ประธานาธิบดีบารัก
โอบามามีกำหนดเยือนจีนต้นสัปดาห์นี้ เพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปค
และร่วมประชุมสุดยอดกับผู้นำจีน ฝ่ายจีนหวังเจรจาเพื่อวางกรอบโครงสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่
ดังที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงประกาศว่า
“เราต้องการร่วมมือกับรัฐบาลโอบามาเพื่อสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างสองมหาอำนาจ
... ผมไม่ได้พูดว่าไม่มีเรื่องขัดแย้งระหว่างกัน แต่ตราบใดที่ 2 ประเทศเคารพข้อกังวลต่างๆ
ของกันและกัน ทั้ง 2 ประเทศสามารถบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันอันจะก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านั้น”
หลักคิดของจีน VS
หลักคิดของสหรัฐ :
ในมุมจีน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะจีนอาจมีสัมพันธ์ดีกับหลายสิบประเทศ
แต่ทั้งหมดไม่อาจเทียบกับการมีสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐเพียงประเทศเดียว ไม่ว่าในแง่เศรษฐกิจ
การเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางทหาร อีกทั้งการมีสัมพันธ์ดีกับสหรัฐส่งผลต่อความสัมพันธ์กับอีกหลายสิบประเทศที่เป็นพันธมิตรสหรัฐ
การพยายามวางกรอบความสัมพันธ์รูปแบบใหม่
สอดรับกับแนวคิดของอดีตประธานาธิบดีหู จินเทา ที่เรียกร้องให้ ‘ประชาชนทุกประเทศร่วมมือกันและสร้างโลกสมานฉันท์เพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนและความมั่นคงร่วมกัน’
บางคนตีความว่าไม่ว่าจีนจะเจริญรุ่งเรืองเพียงใดก็ไม่ประสงค์เป็นเจ้าโลก
มุ่งสร้างความมั่นคงมั่งคั่ง ไม่ใช่เพื่อเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมอีกแล้ว
ด้านประธานาธิบดีโอบามายินดีที่จีนก้าวขึ้นมาอย่างสันติ
สหรัฐมีผลประโยชน์ร่วมกับจีนมหาศาล แต่นักวิชาการบางคนวิเคราะห์ว่าหากพิจารณายุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิก
(หรือที่บางคนเรียกว่า Pivot to
Asia) กับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
(TPP) ที่ยังเดินหน้าเจรจา ทำให้ต้องคิดไปต่างๆ นานา
ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม
รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่าก่อนสิ้นปี 2020 เรือรบราวร้อยละ 60
และเครื่องบินราว 60 ของสหรัฐจะประจำการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สหรัฐสนับสนุนญี่ปุ่นตีความรัฐธรรมนูญเพื่อขยายบทบาทความมั่นคง
ได้ลงนามขยายความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศกับฟิลิปปินส์
เพิ่มระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศเพื่อต้านเกาหลีเหนือ ส่งเสริมความร่วมมือไตรภาคี
ระหว่างสหรัฐ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพื่อความมั่นคงของภูมิภาค
และพูดถึง TPP ว่ามีผลต่อระเบียบเศรษฐกิจโลก เป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อทุกด้าน
เพราะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผูกประเทศหุ้นส่วนเข้าหากัน ทั้งยังช่วยปกป้องประเทศเล็กๆ
ให้พ้นจากการข่มขู่คุกคามจากประเทศที่ใหญ่กว่าที่ใช้เศรษฐกิจเป็นอาวุธเพื่อบรรลุเป้าหมายของพวกเขา
คำพูดและการแสดงออกของรัฐบาลโอบามา ย่อมสร้างความสงสัยไม่ใช่น้อย
ยุทธศาสตร์แม่บทยากจะเปลี่ยนแปลง :
ผลการประชุมน่าจะสามารถร่วมมือในบางเรื่อง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ
โรคอีโบลา ต่อต้านลัทธิก่อการร้าย แต่ไม่อาจตกลงในเรื่องยุทธศาสตร์แม่บท เหตุที่เป็นเช่นนี้
เพราะ
ประการแรก
ยุทธศาสตร์แม่บทเป็นแนวคิดที่ผ่านการกลั่นกรองอย่างดี
ยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐเป็นสิ่งที่ผ่านการศึกษา
คิดวิเคราะห์ และวางแผนอย่างดี ไม่ใช่นโยบายเฉพาะกิจ ยกตัวอย่าง
รัฐบาลโอบามาสนับสนุนให้รัฐบาลอาเบะขยายบทบาทความมั่นคงในภูมิภาค เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ
2 ปีเมื่อนายชินโซ อาเบะชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกฯ ญี่ปุ่น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ารัฐบาลสหรัฐมีนโยบายต้องการให้ญี่ปุ่นขยายบทความมั่นคงมานานแล้ว
ยุทธศาสตร์ความมั่นแห่งชาติสหรัฐอเมริกาฉบับปี 2002 (U.S. National
Security Strategy of 2002) ระบุชัดว่ารัฐบาลบุช “หวังที่จะเห็นญี่ปุ่นแสดงบทบาทนำต่อกิจการในภูมิภาคและโลก”
น่าชื่นชมสหรัฐเป็นตัวอย่างประเทศที่มียุทธศาสตร์แม่บทชัดเจน
ทุกรัฐบาลพยายามดำเนินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน
เป็นอีกปัจจัยเอื้อให้ประเทศนี้เป็นมหาอำนาจ
ประการที่
2 แรงกดดันจากต่างชาติ
นอกจากปัจจัยภายในของสหรัฐ
ปัจจัยภายนอกมีส่วนสำคัญเช่นกัน
ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่นต้องการสร้างความมั่นคงระยะยาว เหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผชิญหน้ากับจีน
การปรับแก้รัฐธรรมนูญ ผลลัพธ์ที่ได้คือญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณกลาโหม
ขยายบทบาททางทหาร ทั้งหมดนี้ชี้ว่าเป็นการตอบสนองอนาคตระยะยาวที่ไม่แน่นอน และเป็นการพาตัวออกจากกรอบที่ถูกตีไว้เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่
2 ความร่วมมือกับสหรัฐในขณะนี้เป็นเหตุช่วยญี่ปุ่นค่อยๆ หลุดจากกรอบ
สามารถก้าวขึ้นมาใหม่อีกครั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่อยมาคือการพัฒนากองทัพโดยเน้นการวิจัย
สร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยตนเอง มุ่งที่จะเป็นผู้ผลิตยุทธปัจจัยชั้นนำของโลก
เนื่องจากความเป็นมหาอำนาจจำต้องมีพลังอำนาจทางทหารรองรับ ญี่ปุ่นใช้ทั้งการพัฒนาด้วยตนเอง
เรียนรู้ต่อยอดจากสหรัฐ จนญี่ปุ่นมีขีดความสามารถหลายอย่างทัดเทียมเทคโนโลยีของสหรัฐ
ประเทศใดที่ขาดอุตสาหกรรมหนัก
เทคโนโลยีระดับสูง ขาดมิตรประเทศ ย่อมอยู่ในสภาพล้าหลัง
และมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่เสมอ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยืนยันความจริงข้อนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามพาตัวออกจากวังวนประวัติศาสตร์ ไม่ต้องการให้ซ้ำรอยอีกครั้ง
ดังนั้น
ปัจจัยภายนอกจึงเป็นแรงผลักต่อการกำหนดนโยบายของสหรัฐ
ความสำเร็จของการเจรจาวัดผลได้จากญี่ปุ่น :
ตลอด
2 ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายคนวิพากษ์ว่ารัฐบาลโอบามาแสดงบทบาทผ่านยุทธศาสตร์ Pivot
to Asia น้อยกว่าที่ควร แต่หากมองที่ญี่ปุ่น จะเห็นชัดเจนว่าญี่ปุ่นเป็นตัวแสดงหลัก
เป็นผู้เผชิญหน้ากับจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ การประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ
(Air Defense Identification Zone: ADIZ) ของจีนเหนือน่านฟ้าทะเลจีนตะวันออก
ดังนั้น การแสดงออก การดำเนินการของญี่ปุ่นจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญ
แน่นอนว่ารัฐบาลอาเบะไม่ได้เดินตามความต้องการของรัฐบาลโอบามาทั้งหมด
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่นต่อจีน เป็นนโยบายร่วมที่ได้ปรึกษาหารือกับสหรัฐ
ดังนั้น นโยบายความมั่นคง นโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นต่อจีนจึงเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ
บ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นอย่างไร แม้ภาพที่แสดงให้เห็นมีส่วนที่ไม่สอดคล้องก็ตาม
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ไม่ว่าผลการประชุมสุดยอด2
ผู้นำจีน-สหรัฐจะเป็นอย่างไร เรื่องที่ควรตระหนักเสมอ คือ
ประการแรก
จีนกับสหรัฐยังคงมีความสัมพันธ์การค้าเพิ่มขึ้น
ตัวเลขการค้าสหรัฐ-จีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บ่งชี้ว่า ไม่ว่าสถานการณ์โลกเป็นอย่างไร สหรัฐกับจีนยังคงติดต่อสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน
ตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ย่อมชี้ว่า 2
ประเทศมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกัน แม้ว่าจะมีเสียงทุ่มเถียงกันมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ข้ออ้างที่ว่าสหรัฐกับจีนกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรง
ปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างกันย่อมสวนทางกับข้ออ้างดังกล่าว การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง
2 มหาอำนาจจึงต้องมองหลายด้านหลายมิติเวลา
ประการที่
2 ปัญหาของสหรัฐ
การจัดระเบียบโลกใหม่ของประธานาธิบดีบุชนำสหรัฐสู่สงครามในอิรัก
ทำให้สหรัฐถลำลึก สูญเสียงบประมาณมหาศาล สหรัฐในสายตานานาชาติตกต่ำสุดนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นต้นมา หรือเท่ากับนับตั้งแต่สหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจ
ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศกลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล
จนต้องตัดงบประมาณกลาโหม วิกฤตเศรษฐกิจ 2008 ทำให้หลายคนวิเคราะห์ว่าสหรัฐกำลังถดถอยในทุกด้าน
ประเด็นเศรษฐกิจจึงเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาล ความพยายามแก้ไขอัตราคนว่างงาน
การขาดดุลการค้า การขาดดุลงบประมาณ คือประเด็นร้อนในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลโอบามาทำได้ดีในเรื่องแก้ไขปัญหาคนว่างงาน
เช่นเดียวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เป็นเรื่องที่สมควรได้รับคำชื่นชม
แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาวยังไม่แน่นอน ปัญหาการขาดดุลยังไม่ได้รับการแก้ไข
ภายใต้บริบทดังกล่าวโอกาสที่สหรัฐจะรักษาพลังอำนาจทางทหารไว้เท่าเดิมย่อมไม่สามารถทำได้
เศรษฐกิจที่อ่อนไหวไม่อาจเผชิญสัญญาณแง่ลบ
โดยเฉพาะข่าวลือเรื่องสงครามที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่ารัฐบาลสหรัฐน่าจะหลีกเลี่ยงพาตัวเองสู่สถานการณ์ดังกล่าว
การรุกคืบครอบงำจึงต้องใช้วิธีการอื่นๆ
ที่สุดแล้ว
การประชุมผู้นำจีน-สหรัฐในปีนี้ จะเป็นอีกครั้งที่ผู้นำจีนประกาศจุดยืนต่อประชาคมโลก
ว่าตนต้องการสันติภาพ ต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ ส่วนรัฐบาลโอบามาไม่ว่าจะพูดกับจีนอย่างไร
ยังคงเดินหน้าตามแผนเสริมกำลังรบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
กองกำลังอีกส่วนที่กำลังปฏิบัติการโจมตีกองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) ก็ยังคงเดินหน้าต่อ เช่นเดียวกับงานจารกรรมประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศทั้งหลายต้องระวังที่จะไม่ก้าวข้ามเส้นต้องห้ามของจีน
จีนยังต้องการเป็นมิตรในระยะนี้
การประชุมสุดยอดผู้นำจีน-สหรัฐเป็นเรื่องของ 2 มหาอำนาจ 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ
1 กับ 2 ที่นานาชาติจะให้ความสนใจ จึงเป็นโอกาสทองที่ 2 มหาอำนาจจะประชาสัมพันธ์ตนเอง
9 พฤศจิกายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6578 วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2557)
------------------
สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้จำต้องมองกรอบที่กว้างกว่าอาเซียน
เกี่ยวข้องกับท่าทีของสหรัฐกับญี่ปุ่น
ที่รัฐบาลอาเบะเพิ่งประกาศต้องการแสดงภาวะผู้นำเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีนคงต้องการเตือนอาเซียนว่าอาเซียนควรร่วมมือกับจีน
อยู่ร่วมกับจีนอย่างฉันท์มิตรมากกว่าที่จะเข้าพวกกับสหรัฐ ญี่ปุ่น
เป็นหนึ่งในแนวทางต่อต้านยุทธศาสตร์ Pivot to Asia
ในด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาได้เตือนนายกฯ
อาเบะว่าไม่ควรก่อความตึงเครียด ควรเจรจาและสร้างความไว้วางใจมากกว่า
แต่ในอีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาช่วยเบี่ยงเบนพฤติกรรมการรุกคืบของญี่ปุ่น เช่น
การเพิ่มงบประมาณกลาโหม การจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธิน การปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้น
การแก้ไขตำราเรียนและการเรียนการสอนที่อ้างว่าหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ และเกาะด็อกโด/ทาเคชิมา
เป็นดินแดนของญี่ปุ่น
ความขัดแย้งจากการเยือนศาลเจ้ายุสากุนิไม่ใช่เรื่องใหม่
อดีตผู้นำญี่ปุ่นหลายท่านที่เคยเยือนศาลเจ้าจะตามมาด้วยการวิวาทะกับประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้น นายกฯ อาเบะเยือนศาลเจ้าก็เพราะได้คิดไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่า “ได้มากกว่าเสีย” อาจต้องการชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของตนกำลังฟื้นตัว
ไม่เกรงกลัวแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ กระชับความเป็นพันธมิตร
และมั่นใจว่าความขัดแย้งอยู่ภายใต้การควบคุม
รัฐบาลจีนตั้งคำถามว่ายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่นมีเพื่อสันติภาพจริงหรือไม่
คำถามนี้เป็นคำถามเดิมๆ ตั้งแต่นายชินโซ อาเบะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ รอบ 2
ที่ลึกกว่านั้นคือสะท้อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การตอบโต้จากจีนแท้ที่จริงแล้วคือการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ด้วย
1. Huang, Yiping., Dang, Weihua., & Wang, Jiao. (2011). Reform
of the International Economic System. In Golley, Jane., &Song, Ligang (Eds.), Rising China: Global Challenges and Opportunities
(pp.29-44). Australia: Australian National University.
2. Jacques, Martin. (2009). When China Rules the World:
The End of the Western World and the Birth of a New Global Order. USA:
Penguin Press.
3. Kang, David C. (2007). China Rising: Peace, Power, and
Order in East Asia. New York: Columbia University Press.
4. More opportunities for Sino-U.S. trade, investment:
premier. (2013, March 17). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-03/17/c_132240139.htm
5. The White House. (2014, April 24). Joint Press
Conference with President Obama and Prime Minister Abe of Japan. Retrieved
from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/24/joint-press-conference-president-obama-and-prime-minister-abe-japan
6. The White House. (2014, October 3). Remarks by the
Vice President at the John F. Kennedy Forum. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/10/03/remarks-vice-president-john-f-kennedy-forum
-------------------------