โอบามาปรับสมดุล อาเบะถอยหนึ่งก้าว? ร่วมเดินหน้าจัดระเบียบเอเชียแปซิฟิก

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมทวิภาคีกับประธานาธิบดีบารัก โอบามา ว่า “ญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกายึดถือคุณค่าพื้นฐานร่วมกันหลายอย่าง เช่น เรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน และเรายังมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกันด้วย ความเป็นพันธมิตรระหว่าง 2 ประเทศนี้เป็นเรื่องที่ขาดจากกันไม่ได้หรือเปลี่ยนทดแทนไม่ได้ เป็นรากฐานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เปี่ยมด้วยสันติภาพและความมั่งคั่ง”
            ด้านประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐ-ญี่ปุ่น ไม่เป็นเพียงรากฐานความมั่นคงของเราในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่เป็นความมั่นคงของทั่วทั้งภูมิภาค การที่สหรัฐกับญี่ปุ่นยึดถือคุณค่าประชาธิปไตย ไม่เพียงหมายความว่าเราจะร่วมกันจัดการประเด็นร้อนในภูมิภาค ยังรวมถึงการวางกฎเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบระหว่างประเทศด้วย
เดินหน้าจัดระเบียบเอเชียแปซิฟิก :
            ตลอดการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามากับนายกฯ อาเบะ ได้แสดงท่าทีหลายเรื่องต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
            ประการแรก สหรัฐกับญี่ปุ่นคือผู้นำขั้วโลกเสรีประชาธิปไตย
            ทั้ง 2 ประเทศเป็นพันธมิตรร่วมเพื่อส่งเสริม ปกป้องระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้นำดูแลทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต้องการจัดระเบียบการเมืองเศรษฐกิจในภูมิภาค มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยญี่ปุ่นจะถือหลักแสดงบทบาทเชิงรุก
            ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐกับญี่ปุ่นจะเดินหน้าเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ TPP ต่อไป ที่ผ่านมาการเจรจามีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และสินค้าเกษตรที่เป็นอุปสรรค

            ประการที่สอง นโยบายต่อจีนกับเกาหลีเหนือ
            จะมุ่งสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เป็นภูมิภาคที่มีเสรีภาพและเปิดกว้าง ญี่ปุ่นกับสหรัฐจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด แก้ไขข้อพิพาทด้วยการเจรจา ยึดมั่นในหลักการเดินเรือเสรี  ยึดมั่นในสนธิสัญญาความมั่นคงทุกข้อที่กระทำกับญี่ปุ่น รวมทั้งหมู่เกาะเซนกากุ
            ในขณะเดียวกัน สหรัฐกับญี่ปุ่นสามารถร่วมมือกับจีนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
            ด้านนโยบายต่อเกาหลีเหนือ จะเป็นความร่วมมือใกล้ชิดระหว่างสหรัฐ ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ทั้ง 3 ประเทศจะต้องร่วมกันผลักดันให้จีนกดดันเกาหลีเหนือ เป้าหมายคือส่งเสริมให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมตอบโต้การยั่วยุจากเกาหลีเหนือ
            โดยรวมแล้ว ถ้อยแถลงต่างๆ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม ประธานาธิบดีโอบามายังคงเดินหน้าตามยุทธศาตร์ Pivot to Asia หรือที่บางคนเรียกว่ายุทธศาสตร์ปรับสมดุล
            ส่วนนายกฯ อาเบะใช้โอกาสดังกล่าว ประกาศย้ำว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตย จะแสดงบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประธานาธิบดีโอบามาเห็นพ้องและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
สนใจคลิกที่รูป

นายกฯ อาเบะถอยหนึ่งก้าว? :
            ประเด็นหนึ่งที่ไม่ได้พูดชัดเจน แต่พอจะสังเกตได้คือ นายกฯ อาเบะใช้โอกาสช่วงนี้ ปรับท่าทีเชิงรุกของตน เนื่องจากการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาก่อให้เกิดความตึงตึงเครียดกับจีนและเกาหลีใต้อย่างหนัก
            ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเสื่อมทรามลงอย่างชัดเจนเมื่อนายกฯ อาเบะไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิเมื่อปลายปี 2013 ปฏิเสธเรื่องหญิงบำเรอ (comfort women) อ้างว่าเกาะด็อกโด (Dokdo) หรือเกาะทาเคชิมา (Takashima) เป็นดินแดนของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้กังวลว่าญี่ปุ่นกำลังรื้อฟื้นลัทธิทหาร
            ประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye) เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์ มิฉะนั้นญี่ปุ่นจะโดดเดี่ยวตัวเอง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นเรียกร้องเจรจาปรับความสัมพันธ์ แต่ประธานาธิบดีปาร์คปฏิเสธไม่ยอมร่วมเจรจากับนายกฯ อาเบะ ผลที่ตามมาคือทำให้ภาพ Pivot to Asia เสียหาย เพราะหากพันธมิตรสหรัฐในภูมิภาคยังมองหน้ากันไม่ติด ก็ยากจะชี้ชวนให้ประเทศอื่นๆ ยำเกรง เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีโอบามาต้องออกหน้าด้วยตัวเอง

            การจัดการประเด็นจีนกับเกาหลีใต้มีความแตกต่าง เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรสหรัฐ ในขณะที่จีนเป็นคู่ปรปักษ์ การแสดงออกว่า “อ่อนข้อ” หรือ “ยอมถอย” ให้จีนแบบตรงไปตรงมา ย่อมไม่เป็นที่นิยมกระทำ
            เหตุเผชิญหน้ากับจีนทวีความรุนแรง เมื่อจีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone หรือ ADIZ) เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ความตึงเครียดเนื่องจากการแสดงความเป็นเจ้าของเหนือหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุร้อนแรงกว่าเดิม เกิดวิวาทะซ้อนวิวาทะ จนรัฐบาลโอบามาได้ปรามรัฐบาลอาเบะในระดับหนึ่ง เพื่อลดระดับความร้อนแรง ในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นลดการตอบโต้กับจีน สถานการณ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจึงผ่อนคลายลง
            ท่าทีของรัฐบาลอาเบะในหลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงล่าสุด ในบางครั้งจึงส่อว่าต้องการคลายความตึงเครียดกับจีนและเกาหลีใต้

วิเคราะห์องค์รวม :
            การแสดงออกของรัฐบาลอาเบะ ตลอดจนการที่ประธานาธิบดีโอบามาเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ให้ภาพว่า สหรัฐปรามญี่ปุ่นเพื่อลดการเผชิญหน้า ทุกประเทศมีเรื่องที่ร่วมมือกันได้ แต่หากมองข้ามวาทะที่สวยหรูเหล่านี้ จะเกิดคำถามว่า “นายกฯ อาเบะถอยหนึ่งก้าวจริงหรือ”
            สองสามวันก่อนหน้าการเยือนของประธานาธิบดีโอบามา นายกฯ อาเบะ ได้ถวายเครื่องเซ่น sakaki ชุดหนึ่งแก่ศาลเจ้ายาสุกุนิ โดยไม่ได้เดินทางไปด้วยตนเองเหมือนเช่นปีก่อน พฤติกรรมดังกล่าวอาจตีความว่านายกฯ อาเบะ “ถอยครึ่งก้าว” นั่นคือ ไม่ยั่วยุประเทศเพื่อนบ้านด้วยการเยือนศาลเจ้าด้วยตนเอง เป็นการเอาใจประธานาธิบดีโอบามาที่เห็นว่าการไปเยือนศาลเจ้านั้นไม่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันยังเป็นการยืนยันจุดยืนว่าตนให้ความสำคัญกับการสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิ
            การที่นายกฯ อาเบะจะไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิด้วยตนเองหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับทัศนคติและการดำเนินนโยบายที่เป็นรูปธรรม ที่ผ่านมารัฐบาลอาเบะได้ดำเนินการแล้วหลายอย่าง เช่น การเพิ่มงบประมาณกลาโหม การจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธิน การปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้น การแก้ไขตำราเรียนและการเรียนการสอนที่อ้างว่าหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ และเกาะด็อกโด/ทาเคชิมา เป็นดินแดนของญี่ปุ่น
            ดังนั้น ต้องระวังไม่ให้คำพูดของนายกฯ อาเบะกับประธานาธิบดีโอบามา บดบังพฤติกรรมดังกล่าว อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการเยือนญี่ปุนครั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาช่วยเบี่ยงเบนพฤติกรรมการรุกคืบของญี่ปุ่น

            การแสดงความเป็นปรปักษ์กับจีนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การเข้าข้างญี่ปุ่นเรื่องความเป็นเจ้าของเกาะด็อกโด/ทาเคชิมา การแก้ไขตำราเรียน ชี้ว่ารัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญกับบทบาทของญี่ปุ่น แม้ต้องผิดใจกับเกาหลีใต้
            ประธานาธิบดีโอบามาให้สัมภาษณ์สื่อ The Yomiuri Shimbun ก่อนเดินทางเยือนญี่ปุ่น ว่าเห็นด้วยกับการตีความรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นใหม่ เพื่อเอื้อให้ญี่ปุ่น “มีบทบาทมากขึ้นในการดูแลความมั่นคงระหว่างประเทศ” และเห็นว่ากองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นต้องเพิ่มบทบาทให้มากขึ้นภายในกรอบพันธมิตรสหรัฐ –ญี่ปุ่น “ข้าพเจ้าชื่นชมนายกรัฐมนตรีอาเบะที่พยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น และเพิ่มร่วมมือทางทหารกับเรา รวมถึงการทบทวนข้อจำกัดของปฏิบัติการเพื่อป้องกันตนเองร่วม”

            และเห็นว่ากองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นต้องเพิ่มบทบาทให้มากขึ้น “ภายใต้กรอบพันธมิตร” สหรัฐฯ -ญี่ปุ่น
            ประเด็นสำคัญคือ การเสริมสร้างกำลังทหาร การเพิ่มบทบาทความมั่นคงระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นกำลังดำเนินการทั้งหมด ต้องอยู่ภายใต้กรอบพันธมิตรสหรัฐ-ญี่ปุ่น ขยายความได้ว่าต้องเป็นความตกลงร่วมระหว่าง 2 ประเทศ ญี่ปุ่นจะกระทำล้ำเส้นไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของสหรัฐที่อยู่เหนือญี่ปุ่น แน่นอนว่าทั้ง 2 ประเทศเป็นมิตรต่อกัน แต่บรรทัดสุดท้ายคือสหรัฐมีอิทธิพลเหนือญี่ปุ่น นี่คือกรอบความร่วมมือของการเป็นพันธมิตร
            ในการเจรจาครั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาได้เตือนนายกฯ อาเบะว่าไม่ควรก่อความตึงเครียด ควรเจรจาและสร้างความไว้วางใจมากกว่า ยืนยันให้ญี่ปุ่นจัดการปัญหาเซนกากุด้วยสันติวิธี ไม่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดกว่าเดิม พยายามหาทางที่ญี่ปุ่นกับจีนสามารถร่วมมือกัน ชี้ว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนไม่เพียงส่งผลต่อภูมิภาค แต่ส่งผลระดับโลก เป็นหลักฐานอีกชิ้นแสดงถึงอิทธิพลของสหรัฐต่อญี่ปุ่น

            การเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการครั้ง นอกจากย้ำเตือนจุดยืน ยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ประธานาธิบดีโอบามายังต้องการย้ำเตือนว่าสหรัฐคือลูกพี่ใหญ่ของพันธมิตรเอเชียแปซิฟิก ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลของโอบามาคือ การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้มากที่สุดจากการก้าวขึ้นมาของจีนและภูมิภาค โดยผสมผสานทั้งการเผชิญหน้ากับความร่วมมือ ปรับการแสดงออกให้เหมาะสมตามบริบท
            ส่วนเรื่องที่ญี่ปุ่นจะสามารถแสดงบทบาทนำได้ตามความต้องการหรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
27 เมษายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6382 วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2557)
------------------------
ประชาสัมพันธ์ :
จองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พัก พร้อมเปรียบราคา โดย Jetradar


บทความที่เกี่ยวข้อง :
ความขัดแย้งจากการเยือนศาลเจ้ายุสากุนิไม่ใช่เรื่องใหม่ อดีตผู้นำญี่ปุ่นหลายท่านที่เคยเยือนศาลเจ้าจะตามมาด้วยการวิวาทะกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น นายกฯ อาเบะเยือนศาลเจ้าก็เพราะได้คิดไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่า ได้มากกว่าเสียอาจต้องการชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของตนกำลังฟื้นตัว ไม่เกรงกลัวแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ กระชับความเป็นพันธมิตร และมั่นใจว่าความขัดแย้งอยู่ภายใต้การควบคุม
ทุกคนทุกชาติต่างมีความเชื่อศาสนาของตนเอง ทหารญี่ปุ่นหลายคนเข้าทำสงครามด้วยความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่านี่คือสงครามศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่คนชาติอื่นย่อมมีความคิดเห็นของตนเอง เป็นอีกภาพความจริงของโลกที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะคิดเห็นตรงกัน ชาวญี่ปุ่นที่ไปสักการะศาลเจ้ายาสุกินิก็ใช่ว่าจะไปด้วยความหมายเดียวกัน หรือมีความรู้สึกที่เข้มข้นตรงกัน 
ในอนาคตเชื่อว่าญี่ปุ่นจะต้องเพิ่มกำลังรบและแสดงบทบาทมากขึ้น ด้วยสามเหตุผลหลักคือ เหตุผลด้านความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ อำนาจการรบของจีนที่เพิ่มมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนกำลังรบสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากสหรัฐฯ เลือกที่จะให้ญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบายหรือเชิงยุทธวิธี ณ วันนี้จนถึงอีกหลายทศวรรษจากนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นเวทีการประชันกำลังของชาติมหาอำนาจกับอีกหลายประเทศ 
ทางการญี่ปุ่นเปิดตัวเรือรบอิซูโม (Izumo) เรือรบรุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดที่ญี่ปุ่นต่อเองนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กองทัพญี่ปุ่นจัดให้เรือดังกล่าวอยู่ในชั้นเรือพิฆาต แต่สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จำนวน 9-14 ลำ และอาจบรรทุกเครื่องบินรบรุ่นใหม่ล่าสุด F-35 จึงมีข้อวิพากษ์ว่าญี่ปุ่นกำลังเสริมกำลังรบขนาดใหญ่หรือไม่ จะกระทบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างไร

บรรณานุกรม:
1. 146 Japanese lawmakers visit Yasukuni shrine. (2014, April 22). Japan Today/AFP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/146-japanese-lawmakers-visit-yasukuni-shrine
2. China condemns Japanese PM's war-linked shrine offering. (2014, April 21). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-04/21/c_133279008.htm
3. Huang Yinjiazi. (2014, April 23). Xinhua Focus: Right-leaning Japan becomes Washington's liability in Asia-Pacific. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-04/23/c_133284588.htm
4. Inoue Nobutaka. (2005). Sakaki. Retrieved from http://eos.kokugakuin.ac.jp/modules/xwords/entry.php?entryID=312
5. Japan PM sends offering to Yasukuni Shrine: Japanese media. (2014, April 21). The Age/Reuters. Retrieved from http://www.theage.com.au/world/japan-pm-sends-offering-to-yasukuni-shrine-japanese-media-20140421-zqx6s.html
6. Joint Press Conference with President Obama and Prime Minister Abe of Japan. (2014, April 24). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/24/joint-press-conference-president-obama-and-prime-minister-abe-japan
7. Obama: Senkakus ‘within scope’ of U.S.-Japan treaty. (2014, April 23). The Japan News. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0001227627
8. Park urges Japan to stop denying history. (2014, March 1). The Korea Times/ Yonhap News Agency. Retrieved from http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2014/03/120_152467.html
9. Remarks by President Obama and Prime Minister Abe of Japan Before Bilateral Meeting. (2014, April 23). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/23/remarks-president-obama-and-prime-minister-abe-japan-bilateral-meeting
----------------------------