ยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซียต่อยูเครน

ความวุ่นวายของประเทศยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ สามารถแบ่งเหตุการณ์ออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคือ การโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ที่เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2013 เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจที่รัฐบาลไม่ยอมทำข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป (Association Agreement) เนื่องจากรัฐบาลต้องการทำการค้ากับรัสเซียมากกว่า ผลสุดท้ายรัฐบาลของยานูโควิชที่อิงฝ่ายรัสเซียถูกโค่นล้ม กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่อิงชาติตะวันตกขึ้นมาเป็นรัฐบาลรักษาการ
            ช่วงที่ 2 คือ กองกำลังรัสเซียเข้าควบคุมไครเมีย เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไครเมียเป็นเขตกึ่งปกครองตนเองของยูเครน มีความสำคัญต่อรัสเซียเป็นพิเศษในเรื่องความมั่นคงทางทหาร เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญ เพราะเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือขนาดใหญ่ของกองเรือทะเลดำ (Black Sea Fleet) ที่เซวาสโตโพล (Sevastopol) ในเขตไครเมีย เป็นสิ่งที่รัสเซียไม่ยอมสูญเสีย
            วิกฤตไครเมียลงเอยด้วยการที่ประธานาธิบดีปูตินลงนามในกฎหมายผนวกสาธารณรัฐไครเมีย (Republic of Crimea) เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม แม้สหรัฐฯ กับพันธมิตรจะแสดงท่าทีต่อต้าน แต่ไม่ได้ประกาศว่าต้องการใช้กำลังยึดไครเมียคืนให้กับยูเครน
            สถานการณ์ความไม่สงบล่าสุด คือกรณีความไม่สงบในยูเครนตะวันออก อันเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีไครเมีย เมื่อชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซียในภาคตะวันออก มีอัตลักษณ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย อยากเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียดังเช่นไครเมีย อันที่จริงความไม่สงบในยูเครนตะวันออกเริ่มต้นขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับไครเมีย แต่เนื่องจากสถานการณ์ไครเมียมีความร้อนแรง เป็นจุดสนใจมากกว่า ที่ผ่านมาความวุ่นวายในยูเครนตะวันออกจึงไม่ค่อยเป็นที่สนใจมากนัก
ยุทธศาสตร์เดิม ไม่ยอมให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต :
            การจะเข้าใจสถานการณ์ยูเครน ควรเริ่มจากนโยบายของรัสเซีย ที่แต่ไหนแต่ไรรัฐบาลรัสเซียมีจุดยืนว่าจะไม่ยอมให้ยูเครนเข้ากลุ่มนาโตโดยเด็ดขาด ถือว่าเป็น “เส้นต้องห้าม” เพราะรัสเซียหวังให้ยูเครนเป็นรัฐกันชน (buffer state) หากยูเครนเป็นสมาชิกนาโตแล้วเท่ากับว่ากองทัพนาโตมาจ่อหน้าประตูบ้านรัสเซีย รวมทั้งกรณีไครเมียอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสำคัญด้วย
            ประธานาธิบดีปูตินถึงกับกล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาชาติตะวันตกคดโกงรัสเซียหลายครั้ง ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาโดยไม่สนใจว่าถูกกฎหมายหรือไม่ มาบัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ชาติตะวันตกจะยอมรับว่ารัสเซียก็มีผลประโยชน์และวาระระหว่างประเทศของตนเช่นกัน ที่ชาติตะวันตกต้องให้ความเคารพ การขยายตัวของนาโตมาใกล้พรมแดน และท่าทีคุกคามทางทหาร เป็นเรื่องที่รัสเซียยอมให้ไม่ได้ รัสเซียยินดีร่วมมือกับนาโต แต่ต้องดำเนินบนผลประโยชน์ร่วมกัน

            เพื่อให้รัฐบาลยูเครนดำเนินนโยบายที่รัสเซียพอใจ ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา นับจากที่ยูเครนแยกตัวออกจากอดีตสหภาพโซเวียต กลายเป็นรัฐอธิปไตย รัฐบาลรัสเซียพยายามแทรกแซงการเมืองภายในยูเครน ในขณะที่ชาติสมาชิกนาโตก็ดำเนินนโยบายแทรกแซงการเมืองยูเครนเช่นกัน การเมืองการเลือกตั้งของยูเครนจึงตกอยู่ในสภาพของการชิงชัยระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว คือ ขั้วยูเครนตะวันออกที่อิงรัสเซีย กับขั้วยูเครนตะวันตกที่อิงชาติตะวันตก ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามโค่นล้มรัฐบาลของอีกขั้วหนึ่ง
            การประท้วงโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดียานูโควิชที่เริ่มต้นเมื่อปลายปีที่แล้ว คือ ปรากฏการณ์ซ้ำรอยการเมืองยูเครนครั้งล่าสุด

            การแก้ปัญหาครั้งนี้ รัฐบาลปูตินได้กระทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน คือ ผนวกไครเมียเป็นของรัสเซีย พร้อมกับเรียกร้องให้ยูเครนตะวันออกเป็นเขตปกครองตนเอง สิ่งนี้ชี้ว่ารัฐบาลปูตินได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ต่อยูเครนแล้ว

ยุทธศาสตร์ใหม่ แยกยูเครนออกเป็น 3 ส่วน :
             กว่า 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปูตินเข้าแทรกแซงการเมืองการเลือกตั้งยูเครน เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายใกล้ชิดรัสเซีย แต่ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล การก่อการของขั้วฝ่ายตรงข้าม ทำให้การเมืองยูเครนผันผวน ได้รัฐบาลที่อิงชาติตะวันตกสลับกับที่อิงรัสเซีย
                เป้าหมายของยุทธศาสตร์ใหม่ของประธานาธิบดีปูติน คือหวังแก้ความผันผวนทางการเมือง ด้วยการแยกยูเครนออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ เขตกึ่งปกครองตนเองไครเมีย ซึ่งขณะนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซียแล้ว แผนขั้นที่ 2 คือ แยกยูเครนที่เหลือออกเป็น 2 ส่วน คือ ยูเครนตะวันตกที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนขั้วการเมืองที่อิงชาติตะวันตก กับยูเครนตะวันออกที่พลเมืองจำนวนมากเป็นชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย หวังจะอยู่กับรัสเซียมากกว่า
            ภายใต้แผนขั้นที่ 2 นี้ รัสเซียต้องการให้ยูเครนเป็นประเทศในรูปแบบสหพันธรัฐ (federal state) ที่มีหลายเขตปกครองตนเอง แต่ละเขตปกครองสามารถเลือกแนวทางเศรษฐกิจ การเงิน สังคม ภาษา ศาสนาของตนเอง โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านรัฐบาลแต่ละชุดล้วนไม่ประสบผลสำเร็จในการบริหารประเทศ เนื่องจากประเทศมีความแตกต่างหลากหลายมาก การปกครองแบบรัฐเดี่ยวจึงไม่ได้ผลดี เชื่อว่ายูเครนที่มีหลายเขตปกครองตนเองจะตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนในแต่ละภูมิภาคได้ดีกว่า
            เป้าหมายที่รัฐบาลปูตินต้องการ คือ ให้ยูเครนตะวันออกเป็นเขตปกครองตนเอง มีนโยบายของตนเอง เพื่อที่รัสเซียจะสามารถช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและประหยัดกว่าเดิม แทนการช่วยเหลือในอดีตที่มอบแก่ยูเครนทั้งประเทศ การแยกเป็นเขตปกครองตนเองยังช่วยให้รัสเซียสามารถทุ่มเทการค้าการลงทุนกับเขตดังกล่าวอย่างเต็มที่ ยูเครนตะวันออกเป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก ที่รัสเซียทำการค้ากับเขตนี้เรื่อยมา ที่สำคัญคือ มีความมั่นใจว่ารัฐบาลเขตปกครองตนเองที่เกิดขึ้นจะเป็นพวกที่ใกล้ชิดกับตน ลดความผันผวนทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ซึ่งบางครั้งได้รัฐบาลที่สนับสนุนรัสเซีย บางครั้งสนับสนุนชาติตะวันตกดังเช่นรัฐบาลชุดปัจจุบัน

            ฝ่ายชาติตะวันตกจะได้ฝั่งยูเครนตะวันตก ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันต้องการอยู่กับสหภาพยุโรปมากกว่า พื้นที่ด้านตะวันตกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยรวมแล้วยากจนกว่าเขตตะวันออก จำต้องได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง (ทั้งยูเครนตะวันออกกับตะวันตกต่างต้องได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากภายนอก แต่ยูเครนตะวันตกต้องการมากกว่า) หากชาติตะวันตกต้องการสนับสนุนขั้วยูเครนตะวันตกต่อไปก็จำต้องแบกภาระช่วยเหลือดังกล่าวอย่างเต็มที่
            ในอนาคต จึงเป็นการแข่งขันให้เห็นว่า ยูเคนตะวันตกที่ชาติตะวันตกโอบอุ้มจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือยูเคนตะวันออกที่อยู่กับรัสเซียจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
            ด้านรัฐบาลโอบามาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัสเซีย เห็นว่าอนาคตของยูเครนต้องให้ยูเครนตัดสินใจเอง

การปะทะระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านและทางออก :
            ท่ามกลางความง่อนแง่นทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาลกลางยูเครน ในเดือนเมษายน ผู้ชุมนุมประท้วงที่นิยมชมชอบรัสเซียได้บุกเข้ายึดที่ทำการรัฐหลายหลายแห่ง ในเมืองโดเนตสค์ (Donetsk) และบางเมืองทางภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมกับจัดตั้งสภาประชาชน และประกาศรัฐปกครองตนเองของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ (state autonomy of the Donetsk People’s Republic) มีอิสระในการตัดสินใจทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน การจัดการงบประมาณ และมีระบบเงินตราของตนเอง
            นายโอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชีนอฟ (Oleksandr Turchynov) รักษาการประธานาธิบดียูเครน (ในช่วงนั้น) กล่าวว่าพวกแบ่งแยกดินแดนที่โดเนตสค์ เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังเริ่มปฏิบัติการขั้นที่ 2 ต้องการให้ยูเครนตะวันออกเหมือนไครเมีย ทำนองเดียวกับนายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค (Arseny Yatsenyuk) รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน (ในช่วงนั้น) กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแผนบ่อนทำลายยูเครน เพื่อให้กองกำลังต่างชาติข้ามพรมแดนและเข้ามายึดดินแดนของประเทศ
            คำกล่าวหาของรัฐบาลยูเครนมีน้ำหนัก เพราะแกนนำผู้ชุมนุมที่เมืองโดเนตสค์เรียกร้องให้ประธานาธิบดีปูตินส่งกองกำลังรัสเซียเพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์

            จะสังเกตได้ว่า การประกาศรัฐปกครองตนเองราวกับเป็นการปูทางให้ยูเครนตะวันออกกลายเป็นเขตปกครองตนเอง ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย หรือยังอยู่กับประเทศยูเครนต่อไป (ทั้งนี้ขึ้นกับการเจรจา) ที่สำคัญคือเป็นเขตปกครองตนเองที่ใกล้ชิดรัสเซีย

            ฝ่ายรัฐบาลพยายามเจรจาสงบศึก ขอให้ฝ่ายต่อต้านวางอาวุธ และเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายต่อต้าน 2 ฝ่ายปะทะกันเป็นระยะ สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (Office for the Coordination of Humanitarian Affairs หรือ OCHA) รายงานผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 1,367 ราย บาดเจ็บ 4,087 คน ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 2,589 คน และเป็นเด็ก 29 คน ชาวยูเครน 117,000 คนอพยพไปอยู่ในรัสเซีย ในขณะที่ 3.9 ล้านคนอยู่ในบรรยากาศการรบ
            แต่เหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดมากที่สุด คือ ข่าวการซ้อมรบของกองทัพรัสเซียใกล้พรมแดนยูเครน ที่นาโตกังวลว่าอาจจะเป็นการเตรียมตัวของรัสเซียเพื่อบุกเข้ามาในยูเครนตะวันออก

            ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือ ความวุ่นวายของชาวยูเครน ไม่อาจแก้ด้วยชาวยูเครนด้วยกันเอง เพราะต่างฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง การเมืองยูเครนกลายเป็น 2 ขั้วที่แตกต่าง แตกแยกอย่างชัดเจน
            ทางออกจะเป็นเช่นไร จึงขึ้นกับการเจรจาระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ อียูและรัสเซีย ซึ่งมีการเจรจาเรื่อยมาหลายระดับ จนถึงการสนทนาส่วนตัวระหว่างผู้นำสหรัฐฯ เยอรมันและรัสเซีย

            เชื่อว่าที่สุดแล้ว ทั้งชาติมหาอำนาจทั้ง 2 รวมทั้งอียู ต่างไม่ต้องการให้เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ไม่เป็นเหตุทำให้ชาติมหาอำนาจต้องเผชิญหน้าด้วยกำลังทหาร ไม่ต้องการเห็นผลกระทบรุนแรงอันเกิดจากการคว่ำบาตร ที่รัฐบาลโอบามากับอียูประกาศหลายระลอก  และล่าสุดฝ่ายรัสเซียโต้กลับ ด้วยการประกาศคว่ำบาตรสินค้าเกษตร อาหาร และวัตถุดิบจากบรรดาประเทศที่คว่ำบาตรรัสเซีย
            แต่ในระหว่างที่ยังอยู่ในกระบวนการเจรจา ต่างฝ่ายต่างใช้วิวาทะอันรุนแรงต่อกัน ต่างแสดงท่าไม่อ่อนข้อให้แก่กัน รวมทั้งการประโคมข่าวว่ารัสเซียอาจส่งกองทัพเข้ายึดยูเครนตะวันออก ดังเช่นที่ได้กระทำต่อไครเมีย
            ผู้ติดตามสถานการณ์ยูเครน จึงควรแยกแยะระหว่างเหตุการณ์เฉพาะหน้า กับผลลัพธ์ในบั้นปลาย
7 สิงหาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1377)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
หลังจากที่สหรัฐกับพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรรัสเซียหลายระลอก ตั้งแต่รัสเซียบุกไครเมีย จนถึงล่าสุดคือการเชื่อว่าเครื่องบินโดยสารมาเลเซีย เที่ยวบิน MH17 ถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยูเครนยิงตก โดยมีรัสเซียเป็นผู้ให้การหนุนหลัง คราวนี้รัสเซียเป็นฝ่ายประกาศคว่ำบาตรบ้าง โดยมุ่งสินค้าในหมวดเกษตร อาหาร วัตถุดิบ ข้อสังเกตคือการคว่ำบาตรที่ผ่านมาทั้งหมดมีผลในเชิงรูปธรรมน้อย มีเพียงตลาดทุนตลาดเงินที่แสดงการรับรู้มากที่สุด
แม้ว่าทุกวันนี้จะผ่านพ้นสงครามเย็นมานานแล้ว สิ่งหนึ่งที่สื่อชาติตะวันตกทำอย่างต่อเนื่องนับจากสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน คือ การโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หลอกหลวงประชาคมโลกอย่างเป็นระบบ ไม่ต่างจากทางการรัสเซียที่ยังใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือดังที่กระทำเรื่อยมา วิกฤตยูเครนในขณะนี้เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงความได้เปรียบ โดยพยายามเปรียบเปรยให้นึกถึงสงครามเย็น ยุคที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน และพยายามดึงให้ประเทศอื่นๆ อยู่กับฝ่ายของตน
ยูเครนได้รับเอกราชและเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยในสภาพที่ไม่มีการเตรียมตัวใดๆ นำสู่การบริหารประเทศที่ฝ่ายบริหารกับรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ โดยปราศจากระบบหรือกลไกควบคุม การล้มเหลวของรัฐบาลมือใหม่สร้างปัญหาเศรษฐกิจการเมืองก่อให้เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วที่ไม่อาจร่วมมือกันเพื่อสร้างชาติ กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา การปกครองล้มเหลว
วิกฤตยูเครนเป็นมากกว่าเรื่องการเมืองภายในประเทศ การผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อรัสเซีย นโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออกของนาโต อียู และยุทธศาสตร์รัฐกันชนของรัสเซีย การแก้ปัญหายูเครนที่ถูกจุดจึงเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ 
5. ด้วยรักจากปูตินถึงโอบามาการปิดล้อมและการโต้กลับ (Ookbee)
            ความตึงเครียดจากสถานการณ์ยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2013 จนนำสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สหรัฐฯ กับพันธมิตรโดยเฉพาะอียูร่วมออกมาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายรอบ
            ข้อเขียนชิ้นนี้อธิบายนโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียเพื่ออธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบายปิดล้อมรัสเซีย การตอบโต้จากรัฐบาลปูติน นำสู่การวิเคราะห์องค์รวม ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์เชิงลึกของสหรัฐฯ ความพยายามจัดระเบียบโลกผ่านวิธีการต่างๆ จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ปิดล้อม พลังอำนาจที่ถดถอยของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์อนาคต
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia University Press.
2. Legislature of just proclaimed Donetsk People's Republic asks Putin move in peacekeepers. (2014, April 7). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/world/726787
3. Longworth, Philip. (2005). Russia: The Once and Future Empire From Pre-History to Putin. New York: St. Martin’s Press.
4. Putin signs laws on reunification of Republic of Crimea and Sevastopol with Russia. (2014, March 21). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/724785
5. Putin, Merkel Laud Resumption of Work by Contact Group on Ukraine - Kremlin. (2014, August 6). RIA Novosti. Retrieved from http://en.ria.ru/politics/20140807/191790736/Putin-Merkel-Laud-Resumption-of-Work-by-Contact-Group-on-Ukraine.html
6. Putin: Crimea similar to Kosovo, West is rewriting its own rule book. (2014, March 18). RT. Retrieved from http://rt.com/news/putin-address-parliament-crimea-562/
7. Russia flexes military muscle along Ukraine border. (2014, August 5). CNBC/Reuters. Retrieved from http://www.cnbc.com/id/101895491
8. Slomp, Hans. (Ed.). (2011). Europe, A Political Profile: An American Companion to European Politics (Vols1-2). USA: ABC-CLIO, LLC.
9. Tymoshenko says crisis in Donetsk can be resolved peacefully. (2014, April 7). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/world/726866
10. Ukraine crisis: President Putin gets Russian parliament's nod to send military into Crimea. (2014, March 1). Hindustan Times. Retrieved from http://www.hindustantimes.com/world-news/russian-parliament-allows-putin-to-use-military-in-ukraine/article1-1189678.aspx
11. Ukraine: pro-Russia activists proclaim independent republic in Donetsk. (2014, April 7). The Guardian. Retrieved from http://www.theguardian.com/world/2014/apr/07/ukraine-officer-shot-dead-russian-soldier-crimea
12. US, Russia talks fail to end Ukraine deadlock. (2014, March 30). Businessweek/AP. Retrieved from http://www.businessweek.com/ap/2014-03-30/kerry-set-to-see-russian-fm-on-ukraine
------------------------------