การตอบโต้จากจีนต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น

เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นนำโดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศแผนความมั่นคงชุดใหม่ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับแรกของประเทศ แผนเพิ่มกำลังรบ 5 ปีและแนวปฏิบัติด้านการป้องกันประเทศระยะ 10 ปี (10-year defense guideline) โดยในระยะ 5 ปีข้างหน้าญี่ปุ่นจะซื้ออาวุธเพิ่ม 240,000 ล้านดอลลาร์ คาดว่าอาวุธหลักที่ซื้อได้แก่อากาศยานไร้คนขับ Global Hawk จำนวน 3 ลำ ยานสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก 52 คัน เฮลิคอปเตอร์ Osprey จำนวน 17 ลำ เรือดำน้ำ 5 ลำ และเครื่องบิน F-35 เพิ่มอีก 28 ลำ
            ความสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การมียุทธศาสตร์ความมั่นแห่งชาติฉบับแรก แต่อยู่ที่เนื้อหาของชุดแผนทั้งหมดอันสะท้อนนโยบายสายเหยี่ยวของนายกฯ อาเบะ ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเมื่อปลายปีที่แล้วว่าต้องการเพิ่มบทบาทกองทัพญี่ปุ่น เพิ่มงบประมาณกลาโหม อย่างสอดรับกับนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลโอบามา เป็นความร่วมมือทางด้านความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศกับมิตรประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีจีนเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก ทำให้รัฐบาลจีนออกมาตอบโต้
การตอบโต้จากจีน:
            รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้ในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
            ประการแรก ย้ำเตือนให้ญี่ปุ่นพัฒนากองทัพเพื่อความสงบสุขของภูมิภาค
            “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” ระบุย้ำวัตถุประสงค์ว่าญี่ปุ่นต้องการสันติภาพ นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาญี่ปุ่นมีส่วนส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง ความมั่งคั่งของภูมิภาคและของโลก แต่ดูเหมือนว่าทางการจีนไม่ค่อยเชื่อเช่นนั้นและเรียกร้องให้ญี่ปุ่นดำเนินตามกระแสการพัฒนาเพื่อสันติ ความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย เคารพต่อประเด็นความมั่นคงของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วยความยุติธรรมและสมเหตุผล เพื่อช่วยเสริมสร้างให้ภูมิภาคมีความสงบสุขและมีความมั่นคง
            มีการตั้งข้อสงสัยว่านโยบายบทบาทเชิงรุก (proactive) ของกองทัพ นโยบายส่งเสริมให้ญี่ปุ่นสามารถส่งออกอาวุธได้ง่ายขึ้น และการเพิ่มงบประมาณกลาโหม ทั้งหมดนี้กระทำเพื่อหวังสันติภาพหรือเป็นการข่มขู่คุกคามเพื่อนบ้าน นายหรวน จงเจ๋อ (Ruan Zongze) จาก China Institute of International Studies เห็นว่ารัฐบาลอาเบะอาศัยจังหวะที่ความสัมพันธ์จีนกับญี่ปุ่นกำลังตึงเครียด ผ่านแผนความมั่นคงเพื่อเป็นชาติมหาอำนาจทางทหาร เป็นแผนการแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศที่นายกฯ อาเบะต้องการ ด้วยการอ้างภัยคุกคามจากจีน
            ความเห็นของนายหรวน จงเจ๋อมีส่วนถูก แต่ทั้งนี้การเป็นมหาอำนาจของญี่ปุ่นขึ้นกับความร่วมมือ การเห็นชอบจากรัฐบาลโอบามาด้วย ดังจะเห็นว่าแผนดังกล่าวเชื่อมโยงกับแผนความมั่นคงของสหรัฐ (ดังจะอธิบายต่อไป) อีกทั้งภายใต้กฎหมายปัจจุบันญี่ปุ่นปราศจากอาวุธบางประเภท เช่น อาวุธนิวเคลียร์ ความเป็นมหาอำนาจทางทหารของญี่ปุ่นจึงอยู่ในขอบเขตจำกัด

            ประการที่สอง ตอกย้ำประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นรุกรานชาติอื่นๆ
            ทางการจีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมรับและทบทวนประวัติศาสตร์ของตนด้วยความจริงใจ ความในที่แฝงอยู่คือรัฐบาลจีนต้องการเอ่ยถึงประวัติศาสตร์สมัยญี่ปุ่นรุกรานประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงปี 1894-95 (First Sino-Japanese War) ที่ญี่ปุ่นรุกรานเกาหลี (ประเทศราชของจีน) เพราะต้องการครอบครองแหล่งแร่เหล็กกับถ่านหินของเกาหลี ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งต่อพลังอำนาจของชาติ จากนั้นได้ทำสงครามกับจีนอีกหลายระลอกจนสามารถยึดครองแผ่นดินจีนได้ถึงครึ่งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
            นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นยังทำสงครามรุกรานเพื่อนบ้านในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อปกป้องเอเชียให้พ้นจากจักรวรรดินิยมตะวันตกและลัทธิคอมมิวนิสต์ (ที่ตามมาภายหลัง) พยายามสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา (The Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) ที่มีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ
            รายละเอียดประวัติศาสตร์เหล่านี้มีทั้งเรื่องที่เป็นเรื่องจริงกับที่ยังถกเถียงอยู่ว่าฝ่ายใดผิดถูกอย่างไร เป็นธรรมดาของอาณาจักรเก่าแก่หลายร้อยหลายพันปีจะต้องมีประวัติศาสตร์การทำสงครามกับชนเผ่าหรือชนชาติอื่นๆ ให้คนปัจจุบันได้ศึกษาและซึมซับความรู้สึก ทัศนคติบางอย่าง แต่ใช่ว่าทุกคนในชาติไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือจีนจะเห็นด้วยกับนโยบายรุกรานต่างชาติของผู้นำประเทศเสมอไป บ่อยครั้งที่พบว่าประชาชนเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อของผู้นำประเทศ เพื่อให้คนในชาตินับแสนนับล้านสนับสนุนและเข้าสู่สนามรบ
            อีกประเด็นที่ควรไตร่ตรองคือ เมื่อเทียบศักยภาพทางทหารของญี่ปุ่นในสมัยที่รุกรานเพื่อนบ้านกับศักยภาพทางทหารในปัจจุบัน นับว่าศักยภาพในปัจจุบันยังห่างไกลอดีตมาก อีกทั้งบริบทปัจจุบันแตกต่างจากยุคสมัยก่อน การยึดครองเพื่อนบ้านเป็นอาณานิคมไม่เป็นเรื่องที่ประชาคมโลกยอมรับอีกต่อไป (จะต้องใช้แนวทางใหม่ที่แนบเนียนกว่า) ญี่ปุ่นในปัจจุบันและอนาคตไม่จำต้องเป็นเหมือนเช่นอดีตเสมอไป หากต้องการกดขี่ขูดรีดจีนน่าจะเป็นการใช้วิถีทางอื่นๆ เป็นหลักมากกว่า

วิเคราะห์องค์รวม:
            การตอบโต้จากจีนต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น มีแง่มุมที่ควรวิเคราะห์เพิ่มเติมดังนี้
            ประการแรก จีนจะตอบโต้หรือไม่ อย่างไร
            ประเด็นแรกที่ควรคิดคือ รัฐบาลจีนจะตอบสนองต่อชุดแผนความมั่นคงดังกล่าวอย่างไร เมื่อญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทกองทัพ เสริมขีดความสามารถทางทหาร จีนจะใช้เรื่องเหล่านี้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มอีกหลายลำหรือไม่ จะสั่งซื้อขีปนาวุธรุ่นล่าสุดจากรัสเซียเพิ่มเติมหรือเปล่า 5 ปีต่อจากนี้ทางการจีนจะมีข้ออ้างเพิ่มกำลังรบเนื่องจากญี่ปุ่นเพิ่มกำลังรบ
            แม้ว่าคำตอบของเรื่องนี้คือจีนคงไม่คิดตอบโต้ด้วยการแข่งขันสะสมอาวุธอย่างเอาเป็นเอาตาย เป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลจีนยังอยู่ที่การรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ ให้ประชาชนมีกินมีใช้ มีความสุขตามสมควร ค่อยๆ พัฒนาประเทศไปข้างหน้า พร้อมกับแก้ปัญหาภายใน โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งของบางชาติพันธุ์ การคอร์รัปชันที่ขยายวงกว้างและหยั่งรากลึก ปัญหาโครงสร้างสังคมจีนในระยะยาว
            ที่สุดแล้วนโยบายต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบสนองเป้าหมายภายในประเทศ รัฐบาลจีนหลายชุดที่ผ่านมาพยายามรักษาสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชาติตะวันตกและประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง วางข้อแม้ว่าต้องไม่ “ล้ำเส้น” ของกันและกัน แต่ไม่อาจห้ามวิวาทะหรือการเผชิญหน้าทางทหารที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในระยะนี้

            ประการที่สอง ญี่ปุ่นคุกคามจีนหรือจีนคุกคามญี่ปุ่น
            หน่วยงานความมั่นคงญี่ปุ่นมองว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาจีนได้ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจีนปิดบังไม่เปิดเผยข้อมูลว่าสะสมอาวุธชนิดใด จำนวนเท่าไหร่ ทั้งยังเพิ่มงบประมาณกลาโหมอย่างต่อเนื่อง จีนเพิ่มปฏิบัติการทางทหารมากขึ้นทั้งน่านน้ำน่านฟ้า ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างกว่าเดิมและล่วงล้ำเขตอธิปไตยญี่ปุ่น ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์หมู่เกาะเซนกากุอาจกลายเป็นเหตุลุกลามบานปลายได้ ทำให้ญี่ปุ่นเป็นกังวล กองทัพญี่ปุ่นจำต้องปรับปรุงให้พร้อมรับมือ
            มองในมุมจีน จีนถูกสหรัฐกับพันธมิตรคุกคามมานานแล้ว รัฐบาลอเมริกันหลายชุดต่างก็ประกาศว่าตนเป็นผู้จัดระเบียบโลก เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าสหรัฐคือผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากที่สุด ในยามนี้จีนกำลังลุกขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคอีกครั้ง กำลังปรับปรุงระเบียบโลกใหม่ไม่ให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐเพียงฝ่ายเดียว ถ้าวิเคราะห์ภายใต้มุมมองนี้เท่ากับว่าญี่ปุ่นกำลังช่วยสหรัฐให้เป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในภูมิภาคต่อไป รัฐบาลอาเบะต้องการมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าเหนือภูมิภาคผ่านความร่วมมือกับสหรัฐ
            หากวิเคราะห์บนพื้นฐานผลประโยชน์แห่งชาติและถ้ามองว่าจีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ก็ต้องสรุปว่าจีนเป็นฝ่ายถูกคุกคามเรื่อยมา ข้อโต้แย้งคือสหรัฐกับญี่ปุ่นเห็นว่าผลประโยชน์แห่งชาติของตนกำลังถูกบั่นทอนเหลือน้อยลงกว่าเดิม จีนที่กำลังก้าวขึ้นมาจึงเป็นฝ่ายคุกคาม

            ประการที่สาม สหรัฐผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงในภูมิภาค
            การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ความมั่นคงญี่ปุ่นต้องมองให้เห็นถึงความร่วมมือกับสหรัฐ เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วสหรัฐคือตัวแสดงหลักที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชุดแผนความมั่นคงของญี่ปุ่นสอดรับกับนโยบายความมั่นคงของสหรัฐต่อภูมิภาค สอดรับกับยุทธศาสตร์แม่บท “pivot to Asia” ของรัฐบาลโอบามา ข้อสังเกตสำคัญอีกข้อคืออาวุธหลักที่ญี่ปุ่นวางแผนจะซื้อเพิ่มเติมทั้งหมดติดตรา MADE IN USA ทั้งสิ้น ล้วนเป็นอาวุธรุ่นใหม่ล่าสุดที่พันธมิตรชั้นเยี่ยมของสหรัฐเท่านั้นจึงจะได้สิทธิ์ครอบครอง
            และเป็นการตอกย้ำว่าสหรัฐมีนโยบายความมั่นคงเชื่อมโยงประสานกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มีฐานทัพของตนในมิตรประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะกวม มีกองเรือที่ 7 ที่ประจำการในน่านน้ำแปซิฟิก ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีการวางกำลังรบที่ครอบคลุมมากขนาดนี้อีกแล้ว
            ดังนั้น หากจีนจะตอบโต้ก็น่าจะตอบโต้สหรัฐเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบายหรือรูปธรรมต่างๆ (การขายอาวุธแก่ญี่ปุ่นกับมิตรประเทศอื่นๆ การประจำการกองทหารในพื้นที่ต่างๆ)

            นักวิชาการหลายคนแสดงทัศนะว่าสิ่งที่จีนเรียนรู้จากการเป็นขี้โรคแห่งเอเชีย การถูกชาติมหาอำนาจรุกรานในยุคล่าอาณานิคมคือ ไม่มีสิ่งใดสามารถช่วยประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด หลักการหรือสนธิสัญญา ในความสัมพันธ์กับต่างประเทศไม่ว่าจะต่อชาติที่เป็นมิตรหรือศัตรู ความสามารถในการยืนด้วยลำแข้งของตนเองคือเรื่องสำคัญที่สุด การจะพูดคุยด้วยหลักเหตุผลเป็นเรื่องดี แต่ใช่ว่าทุกคนจะยึดเหตุผลเสมอ ใช่ว่าการตัดสินใจในทุกนโยบายจะยึดหลักสันติภาพ ความสงบสุขของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเสมอไป เหล่านี้มีหลักฐานปรากฏเห็นชัดมากมายแม้กระทั่งทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่สังคมต้องตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนก อยู่ในสภาพพร้อมรับมือพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ไม่ควรให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก
29 ธันวาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6264 วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2556)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
เดือนกันยายที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบที่ทางการญี่ปุ่นซื้อเกาะ 3 เกาะของหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู ณ วันนี้ทั้งสองประเทศยังยืนยังอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะดังกล่าว พร้อมกับระมัดระวังที่ไม่ยั่วยุให้เกิดเหตุรุนแรงบานปลายด้วยทั้งสองฝ่ายตระหนักผลเสียที่จะเกิดขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันของทั้งสองประเทศต่างเร่งระดมขยายขีดความสามารถทางการทหาร และผูกโยงกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด
ในอนาคตเชื่อว่าญี่ปุ่นจะต้องเพิ่มกำลังรบและแสดงบทบาทมากขึ้น ด้วยสามเหตุผลหลักคือ เหตุผลด้านความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ อำนาจการรบของจีนที่เพิ่มมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนกำลังรบสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากสหรัฐฯ เลือกที่จะให้ญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบายหรือเชิงยุทธวิธี ณ วันนี้จนถึงอีกหลายทศวรรษจากนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นเวทีการประชันกำลังของชาติมหาอำนาจกับอีกหลายประเทศ 

บรรณานุกรม:
1. Kerry says U.S. backs Japan's military buildup. Japan Today/AFP. http://www.japantoday.com/category/politics/view/kerry-says-u-s-backs-japans-military-buildup. 18 December 2013.
2. China urges Japan to respect regional security concerns. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-12/17/c_132975414.htm. 17 December 2013.
3. Tokyo's agenda meets with alarm. China Daily. http://www.chinadaily.com.cn/world/2013-12/18/content_17180849.htm. 18 December 2013.
4. Utley, Freda. 1939. China at War 1938. London: Faber and Faber Limited.
5. Wright, David Curtis. 2011. The History of China. Second edition. USA: Greenwood.
------------------------------