั่นคือ ที่สุดแล้วยูเครนจะสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างไร จะเป็นกลาง อิงรัสเซียหรืออิงชาติตะวันตก
            และกลายเป็นว่าความขัดแย้งยูเครนทำให้รัสเซียเผชิญหน้ากับฝ่ายสหรัฐ เกิดสงครามเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ

            ฝ่ายสหรัฐอาศัยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ จนค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าอย่างหนัก อัตราการเติบโตเศรษฐกิจถดถอย เพื่อกดดันให้รัสเซียยอมจำนน
            ส่วนฝ่ายรัสเซียเห็นว่าผลจากการที่ยูเครนตีตัวออกห่างจากรัสเซีย ทำให้เศรษฐกิจและสังคมยูเครนกำลังจะล่มสลาย รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจยูเครนอยู่ได้ด้วยการอิงความช่วยเหลือจากรัสเซีย ในขณะที่ชาติตะวันตกไม่พร้อมจ่ายราคา นาย Vyacheslav Nikonov รองประธานสภาดูมาพยากรณ์ว่า “ประเทศกำลังแยกออกเป็นเสี่ยงๆ รัฐบาลเคียฟยังไม่มีแผนกอบกู้เศรษฐกิจที่ชัดเจน”
            ดังนั้น ฝ่ายรัสเซียเชื่อว่าหากดึงเกมยืดเยื้อเชื่อว่าประชาชนจะออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลโปโรเชนโก และรัสเซียจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด

วิเคราะห์องค์รวม ยูเครนไครเมีย :
            ความขัดแย้งในยูเครนในขณะนี้ได้บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจแล้ว ณ วันนี้เมื่อพูดถึงความขัดแย้งยูเครน จึงไม่ใช่เรื่องของยูเครนเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งในภาพที่ใหญ่กว่า รุนแรงกว่า เป็นเรื่องการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจโดยตรง อาจถึงขั้นจัดระเบียบความสัมพันธ์ใหม่ถ้าเชื่อว่าเป็นความขัดแย้งอย่างจริงจัง และเรื่องคงไม่จบลงง่ายๆ คาดว่าต้องกินเวลาแสดงพลังอีกหลายเดือน
            เป็นสงครามเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศที่ไม่ได้ประกาศชัด สาธารณชนไม่ตื่นตระหนกเท่ากับการประกาศทำสงครามด้วยกำลังทหาร

            ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในขณะนี้สามารถติดตามจากความขัดแย้งในยูเครน และเรื่องอื่นๆ ที่มีผลต่อค่าเงินรูเบิล เศรษฐกิจรัสเซีย (วิเคราะห์ในตอนหน้า)
            ส่วนอนาคตของยูเครนไม่ขึ้นกับประชาชนยูเครนอีกต่อไป แต่ขึ้นกับรัฐบาลชาติมหาอำนาจว่าจะให้เรื่องยุติอย่างไร
14 ธันวาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6613 วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2557, http://www.ryt9.com/s/tpd/2050549)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียเข้าแทรกแซงการเมืองการเลือกตั้งยูเครน เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายใกล้ชิดรัสเซีย แต่ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล การก่อการของขั้วฝ่ายตรงข้าม ทำให้การเมืองยูเครนผันผวน ได้รัฐบาลที่อิงชาติตะวันตกสลับกับที่อิงรัสเซีย เป้าหมายของยุทธศาสตร์ใหม่ของประธานาธิบดีปูติน คือหวังแก้ความผันผวนทางการเมือง ด้วยการแยกยูเครนออกเป็น 3 ส่วน
แม้ว่าทุกวันนี้จะผ่านพ้นสงครามเย็นมานานแล้ว สิ่งหนึ่งที่สื่อชาติตะวันตกทำอย่างต่อเนื่องนับจากสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน คือ การโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หลอกหลวงประชาคมโลกอย่างเป็นระบบ ไม่ต่างจากทางการรัสเซียที่ยังใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือดังที่กระทำเรื่อยมา วิกฤตยูเครนในขณะนี้เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงความได้เปรียบ โดยพยายามเปรียบเปรยให้นึกถึงสงครามเย็น ยุคที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน และพยายามดึงให้ประเทศอื่นๆ อยู่กับฝ่ายของตน
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ “เส้นต้องห้าม”

บรรณานุกรม ตอน 1 :
1. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia University Press.
2. Crisis in Ukraine result of wrong EU policy - Russian envoy. (2014, April 9). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/727116
3. Longworth, Philip. (2005). Russia: The Once and Future Empire From Pre-History to Putin. New York: St. Martin’s Press.
4. Moldavanova, Alisa. (2013). Public Perception of the Sea Breeze Exercises and Ukraine’s Prospects in the Black Sea Region. Retrieved from http://fmso.leavenworth.army.mil/Collaboration/international/Ukraine/Sea-Breeze-exercise.pdf
5. Putin: Crimea similar to Kosovo, West is rewriting its own rule book. (2014, March 18). RT. Retrieved from http://rt.com/news/putin-address-parliament-crimea-562/
6. Putin: Deploying Russian troops in Ukraine not necessary now, but possible. (2014, March 4). Pravda.Ru. Retrieved from http://english.pravda.ru/news/russia/04-03-2014/127014-putin_russian_troops_ukraine-0/
7. Putin: ‘US wants to subdue Russia, but no one did or ever will’. (2014, November 18). RT Retrieved from http://rt.com/news/206623-putin-us-never-subdue-russia/
8. Remarks by President Obama at NATO Summit Press Conference. (2014, September 5). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/05/weekly-address-time-give-middle-class-chance
9. Russia, Ukraine agree on gas supplies until March 2015. (2014, October 31). RT. Retrieved from http://rt.com/business/200951-gas-russia-ukraine-deal/
10. Stephens, Bret. (2014). America in Retreat: The New Isolationism and the Coming Global Disorder. New York: Penguin Group.
11. The Kremlin, Moscow. (2014, December 4). Presidential Address to the Federal Assembly. Retrieved from http://eng.kremlin.ru/news/23341
12. Zamyatina, Tamara. (2014, July 25). Ukraine’s political crisis may lead to disintegration of its statehood – experts. ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/opinions/1840
----------------------------